AHA และ BHA ต่างกันอย่างไร มีประโยชน์และข้อควรระวังอะไรบ้าง?

Alpha-hydroxy acids (AHA) และ Beta-hydroxy acids (BHA) คือ กรดชีวภาพที่มีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิว แม้ร่างกายจะสามารถผลัดเซลล์ได้เองตามธรรมชาติ แต่ด้วยโครงสร้างทางสังคมและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันแตกต่างไปจากสมัยก่อนมาก กระบวนการผลัดเซลล์ผิวอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ สารทั้ง 2 ชนิดนี้จึงเป็นตัวช่วยให้การผลัดเซลล์ผิวทำได้ง่ายขึ้น และได้ผิวที่กระจ่างใสเป็นธรรมชาติ

citrus has Alpha-hydroxy acids
ที่มาของภาพ Unsplash

ทั้งนี้ คำว่า AHA และ BHA คือ ชื่อเรียกของโครงสร้างโมเลกุลที่ใช้แยกประเภทของกรดชีวภาพที่มีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิว ดังนั้น ชื่อเรียกนี้จึงนับว่าเป็นคำที่ใช้แยกกลุ่มของสารเท่านั้น

AHA และ BHA ต่างกันอย่างไร?

แม้สารทั้ง 2 ชนิดนี้ จะมีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิวเหมือนกัน แต่ในระดับโมเลกุลแล้วจะมีความแตกต่างกัน ดังนี้

แหล่งที่มาและโครงสร้าง

  • Alpha-hydroxy acids: ได้มาจากผลไม้, นม และน้ำตาลอ้อย โดยสารที่มีโครงสร้างโมเลกุลอยู่ในกลุ่ม AHA ได้แก่ กรดไกลโคลิก, กรดแลกติก, กรดแมนเดลิก และกรดซิตริก เนื่องจาก AHA เป็นสารที่ละลายน้ำได้จึงสามารถล้างออกได้ง่ายด้วยน้ำเปล่า แต่จะซึบซาบลงผิวได้น้อยกว่า ดังนั้น จึงออกฤทธิ์ได้เฉพาะบริเวณผิวหนังกำพร้าเท่านั้น
  • Beta-hydroxy acids: เป็นอนุพันธ์จากกรดซาลิไซลิก (รู้จักกันในนาม แอสไพริน) ได้มาจากเปลือกต้นวิลโลว์ BHA เป็นสารที่ละลายได้ในไขมัน จึงสามารถซึบซาบลงผิวหนังได้ง่ายกว่า การออกฤทธิ์จึงซึมลงสู่รูขุมขน, ต่อมไขมัน และลงลึกได้มากกว่าชั้นหนังกำพร้า
Alpha-hydroxy acids apply
ที่มาของภาพ Unsplash

ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH)

AHA จะมีค่า pH อยู่ที่ 3-4 และ BHA จะมีค่า pH อยู่ที่ 3.5-4.5 จะเห็นได้ว่า AHA จะแสดงคุณสมบัติความเป็นกรดมากกว่า (จึงนิยมถูกเรียกว่า กรดผลไม้) จึงเหมาะกับการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ในขณะที่ BHA จะมีค่า pH ใกล้เคียงกับผิวของมนุษย์มากกว่า คุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิวอาจจะไม่เด่นมากนัก แต่จะระคายเคืองน้อยกว่านั่นเอง

AHA และ BHA มีประโยชน์ต่อสุขภาพผิวอย่างไร?

จากโครงสร้างทางเคมีของสาร 2 ชนิดนี้ ช่วยบ่งบอกถึงลักษณะการออกฤทธิ์ต่อผิวหนัง ซึ่งมีความแตกต่างกัน ดังนี้

  • Alpha-hydroxy acids: เนื่องด้วยค่า pH ที่เป็นกรดมากกว่าค่า pH ของผิวหนังอยู่เล็กน้อย จึงสามารถทำลายพันธะของเซลล์ผิวหนังให้เซลล์ที่ตายแล้วหลุดออกได้ง่าย ช่วยให้ผิวกระจ่างใสขึ้น ลดความหยาบกร้านของผิว และลดเลือดจุดด่างดำ
  • Beta-hydroxy acids: เนื่องจากค่า pH ที่ใกล้เคียงกับค่า pH ของผิวหนัง คุณสมบัติในการผลัดเซลล์จึงไม่โดดเด่นเท่า AHA แต่ BHA ละลายได้ดีในไขมัน จึงสามารถซึมซาบลงสู่รูขุมขนได้ดีกว่า ช่วยลดการอุดตันของรูขุมขนและลดการเกิดสิวอุดตัน อีกทั้งยังมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของผิวหนังได้ด้วย (ซึ่งเป็นคุณสมบัติของแอสไพรินที่เป็นยาแก้ปวดและลดอักเสบ)
pore clog
ที่มาของภาพ Complete Skin Solutions

โดยรวมสาร 2 ชนิดนี้สามารถใช้ร่วมกันได้ โดย AHA จะเน้นที่การผลัดเซลล์และลดเลือดจุดด่างดำ ส่วน BHA จะเสริมการขจัดเซลล์ผิวที่อุดตันรูขุมขนและลดการอักเสบ เมื่อนำมาใช้ร่วมกันผิวหนังจะเกิดความกระจ่างใส เรียบเนียนไม่หยาบกร้าน และช่วยยกกระชับลดเลือดริ้วรอยได้ด้วย หรือหากต้องการใช้เพื่อหวังผลจากคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็สามารถเลือกใช้เพียงชนิดเดียวได้เช่นกัน

คำแนะนำในการใช้ AHA และ BHA

  1. เริ่มต้นด้วยความเข้มข้นต่ำ ๆ: การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มต้นใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลัดเซลล์ผิว เนื่องจาก AHA และ BHA จะมีคุณสมบัติความเป็นกรด เมื่อนำมาใช้ครั้งแรกผิวหนังอาจจะยังไม่คุ้นชินกับการเปลี่ยนสภาวะอย่างกะทันหัน ดังนั้น จึงควรเริ่มต้นใช้ AHA และ BHA ที่มีความเข้มข้นต่ำก่อน จึงค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ
  2. ใช้เพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง: จากที่กล่าวไว้ข้างต้น ร่างกายของมนุษย์มีกระบวนการผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาติ AHA และ BHA เป็นเพียง “ตัวช่วย” ที่เร่งให้กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผิวหนังกำพร้าจะมีอัตราการผลัดเซลล์อยู่ที่ราว 28-40 วัน ดังนั้น การทา AHA และ BHA เพียงสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง นับว่าเพียงพอต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลัดเซลล์ผิวแล้ว
  3. ทามอยส์เจอไรเซอร์และครีมกันแดดทุกครั้ง: การทา AHA และ BHA ลงบนผิว จะเสมือนการขัดผิวหน้าส่วนบนของผิวหนังออกไป ทำให้ผิวเกิดความอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่าย จึงควรตามด้วยมอยส์เจอไรเซอร์และครีมกันแดดทุกครั้ง เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวที่ถูกผลัดเซลล์ผิวหน้าออกไป และช่วยปกป้องผิวที่อายุน้อยจากแสงแดดด้วย
skin care with Beta-hydroxy acids
ที่มาของภาพ Unsplash

ผลข้างเคียงและข้อควรระวังจากการใช้ AHA และ BHA

แม้ AHA และ BHA เป็นสารที่พบได้ในชีวิตประจำวัน และสามารถใช้ได้ในคนทั่วไป แต่สารเหล่านี้จะมีผลข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากธรรมชาติของ AHA และ BHA เอง หรือจากการใช้งานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ดังนี้

  1. ผิวอ่อนไหว: ผู้ใช้บางรายอาจมีผิวหนังที่ไวต่อกรดได้ง่าย ซึ่งมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะนี้ ไม่ว่าจะเป็นความไวของผิวหนังตามธรรมชาติของแต่ละบุคคล, ผิวหนังแห้ง, การทา AHA และ BHA ที่ความเข้มข้นสูง เป็นต้น การหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้ สามารถแก้ไขได้ด้วยการบำรุงผิวด้วยมอยส์เจอไรเซอร์และครีมกันแดด ทั้งก่อนและหลังการใช้ AHA และ BHA รวมถึงเริ่มต้นใช้ AHA และ BHA ในความเข้มข้นต่ำก่อนจะช่วยลดผลข้างเคียงได้
  2. ผิวไวต่อแดด: ผลข้างเคียงนี้สืบเนื่องมาจากการที่ผิวหนังบางลงหลังใช้ AHA และ BHA เนื่องจากผิวหนังส่วนบนถูกผลัดออก ผิวหนังที่อยู่ลึกลงไปและมีอายุน้อยจะอ่อนไหวต่อแดดได้ง่ายกว่า เมื่อผิวหนังโดนแสงแดดอาจเกิดอาการแสบร้อน, แดง และอาจเกิดเป็นกระหรือฝ้าได้ ดังนั้น หลังการทา AHA และ BHA ควรหลีกเลี่ยงการออกแสงแดดจัด และควรทาครีมกันแดดด้วยทุกครั้ง
  3. ผลัดเซลล์ผิวมากเกินไป: ผลข้างเคียงนี้มักพบได้ในกรณีที่ใช้ AHA และ BHA ความเข้มข้นสูงเกินไป หรือใช้บ่อยครั้งจนเกินไป หากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมจะทำให้ผิวหนังที่มีอายุน้อยสูญเสียความชุ่มชื้น, ผิวแดง และไวต่อแสงแดดมากขึ้น ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการใช้ AHA และ BHA ให้เหมาะสมด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Healthline
WebMD
Medical News Today
Molecules Journal 2018
Paula’s Choice

Scroll to Top