Magnesium (แมกนีเซียม) คืออะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร?

แมกนีเซียม (Magnesium) คือ กลุ่มธาตุโลหะอัลคาไลน์เอิร์ธ มีตัวอักษรย่อตามตารางธาตุว่า Mg ลักษณะทางกายภาพจะมีเนื้ออ่อนนุ่ม สีเทาเงิน สามารถทำปฏิกิริยากับธาตุอื่นอย่างรุนแรงได้ แต่พบธาตุนี้ตามธรรมชาติได้น้อยมาก มักพบรวมกับแร่ธาตุชนิดอื่น เช่น แมกนีไซต์, โดลาไมต์ และคาร์แนลไลต์

แม้จะเป็นธาตุโลหะ แต่แมกนีเซียมที่อยู่ในร่างกายมนุษย์จะอยู่ในรูปของไอออน มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตและเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาทางชีวเคมีในร่างกายกว่า 300 ชนิด แมกนีเซียมจึงมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท, กล้ามเนื้อ, ระดับน้ำตาลในเลือด, กระดูก และระบบอวัยวะอื่น ๆ อีกมากมาย

ที่มาของภาพ Wiki Commons

ประโยชน์ของแมกนีเซียม (Benefits of Magnesium) ในร่างกายมนุษย์

เสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง

แมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญต่อการเสริมสร้างกระดูกและฟัน เนื่องจากแมกนีเซียมช่วยสนับสนุนการดูดซึมแคลเซียม และกระตุ้นเอนไซม์ที่ช่วยสร้างสารพันธุกรรมจำเป็นต่อกระบวนการสร้างกระดูก นอกจากนี้ แมกนีเซียมยังเป็นปัจจัยของการนำแคลเซียมออกมาใช้งานในร่างกาย โดยทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนควบคุมแคลเซียมในร่างกาย

มีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ

แมกนีเซียมมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ หากมีปริมาณแมกนีเซียมในร่างกายต่ำเกินไป (Hypomagnesemia) อาจส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง, เป็นตะคริว, และทำงานผิดปกติได้ ซึ่งมักพบภาวะได้บ่อยในนักกีฬา

ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท

แมกนีเซียมมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท เนื่องจากมีส่วนช่วยควบคุมการปล่อยสารสื่อประสาท ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่เสมือนตัวกลางที่ใช้พูดคุยกันระหว่างเซลล์ประสาท นอกจากนี้ แมกนีเซียมยังช่วยคงสภาพของเยื่อปกป้องสมอง (Blood-brain barrier) ที่ช่วยป้องกันไม่ให้สมองได้รับอันตรายจากสารพิษในร่างกายอีกด้วย

Magnesium Neuron
ที่มาของภาพ Freepik

ส่งเสริมสุขภาพระบบหัวใจและหลอดเลือด

แมกนีเซียมมีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดหลายประการ ดังนี้

  • การเต้นของหัวใจ ต้องอาศัยแมกนีเซียมเป็นหนึ่งในปัจจัยการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ (สอดคล้องกับที่แมกนีเซียมมีบทบาทต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ)
  • แมกนีเซียมทำให้กล้ามเนื้อเรียบในผนังหลอดเลือดแดงคลายตัว ช่วยลดความดันโลหิต
  • แมกนีเซียมช่วยลดการสร้างลิ่มเลือด อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตัว หรือลิ่มเลือดอุดตันได้

ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

แมกนีเซียมมีบทบาทในกระบวนการสร้างอินซูลิน (ฮอร์โมนที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด) และช่วยให้เซลล์รับอินซูลินได้ดีขึ้น หากเกิดภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้เซลล์ดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินจนกลายเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

มีผลต่อการสร้างพลังงานในร่างกาย

แมกนีเซียมเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสารให้พลังงาน ATP (Adenosine Triphosphate) รวมถึงการกระตุ้นให้เซลล์นำพลังงานไปใช้อย่างเหมาะสม หากแมกนีเซียมในเลือดต่ำอาจทำให้เซลล์ขาดพลังงาน และอาจกลายเป็นวงจรต่อเนื่องให้ร่างกายทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ

Magnesium immune
ที่มาของภาพ Freepik

สนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

แมกนีเซียมมีความสำคัญในการสร้างแอนติบอดีของเม็ดเลือดขาวชนิดบี เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคเข้ามาในร่างกาย เม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะถูกกระตุ้นให้จดจำและสร้างแอนติบอดีออกมาต่อสู้กับเชื้อโรค และเมื่อร่างกายเจอเข้ากับเชื้อโรคเหล่านี้อีกครั้ง เม็ดเลือดขาวจะถูกกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีออกมาต่อสู้กับเชื้อโรคได้เร็วขึ้น ซึ่งแมกนีเซียมจะมีบทบาทในกระบวนการเหล่านี้

มีผลต่อสุขภาพจิต

สืบเนื่องจากการสร้างสารสื่อประสาท แมกนีเซียมมีผลต่อการสร้างซีโรโทนินและโดพามีน ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้มีผลต่อสภาวะทางอารมณ์ หากแมกนีเซียมในเลือดต่ำอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า, วิตกกังวล และภาวะทางจิตอื่น ๆ ได้

ประโยชน์ของแมกนีเซียมในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

  • ชะลอวัย: แมกนีเซียมมีคุณสมบัติชะลอวัย เพราะช่วยลดเลือนริ้วรอยและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่นและเต่งตึง ในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจึงนิยมผสมแมกนีเซียมเพื่อเสริมประสิทธิภาพของสารบำรุงผิวอื่น ๆ เช่น ไนอะซินาไมด์, โจโจบา ออยล์ เป็นต้น
  • ลดการเกิดสิว: แมกนีเซียมมีคุณสมบัติควบคุมการผลิตไขมันของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง จึงช่วยลดการอุดตันรูขุมขน ลดการเกิดสิวอักเสบ อีกทั้งยังมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบได้ด้วย
  • เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว: หนอกจากจะช่วยให้ผิวเต่งตึงขึ้นแล้ว แมกนีเซียมยังช่วยฟื้นฟูผิวให้ลดรอยแตกระหว่างชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวอุ้มน้ำได้ดีกลับมานุ่มชุ่มชื่นอีกครั้ง
  • ปกป้องผิว: แมกนีเซียมเปรียบเสมือนเกราะป้องกันตามธรรมชาติของผิวหนัง ช่วยป้องกันไม่ให้ผิวถูกทำลายจากมลภาวะรอบกาย อีกทั้งยังช่วยปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลต เมื่อร่างกายได้รับแมกนีเซียมอย่างเพียงพอควบคู่กับการใช้ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการถูกแสงแดดทำลายเซลล์ผิวหนังได้
  • บำรุงหนังศีรษะ: ผลิตภัณฑ์ยาสระผมและครีมนวดผม มักผสมแมกนีเซียมลงไปเป็นหนึ่งในส่วนประกอบด้วย เพราะแมกนีเซียมมีคุณสมบัติช่วยให้หนังศีรษะมีความแข็งแรง ควบคุมต่อมไขมันไม่ให้หลั่งไขมันออกมามากหรือน้อยเกินไป และยังช่วยขจัดรังแคได้ดีด้วย
Magnesium
ที่มาของภาพ Freepik

แหล่งอาหารที่อุดมด้วยแมกนีเซียม และปริมาณที่แนะนำต่อวัน

แมกนีเซียมสามารถพบได้ในอาหารหลายหลายชนิด ได้แก่

  • ช็อกโกแลต
  • อัลมอนด์
  • ผักโขม
  • อะโวคาโด
  • ถั่วดำ
  • ขนมปังธัญพืช
  • ปลาแซลมอน
  • นมและผลิตภัณฑ์จากนม
  • กล้วย

ปริมาณแมกนีเซียมที่แนะนำต่อวันอาจแตกต่างกันไปตามอายุและเพศ สำหรับปริมาณที่แนะนำในผู้ใหญ่อายุ 19 ปีขึ้นไป คือ 300-400 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งอาหารที่รับประทานในแต่ละวันนั้นถือว่ามีปริมาณแมกนีเซียมที่เพียงพอที่ร่างกายต้องการแล้ว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Health Direct

Medical News Today

Healthline

Scroll to Top