เกรปฟรุต (Grapefruit) คือ ผลไม้ในสกุลซิตรัสและจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับส้ม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Citrus X. Paradisi โดยพบได้บริเวณพื้นที่กึ่งเขตร้อน (ถิ่นกำเนิดอยู่ในคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก) เกิดจากการเพาะพันธุ์ระหว่างส้มกับส้มโอ จึงทำให้มีลักษณะของต้นและผลคล้ายส้ม
ผลเกรปฟรุตอ่อนจะมีสีเขียวเข้ม มีรสชาติเปรี้ยวจัด เมื่อสุกแล้ว ผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม เนื้อจะออกไปโทนสีชมพูแดง มีรสเปรี้ยวอมหวาน หรือเปรี้ยวจัด และมีวิตามินซีสูง จึงนับว่าเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าเกรปฟรุต อุดมไปด้วยสารที่มีประโยชน์อีกมากมาย โดยเฉพาะสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า นารินเจนิน (Naringenin) ซึ่งในเวลาถัดมาถูกสกัดออกมาเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ต้านอนุมูลอิสระ, ลดการอักเสบ, เพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน หรือปรับปรุงสุขภาพโดยรวมของผู้บริโภค
นารินเจนิน มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร?
นารินเจนิน คือ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ พบได้ในพืชหลายชนิดโดยเฉพาะตระกูลซิตรัส เช่น เกรปฟรุต, ส้ม และเลมอน สารชนิดนี้จะให้รสชาติขมเล็กน้อย (หรือในบางโครงสร้างจะไร้รสชาติ) นิยมสกัดมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ เนื่องด้วยประโยชน์ต่อร่างกายที่หลากหลาย
คุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระของนารินเจนิน จะช่วยลดการทำลายในระดับเซลล์จากอนุมูลออกซิเจนอิสระ (Free radical oxygen) เนื่องจากอนุมูลเหล่านี้จะสามารถทำลายพันธะบนเยื่อหุ้มเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว และอาจลงลึกถึงระดับ DNA ส่งผลให้เซลล์ทำงานผิดปกติจนตายลงในที่สุด แม้ร่างกายจะมีกลไกทำลายอนุมูลเหล่านี้ตามธรรมชาติ แต่ในบางสภาวะ เช่น เจ็บป่วย, บาดเจ็บ หรือเครียด จะเกิดการสร้างอนุมูลออกซิเจนเหล่านี้มากขึ้น
ด้วยคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ นารินเจนินจึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้
ลดการอักเสบ
การอักเสบ คือ กระบวนการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ ปกติแล้วจะสามารถควบคุมได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และจะสร้างสภาวะนี้ขึ้นเมื่อมีเหตุจำเป็น เช่น การเจ็บป่วย จะเกิดการอักเสบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในการกำจัดเชื้อโรค
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ร่างกายเกิดภาวะเครียด, พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเกิดความเจ็บป่วยเรื้อรัง จะเกิดการหลั่งฮอร์โมนและสารไซโตไคน์ต่าง ๆ ออกมาตอบสนองต่อภาวะดังกล่าว ซึ่งสารเหล่านี้จะเร่งให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกาย ระบบตามธรรมชาติจึงไม่สามารถกำจัดออกไปอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ดังนั้น การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่เหมาะสม อาจมีส่วนช่วยลดความเสียหายจากกระบวนการอักเสบเหล่านี้ ที่สำคัญยังช่วยลดความเร่งของกระบวนการ “แก่ชราของเซลล์” อันเนื่องมาจากการอักเสบได้ด้วย
ป้องกันการเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด
มีการศึกษาพบว่า นารินเจนิน ช่วยควบคุมกระบวนการเมแทบอลิซึมของไขมัน โดยเฉพาะการลดปริมาณของไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลชนิดเลว (Low-density lipoprotein – LDL) และช่วยเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดดี (High-density lipoprotein – HDL) ในกระแสเลือด
การควบคุมปริมาณไขมันและคอเลสเตอรอล จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจ รวมถึงโรคสมองขาดเลือดอีกด้วย
ช่วยในการทำงานของประสาทและสมอง
ด้วยคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ นารินเจนินจึงมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากความเครียดที่เกิดขึ้นต่อประสาทและสมอง อีกทั้งคุณสมบัติที่ช่วยลดกระบวนการอักเสบ ยังมีส่วนช่วยลดความรุนแรงและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความเสื่อมถอยของสมอง โดยเฉพาะอัลไซเมอร์และพาร์กินสัน
ถัดมาคือการช่วยเพิ่มสมาธิและความจำ เนื่องจากนารินเจนินมีคุณสมบัติช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของระบบประสาท และสนับสนุนการสร้างโปรตีน Brain-derived neurotrophic factor (BDNF) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของระบบประสาท ดังนั้น การได้รับนารินเจนินในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยให้การทำงานของสมองมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
คุณสมบัติในการต้านมะเร็ง
คุณสมบัตินี้สอดคล้องกับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ เพราะเป็นที่ทราบกันดีกว่าอนุมูลอิสระสามารถทำให้เกิดความเสียหายในระดับลึกถึง DNA และการเปลี่ยนแปลงของ DNA จะนำไปสู่การเกิดเซลล์มะเร็งได้
ดังนั้น นารินเจนินจึงอาจจะเป็นหนึ่งในสารที่มีคุณสมบัติต้านการเกิดมะเร็ง เริ่มต้นจากการลดความรุนแรงของเซลล์จากอนุมูลอิสระ จนมีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า นารินเจนินช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและการเพิ่มกระจายของเซลล์มะเร็ง ด้วยการควบคุมกระบวนการทางชีวเคมีที่เซลล์มะเร็งใช้ในการเจริญเติบโต
ถึงกระนั้น คุณสมบัตินี้เป็นการ “ลดความเสี่ยง” เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า แม้จะได้รับสารนารินเจนิน แต่ยังสามารถเกิดโรคมะเร็งได้เช่นกัน เพียงแต่นารินเจนินอาจช่วยลดโอกาสในการเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ (ซึ่งมิได้หมายถึงคุณสมบัติในการรักษาโรคมะเร็ง)
อาหารที่มีนารินเจนินและปริมาณที่แนะนำต่อวัน
แหล่งอาหารที่อุดมด้วยนารินเจนิน ประการแรกคงหนีไม่พ้นผลไม้กลุ่มซิตรัส โดยเฉพาะเกรปฟรุต, ส้ม และเลมอน ที่มีปริมาณนารินเจนินอยู่มาก ในขณะที่ผลไม้ชนิดอื่นอย่างตระกูลเบอร์รี่ก็มีนารินเจนินอยู่ด้วยเช่นกัน แต่พบในปริมาณที่น้อยกว่า
แม้การศึกษาจะทดลองให้อาสาสมัครบริโภคนารินเจนินที่สกัดจากเกรปฟรุต ในปริมาณ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ทว่า มิได้มีข้อกำหนดแน่ชัดของปริมาณนารินเจนินที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
ทั้งนี้ ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สารสกัดจากเกรปฟรุต ต้องคำนึงถึงการทำปฏิกิริยาของนารินเจนินกับยาบางชนิด เช่น ยาลดไขมันในเลือด เนื่องจากนารินเจนินมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในเลือดด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนการรับประทานเกรปฟรุตและผลไม้อื่น ๆ ก็แนะนำให้บริโภคในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งส่วนมากจะได้รับนารินเจนินพอเหมาะอยู่แล้ว
Source:
- The Therapeutic Potential of Naringenin: A Review of Clinical Trials
- Science Directs: Naringenin
- Naringenin, a flavanone with antiviral and anti-inflammatory effects
- Molecular Pharmaceutics