อัลบูมิน (Albumin) คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ดีจริงหรือไม่?

อัลบูมิน (Albumin) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งในตระกูลของ Globular protein (เนื่องจากมีลักษณะโมเลกุลเป็นทรงกลม) พบได้ปริมาณมากในกระแสเลือดกว่า 60% โดยละลายอยู่ในพลาสมาหรือน้ำเลือด อัลบูมินจัดว่าเป็นโปรตีนที่มีความสำคัญอย่างมากต่อมนุษย์ เพราะทำหน้าที่ในการควบคุมความดันโลหิตในหลอดเลือด และช่วยในการขนส่งสารต่าง ๆ ทั่วร่างกาย

โครงสร้างโมเลกุลของอัลบูมิน
โครงสร้างโมเลกุลของอัลบูมิน
ที่มาของภาพ Albumin: Biochemical properties and therapeutic potential

ร่างกายของมนุษย์สามารถสังเคราะห์โปรตีนได้จากตับ โดยใช้กรดอะมิโนเป็นสารตั้งต้น อย่างไรก็ตาม หากเกิดพยาธิสภาพกับเซลล์ตับ เช่น ภาวะตับแข็ง หรือกรณีที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอที่จะนำมาสร้างอัลบูมิน จะเกิดภาวะขาดอัลบูมินและอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตได้เลยทีเดียว

ร่างกายสังเคราะห์อัลบูมินได้อย่างไร?

อัลบูมินถูกสังเคราะห์เป็นหลักในเซลล์ตับ (Hepatocyte) โดยอาศัยกระบวนการถอดรหัสและแปลรหัสในระดับยีน ซึ่งขั้นตอนพอสังเขปมีดังนี้

อัลบูมินถูกสังเคราะห์เป็นหลักในเซลล์ตับ (Hepatocyte)
ที่มาของภาพ Research Gate

ขั้นตอนการถอดรหัส จะเกิดขึ้นในนิวเคลียสของเซลล์ตับ โดยมีการถอดรหัสยีนในนิวเคลียสให้อยู่ในรูปของ mRNA ออกมาสู่ไซโทพลาสซึม (Cytoplasm) หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการแปลรหัสใน mRNA ให้กลายเป็นอัลบูมินด้วยไรโบโซม (Ribosome) ซึ่งในระหว่างการแปลรหัสยีนแต่ละชุด จะมีกรดอะมิโนเข้ามาต่อพันธะกันเรื่อย ๆ จนกลายเป็นโมเลกุลของอัลบูมินในที่สุด

หลังจากที่ได้อัลบูมินแล้ว เซลล์ตับจะส่งอัลบูมินออกสู่กระแสเลือดละลายปะปนในพลาสมา เพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ต่อไป

ประโยชน์ของอัลบูมินต่อร่างกาย

รักษาแรงดันออสโมติกของเลือด

ปกติแล้วน้ำจะมีคุณสมบัติในการเคลื่อนที่ผ่านเยื่อเลือกผ่าน (Semipermeable membrane) โดยจะมีเพียงน้ำที่เคลื่อนที่ได้ส่วนโมเลกุลที่อยู่ในน้ำและใหญ่กว่ารูพรุนของเยื่อเลือกผ่านจะไม่สามารถผ่านออกไปได้ โดยกลไกการเคลื่อนที่ของน้ำจะเคลื่อนจากพื้นที่ที่มีความเข้มข้นต่ำไปยังพื้นที่ที่มีความเข้มข้นสูง เพื่อทำให้เกิดสมดุลของความเข้มข้น สิ่งนี้เรียกว่า แรงดันออสโมติก (Osmotic pressure) เมื่อแรงดันน้ำคงที่ ความเข้มข้นคงที่ จะเรียกว่าการเกิดแรงดันออสโมติกสมดุล หรือ Isotonic

ภายในร่างกายประกอบด้วยน้ำปริมาณมาก และมีการเคลื่อนที่ของน้ำระหว่างกระแสเลือดและเนื้อเยื่อรอบนอก ดังนั้น การรักษาสมดุลของแรงดันน้ำในหลอดเลือดให้เหมาะสมจึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต กระบวนการนี้อาศัยการสร้างความเข้มข้นของสารภายในหลอดเลือด เพื่ออุ้มน้ำให้อยู่ภายในหลอดเลือดให้ได้มากที่สุด ซึ่งแรงดันของการอุ้มน้ำที่เกิดจากสารภายในหลอดเลือดนี้ เรียกว่า Oncotic pressure จัดอยู่ในกลุ่มหนึ่งของ Osmotic pressure

 Oncotic pressure
ที่มาของภาพ Basic Medical Key

อัลบูมิน เป็นโปรตีนที่มีปะปนอยู่ในน้ำเลือดหรือพลาสมามากถึง 80% จึงเป็นตัวแปรสำคัญของการรักษาสมดุล Oncotic pressure หากร่างกายมีระดับอัลบูมินในพลาสมาลดต่ำลง (Hypoalbuminemia) จะส่งผลให้น้ำภายในหลอดเลือดไม่สามารถคงอยู่ได้และเกิดการรั่วไหลออกสู่เนื้อเยื่อภายนอก (โดยมีผนังหลอดเลือดทำหน้าที่เสมือนเยื่อเลือกผ่าน) ตามมาด้วยอาการบวมน้ำ (Edema) โดยระดับอัลบูมินในพลาสมาที่ลดต่ำลงกว่า 2.5 กรัมต่อเดซิลิตร ถือเป็นระดับที่ทำให้ร่างกายแสดงอาการบวมน้ำได้

นอกจากนี้ แรงดันภายในหลอดเลือดยังเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เลือดถูกสูบฉีดได้ง่าย หากพลาสมาและน้ำในหลอดเลือดลดลงจากการขาดอัลบูมิน เลือดจะข้นขึ้น ถูกสูบฉีดได้ยาก เป็นเหตุให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำจนอาจเกิดภาวะช็อกแบบ Hypovolemic shock ได้

ช่วยขนส่งสารต่าง ๆ ในเลือด

อัลบูมินประกอบด้วยส่วนที่สามารถละลายน้ำได้บริเวณรอบนอก และมีส่วนแกนกลางที่ไม่สามารถละลายน้ำได้ จึงสามารถจับเข้ากับฮอร์โมน, กรดไขมัน, แร่ธาตุ, น้ำดี ตลอดจนยาบางชนิด โดยอัลบูมินจะช่วยขนส่งสารเหล่านี้จากแหล่งสังเคราะห์ไปยังเนื้อเยื่อเป้าหมาย เพื่อนำไปดำเนินการทางชีวเคมีต่อไป

เม็ดเลือดแดง
ที่มาของภาพ Medline Plus

นอกจากนี้ การขนส่งสารของ อัลบูมินยังอาจมีบทบาทในการลดหรือทำลายพิษของสารบางชนิด ตัวอย่างเช่น การขนส่ง Unconjugated Bilirubin หรือบิลิรูบินชนิดไม่ละลายน้ำไปยังตับ โดยการจับกับอัลบูมินจะช่วยป้องกันไม่ให้บิลิรูบินชนิดนี้ผ่านเยื่อป้องกันสมอง หรือ Blood Brain Barrier เข้าสู่เซลล์สมองได้

เนื่องจากในภาวะที่ร่างกายมีระดับ Unconjugated Bilirubin สูงจนเกินไป สารเหล่านี้จะเข้าสู่สมองและทำลายเซลล์สมอง ซึ่งมักพบได้บ่อยในเด็กร่างกายมีปริมาณอัลบูมินต่ำ เรียกภาวะนี้ว่า Kernicterus อันเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิต หรือความพิการทางสมองตามมาได้

ประโยชน์อัลบูมิน ช่วยอะไร

เนื่องจากอัลบูมินเป็นโปรตีนที่หาได้ง่าย จึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่เน้นการบำรุงผิว โดยประโยชน์ของอัลบูมินในผลิตเหล่านี้ ได้แก่

  • ให้ความชุ่มชื่นแก่ผิว โดยอัลบูมินมีคุณสมบัติเป็นมอยส์เจอร์ไรเซอร์ ที่ช่วยปกป้องไม่ให้น้ำภายในผิวหนังระเหยออก คงความชุ่มชื้นไว้ได้นานขึ้น
  • ควบคุมความมัน เนื่องจากอัลบูมินมีคุณสมบัติควบคุมการหลั่งน้ำมันของต่อมไขมัน จึงช่วยลดความมันบนผิว โดยเฉพาะกับผิวหน้าที่มันง่ายเสี่ยงต่อการเกิดสิว
  • ลดเลือนจุดด่างดำ โดยอัลบูมินมีคุณสมบัติช่วยปกป้องผิวจากมลภาวะรอบกาย อีกทั้งยังช่วยลดเลือนจุดด่างดำบนผิวได้ จึงอาจพบอัลบูมินผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความกระจ่างใส
  • เพิ่มความแข็งแรงของเส้นผม เพราะเส้นผมมีส่วนประกอบของโปรตีน อัลบูมินจึงเข้ามาทำหน้าที่เสมือนอาหารเสริมบำรุงเส้นผม นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความเงางามให้แก่เส้นผม และเคลือบเส้นผมลดความมันได้ตลอดทั้งวัน
มาส์กหน้า
ที่มาของภาพ Unsplash

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้ผลิตที่มีส่วนประกอบของอัลบูมินอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีประวัติการแพ้โปรตีนไข่ขาว ดังนั้น ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอาง ควรตรวจเช็กฉลากของผลิตภัณฑ์ด้วยทุกครั้ง

แหล่งอาหารที่มีอัลบูมินและปริมาณที่แนะนำต่อวัน

เนื่องจากอัลบูมินสามารถสังเคราะห์ได้จากตับ โดยการใช้สารตั้งต้นจากกรดอะมิโนของโปรตีน ดังนั้น การรับบประทานอาหารเพื่อรักษาสมดุลของอัลบูมินในร่างกาย คือ การรับประทานอาหารจำพวกโปรตีนให้เพียงพอต่อความต้องการ

ข้อมูลจากรายการปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน สำหรับคนไทย อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป แนะนำให้รับประทานอาหารจำพวกโปรตีนวันละ 0.8-1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือประมาณ 60 กรัมต่อวัน

ไข่ทอด
ที่มาของภาพ Unsplash

คำว่า อัลบูมิน มาจากคำว่า อัลบูเมน (Albumen) ในภาษากรีก มีความหมายว่า ไข่ขาว เพราะฉะนั้น ไข่ขาวจึงเป็นแหล่งอาหารหลักที่ผู้บริโภคจะได้รับโปรตีนเพื่อสร้างอัลบูมิน อีกทั้งไข่ขาวยังปราศจากแคลอรี เหมาะที่จะใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในระหว่างการลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหาร แต่ร่างกายจะยังได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ

ส่วนแหล่งอาหารอื่น ๆ ที่มีโปรตีนสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน, นมและผลิตภัณฑ์จากนม และพืชตระกูลถั่ว หากผู้บริโภครับประทานอาหารที่หลากหลาย ในแต่ละวันก็จะได้รับโปรตีนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Scroll to Top