เจาะหูห้ามกินอะไร หลายคนที่ชื่นชอบในแฟชั่นการเจาะหูหรือการเจาะบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย เช่น เจาะจมูก อาจมีความกังวลหลังการเจาะเกี่ยวกับอาหารที่ไม่ควรทาน หรืออาหารที่ควรงด อาหารที่อาจทำให้แผลจากการเจาะนั้นหายช้าหรือเกิดการอักเสบ
ซึ่งจากข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่ชัดเจน เกี่ยวกับเมนูต้องห้ามที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบโดยตรงหรือมีผลต่อระยะเวลาการหายของแผล เมื่อรับประทานอาหารบางชนิดหลังทำการเจาะหูหรือทำการเจาะบริเวณต่างๆ ของร่างกาย
แต่ในทางปฏิบัตินั้นมีอาหารบางชนิดที่อาจส่งผลให้เกิดอาการคันที่แผล ที่อาจทำให้เกิดอาการติดเชื้อและเกิดการอักเสบจากการเกาในผู้ป่วยบางราย ดังนั้น การหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจเป็นสาเหตุในการคัน จะสามารถช่วยลดแนวโน้มโอกาสในการอักเสบได้
เจาะหูห้ามกินอะไร กี่วัน ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
หลังจากการเจาะหู เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดถือเป็นอาหารประเภทที่ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน หลังจากการเจาะหูมาใหม่ๆ ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ยกตัวอย่างเช่น เหล้า, เบียร์, โซจู, ไวน์ เป็นต้น เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลให้ร่างกายมีความร้อนสะสม และความร้อนอาจเป็นสิ่งที่ไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้ หากแผลเกิดการอักเสบเกิดขึ้นจะทำให้แผลนั้นหายช้ากว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้น หลังการเจาะหูช่วงแรก ควรหลีกเลี่ยงหรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดไปก่อน 24-48 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย เพื่อความปลอดภัย
เจาะหูห้ามกินอะไรบ้าง กี่วัน ควรหลีกเลี่ยงของหมักและของดอง
ในการรับประทานอาหารประเภทของหมักและของดอง อย่างเช่น ส้มตำปูปลาร้า, ผลไม้ดอง และหอยดอง อาจส่งผลให้เกิดอาการคันได้เมื่อแผลอยู่ในช่วงของการสมานหรือตกสะเก็ด เนื่องจากอาหารที่มีการหมักหรืออาหารที่มีการดองประเภทนี้ อาจมีสารกันบูดเป็นหนึ่งในส่วนผสมหรืออาจมีแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ในอาหาร อีกทั้งเครื่องปรุงที่มีในขั้นตอนการหมักหรือการดองอาจมีปริมาณที่สูงกว่าในอาหารปกติ จึงอาจทำให้การรับประทานอาหารประเภทนี้ทำให้เกิดอาหารคันขึ้นได้ และอาการคันที่เกิดขึ้นนั้นอาจทำให้มีการเผลอไปเกาโดยไม่รู้ตัวในยามหลับ ทำให้เกิดการติดเชื้อและแผลอักเสบตามมาได้ ดังนั้น อาหารประเภทของหมักและของดองจึงเป็นอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงไปก่อน ในช่วงแรกหลังจากการเจาะหู
เจาะหูห้ามกินอะไร ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่ออาการแพ้
สำหรับผู้ที่มีการแพ้อาหารบางชนิด ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำเกิดอาการแพ้กำเริบตามมา ยกตัวอย่างเช่น อาหารทะเล (กุ้ง,ปลาหมึก,ปู,หอย) เนื่องจากหากมีการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ อาจมีผื่นขึ้นและอาจมีอาการคันจากการแพ้อาหารได้ และย่อมส่งผลต่อแผลเจาะหูในที่สุด แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีการแพ้อาหารไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเลหรือเป็นอาหารประเภทไหน สามารถรับประทานอาหารเหล่านี้ได้ตามปกติโดยที่ไม่ต้องกังวล
อาหารที่มักถูกเข้าใจผิดว่า เจาะหูห้ามกินอะไร
หลังจากการเจาะหูหรือการเกิดแผล นอกเหนือไปจากอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงที่กล่าวถึงในข้างต้นนั้น เมนูอาหารอื่นๆ สามารถเลือกรับประทานได้ตามปกติ ไม่มีผลต่อการติดเชื้อหรือทำให้แผลเกิดการอักเสบ แต่ควรเลือกรับประทานเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกและมีความสะอาดเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเมนูอะไรก็สามารถเลือกรับประทานหลังจากการเจาะหูหรือรับประทานในระหว่างที่ร่างกายมีแผลได้ รวมไปถึงอาหารเหล่านี้
- ไข่ กลุ่มอาหารที่มักถูกเข้าใจผิดอยู่เสมอว่าไม่ควรรับประทานในช่วงหลังจากการเจาะหูใหม่ๆ รวมไปถึงในช่วงที่มีแผล เนื่องจากอาจส่งผลให้แผลเกิดความนูน และอาจทำให้แผลหายช้า ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “ไข่” คือ เมนูที่เป็นโปรตีนและจะสามารถช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และไม่ส่งผลเสียใดๆ ต่อร่างกาย อีกทั้งยังมีส่วนช่วยให้แผลหายเร็ว
- ไก่ อาหารที่เกิดความเข้าใจผิดที่มักมาพร้อมกับการห้ามรับประทานไข่ สามารถเลือกรับประทานทั้งไก่และไข่ได้ด้วยเหตุผลเดียวกัน ไก่ คือ อาหารที่มีโปรตีนสูง การรับประทานไก่ที่อุดมไปด้วยโปรตีน จะช่วยให้แผลหายได้เร็วมากยิ่งขึ้น
- อาหารทะเล ตามที่ได้มีการกล่าวถึงไปในข้างต้น ในกรณีของผู้ที่มีอาการแพ้อาหารทะเล ควรที่จะหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเลคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีประวัติการแพ้อาหารทะเลมาก่อน หลังการเจาะหูใหม่ สามารถรับประทานอาหารทะเลได้ตามปกติ
- หน่อไม้ อีกหนึ่งเมนูอาหารที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเมนูต้องห้ามหลังการเจาะหูหรือการเกิดแผล การรับประทานหน่อไม้หากเป็นหน่อไม้สดที่ไม่ผ่านการหมักหรือการดอง และเป็นหน่อไม้ที่มีความสะอาด สามารถรับประทานได้ตามปกติ แต่ควรรับประทานอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ
- ข้าวเหนียว กลุ่มอาหารจำพวกแป้ง เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง อีกทั้งยังมีคุณค่าทางอาหาร สามารถรับประทานหลังการเจาะหูได้ ไม่ส่งผลให้แผลเน่า เกิดหนอง หรือทำให้แผลอักเสบติดเชื้อแต่อย่างใด
วิธีการดูแลหลังเจาะหู เจาะหูรักษายังไง ?
ปัจจัยที่มีผลต่อการอักเสบและการติดเชื้อมากที่สุด คือ “ความสกปรก” การดูแลแผลและการรักษาความสะอาดหลังการเจาะหูเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ ซึ่งการเจาะหูคือตำแหน่งที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าบริเวณอื่นๆ ในร่างกาย เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่สามารถดูแลและรักษาความสะอาดได้ง่าย หากหลีกเลี่ยงอาหารต้องห้ามหลังการเจาะควบคู่ไปกับการดูแลและการทำความสะอาดแผลจะส่งผลให้แผลหายเร็วมากยิ่งขึ้น โดยการดูแลและรักษาความสะอาดสามารถทำได้ตนเอง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดแผลอักเสบหรือการติดเชื้อ โดยวิธีการดูแลสามารถปฏิบัติได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ก่อนสัมผัสบริเวณหูที่ผ่านการเจาะมา ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง
- ใส่ต่างหูทิ้งเอาไว้อย่างน้อย 6 สัปดาห์ เป็นต้นไป ก่อนเปลี่ยนต่างหูใหม่ ไม่ควรถอดต่างหูออกก่อนแผลแห้ง
- ล้างทำความสะอาดด้วยสบู่ที่ผสมน้ำ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยถูทำความสะอาดอย่างเบามือ
- ใช้น้ำเกลือล้างและทำความสะอาดแผล วันละ 2 ครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- เลือกต่างหูที่มีคุณภาพและต่างหูที่มาจากวัสดุที่ร่างกายไม่แพ้ หรือก่อให้เกิดอาการคันและการระคายเคือง
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการ เจาะหู
ถึงแม้ว่าการเจาะหูจะเป็นแฟชั่นที่เห็นได้บ่อยทั่วไป ที่ดูจะไม่ได้มีความเสี่ยงอะไรมาก แต่ในบางรายการเจาะหูอาจมีความเสี่ยงตามมาได้เช่นเดียวกัน โดยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจาะหูที่ต้องระวัง มีดังนี้
- ปฏิกิริยาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นจากเครื่องประดับที่ทำจากนิกเกิล (Nickel) หรือทองเหลือง มักกระตุ้นปฏิกิริยาการแพ้จากการเจาะหูและการใส่เครื่องประดับนี้ได้
- ปัญหาผิว บางรายเมื่อมีการเจาะหูแล้วอาจมีปัญหาผิว อย่างเช่น การเกิดแผลเป็น และการเกิดแผลคีลอยด์
- โรคเลือด หากอุปกรณ์ที่เจาะมีการปนเปื้อนของเลือดติดอยู่ อาจทำให้ได้เกิดความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus), ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C virus), บาดทะยัก (Tetanus) และเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้
การเลือกร้านที่ทำการเจาะหูถือเป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการติดเชื้อหรือแผลอักเสบเช่นเดียวกัน ควรเลือกร้านที่มีความปลอดภัย มีความสะอาด และเป็นร้านที่ใช้อุปกรณ์ใหม่ที่ไม่มีความเสี่ยงอันตรายจากการปนเปื้อน
สรุป
จากข้อมูลทางการแพทย์และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ยังไม่มีข้อมูลไหนที่แน่ชัดเกี่ยวกับ อาหารที่ไม่ควรรับประทานหลังการเจาะหู เจาะหูห้ามกินอะไร หรืออาหารที่จะส่งผลต่อการเกิดอาการอักเสบหรือการติดเชื้อโดยตรง มีเพียงอาหารบางชนิดที่อาจส่งผลให้เกิดอาการคันบริเวณแผลที่อาจส่งผลต่อการติดเชื้อในบางรายเท่านั้น การหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีแนวโน้มให้เกิดอาการคันและทำให้มีการเกาเกิดขึ้น จะเป็นหนึ่งในแนวทางการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจทำให้แผลอักเสบหรือติดเชื้อจากการเกาได้ แต่อย่างไรก็ตามหลังเจาะหูการดูแลรักษาความสะอาดคือสิ่งที่มีความสำคัญ หากมีการดูแลรักษาความสะอาดอย่างถูกต้อง และเลือกทำการเจาะหูกับร้านที่มีความสะอาดและใช้อุปกรณ์ใหม่ จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดแผลอักเสบและการติดเชื้อ รวมไปถึงแผลเจาะหูจะแห้งเร็วมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา
- https://www.youtube.com/watch?v=Rbe6iG93geI
- https://www.webmd.com/beauty/ear-piercing-what-you-should-know#1