สเตียรอยด์ คืออะไร มีประโยชน์และโทษอย่างไรบ้าง? (เข้าใจง่าย)

สเตียรอยด์ (Steroid) คือ หนึ่งในฮอร์โมนที่ร่างกายเรา สามารถที่จะผลิตขึ้นมาได้เอง โดยสร้างมากจากต่อมหมวกไตชั้นนอก (Adrenal cortex steroids) เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงาน ของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย ให้สามารถทำงานได้ตามปกติอยู่เสมอ เช่น ลดการปวด, ปรับความเครียด, ปรับความอ่อนเพลีย, ต้านการอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย สามารถทำงานได้ตามปกติ และยังมีประโยชน์ มีความสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย

แต่การผลิตฮอร์โมนชนิดนี้ ร่างกายสามารถที่จะผลิตได้ในปริมาณที่เล็กน้อยเพียงเท่านั้น ทางการแพทย์จึงได้มีการใช้ยาสเตียรอยด์ หรือสเตียรอยด์สังเคราะห์ โดยเป็นการเลียนแบบสเตียรอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้น นำมาใช้ในการรักษา โดยกฎหมายกำหนดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ เนื่องจากยาสเตียรอยด์มีผลข้างเคียงอันตรายที่รุนแรงหากมีการใช้อย่างไม่ถูกต้อง การใช้ยาสเตียรอยด์จึงต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ และใช้อย่างถูกต้องเท่านั้นเพื่อความปลอดภัย

สเตียรอยด์ คือ กลุ่มฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต

“สเตียรอยด์” เป็นชื่อเรียกของกลุ่มฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมหมวกไต เป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากภายในร่างกายของเรา โดยหลักๆ แล้วมีฮอร์โมนอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน คือ

  • คอร์ติซอล (cortisol) ฮอร์โมนสำคัญที่สร้างมาจากต่อมหมวกไตส่วนนอก มีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อความเครียด อีกทั้งยังเพิ่มระดับความดันโลหิต เพิ่มระดับของแคลเซียม และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • แอลโดสเตอโรน (aldosterone) ฮอร์โมนสำคัญที่สร้างมาจากต่อมหมวกไตส่วนนอก มีบทบาทสำคัญในการระดับความดันโลหิต เพิ่มระดับของแคลเซียม อีกทั้งเพิ่มระดับสารน้ำของร่างกาย

และนอกเหนือไปจากนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ร่างกายเกิดภาวะเครียดเกิดขึ้น ร่างกายจะทำการหลั่งสารสเตียรอยด์ออกมามากยิ่งขึ้น และในปัจจุบันวงการแพทย์นั้นได้มีการผลิตยาสเตียรอยด์ขึ้นมาใช้การรักษาโรคต่างๆ

สเตียรอยด์ธรรมชาติ รูปภาพประกอบจาก https://www.steroidsocial.org/steroid1.html

หน้าที่การทำงานของ สเตียรอยด์ คืออะไร?

สเตียรอยด์ที่ผลิตขึ้นภายในร่างกายตามธรรมชาติ มีหน้าที่สำคัญในการช่วยให้ระบบอวัยวะ เนื้อเยื่อ และเซลล์ต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในผู้ป่วยที่ได้รับสเตียรอยด์ชนิดสังเคราะห์หรือยาสเตียรอยด์เข้าไปในร่างกาย หากได้รับในปริมาณที่พอดีและเหมาะสม ยาสเตียรอยด์จะออกฤทธิ์ในการช่วยลดอาการบวมแดง ลดการอักเสบ ลดการอักเสบที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังและโรคหอบหืดได้ อีกทั้งสารสเตียรอยด์ยังออกฤทธิ์ลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

ยาสเตียรอยด์ แบ่งได้ตามรูปแบบของการใช้งาน

เนื่องด้วยคุณสมบัติในการรักษาของสารสเตียรอยด์ ที่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้อย่างรวดเร็ว จึงได้มีการผลิตยาสเตียรอยด์ขึ้นมา และมีการผลิตยาสเตียรอยด์ออกมาในรูปแบบต่างๆ มากมายหลายรูปแบบ แต่สามารถแบ่งประเภทของยาสเตียรอยด์ออกมาได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

  1. สเตียรอยด์ประเภทใช้ภายนอก เป็นยาที่ใช้ออกฤทธิ์เฉพาะที่
  2. สเตียรอยด์ประเภทออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย หรือยารับประทานและยาฉีด

สเตียรอยด์ประเภทใช้ภายนอก (External Use)

ยาสเตียรอยด์ประเภทใช้ภายนอก (External Use) เป็นยาที่ใช้หวังผลในการรักษาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ ส่งผลให้ความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาลดลง แต่ยังคงต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้

  • ยาหยอดตา ใช้สำหรับรักษาการอักเสบที่ตา เยื่อบุตาขาวอักเสบ
  • ยาพ่นจมูก ใช้สำหรับควบคุมอาการภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ
  • ยาสูดพ่นทางปาก ใช้สำหรับควบคุมอาการทางเดินหายใจ เช่น ใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด และผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง
  • ยาทาทางผิวหนัง ใช้สำหรับกดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ป่วยที่มีอาการผื่นแพ้ที่ผิวหนัง

ยาสเตียรอยด์ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic Use)

ยาสเตียรอยด์ประเภทออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย หรือยารับประทานและยาฉีด เป็นยาที่ใช้หวังผลในการรักษาที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย โดยใช้การฉีดหรือการรับประทาน ส่วนใหญ่แล้วใช้เพื่อลดการอักเสบภายใน หรือเพื่อกดภูมิคุ้มกัน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์, ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตนเอง (SLE) หรือ ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือทางเดินหายใจที่รุนแรง จำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ประเภทนี้ เพื่อให้อาการดีขึ้นโดยเร็วที่สุด เมื่ออาการดีขึ้นแล้วควรหยุดใช้ยาตามแพทย์สั่งทันที เนื่องจากหากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลข้างเคียงที่อันตรายร้ายแรงได้

สเตียรอยด์ ประโยชน์ ทางการแพทย์

ยาสเตียรอยด์ คือ ยาที่มีคุณสมบัติเพื่อใช้ในการรักษาการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการใช้ในปริมาณที่พอดีและเหมาะสม สามารถที่จะช่วยในการบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดจากโรคได้ อาทิเช่น อาการปวดในกลุ่มผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรืออาการอักเสบของผิวหนัง โดยยาสเตียรอยด์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ อาการปวด บวม แดง ร้อน ของเนื้อเยื่อภายในร่างกาย และออกฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันและลดไข้ ในบางกรณีอาจนำเอาสารสเตียรอยด์มาใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งบางชนิดควบคู่ไปกับการรักษาหลัก เรียกได้ว่าเป็นสารที่มีประโยชน์อย่างมากในทางการแพทย์ แต่หากนำเอามาใช้ผิดวิธีอาจได้รับโทษมากกว่าประโยชน์

ข้อควรระวังในการใช้ สเตียรอยด์ ผลข้างเคียง

ถึงแม้ว่ายาสเตียรอยด์ จะเป็นยารักษาที่มีประสิทธิภาพและเห็นผลมากที่สุด แต่การใช้ยาสเตียรอยด์ในการรักษานั้น มักจะเป็นยาประเภทลำดับท้ายๆ ที่ถูกนำเอามาเลือกใช้ในการรักษา หรืออาจเป็นการใช้เพื่อรักษาในช่วงต้นที่เร่งด่วน เพื่อลดอาการ เนื่องจากยาสเตียรอยด์เป็นยาที่ค่อนข้างออกฤทธิ์รุนแรง และเป็นยาที่มีผลข้างเคียงที่อันตรายหากไม่ได้มีการใช้อย่างถูกวิธี

การใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อทำการรักษาจึงควรใช้ตามคำแนะนำ และควรใช้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรหามาใช้เองเป็นอันขาด อย่างเช่น กรณีที่ได้มีการนำเอาสารสเตียรอยด์มาใช้ในการสร้างกล้ามเนื้อ และใช้ในการเสริมสร้างสมรรถภาพให้แก่นักกีฬา นอกจากจะถือว่าผิดกฎในวงการกีฬาแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้ใช้อย่างมาก หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไป

  • อาจทำให้กระดูกเกิดความเปราะบางได้
  • อาจทำให้เกิดต้อกระจก
  • เพิ่มความอยากอาหาร
  • อารมณ์แปรปรวน
  • อาจส่งผลให้มีปัญหาในด้านของการนอนหลับ

นอกจากอาการผลข้างเคียงเหล่านี้แล้ว ยาสเตียรอยด์แต่ละชนิดยังมีผลข้างเคียงที่เจาะจงลงไปเฉพาะแต่ละชนิดอีก ยกตัวอย่างเช่น

ผลข้างเคียง ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

  • อาจมีอาการอาหารไม่ย่อย หรืออาจมีอาการแสบร้อนกลางอก
  • ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน หรือ นอนไม่หลับ
  • อาจส่งผลต่อพฤติกรรมและอาจมีอารมณ์ที่เปลี่ยนไป
  • เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสมากขึ้น
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือาจเกิดโรคเบาหวาน
  • โรคกระดูกพรุน
  • ความดันโลหิตสูง
  • เกิดอาการที่เรียกว่า “คุชชิ่ง ซินโดรม” (Cushing Syndrome)
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น
  • อาจเกิดปัญหาสุขภาพจิต

คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing Syndrome) คืออะไร?

กลุ่มอาการคุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing Syndrome) มักพบบ่อยในผู้ที่ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือมีการใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่นาน หรือผู้ที่ร่างกายอาจผลิตฮอร์โมนชนิดนี้ออกมามากผิดปกติ โดยอาการคุชชิ่ง ซินโดรม สามารถสังเกตจากอาการที่แสดงได้ดังต่อไปนี้

  1. มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่ความสูงเพิ่มขึ้นไม่มาก ทำให้มีรูปร่างอ้วนเตี้ย
  2. มีไขมันสะสมบริเวณใบหน้า, บริเวณหลังคอ และบริเวณลำตัว ทำให้หน้าดูกลมคล้ายพระจันทร์
  3. มีไขมันสะสม
  4. มวลกล้ามเนื้อลดลง
  5. ผิวบาง ผิวแตกสีม่วงแดง เกิดเป็นรอยจ้ำได้ง่าย

หากเกิดความผิดปกติของร่างกาย มีลักษณะอาการดังกล่าว สามารถเข้ารับการวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์ได้ทันที

ผลข้างเคียง ยาอะนาบอลิก-แอนโดรจีนิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroid: AAS) 

ผลข้างเคียงในผู้ชาย

  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ศีรษะล้าน
  • เต้านมขนาดใหญ่ขึ้น
  • เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มีสิวขึ้นมากผิดปกติ
  • มีอาการปวดท้อง

ผลข้างเคียงในผู้หญิง

  • ขนขึ้นดกตามใบหน้าและร่างกาย
  • หน้าอกมีขนาดเล็กลง
  • มีอาการบวมที่คลิตอริส (Clitoris)
  • เสียงต่ำหรือทุ้มกว่าปกติ
  • ความต้องการทางเพศสูงขึ้น
  • ประจำเดือนผิดปกติ
  • ผมร่วง
  • มีสิวขึ้นมากผิดปกติ

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา

Scroll to Top