ยาคลายกล้ามเนื้อ ทำงานอย่างไร มีกี่ประเภท ช่วยเรื่องอะไรได้บ้าง?

ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นยาบรรเทาอาการเจ็บปวดเฉียบพลันจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ กล้ามเนื้อส่วนคอ กล้ามเนื้อส่วนหลัง กล้ามเนื้อแขน ขา ข้อต่อตามส่วนต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากการบาดเจ็บ นั่งทำงานผิดท่าติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและกระดูก เป็นต้น

ประเภทของ ยาคลายกล้ามเนื้อ

ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Blocking Agents) สามารถออกฤทธิ์กับแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งจะไปกีดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทที่มีผลต่อกล้ามเนื้อ อาจใช้ยากลุ่มนี้ร่วมในกระบวนการให้ยาสลบ เพื่อคลายกล้ามเนื้อไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวในระหว่างแพทย์ทำการผ่าตัด

ยาคลายกล้ามเนื้อสูตรผสม (Skeletal Muscle Relaxant Combinations) มีส่วนผสมของยาคลายกล้ามเนื้อและยาแก้ปวดร่วมกันอยู่ในเม็ดเดียว ยาคลายกล้ามเนื้อสูตรผสมจะช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อลาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อคลายตัวลง ใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดตัว หรือ ภาวะที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อ และกระดูก

ยาคลายกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Skeletal Muscle Relaxants) ใช้ลดหรือผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ ยาคลายกล้ามเนื้อหดเกร็งจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของระบบประสาทสมองและไขสันหลัง ซึ่งช่วยลดและป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของกล้ามเนื้อส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือกล้ามเนื้อแข็งตัวจากการรับสารสื่อประสาทอีกด้วย

ตัวอย่าง ยากลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ

  1. บาโคลเฟน (Baclofen) เป็นยาคลายกล้ามเนื้อและแก้อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ใช้ในรูปแบบรับประทานสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ใช้รักษาอาการหดเกร็ง หรือกล้ามเนื้อแข็งตัวจากโรคปลายประสาทอักเสบ หรือ รักษาผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อหดเกร็งจากการเจ็บป่วย และได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง
  2. โบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) เป็นสารชนิดหนึ่งใช้ในรูปแบบฉีด ใช้ปิดกั้นสารสื่อประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ นอกเหนือจากการใช้เพื่อศัลยกรรมความงาม ทั้งยังสามารถใช้รักษาในผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง (Cervical Dystonia) ภาวะกล้ามเนื้อหดตัวในบริเวณต่าง ๆ และภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (hyperhidrosis) อีกด้วย
  3. แดนโทรลีน (Dantrolene) ยาช่วยรักษาระดับแคลเซียมในกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ ใช้เพื่อเป็นยาคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงใช้เพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยงของโรค malignant hyperthermia หรือ ภาวะไข้สูงอย่างรุนแรงที่เกิดจากการตอบสนองต่อยาสลบที่มากจนผิดปกติ ส่งผลให้มีไข้สูง และมีอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ และความดันโลหิตลดต่ำลง ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งMalignant Hyperthermia พบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมอย่างผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้อผิดปกติซึ่ง ยาชนิดนี้มีทั้งรูปแบบยารับประทานและยาฉีดเข้าเส้นเลือด ใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น หรือตามดุลยพินิจของแพทย์วินิจฉัยรักษาโรคเท่านั้น
  4. ทิซานิดีน (Tizanidine) ยาอันตรายที่ใช้รักษาภายใต้คำสั่งแพทย์ในระยะสั้นเท่านั้น ยาทิซานิดีนจะออกฤทธิ์ปิดกั้นสารสื่อประสาทไม่ให้ส่งสัญญาณไปยังสมองที่จะกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดได้ ใช้สำหรับผ่อนคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อชั่วคราว ต้องใช้ยาอย่างถูกต้องเคร่งครัด ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายตามมาอีกด้วย
  5. ออร์เฟเนดรีน (Orphenadrine) ยาใช้รักษาภาวะอาการเจ็บป่วยทางกล้ามเนื้อในระยะสั้น ๆ ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และบรรเทาความเจ็บปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยอาจใช้ยารักษาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และการให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  6. ยาลดการอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Antiinflammatory Drugs: NSAIDs) จะช่วยยับยั้งการอักเสบ และช่วยบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการอักเสบ สำหรับตัวอย่างยาที่เป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มนี้ เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค และนาพร็อกเซน เป็นต้น 

ยาคลายกล้ามเนื้อ ช่วยอะไร

ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxants หรือ Skeletal Muscle Relaxants) เป็นยาที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อลาย 

(Skeletal Muscle) ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนที่เกร็ง ตึง หรือกระตุกได้ ส่งผลให้บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ         อาทิ กล้ามเนื้อส่วนคอ ส่วนหลัง กล้ามเนื้อแขน ขา หรือข้อต่อต่าง ๆ ที่อาจจะได้รับการบาดเจ็บแบบเฉียบพลันจากการดำรงชีวิตประจำวัน หรือ อาจเกิดจากการปวดเมื่อย จากการใช้กล้ามเนื้อส่วนดังกล่าวซ้ำ ๆ เป็นประจำ ซึ่งยาคลายกล้ามเนื้อไม่ถือเป็นยาหลักในการใช้คลายกล้ามเนื้อ แพทย์หรือเภสัชกรมักให้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบมาทานก่อน หากอาการไม่ทุเลาลงจึงให้ยาคลายกล้ามเนื้อกับผู้ป่วย

ยาคลายกล้ามเนื้อ รับประทานอย่างไรดี 

การรับประทานยาคลายกล้ามเนื้อ ควรรับประทานจากยาในปริมาณยาน้อยที่สุด ในระยะเวลาสั้นที่สุด หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มปริมาณตามอาการ ส่วนใหญ่แพทย์และเภสัชกรจะแนะนำให้ทานวันละ 3 ครั้งเมื่อมีอาการ เนื่องจากยาคลายกล้ามเนื้อไม่ใช่ยาหลักในการรักษา ก่อนทานยาคลายกล้ามเนื้อต้องเช็กดูก่อนว่ามีอาการตึงกล้ามเนื้อด้วยไหม ซึ่งหากมีอาการปวดอย่างเดียวสามารถทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ได้ หากต้องทานยาคลายกล้ามเนื้อจริง ๆ ควรรับประทานหลังอาหารเช้า เที่ยง เย็น วันละ 3 เวลา ปริมาณแต่ละโดสตามที่แพทย์หรือเภสัชกรจ่ายยามาให้ ห้ามเพิ่มขนาดยาเองเด็ดขาด

ยาคลายกล้ามเนื้อกับการออกฤทธิ์

การออกฤทธิ์ของยาคลายกล้ามเนื้อสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้

1. ยาออกกฤทธิ์รักษาอาการกล้ามเนื้อหดตัว (Muscle Spasm) ที่อาจเกิดขึ้นอย่างชั่วคราว หรือต่อเนื่องและเรื้อรัง อาทิ ปวดหัวจากความเคร่งเครียด อาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งยาที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษากล้ามเนื้อหดตัว เช่น บาโคลเฟน (Baclofen) แดนโทรลีน (Dantrolene) และทิซานิดีน (Tizanidine) เป็นต้น

2. ยาออกกฤทธิ์รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งหรือแข็งตัว (Spasticity) จากการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เช่น โรคปลายประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) เส้นเลือดในสมองแตกหรือเส้นเลือดในสมองตีบตัน ซึ่งยาที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษากล้ามเนื้อหดเกร็งหรือแข็งตัว เช่น คาริโซโพรดอล (Carisoprodol) คลอร์ซ็อกซาโซน (Chlorzoxazone) ไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine) เมตาซาโลน (Metaxalone) เมโทคาร์บามอล (Methocarbamol) และออร์เฟเนดรีน (Orphenadrine) เหล่านี้ เป็นต้น

ข้อควรระวัง การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ

ปัจจุบันมีข้อมูลและหลักฐานสนับสนุนประสิทธิภาพทางการรักษาของยาคลายกล้ามเนื้อน้อยมาก เพราะฉะนั้นจึง ไม่ควรใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเป็นการรักษาหลัก แต่อาจใช้เมื่อรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น

  • ไม่ควรใช้ยาคลายกล้ามเนื้อในสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า และผู้ที่มีประวัติเคยใช้ยาเสพติด หรือเสพติดแอลกอฮอล์ ทุกกรณี
  • ไม่ควรใช้ยาหากมีประวัติอาการแพ้ส่วนผสมใด ๆ ในตัวยาชนิดนั้น ทุกกรณี
  • ยาคลายกล้ามเนื้อแต่ละชนิดมีส่วนผสมและการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน ควรศึกษาข้อมูลที่ระบุบนฉลากยาเกี่ยวกับวิธีการใช้ยา การเก็บรักษา และคำเตือนของยาคลายกล้ามเนื้อแต่ละชนิดให้ดีก่อนการใช้ยา
  • ควรใช้ยาคลายกล้ามเนื้อภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ไม่ใช้ยาเกินขนาด และซักถามแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา
  • หากมีอาการแพ้ยาคลายกล้ามเนื้อ มีผดผื่นแดง ตัวบวมหน้าบวม หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ควรไปพบแพทย์และขอความช่วยเหลือทันที

ผลข้างเคียงการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ

  • อ่อนเพลีย เมื่อยล้า หมดแรง
  • ง่วงนอน มีอาการง่วงซึม
  • อาการวิงเวียนศีรษะ
  • ริมฝีปากและปากแห้ง
  • อาการปัสสาวะไม่ออก
  • อาการปวดท้อง มีลมในกระเพาะ
  • อาการท้องเสีย
  • ความดันโลหิตลดลง

ยาคลายกล้ามเนื้อหาซื้อได้ที่ไหน

ยาคลายกล้ามเนื้อสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป สามารถหาซื้อทานเองได้ แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาทุกครั้ง

อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบ่อย ๆ หากจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด อาจต้องใช้ยาหลายกลุ่มควบคู่กันไป ซึ่งในขั้นตอนแรกอาจใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดดูก่อน แต่หากยังไม่ดีขึ้น อาจเปลี่ยนมาใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ หากอาการยังไม่ทุเลาลงจึงค่อยใช้ยาลดการอักเสบ เนื่องจากยาคลายกล้ามเนื้อจะออกฤทธิ์ในการยับยั้งการสังเคราะห์สารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ หากรับประทานทานยาแล้วอาการทุเลาลงควรรับประทานทานต่อเนื่องจนอาการปวดเมื่อยนั้นหายไป แต่หากผ่านไป 1-2 สัปดาห์ แล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการหนักกว่าเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top