โควิดลงปอด อันตรายมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ รักษาก่อนสายเกินแก้!

โควิดลงปอด เกิดขึ้นกับผู้ติดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิด -19 เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าไปทำลายอวัยวะที่สำคัญ เช่น ปอด ซึ่งปอดทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซ เพื่อนำก๊าซออกซิเจนเข้ามาสู่ร่างกาย และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกไปจากร่างกาย โดยอาการและความรุนแรงของโรคโควิด -19  ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อในร่างกาย และภาวะสุขภาพของผู้ติดเชื้อ หากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ จะส่งผลให้เกิดภาวะปอดอักเสบ หรือที่เรียกว่า โควิดลงปอด  อาจเกิดภาวะช็อก หัวใจล้มเหลว จนเสียชีวิตในที่สุด 

สาเหตุของโควิด

โรคโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ SAR-CoV-2 เป็นเชื้อไวรัสที่ต้องอาศัยอยู่ในเซลล์เนื้อเยื่อ เชื้อไวรัสชนิดนี้จึงติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจจากละอองของเสมหะ ซึ่งถูกค้นพบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จากการพบผู้ป่วยมีภาวะปอดอักเสบ โดยไม่ทราบสาเหตุ พบครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019 องค์การอนามัยโลก จึงเรียกเชื้อไวรัสชนิดนี้ ว่า โควิด 19 (2019-nCoV) โดยเชื้อไวรัสโควิด 19 บริเวณเปลือกหุ้มของตัวไวรัสจะเป็นไขมัน จึงสามารถทำลายได้ด้วย สารซักฟอกหรือสบู่ แอลกอฮอล์ 75% ขึ้นไป น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของคลอรีน กรดเปอร์อะซิติก และคลอโรฟอร์ม เป็นต้น 

การติดต่อของโรคโควิด-19 

โรคโควิด-19 เป็นโรคที่ติดต่อจากคนสู่คน มีรูปแบบการแพร่เชื้อ 3 ลักษณะ ได้แก่

1. หยดละออง (droplet) เกิดจากการไอ จาม พูดคุย ฯลฯ ทำให้สารคัดหลั่งออกมาจากระบบทางเดินหายใจ โดยหยดละอองนี้จะมีขนาดประมาณ 60 ไมโครเมตร ถึง 2 มิลลิเมตร มีระยะการกระจายตัว 1-2 เมตร สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก อยู่ในระบบทางเดินหายใจ หลอดลม และเยื่อเมือก

2. การสัมผัส (Surface contamination) เกิดจากละอองเสมหะ ไอ จาม น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ติดเชื้อตกลงบนพื้นผิว หรือสิ่งของที่ส่งให้กัน เมื่อผู้ที่สัมผัสเชื้อเอามือไปสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูก ปาก และตา ส่งผลให้เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ

3. ละอองลอย (Aerosol) เกิดจากการหายใจ หรือหยดละออง บางส่วนจากการพูดคุย ไอ จาม เกิดการระเหยจนมีขนาดเล็กกว่า 60 ไมครอน  สามารถลอยตัวในการอากาศได้ จึงเกิดการสะสมในห้องที่ไม่มีอากาศถ่ายเท สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจและเข้าถึงถุงลมของปอดได้

อาการ โควิดลงปอด

เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ระยะฟักตัวของโรค จะใช้เวลาประมาณ 1-14 วัน ซึ่งหลังจากระยะฟักแล้วนั้น จะเริ่มมีอาการแสดง โดยอาการส่วนใหญ่อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโควิด 19 ได้แก่ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก มีเสมหะ เจ็บคอ อ่อนเพลีย  ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจเร็ว ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ถ่ายเหลว อาเจียน ตาแดง มีผื่นขึ้นตามตัว ทั้งนี้ ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกัน และความรุนแรงไม่เท่ากัน 

โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้สูงอายุ (มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) หญิงตั้งครรภ์ (มีอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์) ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้องรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ และผู้ที่รับประทานยากดภูมิ ผู้ติดเชื้อ HIV เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน (มี BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป) ซึ่งกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ เมื่อติดเชื้อแล้วจึงมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป เช่น ภาวะปอดอักเสบ หรือที่เรียกว่า โควิดลงปอด ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจเร็ว หายใจเหนื่อย จนเกิดการหายใจล้มเหลว ร่างกายจะเกิดภาวะพร่องออกซิเจน ไต หัวใจ และตับสูญเสียหน้าที่ ทำให้เกิดอาการช็อกอวัยวะหลายระบบล้มเหลว และเสียชีวิตตามมา

ผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอับเสบ หรือโควิดลงปอด จะพบหลังจากติดเชื้อได้ 3-5 วัน โดยจะมีอาการบ่งชี้ ดังนี้ 

1. มีไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง หรือมีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน

2. มีอาการหายใจเร็ว มากกว่า 25 ครั้งต่อนาที หรือมีอาการหายใจเหนื่อย หอบ

3. มีอาการเจ็บหน้าอก เมื่อมีอาการไอ หรือสูดหายใจลึก 

4. มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% 

5. เมื่อเอกซเรย์ทรวงอกหรือ CT scan จะพบว่าฝ้าขาวที่ปอด

การรักษาโรคโควิด-19 รักษาหายไหม

การรักษาโรคโควิด 19 จะเป็นการรักษาตามอาการ ด้วยยาต้านไวรัส เช่น Favipiravir ทำหน้าที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและกำจัดเชื้อไวรัสในร่างกายให้หมด หรือคงเหลือในปริมาณที่น้อยจนไม่สามารถก่อโรคได้ ซึ่งยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาเม็ด โดยในวันแรกจะรับประทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะรับประทานครั้งละ 4 เม็ดทุก 12 ชั่วโมงในวันที่เหลือ ซึ่งผู้ป่วยควรรับประทานยาตามวันและเวลาอย่างเคร่งครัด ใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 5-10 วัน ส่วนผลข้างเคียงของยาที่พบ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตับอักเสบ เป็นต้น

ส่วนในผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีภาวะปอดอักเสบหรืออาการโควิดลงปอด แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อยับยั้งความรุนแรงของโรคและควบคุมการกระจายตัวของเชื้อไวรัสในร่างกายไม่ให้ไปยังอวัยวะใกล้เคียง โดยผู้ป่วยควรได้รับการรักษาจากแพทย์โดยตรง ตามคำแนะนำ ดังนี้  

  1. ปรับท่านอน โดยนอนคว่ำ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีระดับออกซิเจนต่ำ ซึ่งการนอนคว่ำจะเป็นการลดการกดทับของปอด ส่งผลให้ปอดได้รับก๊าซออกซิเจนมากขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนในร่างกายได้ดีขึ้น ผู้ป่วยควรนอนคว่ำ 30 นาที – 2 ชั่วโมง หรือทำนานกว่านี้ก็ได้ตามที่ผู้ป่วยทนไหว
  2. ขยับและเคลื่อนไหวขาบ่อย ๆ เช่น เหยียดปลายเท้า แล้วดึงเข้าหาตัว ยกขาขึ้นลง หรืองอเข่าเข้าออก เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดของผู้ป่วยดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดลิ้มเลือดอุดตันอีกด้วย 
  3. ดื่มน้ำให้มาก ๆ แต่ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำที่อุณหภูมิห้อง ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น เพราะจะทำให้อาการไอมากขึ้น โดยผู้ป่วยควรดื่มน้ำประมาณ 2-2.5 ลิตรต่อวัน  เนื่องจากการดื่มน้ำจะช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนให้แก่ร่างกาย 
  4. ผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีโรคประจำตัว หากต้องรับประทานยาเป็นประจำ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรวัดความดันอย่างต่อเนื่อง 

ซึ่งผู้ป่วยโควิดลงปอด จัดเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด ในบางรายอาจจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ แพทย์ต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง 

วิธีเสริมสร้างสุขภาพปอดให้แข็งแรง

ผู้ป่วยโควิดลงปอด เมื่อรักษาหายแล้ว ปอดยังคงจะมีรอยของโรคเหลือไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่การความหนักเบาของอาการแต่ละคน เช่น ปอดติดเชื้อเพียงเล็กน้อย ก็จะใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูไม่นานปอดก็จะกลับมาภาวะปกติ มีประสิทธิการทำงานได้อย่างเต็มที่ ในทางตรงกันข้าม หากปอดติดเชื้อและมีการอักเสบถูกทำลายอย่างมาก ประสิทธิภาพในการทำงานของปอดก็จะลดลงไปด้วย ปอดจึงควรได้รับการฟื้นฟูดูแล ดังนี้

  1. รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แอปเปิ้ล บรอกโคลี เนื้อสัตว์ ถั่ว ชา ขิง หรือผลไม้ตระกูลเบอร์รี จะช่วยปกป้องการถูกทำลายของปอดได้ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค 
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เนื่องจากขณะออกกำลังกาย หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ทำให้มีการสูบฉีดเลือดมากขึ้น ส่งผลให้ปอดทำงานหนักขึ้น เพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป ดังนั้นการออกกำลังกายเป็นประจำจะเป็นการกระตุ้นให้ปอดทำงานได้เต็มที่มากขึ้น และ เป็นการบริหารปอดไปในตัว 
  3. พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย 
  4. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทำลายปอด ได้แก่ งดสูบบุหรี่  หลีกเลี่ยงสภาพภาพแวดล้อมมที่มีมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM 2.5 ควันรถ ควันบุหรี่ ควันธูป หรือควันจากการเผาไหม้ต่าง ๆ 
  5. ดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากน้ำช่วยในการดีท็อกของเสียออกจากร่างกาย ส่งผลให้ทุกระบบในร่างกายดีขึ้น อีกทั้งน้ำยังช่วยให้ปอดมีความชุ่มชื้น ทำให้ปอดไม่แห้ง ลดการเกิดอาการระคายเคืองในปอด ทั้งนี้หากปอดขาดน้ำ จะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันต่ำ ลง และปอดติดเชื้อได้ง่าย 
  6. ฝึกบริหารปอด โดยการฝึกหายใจเข้าลึก ๆ ยาวๆ ท้องจะป่อง และค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกอย่างช้า ๆ ท้องจะแฟบ ทำสลับกันแบบนี้วันละ 10 ครั้ง ซึ่งวิธีนี้เป็นการออกกำลังกายปอด กระบังลม และกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอก ทำให้ปอดขยายตัวได้เต็มที่มากขึ้น หายใจได้สะดวกขึ้น 

ปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซเพื่อนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป ดังนั้น สิ่งที่ผู้ป่วยโควิดลงปอดควรปฏิบัติ คือการดูแลและฟื้นฟูปอดให้กลับมาแข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นการทำลายสุขภาพ เนื่องจาก ช่วงระยะเวลาหลังหายป่วย ร่างกายยังไม่กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมภูมิคุ้มกันของร่างกายยังต่ำ ส่งผลให้ได้รับเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย อาจทำให้ป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น ท้องร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ดังนั้นการดูแลสุขภาพหลังติดเชื้อโควิด 19 จึงเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยควรให้ความสำคัญ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top