หายใจไม่อิ่ม จุกที่คอ แน่นอก ใจเต้นเร็ว ใจสั่น (รีบรักษาก่อนสายเกิดแก้)

หายใจไม่อิ่ม จุกที่คอ แน่นอก มีโอกาสเกิดจากโรค COVID-19 ซึ่งเป็นโรคที่มีการอุบัติของโรคทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จะเห็นได้ว่าร่างกายเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อจับกับเซลล์โปรตีนของอวัยวะในช่วงติดเชื้อ และยังคงหลงเหลือร่องรอยของการอักเสบตามอวัยวะนี้อยู่ จึงส่งผลกระทบต่อร่างกาย บางรายอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำและทิ้งช่วงเวลาในการติดเชื้อยาวกว่าในรอบแรก บางรายอาจกระทบต่อระบบหายใจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หนึ่งในนั้นมีอาการ “หายใจไม่อิ่ม” ซึ่งเป็นอาการที่แสดงความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ บ่งบอกถึงสัญญาณเตือนของโรค Long COVID-19 และความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย เช่น โรคปอด โรคหลอดเลือด โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงระบบทางเดินหายใจผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม เกิดจากอะไร

อาการหายใจไม่อิ่ม (Dyspnea) เป็นลักษณะความผิดปกติของการหายใจเข้า และหายใจออก ที่ไม่สามารถรับออกซิเจน (Oxygen) เข้าไปได้อย่างเต็มที่ ทำให้ช่วงของการหายใจสั้นลง โดยมีหลายสาเหตุของการเกิดอาการเหล่านี้ ที่เป็นตัวบ่งบอกปัญหาสุขภาพตามมา นอกจากนี้อาการหายใจไม่อิ่มยังส่งผลต่อสมรรถภาพของการรับออกซิเจนของร่างกายในช่วง VO2 max ในนักกีฬา และบุคคลทั่วไปได้ด้วยเช่นกัน

ลักษณะอาการหายใจไม่อิ่มแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ อาการหายใจไม่อิ่มแบบเฉียบพลัน และอาการหายใจไม่อิ่มแบบเรื้อรัง โดยมีความแตกต่างของลักษณะได้ดังนี้

  1. อาการหายใจไม่อิ่มแบบเฉียบพลัน (Acute Dyspnea) เป็นอาการผิดปกติแบบกะทันหัน โดยคาบเวลาของการแสดงอาการเกิดขึ้นหลายนาที หรือหลายชั่วโมง ซึ่งมีสาเหตุของความผิดปกติ
    1. การออกกำลังกายในช่วง Overload การใช้แรงงาน หรือยกของหนักๆ
    2. สภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูง หรือต่ำเกินไป และอาศัยอยู่ในที่มีความกดอากาศต่ำ
    3. ความวิตกกังวล หรือเกิดเหตุการณ์สะเทือนใจ
    4. อาการหวัด มีน้ำมูก
    5. ปัจจัยภายในอื่นๆ เช่น ผลไม้หรือเศษอาหารติดอยู่ในคอหรือหลอดลม โรคภูมิแพ้ ภาวะปอดแตกหรือมีอากาศรั่วออกจากโพรงเยื่อหุ้มปอด กรดไหลย้อน ลิ่มเลือดอุดตันในปอด รวมถึงโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  2. อาการหายใจไม่อิ่มแบบเรื้อรัง (Chronic Dyspnea) เป็นอาการผิดปกติที่คล้ายๆ กับแบบเฉียบพลัน แต่มีคาบเวลาของการแสดงอาการที่ยาวนานขึ้น จะเกิดขึ้นหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน บางรายอาจเกิดจากโรคประจำตัว เช่น โรคเยื่อหุ้มมปอดอักเสบ (Pleuritis) กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Cardiomyopathy) หรือโรคอ้วน (Obesity) ในลักษณะนี้มีการทวีความรุนแรงของโรคมากกว่าแบบแรก โดยมีสาเหตุได้ดังนี้
    1. การตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ และไหลเวียนเลือด ซึ่งเป็นอาการปกติของผู้ที่ตั้งครรภ์ในช่วงนี้
    2. ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือไม่ออกกำลังกาย ทำให้มีอาการเหนื่อยหอบง่าย
    3. ผู้ที่มีอาการกรนบ่อย หรือมีอาการหยุดหายใจขณะหลับในผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS)
    4. ความดันของหลอดเลือดในปอดสูง ทำให้ลำเลียงออกซิเจนน้อยกว่าปกติ
    5. ผู้ที่มีปัญหาลองโควิด (Long COVID-19)
    6. ผู้ที่สูบบุหรี่ ทั้งบุหรี่มวนแบบยาสูบ และบุหรี่ไฟฟ้า

ระดับความรุนแรงของอาการเหนื่อย

การยกระดับความรุนแรงของอาการเหนื่อย สามารถประเมินอาการหายใจไม่อิ่ม เพื่อดูว่าผู้ป่วยมีความเหนื่อยมากเพียงใด ซึ่งดูได้จากความสามารถในการออกกำลังกาย เพื่อประเมินสมรรถภาพและความรุนแรงของอาการหายใจไม่อิ่ม โดยจะใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า Word Scale หรือประเมินจาก Talk Test ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวกับที่ใช้ในการประเมินผู้ป่วยโรคหอบหืด เพื่อใช้ในการประเมินอาการหายใจไม่อิ่ม เครื่องมือนี้สามารถแบ่งระดับความรุนแรงตั้งแต่ Grade 0-4

  1. Grade 0 : ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ปลอดภัย ไม่แสดงอาการเหนื่อยหอบ หรือแสดงความผิดปกติของปอดเลย ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันและขณะพัก ซึ่งจะไม่นับในช่วงออกกำลังกายอย่างหนักเลย
  2. Grade 1 : มีอาการเหนื่อยเมื่อขึ้นอยู่บนที่สูง หรืออาศัยในพื้นที่มีความกดอากาศต่ำ เช่น การขึ้นเขา แต่ในระดับปกติจะไม่แสดงอาการรุนแรง
  3. Grade 2 : รู้สึกเชื่องช้าในการเดินทางราบ เมื่อเทียบกับผู้ที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกัน เช่น ช่วงอายุ 25-30 ปี จะมีการพักเป็นช่วงๆ เพื่อลดอาการเหนื่อยหอบ และปรับการหายใจให้รับออกซิเจนมากขึ้น
  4. Grade 3 : เริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย หายใจไม่ทั่วท้อง เมื่อใช้เวลาเดินประมาณ 2-3 นาที หรือใช้ระยะทางประมาณ 100 หลา ให้สังเกตอาการผิดปกติในช่วงนี้ทันที
  5. Grade 4 : ในช่วงนี้จะมีความรุนแรงมากที่สุด และสามารถประเมินการเต้นของหัวใจในขณะพัก หรือฟื้นฟูผู้ป่วยในระบบทางเดินหายใจ จะมีอยู่ 4 Class ย่อยๆ ได้แก่
    1. Class I : มีอาการหายใจไม่อิ่ม แต่ถ้าได้พัก สามารถทำกิจกรรมทางกายได้ปกติ
    2. Class II : อาการในช่วงนี้จะดีขึ้นในขณะพัก แต่ออกกำลังกาย หรือใช้ชีวิตประจำวัน จะมีอาการเหนื่อยหอบอยู่บ้าง แต่ไม่รุนแรงถึงขั้นกระทบต่อทรวงอก
    3. Class III : ในช่วงนี้จะเสี่ยงต่ออาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย ควรจำกัดกิจกรรมบางอย่างออกไป เช่น การปีนเขา การวิ่งระยะสั้น การเดินเร็วสลับวิ่ง เพื่อลดการทำงานหนักของระบบทางเดินหายใจ แต่ขณะพักยังทำงานได้ตามปกติ
    4. Class IV : ในช่วงนี้ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวัน และขณะพัก จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะหายใจล้มเหลวได้

การวินิจฉัยอาการหายใจไม่อิ่ม

ลักษณะอาการทั้งสองแบบ สามารถทวีความรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ โดยผู้ป่วยจะต้องสังเกตอาการผิดปกติ และควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์โดยเริ่มจากการซักประวัติ และวินิจฉัยผ่านสเต็ตโทสโคป (Stethoscope) เพื่อดูความผิดปกติของปอด ตรวจหาอาการต่างๆ ตามร่างกาย และความถี่ของอาการที่เกิดขึ้น ว่าเกิดขึ้นนานเท่าใด 

  • ความผิดปกติขณะหายใจ ทั้งตอนทำกิจกรรม และขณะพัก จะมีเสียงหวีดอยู่ในระบบทางเดินหายใจ และรู้สึกเหนื่อยหอบง่าย
  • มีไข้สูง 37.5 องศา มีอาการไอ เจ็บคอ หายใจสั้นลง และมีอาการหนาวสั่น
  • ขณะนอนราบ มีอาการหายใจลำบาก มีอาการกรนเสียงดัง หรือรู้สึกไม่สบายตัวในยามวิกาล
  • มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการบวมหรืออาการแพ้ตามมือ เท้า และอวัยวะส่วนอื่นๆ

นอกจากการวินิจฉัยอาการผิดปกตินั้น ตัวผู้ป่วยควรตรวจสอบตัวเอง และทำการบันทึกข้อมูล เพื่อเป็นการตอบคำถามและสังเกตความผิดปกติ โดยผู้ป่วยสามารถระบุความผิดปกติเพื่อง่ายต่อการวินิจฉัยได้ดังนี้

  • อาการหายใจไม่อิ่มเกิดขึ้นนานเท่าใด หรือบ่อยๆ เป็นระยะ
  • คุณเคยทำกิจกรรมอื่นๆ ก่อนหน้านี้มาก่อนหรือไม่ หรือเกิดอาการผิดปกติขึ้นเอง
  • อาการที่แสดงออกนั้น มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
  • มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่
  • มีประวัติของบุคคลในครอบครัวที่มีอาการหายใจไม่อิ่มด้วยหรือไม่

บางรายแพทย์จำเป็นต้องขอตรวจอาการเพิ่มเติม เช่น การใช้จิตบำบัดในกลุ่มที่มีภาวะวิตกกังวล เอกซเรย์ทรวงอกเพื่อดูความผิดปกติของปอด การเจาะเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)  และการตรวจสมรรถภาพของปอดด้วยสไปโรมิเตอร์ (Spirometer) เพื่อประกอบการวินิจฉัย และประเมินผลการรักษาของผู้ป่วยหายใจไม่อิ่ม

อาการแทรกซ้อนของอาการหายใจไม่อิ่ม

อาการหายใจไม่อิ่มจะมีความผิดปกติของอาการแทรกซ้อน มักจะแสดงอาการชัดเจนในเวลากลางคืน แต่จะค่อยๆ ทวีความรุนแรงสู่โรคภัยอื่นๆ หรือโรคปอดรุนแรงได้ เช่น

  • หน้ามืด เป็นลม วิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการหอบ เหนื่อยง่าย
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการภูมิแพ้
  • ไม่สามารถนอนราบได้ ผู้ที่มีปัญหาหายใจไม่อิ่มจะนอนคว่ำ และนอนตะแคงข้าง
  • มีอาการไอ ซึ่งจะมีอาการไอแห้งๆ โดยอาการไอเป็นสัญญาณของโรคปอด เช่น วัณโรค เมลิออยโดสิสหรือวัณโรคเวียดนาม เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มะเร็งปอด รวมถึงลองโควิด (Long COVID-19)
  • เจ็บหน้าอก มีอาการจุกบริเวณลิ้นปี่ โดยจะมีอาการแปลบๆ ทั้งการทำกิจกรรมและการนอนหลับ
  • หายใจทางปากแทนการหายใจทางจมูก

หายใจไม่เต็มปอด วิธีแก้

ในส่วนของการรักษาอาการของภาวะหายใจไม่อิ่ม ควรมีการสังเกตที่มาของอาการผิดปกติที่มาจากสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ หรือไม่ เช่น มีประวัติบุคคลในครอบครัวทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารอันตราย เช่น แร่ใยหิน ฝุ่นเหล็ก หรือทำงานกลุ่มซีเมนต์ รวมถึงใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็นโรควัณโรค โรคปอดบวม หรือโรคมะเร็งปอด หากไม่ได้เกิดจากสาเหตุร้ายแรง ผู้ป่วยสามารถกลับมาดูแลตนเองได้ที่บ้าน และติดตามการรักษาจนกลับสู่สภาวะปกติ หากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จะต้องมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เช่น

  • ให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย สำหรับผู้มีปัญหาการหายใจผิดปกติ หรือมีอาการแทรกซ้อน
  • แพทย์ให้ยาขยายหลอดลม สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด และหายใจไม่อิ่ม
  • ในกลุ่มผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ รวมถึงกลุ่มหายใจไม่อิ่มที่มีอาการรุนแรง แพทย์จะให้ยาระงับอาการปวด เช่น มอร์ฟีน
  • กลุ่มที่ต้องรักษาเพื่อบรรเทาจิตใจ แพทย์จะให้ยาคลายกังวล (Anti­anxiety) ช่วยให้ระบบสมองส่วนควบคุมความเครียดทำงานดีขึ้น

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการหายใจไม่อิ่ม

อาการหายใจไม่อิ่มสามารถรักษาหายขาดได้ ซึ่งควรหาสาเหตุของความผิดปกติ เพื่อการติดตามการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยมีวิธีการดูแลสุขภาพและปรับสิ่งแวดล้อม เช่น

  1. อยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิที่เย็น อุณหภูมิที่ดีที่สุดอยู่ที่ 22-25 องศาเซลเซียส การปรับเครื่องปรับอากาศให้อยู่ในระดับอุณหภูมิข้างต้น จะช่วยให้ระบบหายใจโล่งขึ้น หากไม่มีเครื่องปรับอากาศ สามารถนั่งหน้าพัดลมทดแทน ให้มีอุณหภูมิเย็นเพียงพอที่จะช่วยปรับระบบหายใจได้สะดวกขึ้น
  2. หากรักษาอาการหายใจไม่อิ่ม หรืออาการผิดปกติร่วมด้วยยารักษาตามอาการ ให้ทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  3. การปรับหมอน ให้เลือกหมอนที่ยกสูงขึ้น เพื่อให้ระดับศีรษะสูงจากแนวราบ ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น หรือปรับให้อยู่ในท่านั่งที่เหมาะสม
  4. อยู่ในพื้นที่โล่งๆ เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท เพื่อป้องกันมลภาวะทางอากาศออกไป บางรายสามารถนำต้นไม้ฟอกอากาศ เช่น เดหลี พลูด่าง ลิ้นมังกร จะช่วยเพิ่มอากาศสดชื่นขึ้น
  5. มองดูทิวทัศน์ที่เป็นธรรมชาติ สบายตา จะช่วยรับอากาศบริสุทธิ์มากขึ้น
  6. ในกลุ่มผู้ป่วยที่เคยมีประวัติติด COVID-19 มาก่อน ควรพบแพทย์ และสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง

สรุป

การป้องกันอาการหายใจไม่อิ่ม สามารถแก้ไขได้ด้วยการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่กระทบต่อปอดโดยตรง เช่น ไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ สวมหน้ากากอนามัย ไม่อยู่ในสถานที่แออัดหรือที่มีมลภาวะเสี่ยงต่อฝุ่น ควัน และสารเคมีอันตรายที่รบกวนต่อระบบทางเดินหายใจ ควรสวมเครื่องมือป้องกันและมีการตรวจร่างกายสม่ำเสมอ รวมถึงพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอหากมีประวัติการติด COVID-19 ก่อนหน้า ควรติดตามอาการผิดปกติเพื่อลดความเสี่ยงร่วมของอาการลองโควิดได้ อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก จะเป็นการป้องกันความผิดปกติของโรค NCDs ซึ่งแสดงอาการหายใจไม่อิ่ม เช่น กลุ่มโรคอ้วนจะต้องควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกายเพื่อรับออกซิเจน และปรับพฤติกรรมสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยป้องกันอาการหายใจไม่อิ่มในระยะยาวได้

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top