โรคไวรัสตับอักเสบบี (HBV) คือ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดบี โดยส่วนมากผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะไม่รู้ตัว เนื่องจากไม่มีอาการป่วยใด ๆ ปรากฏ การดำเนินของโรคจึงเป็นไปอย่างเงียบ ๆ ซึ่งผู้ป่วยชนิดเรื้อรังนี้ จะมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เช่น ตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และส่งผลให้เกิดมะเร็งตับในที่สุด ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยจะมีโอกาสเป็นมะเร็งตับได้มากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบ ถึง 223 เท่า
HBV เป็น hepatotropic virus เป็นชนิดเดียวที่เป็น DNA virus โดยในจีโนมของไวรัส จะประกอบไปด้วย 4 ส่วนประกอบของยีน ดังนี้
ยีนของไวรัสตับอักเสบบี | ทำหน้าที่ |
S gene | ผลิต HBsAg หรือเปลือกหุ้ม |
C gene | ผลิต HBcAg ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบเป็นตัวไวรัส, HBeAg |
P gene | ผลิต DNA polymerase |
X gene | ผลิต HBxAg |
การติดต่อของโรคไวรัสตับอักเสบบี
เชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะอยู่ในเลือดและสารคัดหลั่งของร่างกายผู้ติดเชื้อ เช่น อสุจิ น้ำเหลือง เป็นต้น สามารถติดต่อได้ดังนี้
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
- ติดต่อจากการสัมผัสกับเลือด หรือสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ จากการใช้อุปกรณ์ หรือสิ่งของ เครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน มีดโกนหนวด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันโดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดยาเสพติด การสักตามร่างกาย การเจาะหู เป็นต้น รวมถึง การให้เลือด การฝังเข็ม การทำฟัน บาดแผล ก็มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน
- ติดต่อจากแม่สู่ลูก ขณะคลอดและหลังคลอด ในกรณีที่แม่ติดเชื้อไวรัส
อาการ โรคไวรัสตับอักเสบบี
เมื่อได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ไวรัสจะมุ่งเข้าไปสู่เซลล์ตับของคน จากนั้นก็จะเจริญเติบโต และเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยระยะฟักตัว จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน อาการของโรคไวรัสตับอักเสบจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ การติดเชื้อแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรัง
การติดเชื้อแบบเฉียบพลัน แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะก่อนเหลือง ระยะเหลือง และระยะฟื้น
- ระยะก่อนเหลือง (Pre-Icteric หรือ Prodromal) ระยะนี้จะเริ่มหลังจากระยะฟักตัวของโรค 6-26 สัปดาห์ ด้วยอาการวิงเวียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และเจ็บที่ชายโครงด้านขวา บางรายมีไข้ต่ำ ๆ มีผื่นขึ้นลักษณะแบบผื่นลมพิษ (Urticarial rash) มีปวดตามข้อต่าง ๆ (Polyarthritis) หลังจากนั้น 2 วัน – 2 สัปดาห์ ก็จะเข้าสู่ระยะเหลือง
- ระยะเหลือง จะพบว่าปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระสีซีด ตาและตัวเหลือง และอาจใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์ก่อนเข้าสู่ระยะฟื้น (Convalescent)
- ระยะฟื้น ในระยะนี้การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี พบว่ามีภาวะตับอักเสบชนิดร้ายแรง (Fulminant hepatitis) ร้อยละ 1 โดยในผู้ป่วยส่วนใหญ่เซลล์ตับที่เสียไปจะสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ด้วยการแทนที่เซลล์เก่าเหล่านั้นด้วยเซลล์ใหม่ ภายใน 2-3 เดือน ประมาณร้อยละ 10 จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อเรื้อรัง หรือเป็นพาหะ ซึ่งผู้ป่วยเรื้อรังจะไม่มีอาการปรากฏ แต่จะมีอาการตับอักเสบ
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีอาการ และจะทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ก็ต่อเมื่อไปตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน การบริจาคเลือด หรือต้องการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ บางรายมีภาวะตับอักเสบเรื้อรังมาเป็นระยะเวลานานจนกลายเป็นตับแข็ง อาการของภาวะตับแข็ง เช่น บวม ตาเหลือง ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด
ส่วนทารกที่ได้รับเชื้อจากมารดา ในระหว่างคลอดหรือแรกเกิดมีโอกาสสูงที่จะเป็นพาหะ ในกรณีที่มารดาติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี แต่อัตราการเป็นพาหะจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น แต่ในบางรายได้รับยาเคมีบำบัด (Cytotoxic drugs) หรือติดเชื้อ HIV จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังสูงขึ้น
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไวรัสตับอักเสบบี
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือมีภาวะที่ทำให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องเช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง การฉายรังสี หรือการได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมกับติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ได้แก่
- ตับแข็ง เป็นภาวะแทรกซ้อนของผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากถึง 25 % เนื่องจาก
จะเกิดพังพืดขึ้นที่ตับ ส่งผลให้การทำงานของตับเสื่อมสภาพลง - ตับวายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่ตับหยุดการทำงาน ส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากไม่มีการปลูกถ่ายตับ เนื่องจากตับทำหน้าที่สำคัญหลายอย่างในร่างกาย เช่น ผลิตน้ำดี ผลิตฮอร์โมน ควบคุมเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตและไขมัน รวมทั้งกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เมื่อตับไม่สามารถทำหน้าที่เหล่านี้ได้ จะส่งผลให้อวัยวะอื่น ๆ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย
- มะเร็งตับ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็งมีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งตับ สามารถสังเกตอาการของผู้ป่วยได้จากการที่น้ำหนักลด ตาเหลืองผิวเหลือง และเบื่ออาหาร
- ภาวะที่เกี่ยวกับเลือด เช่น ภาวะโลหิตจาง และการติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากตับมีหน้าที่ในการสร้างภูมิคุ้มกัน และกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ออกจากเลือด ดังนั้น เมื่อตับทำหน้าที่บกพร่อง จะส่งผลให้ภูมิต้านทานต่ำ จึงทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และในกรณีผู้ป่วยที่มีการอักเสบเป็นระยะเวลานาน หรือเรื้อรัง จะส่งผลให้การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง และอายุเม็ดเลือดแดงสั้นลง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง
การรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
ปัจจุบันยาที่ใช้ในการรักษามี 2 กลุ่ม
- การให้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ทำหน้าที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส จะมีผลข้างเคียงของยาน้อยกว่ายาต้านไวรัสแบบฉีด แต่ต้องใช้เวลาในการรักษานาน อาจมากกว่า 3-5 ปี ซึ่งเวลาในการรักษาไม่แน่นอน ยากลุ่มนี้ได้แก่ Lamivudine, adefovir, entecavir, telbivudine และ Tenofovir เป็นต้น ผลข้างเคียงของกลุ่มนี้ เช่น ภาวะไตพร่องการทำงาน อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือพบค่า Creatine kinase (CPK) สูง และเมื่อผู้ป่วยได้รับยาในระยะยาว จะมีความเสี่ยงต่อการดื้อยาอีกด้วย
- การให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีด ได้แก่ Pegylated Interferon (Peg-IFN) ทำหน้าที่ออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและยังมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส โดยจะมีระยะเวลาการรักษาที่แน่นอน ประมาณ 48 สัปดาห์ และหลังหยุดฉีดยาภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยที่ถูกกระตุ้นไว้คงออกฤทธิ์ต่อสู้กับไวรัสต่อได้นานถึง 6 เดือน จึงไม่มีปัญหาเรื่อง HBV resistance การรักษาวิธีนี้จะมีประสิทธิภาพกับผู้ที่มีอายุน้อย มีการอักเสบของตับในระดับปานกลาง (ระดับ ALT สูง 2-10 เท่า) และระดับไวรัสในเลือดไม่สูงมาก (1-10 ล้านcopies/ml.) ผล HBeAg เป็นบวก ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น อาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคล้ายไข้หวัดใหญ่ (flu-like symptoms) อ่อนเพลีย ซึมเศร้า แต่การรักษาวิธีนี้ ไม่สามารถใช้ได้ในผู้ป่วย โรคตับแข็งระยะสุดท้าย(decompensated cirrhosis)
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่
- งดแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด และงดสูบบุหรี่
- ลดการรับประทานอาหารไขมันสูง เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดไขมันพอกตับ และตับอักเสบได้
- ลดอาหารที่ไหม้เกรียม รมควัน อาหารที่มีถั่ว ธัญพืชซึ่งเป็นแหล่งของเชื้อราอะฟลาท็อกซิน ของหมักดอง ดินประสิว เนื่องจากอาหารเหล่านี้เป็นสารก่อมะเร็ง
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เนื่องจากภาวะอ้วน จะส่งผลให้เกิดไขมันพอกตับได้
- รับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่
- พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่อย่าหักโหม ลดความเครียด และทำจิตใจให้ผ่องใส
วิธีการป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือการให้เลือดหรือส่วนประกอบต่าง ๆ ของเลือด โดยไม่จำเป็น
- ไม่ใช้ของมีคม หรือเข็มฉีดยาร่วมกัน หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน เป็นต้น
- ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่ไม่ใช่คู่สมรส และหากคู่สมรสที่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นพาหะ อีกฝ่ายควรได้รับวัคซีนป้องกัน
- ควรใช้ช้อนกลางทุกครั้ง เมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- การให้วัคซีนป้องกัน ซึ่งปกติจะฉีดวัคซีนชนิดนี้ให้แก่เด็กแรกเกิดทุกคน โดยให้เข็มที่ 1 ต้องฉีดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด เข็มที่ 2 เมื่ออายุ 2 เดือน และเข็มที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่จะผ่านมาจากมารดาและการติดเชื้อในระยะต่อไป สำหรับผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้ฉีดหรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรจะได้รับวัคซีนชนิดนี้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น กลุ่มแพทย์ พยาบาล กลุ่มผู้ป่วยโรคไตที่ต้องฟอกเลือด ผู้ที่ต้องได้รับการถ่ายเลือดบ่อย หรือผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมและสัมผัสกับผู้ติดเชื้อไวรสัตับอักเสบบี เป็นต้น
โรคไวรัสตับอักเสบบี หากเป็นการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ ซึ่งจะมีค่า HBeAg เป็นลบ และค่าเอนไซม์ตับ ALT ปกติ แต่ยังสามารถพบเชื้อในร่างกายได้อยู่ อีกทั้ง เชื้อยังสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ หรือเรียกว่า พาหะ (Carrier) ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นพาหะจะต้องดูแลร่างกายและพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ