กระ ฝ้า เกิดจากอะไร? วิธีรักษาฝ้า กระ ให้หายขาดแบบธรรมชาติ

กระ ฝ้า คือ ลักษณะของผิวบริเวณต่างๆ ที่เซลล์เม็ดสี (Melanocyte) เปลี่ยนไป เกิดได้จากสาเหตุต่างๆ เช่น รังสีอัลตร้าไวโอเลต (UV) ที่อยู่ในแสงแดด กระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) เพิ่มขึ้น หรือ เกิดจากฮอร์โมนพันธุกรรม หรือ การใช้ยาบางชนิด ซึ่งปัญหากระ ฝ้า ทำให้เสียความมั่นใจในด้านความงาม ไปจนถึงก่อให้เกิดอันตรายได้ในอนาคต อาทิ โรคมะเร็งผิวหนังชนิดต่างๆได้

กระ คืออะไร

กระ (Freckle) จะมีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม สาเหตุเกิดขึ้นจากการทำงานที่ผิดปกติในการสร้างเม็ดสีเมลานินที่ใต้ชั้นผิวหนัง จากการถูกแสงแดด และ ยีน MC1R ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการสร้างเม็ดสี ซึ่งเซลล์เม็ดสีเกิดการกระจุกรวมตัวกันมากกว่าปกติในบางจุด ทำให้สีผิวบริเวณนั้นเข้มขึ้น และสามารถกระจายได้หลายจุด หากไม่ได้รับการป้องกันหรือการรักษา

กระมักเกิดขึ้นบนผิวชั้นบนหรือชั้นหนังกำพร้า ตำแหน่งที่พบบ่อย คือบริเวณโหนกแก้ม และสันจมูก นอกจากนี้ ยังพบได้ในบริเวณอื่นที่ได้รับแสงแดดเป็นประจำได้อีก อาทิ ทั่วใบหน้า แขน คอ หน้าอก หรือบริเวณต่างๆ นอกร่มผ้า ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน พบได้บ่อยในกลุ่มคนที่มีผิวสีอ่อน ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40 ปี และมีสัดส่วนเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

กระแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1.กระทั่วไป (Freckle, Ephelis) – มักมีโทนสีน้ำตาลอ่อน สีแทนออกแดง มีลักษณะเป็นจุดกลมเล็กๆ พบได้มากในผู้ที่มีผิวค่อนข้างขาว ผู้มีเชื้อชาติที่มีสีผมแดงและตาสีเขียว อาทิ ชาวยุโรป รวมถึงผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติตกกระ

2.กระจากแดด (Lentigo) – ลักษณะจะมีสีเข้มกว่ากระทั่วไป มักมีโทนสีแทน น้ำตาล หรือดำ กระชนิดนี้ มักเกิดตั้งแต่เด็ก และเกิดได้มากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากการได้รับแสงแดดมาเป็นเวลานาน โดยกระอีกลักษณะหนึ่ง ที่พบได้มากในผู้สูงอายุ คือ ‘กระเนื้อ’ ซึ่งมีลักษณะเป็นรอยนูนแข็งสีน้ำตาล

วิธีรักษากระ

แพทย์ผิวหนังมักแนะนำการรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser Therapy) เพื่อทำให้กระจางลงหรือลดลง ได้ในทุกบริเวณผิว หรืออาจะแนะนำเป็นการทายา แต่มักได้ผลทำให้กระจางลงได้ประมาณแค่ 70% เท่านั้น

ฝ้า คืออะไร

ฝ้า (Melasma) จะมีลักษณะเป็นปื้นๆ สีน้ำตาลเข้ม มักมีความลึกของเม็ดสีอยู่ได้บริเวณชั้นหนังกำพร้า จนไปถึงระดับชั้นหนังแท้ ตามแต่ละชนิดของฝ้า 

สาเหตุของฝ้า เกิดขึ้นจากการได้รับแสงแดดสะสมเป็นเวลานาน จนเม็ดสีดำ (Melanin) ที่สะสมเริ่มกลายเป็นจุดสีเข้ม ในช่วงแรกฝ้ามักจะขึ้นเป็นวงเล็กๆ สีน้ำตาลก่อน หากไม่มีการป้องกันหรือรักษา รอยวงกลมสีน้ำตาล ก็จะค่อยๆ ขยายเป็นปื้น และฝังลึกลงไปในเซลล์ผิว 

มักพบได้บ่อย บริเวณโหนกแก้ม สันจมูก หน้าผาก เกิดในผู้หญิงวัยกลางคนอายุประมาณ 30-40 ปีขึ้นไป และมีสัดส่วนเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงเป็นอีกปัจจัยที่มีผลกับการทำงานของเซลล์เม็ดสี

ฝ้าแบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลัก คือ

1.ฝ้าแบบตื้น – ลักษณะเป็นสีน้ำตาล ขอบชัด มักอยู่ในระดับผิวหนังกำพร้า หรือผิวหนังชั้นนอก

2.ฝ้าแบบลึก – ลักษณะเป็นสีน้ำตาลอมฟ้า อยู่ในระดับที่ลึกกว่าผิวหนังกำพร้า

3.ฝ้าผสม – มีทั้งลักษณะของฝ้าตื้นและฝ้าลึก

4.ฝ้าที่ไม่สามารถแยกชนิดได้ชัดเจน พบมากในผู้ที่สีผิวเข้ม เช่น ชาวแอฟริกัน

นอกจากนี้ยังมีภาวะที่ไม่ใช่ฝ้า แต่มีลักษณะคล้ายฝ้า จนอาจทำให้เข้าใจผิดได้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด

1.ปานโอตะ (Nevus of Ota) – มีลักษณะเป็นปานสีน้ำเงิน หรือ น้ำตาลเข้ม ซึ่งเกิดในชั้นใต้ผิวหนัง (Dermal melanocytes) ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณข้างเดียวของใบหน้า ขมับ และ แก้ม และอาจพบในเยื่อบุตาขาวร่วมด้วย มักพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นคนเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไทย

2.ปานโฮริ (Nevus of Hori) – มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล เทา มักเกิดบริเวณโหนกแก้ม 2 ข้าง ลึกลงไปในชั้นผิวหนังแท้ (Dermis) พบมากในผิวคนเอเชีย ซึ่งปานลักษณะนี้ มักทำให้ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเป็นฝ้า แต่การแยกระหว่างฝ้ากับปานโฮริ ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัย

วิธีรักษาฝ้า

แม้ฝ้าจะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถทำให้จางลงได้ ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญ โดยแบ่งเป็นวิธีรักษาหลักๆ ได้ 3 ประเภท

  • การทาครีมที่มีส่วนผสมสารฟอกสีตัวเดียวเป็นหลัก หรือหลายตัวเป็นส่วนประกอบ เพื่อช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเพิ่ม อาทิ ยาทากลุ่มกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ (Topical Retinoids/Retinoic Acid), กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid), กรดโคจิก (Kojic Acid), คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids), กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) และ ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)* 

หมายเหตุ* ในประเทศไทย สารไฮโดรควิโนนถูกสั่งห้ามผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่วางจำหน่ายทั่วไป ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สั่งจ่ายให้ผู้ป่วย

  • ทำทรีทเมนต์เพื่อความกระจ่างใสของผิว อาทิ Treatment A.H.A. เป็นกระบวนการผลัดเซลล์ผิวหนังที่หมองคล้ำของผิวหน้าในชั้นหนังกำพร้าส่วนบนหลุดลอก ด้วยกรดผลไม้ซึ่งมีสารธรรมชาติ กระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่เข้ามาแทนที่ 
  • รักษาด้วยเลเซอร์ (Pigmented Laser) ที่มีผลต่อการลดเม็ดสี อาทิ Nd Yag, VPL/IPL

วิธีป้องกันกระ ฝ้า

เนื่องจากกระ ฝ้า อาจไม่ได้มีสาเหตุทางพันธุกรรมหรือแสงแดดเท่านั้น แต่อาจเกิดจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตบางอย่างที่ส่งผลต่อปัญหาหน้าเป็นกระ ฝ้า ได้เช่นกัน โดยเฉพาะแสงแดดเป็นสาเหตุหลักของปัญหาผิวหนังทั้งสองนี้ 

ดังนั้นการหลีกเลี่ยงหรือป้องกันการสัมผัสแสงแดดโดยตรง จึงช่วยลดการเกิดกระหรือลดความเข้มของสีกระได้ รวมถึงช่วยลดการเกิดกระหรือลดการกระจายตัวเป็นวงกว้างของฝ้าได้ โดยปฏิบัติตามได้ง่ายๆ ดังนี้

  • ทาครีมกันแดดที่ป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ รังสีUVB ที่มี SPF 50 PA+++ เป็นอย่างต่ำ ทุกครั้งก่อนออกข้างนอก
  • ทากันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมง เมื่อทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  • สวมหมวกปีกกว้าง หรือผ้าคลุม ปกป้องส่วนใบหน้าที่โดนแสงแดดบ่อยสุด
  • สวมใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกายส่วนที่ไม่อยากให้เสี่ยงเกิดกระ ฝ้า
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่กลางแจ้ง ช่วงมีแดดแรง เวลาประมาณ 10 โมง ถึงบ่าย 3 โมง

กระ ฝ้า กับความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนัง คือ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ มีลักษณะเป็นผื่นขุยๆ หรือก้อนเนื้อบริเวณชั้นตื้น หรืออาจจะเป็นไฝที่โตขึ้นเรื่อยๆ มักมีเนื้อสีที่แตกต่างจากเดิม อาการเบื้องต้นของโรคนี้ คือ การระคายเคืองที่ผิวหนังบ่อยๆ หรือเป็นแผลเรื้อรัง สาเหตุของโรคนี้ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม การใช้ยาบางชนิด แต่ตัวการสำคัญที่สุดคือ ‘แสงแดด’ 

การที่ผิวได้รับรังสีอัลตร้าไวโอเลตที่อยู่ในแสงแดดมากเกินไป นอกจากจะทำให้เกิดฝ้า กระ ยังมีโอกาสทำให้เซลล์ผิวหนังพัฒนาไปสู่การเป็นมะเร็งได้ ดังนั้นการป้องกันผิวจากแสงแดดที่มากเกินไป จะช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้

แม้โรคมะเร็งผิวหนัง จะสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกสีผิว ทุกชนชาติ แต่กลุ่มเสี่ยงของผู้ที่มีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังเป็นพิเศษ แบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง
  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น HIV หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน
  • ผู้ที่มีผิวหนังที่เคยได้รังสีรักษา
  • คนที่มีผิวไหม้แดด (Sunburns) ตั้งแต่ยังเล็ก
  • มีไฝธรรมดามากกว่า 50 จุด
  • ผู้ที่ต้องทำงานกลางแดดโดยตรงเป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งผิวหนังมีรอยโรคที่ค่อนข้างชัดเจน จึงสามารถตรวจพบได้ง่าย และสามารถรักษาให้หายได้ก่อนโรคลุกลามจนก่อให้เกิดอันตราย โดยการตรวจมะเร็งผิวหนังเบื้องต้นสามารถทำได้ ดังนี้

  • ตรวจสอบร่างกายให้ทั่วทุกจุด รวมถึงส่วนที่อาจไม่เป็นที่สังเกต หรือสังเกตได้ยาก อาทิ ฝ่าเท้า, หลังเท้า, ขา, ง่ามเท้า, ท่อนแขนทั้งด้านใน-ด้านนอก, ฝ่ามือ, แขน รวมถึงระหว่างนิ้วมือ-เท้า และบริเวณเล็บมือ-เท้า
  • หมั่นสังเกตว่า ไฝ สิว ฝ้า ผื่นต่างๆ บนผิวหนังของเรา มีการเปลี่ยนแปลงของขนาด จำนวน รูปร่าง และสี หากมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดแปลก คือ มีขนาดใหญ่ขึ้น สีคล้ำขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์

เมื่อตรวจสอบร่างกายเบื้องต้นแล้วเจอความผิดปกติ ควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้

สรุปแล้ว

กระ ฝ้า มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อน-เข้ม เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยทั้งฮอร์โมน พันธุกรรม ซึ่งแสงแดดเป็นสาเหตุหลักในการเกิด กระ ฝ้า สามารถกระจายเป็นวงกว้างได้ เมื่อไม่ได้รับการปกป้องหรือรักษา แม้ปัญหาเหล่านี้จะยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ 100% แต่ก็ทำให้รอยจุดด่างดำจางลงได้ ด้วยการทำเลเซอร์ ทาครีมที่มีไวท์เทนนิ่ง ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญ และสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยการทาครีมกันแดดที่ป้องกันรังสี UVA และ รังสีUVB ที่มี SPF 50 PA+++ เป็นอย่างต่ำ รวมถึงสวมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายให้มิดชิด และหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่แจ้ง ช่วงที่มีแดดแรงจัด อย่างไรก็ตาม การป้องกันผิวพรรณในทุกช่วงเวลา รวมถึงหมั่นสังเกตร่างกายตัวเองเป็นประจำ นอกจากจะช่วยป้องกันกระ ฝ้า  ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top