กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) เกิดจากอะไร สัญญาณเตือน ก่อนสายเกินแก้!

กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) เป็นความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ ที่มีการติดเชื้อที่ไต (Kidney) ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของระบบทางเดินปัสสาวะอย่างฉับพลันและรุนแรง ทำให้ช่วงกรวยไตมีการอักเสบ และอาจเกิดความเสียหายต่อไตอย่างถาวร กรวยไตอักเสบจัดเป็นโรคหนึ่งที่มาจากพฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลนั้น โดยการตรวจพบโรคนี้จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในขณะเดียวกันกรวยไตอักเสบ จะทำให้เกิดโรคภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ไตวายเรื้อรัง รวมถึงกระเพาะปัสสาวะอักเสบเช่นกัน

ลักษณะของโรคกรวยไตอักเสบ

กรวยไตเป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายโพรง เชื่อมต่อกับท่อไตโดยตรง ทำหน้าที่กำจัดของเสียในรูปของปัสสาวะ ซึ่งกรองของเสียออกจากไตในกระบวนการดูดกลับของไต (Tular Reabsorbtion) เพื่อดูดน้ำและสารอาหาร จากนั้นลำเลียงของเสียจากกลไกการขับทิ้ง (Tubular Secretion) เพื่อส่งออกไปสู่ท่อไต อาการของกรวยไตอักเสบนั้น จะแบ่งตามลักษณะได้สองแบบคือ กรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute Pyelonephritis) และกรวยไตอักเสบแบบเรื้อรัง (Chronic Pyelonephritis) ลักษณะของอาการที่แสดงออกทั้งสองแบบมีความแตกต่างกัน โดยจะอธิบายได้ดังนี้

  1. กรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลัน (Acute Pyelonephritis) จะเป็นความผิดปกติที่ติดเชื้อจากแบคทีเรียกลุ่มแกรมลบ (Gram Negative Bacteria) เช่น เชื้อ E.Coli (Escherichia Coli) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าอีโคไล, เชื้อเครบซิลล่า (Klebsiella) และเชื้อซูโดโมนาส (Pseudomonas) โดยอาการของกลุ่มนี้จะแสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน และรักษาให้หายขาดภายใน 2-3 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับร่างกายแต่ละบุคคล 
  2. กรวยไตอักเสบแบบเรื้อรัง (Chronic Pyelonephritis) ในกลุ่มนี้จะไม่แสดงอาการใดๆ แต่มีความรุนแรงสูง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณกรวยไต อาจจะเกิดตรงบริเวณไตข้างใดข้างหนึ่งหรือกรวยไตทั้งสองข้าง สามารถตรวจผลทางปฏิบัติการได้จากการเพาะเชื้อแบคทีเรีย และเม็ดเลือดขาวที่ปนในปัสสาวะ ซึ่งจะมีการอักเสบของกรวยไตเป็นเวลานาน ทำให้เซลล์ของไตถูกทำลาย และเสี่ยงไตวายเรื้อรังได้

อาการ กรวยไตอักเสบ

จากลักษณะของโรคกรวยไตอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง จะมีการแสดงอาการของกรวยไตอักเสบออกมาคล้ายกัน ขึ้นอยู่กับการแสดงออกของโรคในแต่ละบุคคล ซึ่งจะมีอาการต่างๆ ดังนี้

  • มีไข้สูงเกิน 37.5 องศา มีอาการหนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ 
  • มีอาการปวดท้องร่วมด้วย หรือรู้สึกปวดท้องบริเวณข้างใดข้างหนึ่ง
  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร บางรายไม่สามารถทานอาหารได้
  • ปัสสาวะมีสีขุ่น อาจมีเลือดปน หรือมีหนองปน บางรายปัสสาวะมีกลิ่นผิดปกติ
  • รู้สึกแสบขัดขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะกะปริบกะปรอยอยู่ตลอดเวลา

การวินิจฉัยโรคกรวยไตอักเสบ

  1. การตรวจปัสสาวะ (Urine tests) : ในขั้นตอนนี้จะเป็นการตรวจสารในปัสสาวะ เพื่อดูความผิดปกติของไต และอาการทั่วไปอื่นๆ ว่ามีการติดเชื้อที่ไตหรือไม่ โดยแพทย์จะทำการตรวจปัสสาวะ ช่วยตรวจหาแบคทีเรีย เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และหนองที่ปนในปัสสาวะ
  2. การตรวจด้วยภาพเอกซ์เรย์ : ในกรณีมีอาการเสี่ยงต่อการเกิดโรคกรวยไตอักเสบ แพทย์จะทำการเอกซ์เรย์เพื่อดูความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ ความผิดปกติของหน่วยไต และความผิดปกติอื่นๆ เช่น ซีสต์ เนื้องอก นิ่วในไต หรือการอุดตันของระบบทางเดินปัสสาวะ หากไม่ตอบสนองต่อการรักษาภายใน 72 ชั่วโมง จะมีการเข้าเครื่อง CT Scan เพื่อดูสิ่งอุดตันในทางเดินปัสสาวะเพิ่มเติม
  3. การตรวจด้วยรังสีวิทยา : ในการรักษาด้วยรังสีวิทยา จะมีการถ่ายภาพผ่านสารกัมมันตรังสี ซึ่งจะทดสอบกรดไดเมอร์แคปโตซัคซินิก (DMSA หรือเรียกสั้นๆ ว่า “วิธีสแกนไต”) เพื่อดูรอยแผลหรือการอักเสบของไต และแสดงจุดติดเชื้อในกรวยไตผ่านสารกัมมันตรังสีในบริเวณนั้น

การรักษาโรคกรวยไตอักเสบ

ในผู้ป่วยโรคกรวยไตอักเสบ ควรรับการรักษาตั้งแต่การได้รับวินิจฉัยในช่วงแรก เพื่อป้องกันความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนร่วม เช่น โลหิตเป็นพิษ (Septicemia) และโรคไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury) โดยจะต้องมีการเพาะเชื้อทั้งปัสสาวะและเลือด หลังจากการได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์ภายใน 24-48 ชั่วโมง เพื่อดูความผิดปกติก่อนจะให้ทานยาปฏิชีวนะ และติดตามเพื่อประเมินการรักษา รวมถึงนัดการตรวจซ้ำอีกครั้งใน 1-2 วันต่อสัปดาห์ จนกว่าอาการจะดีขึ้นและไม่แสดงอาการรุนแรงของโรคอีก การรักษาอาการจะอยู่ในคำวินิจฉัยของแพทย์เป็นหลัก  ซึ่งมีวิธีการรักษาดังนี้

  1. ยาปฏิชีวนะ : การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นแนวทางแรกในการรักษาโรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน อย่างไรก็ตาม ชนิดของยาปฏิชีวนะที่แพทย์เลือกนั้นขึ้นอยู่กับว่ามีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้หรือไม่ ในบางกรณีจะใช้ยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพการรักษาในวงกว้างแทน เช่น
  • Levofloxacin
  • Ciprofloxacin
  • Co-trimoxazole
  • Ampicillin 
  1. เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ : ในบางกรณีหากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่ได้ผลในภาวะกรวยไตอักเสบเรื้อรัง มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล การรักษาอาจรวมถึงการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง รวมถึงแพทย์จะตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อเพาะเชื้อในห้องปฏิบัติการเพื่อดูความผิดปกติของปัสสาวะและเลือด 
  2. การผ่าตัด : หากมีการติดเชื้อในไตซ้ำๆ อาจเกิดจากปัญหาจากการรักษา หรืออาการแทรกซ้อนที่แฝงอยู่ ในกรณีดังกล่าวอาจต้องผ่าตัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อเข้าที่เซลล์ไต การผ่าตัดอาจจำเป็นต้องผ่าส่วนที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะออก ในกรณีของกรวยไตอักเสบเรื้อรัง และมีการติดเชื้อรุนแรงร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องตัดไต เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจาย

 “กรวยไตอักเสบ” รักษาหายไหม

ในโรคกรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลัน มีโอกาสรักษาหายขาดกว่าโรคกรวยไตอักเสบแบบเรื้อรัง เนื่องจากใช้เวลาการพักฟื้นสั้นกว่า ซึ่งใช้เวลาภายใน 2-3 สัปดาห์ และสามารถดูแลอาการด้วยตนเองที่บ้านภายใต้การรักษาของแพทย์ได้ แต่ต้องมีการดูแลตนเองอย่างถูกวิธีและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ส่วนโรคกรวยไตอักเสบแบบเรื้อรัง โอกาสรักษาหายขาดน้อยกว่า และยังอยู่ในการเฝ้าระวังการติดเชื้อแทรกซ้อน เพราะมีความผิดปกติของไตรุนแรง จึงมีความเสี่ยงต่ออาการไตเสียหายอย่างถาวร หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที 

การป้องกันโรคกรวยไตอักเสบ

การป้องกันโรคกรวยไตอักเสบสามารถปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต โดยมีวิธีป้องกัน เช่น

  1. ลดการอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน : การอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณกรวยไตเพิ่มขึ้น
  2. ควรดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้วต่อวัน : การดื่มน้ำช่วยเพิ่มปริมาณของปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยขจัดของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย ซึ่งทำให้เซลล์ไตและกรวยไตทำงานดีขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันนิ่วในไต (Kidney Stone) เนื่องจากปัสสาวะมีสีขุ่น ทำให้เกิดการตกตะกอนของนิ่วบริเวณกรวยไตได้
  3. ทำความสะอาดจากหน้าไปหลัง : หลังการเข้าสุขาทุกครั้ง ควรทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลังด้วยน้ำสะอาด และซับให้แห้งด้วยกระดาษชำระ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะโดยตรง และลดกลิ่นอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศ
  4. หลังมีเพศสัมพันธ์ควรทำความสะอาด : การทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากจะป้องกันเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะ และระบบสืบพันธุ์แล้ว ยังสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เช่นกัน
  5.  สังเกตอาการผิดปกติ : เมื่อสังเกตความผิดปกติ เช่น มีอาการปัสสาวะขัด มีอาการปวดท้อง หรือสีปัสสาวะมีสีขุ่นลง หรือมีเลือดปน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
  6. ควรตรวจคัดกรองโรคไต : ในโรงพยาบาลเอกชนจะมีโปรแกรมคัดกรองโรคไต หรือการบริการด้านอาชีวเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลของรัฐ สามารถรับบริการคัดกรองความเสี่ยงของโรคไต เพื่อตรวจการทำงานของไต ตรวจโปรตีนในปัสสาวะ หรือตรวจความผิดปกติของปัสสาวะและเลือด จะช่วยป้องกันความเสี่ยงของโรคกรวยไตอักเสบได้

สรุป

ได้ว่ากรวยไตอักเสบเป็นโรคที่ใกล้ตัว จะพบในกลุ่มผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่ในเพศชายควรระมัดระวังเช่นกัน เนื่องจากกรวยไตอักเสบยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) ในเพศชายร่วมด้วย ซึ่งโรคนี้เป็นโรคทางเดินปัสสาวะที่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ในการป้องกันโรค ควรมีการตรวจคัดกรองในทางปฏิบัติการตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์ เมื่อได้รับคำวินิจฉัยจากแพทย์ ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ และแพทย์จะติดตามผลในการประเมินการรักษา นอกจากนี้การรักษาสุขอนามัยพื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญ จะช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงการป้องกันเชื้ออื่นๆ ร่วมด้วย และไม่กลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน หากรู้สึกปวดควรปัสสาวะทันที เพื่อให้ร่างกายกำจัดของเสียได้มีประสิทธิภาพอีกด้วย

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top