เชื้อราในช่องคลอด เรื้อรัง เกิดจากอะไร? อาการและวิธีการรักษา

เชื้อราในช่องคลอด เรื้อรัง อาการติดเชื้อที่เกิดขึ้นจากเชื้อราที่ชื่อว่า “แคนดิดา” ภายในช่องคลอดและปากช่องคลอด ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคือง คัน มีตกขาว รวมไปถึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัวเกิดขึ้นได้ เชื้อราในช่องคลอดวิธีรักษา อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยา แต่หากเกิดการติดเชื้อซ้ำๆ 4 ครั้งต่อปี หรือมากกว่านั้น ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุการติดเชื้อที่ถูกต้อง และเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม

เชื้อราในช่องคลอด คืออะไร เชื้อราในช่องคลอดอันตรายไหม ?

เชื้อราในช่องคลอด กล่าวคือ อาการติดเชื้อราที่เกิดจากเชื้อรา แคนดิดา (Candida) ภายในช่องคลอดและปากช่องคลอด ซึ่งโดยปกติแล้วช่องคลอดจะมีการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นเชื้อประจำถิ่น เชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่น (normal flora) ในปริมาณที่มีความสมดุลอยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเสียความสมดุลของกรดด่างในช่องคลอด จากการที่แบคทีเรียชนิดดีหรือแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ที่เป็นเชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นของช่องคลอดถูกทำลายไป อาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตมากจนเกินไป และอาจนำไปสู่การติดเชื้อ ทำให้มีอาการระคายเคือง, มีอาการคัน และมีอาการตกขาวร่วมด้วย ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว

และถึงแม้ว่าเชื้อราในช่องคลอดอาจไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อีกทั้งยังไม่สามารถที่จะแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นในขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ในบางครั้งการมีเพศสัมพันธ์เอง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อราที่บริเวณช่องคลอดได้เช่นเดียวกัน

รูปภาพประกอบจาก Freepik

การติดเชื้อราในช่องคลอด พบได้บ่อยแค่ไหน?

การติดเชื้อราในช่องคลอดสามารถพบได้ทั่วไป และอาจเกิดขึ้นได้กับเพศหญิงทุกวัย โดยผู้หญิง 3 ใน 4 คน อาจพบการติดเชื้อราในช่องคลอดได้อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต และการติดเชื้อราในช่องคลอดสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ โดยเฉพาะในเพศหญิงที่มีการตั้งครรภ์, ผู้ที่ป่วยเป็น โรคเบาหวาน หรือในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

เชื้อราในช่องคลอดมีอาการอย่างไร?

การติดเชื้อราในช่องคลอด อาจส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เหล่านี้ โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงระดับปานกลาง

  • มีอาการตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวมีลักษณะเป็นน้ำ ตกขาวมีลักษณะเป็นสีขาวข้นและเป็นก้อน
  • รู้สึกคันระคายเคืองที่บริเวณภายในช่องคลอด
  • มีความรู้สึกปวดช่องคลอด
  • มีผื่นขึ้นบริเวณภายในช่องคลอด
  • รู้สึกแสบ ในขณะที่มีเพศสัมพันธ์หรือขณะปัสสาวะ

เชื้อราในช่องคลอด เรื้อรัง มีสาเหตุการเกิดมาจากอะไร?

การติดเชื้อราในช่องคลอดนั้น อาจมีสาเหตุจากการเกิดด้วยกันหลายสาเหตุ ดังนี้

  • การรับประทานยาคุมกำเนิด หรือการบำบัดด้วยฮอร์โมนที่เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งอาจส่งผลให้สมดุลในช่องคลอดเปลี่ยนแปลงได้
  • การรับประทานยาปฏิชีวนะ ซึ่งอาจทำลายแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) แบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้เชื้อราเจริญเติบโตมากจนเกินไป
  • ผู้หญิงที่มีการตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือผู้ที่อยู่ใน วัยหมดประจำเดือน อาจทำให้ความสมดุลภายในช่องคลอดเปลี่ยนแปลงไป
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่มีการติดเชื้อ HIV
  • ผู้ป่วยโรคอ้วน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ เนื่องจากระดับน้ำตาลในเยื่อบุช่องคลอดเพิ่มขึ้น อาจทำให้เชื้อราเกิดการเจริญเติบโตมากจนเกินไป จนทำให้ความสมดุลภายในช่องคลอดเกิดการเปลี่ยนแปลง
  • การสวนล้างช่องคลอด และการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอดที่บ่อยจนเกินไป อาจทำให้ช่องคลอดเสียสมดุลได้
รูปภาพประกอบจาก Freepik

เชื้อราในช่องคลอด หายเองได้ไหม เมื่อไหร่ที่ควรเข้าพบแพทย์?

การติดเชื้อราในช่องคลอด เป็นอาการที่สามารถเป็นได้ซ้ำๆ แต่หากมีการติดเชื้อมากกว่า 4 ครั้ง ต่อปี หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกถึงความผิดปกติในร่างกาย รู้สึกถึงความผิดปกติที่บริเวณช่องคลอด และไม่แน่ใจว่ากำลังติดเชื้อราหรือไม่ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามแนวทางที่ถูกต้อง

การวินิจฉัยเชื้อราในช่องคลอด โดยแพทย์

  • แพทย์จะทำการสอบประวัติเกี่ยวกับการรักษา โดยอาจรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อราในช่องคลอด และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • การตรวจอุ้งเชิงกราน แพทย์จะตรวจดูอวัยวะเพศภายนอกเพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อ และใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอดสอดเข้าไป เพื่อการตรวจดูช่องคลอดและปากมดลูกได้ง่ายขึ้น
  • ทำการทดสอบสารคัดหลั่งในช่องคลอด โดยแพทย์อาจส่งตัวอย่างของเหลวถายในช่องคลอด เพื่อไปทำการตรวจหาชนิดของเชื้อราที่ทำให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด โดยการระบุชนิดของเชื้อราอาจทำให้แพทย์กำหนดวิธีการรักษาการติดเชื้อราในช่องคลอดที่เกิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เชื้อราในช่องคลอด ใช้ยาอะไร แนวทางการรักษา

แนวทางวิธีการรักษาเชื้อราในช่องคลอดอาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความถี่ของการติดเชื้อรา หากเกิดอาการเพียงเล็กน้อยไปจนถึงระดับความรุนแรงปานกลาง และมีอาการไม่บ่อย แพทย์อาจทำการรักษาตามวิธีการดังนี้

  1. การใช้ยาต้านเชื้อรา โคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ยาเหน็บ ที่เป็นยาเหน็บช่องคลอด 7 วัน หากมีอาการแสบที่บริเวณอวัยวะเพศด้านนอกร่วมด้วย อาจใช้ร่วมกับครีมโคลไตรมาโซล
  2. รับประทานยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ที่ซึ่งเป็นยาต้านเชื้อราแบบรับประทานเพียงแค่ครั้งเดียว

หากมีการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวตามข้างต้นแล้ว อาการยังไม่หายไปหรืออาการกลับมาเป็นซ้ำ ควรกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง และสำหรับผู้ที่มีอาการติดเชื้อราที่ช่องคลอดบ่อยๆ แพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  1. การใช้ยาต้านเชื้อราทุกวันต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 2 สัปดาห์ จากนั้นปรับเป็นการใช้ยาเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน
  2. รับประทานยาต้านเชื้อรา โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านเชื้อรา 2-3 โดส ให้รับประทานแทนการรักษาทางช่องคลอด ซึ่งการรักษารูปแบบนี้ไม่เหมาะกับผู้หญิงที่กำลังมีการตั้งครรภ์
  3. การใช้ยาสอดช่องคลอด กรดบอริก (Boric Acid) ที่มาในรูปแบบแคปซูล ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสำหรับการติดเชื้อราในช่องคลอดที่ดื้อต่อยาต้านเชื้อราตามปกติ และที่สำคัญยานี้ไม่สามารถรับประทานได้ เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

ในการเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาการติดเชื้อในช่องคลอด ผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลทุกอย่างรวมไปถึงประวัติการใช้ยาให้แก่แพทย์ เพื่อความปลอดภัย

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการดูแลตนเอง เพื่อรับมือกับการติดเชื้อราในช่องคลอด

ถึงแม้การติดเชื้อราในช่องคลอดจะไม่มีวิธีป้องกัน แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างอาจช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อราในช่องคลอดได้เช่นเดียวกัน

  • หลีกเลี่ยงการใส่ชุดชั้นในและกางเกงที่มีความรัดแน่นจนเกินไป เลือกใส่ชุดชั้นในและกางเกงที่สามารถระบายอากาศได้ดี หรือเลือกสวมกระโปรงเพื่อป้องกันการอับชื้น
  • หากมีการทำกิจกรรมที่ทำให้มีเหงื่อออกมาก ควรผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าที่มีความเปียกชื้นออกทันที
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องใช้ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น
  • รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของแลคโตบาซิลลัส เช่น โยเกิร์ต
  • สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราที่ช่องคลอดได้
  • สำหรับผู้ที่มีประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3-4 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้น หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด และหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
  • ทำความสะอาดช่องคลอดด้วยน้ำสะอาด และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอดหรือการล้างสวนช่องคลอดบ่อยๆ

สรุป

การติดเชื้อราในช่องคลอด อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง ตกขาว มีอาการคัน และอาจมีอาการแสบที่บริเวณช่องคลอด หากการติดเชื้อราในช่องคลอดไม่ได้มีอาการที่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา แต่สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อราในช่องคลอดบ่อยๆ หรือมีการติดเชื้อราที่ช่องคลอดซ้ำมากกว่า 4 ครั้งต่อปี ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่เหมาะสมตามอาการ และสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อราที่ช่องคลอดได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวทางข้างต้น

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา

Scroll to Top