มือลอก มือลอกเป็นขุย มือลอกเป็นแผ่น คือ หนึ่งในอาการผิวหนังที่เกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือ ส่วนใหญ่มักที่จะเกิดขึ้นจากการแพ้สารเคมีบางชนิด อาทิเช่น น้ำยาล้างจาน, น้ำยาล้างห้องน้ำ, น้ำยาซักผ้า รวมไปถึงในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นก็อาจเกิดปัญหามือลอกได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการที่ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น และมือลอกเองก็อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณสุขภาพ เป็นหนึ่งในอาการของโรคบางชนิด เช่น โรคสะเก็ดเงิน หรือ โรคผิวหนังที่มืออักเสบ การสังเกตความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของร่างกาย อย่างเช่น อาการมือลอก อาจทำให้ทราบถึงปัญหาสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่สังเกตพบว่าที่บริเวณมือมีลักษณะ แห้ง ลอก เป็นขุย แตก และไม่แน่ใจถึงสาเหตุ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการ
สาเหตุ มือลอกเกิดจากอะไร ?
มือลอก มือลอกเป็นขุย เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยเหล่านี้
- แสงแดด ในกรณีที่มือถูกแสงแดดทำร้ายติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจนเกินไป ผิวหนังที่บริเวณฝ่ามือและผิวหนังที่บริเวณนิ้วจะเริ่มมีการเปลี่ยนเป็นสีแดง และอาจมีอาการเจ็บปวดหรือมีอาการร้อนจัด ในวันต่อมาผิวหนังบริเวณมือและนิ้วที่โดนแสงแดดทำร้ายจะเริ่มมีการลอก โดยนอกเหนือไปจากการถูกแดดเผาแล้วการโดนความร้อนชนิดอื่นก็อาจทำให้เกิดอาการมือลอกได้เช่นเดียวกัน
- สภาพอากาศ หากอยู่ในสภาพอากาศที่มีความร้อนหรือสภาพอากาศที่มีความหนาวเย็นมากจนเกินไป อาจส่งผลทำให้เกิดอาการมือลอกได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอากาศหนาวเย็นอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผิวแห้งได้ง่าย หากยิ่งไม่มีการบำรุงให้เกิดความชุ่มชื้นด้วยการเลือกใช้ มอยเจอร์ไรเซอร์ หรือมีการดื่มน้ำที่น้อย จะยิ่งทำให้ผิวแห้งได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
- สารเคมีที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น ยาสระผม, ครีมบำรุงผิว, น้ำยาล้างจาน, น้ำยาซักผ้า อาจทำให้เกิดอาการมือลอกได้ เนื่องจากเกิดความระคายเคืองต่อผิว
- การล้างมือที่บ่อยจนเกินไป การล้างมือบ่อยเป็นผลดีต่อการขจัดเชื้อโรคและแบคทีเรีย แต่การล้างมือบ่อยจนเกินไปอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการมือลอกได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากผิวอาจเกิดการระคายเคือง ผิวแห้ง การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างมือที่มีความอ่อนโยนอาจช่วยแก้ปัญหาได้
โรคที่อาจส่งผลให้เกิดอาการ มือลอก มีโรคอะไรบ้าง?
- ผิวหนังที่มืออักเสบ (Hand Eczema) สามารถเกิดขึ้นได้จากการที่มือสัมผัสโดนสารเคมี ไม่ว่าจะเป็นสารทำความสะอาด สารเคมีที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่เครื่องสำอางเอง ก็อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือแพ้สารเคมีได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง มือลอก นิ้วมือลอก และอาจทำให้เกิดอาการคัน ผื่นแดง และผิวหนังอักเสบแสบร้อนได้อีกด้วย
- ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic Eczema) อาการทางผิวหนังที่มีความรุนแรงมากกว่าการอักเสบที่ผิวหนังทั่วไป ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นแผลพุพอง รวมถึงมีอาการคัน ฝ่ามือแดง และมือลอกได้
- อาการทางผิวหนังที่เกิดบริเวณมือและเท้า (Acral Peeling Skin Syndrome) โรคที่อาจส่งผลให้ผิวหนังชั้นบนสุดบริเวณมือและเท้าลอก แต่อาจไม่มีอาการเจ็บปวดอื่นๆร่วม สามารถพบได้บ่อยในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ที่มีอาการผื่นแดง ผิวหนังแห้งแตก และมือลอก หากมีอาการที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคสะเก็ดเงินควรรีบเข้าพบแพทย์ในทันที เพื่อทำการรักษาตามแนวทางที่ถูกต้อง
- โรคผิวหนังผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) คือ โรคที่เกิดขึ้นจากการที่ผิวหนังมีการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง การอักเสบและการแพ้ อาทิเช่น การแพ้แหวนที่ทำจากวัสดุเงิน เมื่อมีการสวมใส่อาจทำให้เกิดอาการผื่น แดง มือลอก คัน แสบร้อน และผิวหนังตกสะเก็ดได้
- โรคคาวาซากิ (Kawasaki’s Disease) โรคที่สามารถพบได้บ่อยในเด็ก โดยอาการของโรคคาวาซากิผู้ป่วยจะมีอาการไข้ขึ้นสูง มือเท้าบวม คัน มือเท้าลอก มีผื่นขึ้น ช่องปากและลำคอมีอาการอักเสบ
วิธีการรักษา มือลอกรักษายังไง ?
การรักษาอาการมือลอก สามารถรักษาได้หลากหลายวิธีโดยอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการที่เป็น อาทิเช่น
- วิธีการรักษาด้วยการใช้ มอยเจอร์ไรเซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ที่มีส่วนผสมของกรดแลคติก (Lactic acid), กลีเซอรีน (Glycerin) และ ยูเรีย (Urea) เพื่อลดอาการแห้ง อาการระคายเคือง
- วิธีการรักษาด้วยการใช้ สเตียรอยด์ (Topical Steroid) และการรับประทานยาแก้แพ้ (Antihistamine) เพื่อลดอาการบวมแดง บรรเทาอาการคัน อาการระคายเคือง
- รักษาบรรเทาอาการคันด้วยการใช้ คาลาไมน์ (Calamine) ควบคู่ไปกับการประคบเย็น เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและบรรเทาอาการคัน
- วิธีรักษาด้วยการใช้แสงบำบัด (Light Therapy) เป็นวิธีการรักษาที่มักใช้กับผู้ป่วยที่อาจไม่มีการตอบสนองต่อวิธีการรักษาอื่นๆ
โดยในวิธีการรักษาที่ถูกต้อง จะต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และเภสัชกร หากยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการมือลอกที่แน่ชัด ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องและแม่นยำ
เมื่อไหร่ที่ควรเข้าพบแพทย์
หากอาการ มือลอก ที่เกิดขึ้น เป็นอาการที่เกิดจากการแพ้สารเคมีที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน อาการมือลอกอาจหายได้เองโดยการหลีกเลี่ยงและการหยุดใช้สารเคมีโดยที่อาจไม่ต้องทำการรักษา แต่หากสังเกตแล้วว่าอาการมือลอกที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้มาจากการแพ้สารเคมีอาทิเช่น สบู่, น้ำยาล้างจาน, ยาสระผม หรือสารเคมีอื่นๆ ที่พบเจอได้ในชีวิตประจำวัน หยุดใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้หรือเปลี่ยนผลิตภัณฑ์แล้วแต่อาการยังไม่หายไป หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยกับอาการมือลอก ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย เนื่องจากอาการมือลอกอาจเป็นสัญญาณของโรคบางโรคตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้นได้เช่นเดียวกัน
การดูแลตนเองเมื่อมีอาการ มือลอก
- ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความชุ่มชื้นที่เหมาะกับสภาพผิว อย่างเช่น การเลือกใช้มอยเจอร์ไรเซอร์
- ไม่ควรเกาที่บริเวณที่มีอาการมือลอก เนื่องจากการเกาอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการมือลอก
- ทาครีมกันแดดที่ผิวและมือทุกครั้ง ที่ต้องมีการออกแดดเป็นระยะเวลาที่นาน หรือทาครีมกันแดดที่ผิวและมืออย่างเป็นประจำทุกวัน เพื่อปกป้องผิวและมือจากการถูกแสงแดดทำร้าย
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย ผลิตภัณฑ์ซักผ้า ผลิตภัณฑ์ล้างจาน และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เป็นสูตรเฉพาะสำหรับผิวแพ้ง่าย เพื่อป้องกันอาการแพ้สารเคมีในชีวิตประจำวัน ที่อาจทำให้เกิดอาการมือลอกได้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิร้อนจัดหรือมีอุณหภูมิหนาวจัด
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมการล้างมือที่บ่อยจนเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการมือลอกได้ โดยอาจล้างมือหลังจากการเข้าห้องน้ำ หรือหลังจากการหยิบจับสิ่งของสาธารณะที่เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคเท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นในระหว่างวันควรหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณหน้า หรือหยิบของเข้าปาก
- หากทำการรักษาเบื้องต้นและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย ควรรีบเข้าพบแพทย์
สรุป
มือลอกเท้าลอก มือลอกเป็นขุย มือลอกเป็นแผ่น เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการแพ้ หรือเกิดขึ้นจากการที่ผิวถูกทำร้าย ผิวแห้ง จากปัจจัยที่มีการกล่าวมาในข้างต้น อีกทั้งอาการมือลอกเองก็อาจเกิดขึ้นได้จากโรค เป็นสัญญาณของโรคที่กำลังเกิดขึ้นกับร่างกาย หากได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการมือลอกแล้วพบว่าอาการมือลอกไม่บรรเทาลงหรืออาการไม่ดีขึ้น และอาการมือลอกนั้นมีความรุนแรงมากขึ้น มีอาการแย่ลง หรือสังเกตพบว่ามีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย การเข้าพบแพทย์ในทันทีจะสามารถรักษาอาการทางผิวหนังได้อย่างทันท่วงที สังเกตอาการ สังเกตร่างกาย เนื่องจากอาการเล็กน้อยอาจเป็นสัญญาณเตือนสุขภาพได้เช่นเดียวกัน
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา
- https://www.aocd.org/page/HandRashes
- https://www.tropmedhospital.com/knowledge/hand-eczema.html
- https://www.phukethospital.com/th/healthy-articles/eczema-and-dermatitis/