Biotin (ไบโอติน) คือ วิตามินชนิดหนึ่งที่ละลายในน้ำได้ โดยรู้จักกันในชื่อทั้งวิตามิน H หรือวิตามิน B7 โดยคำว่าไบโอตินมาจากรากศัพท์ในภาษากรีก Biotos (ไบโอโทส) แปลว่าชีวิต นั่นหมายความว่า ไบโอติน คือ หนึ่งในวิตามินที่มีความสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างมากเลยทีเดียว
โมเลกุลของไบโอตินเป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างวงแหวนประกอบของซัลเฟอร์ สารพันธะด้านหนึ่งของวงแหวนยังมีหมู่คาร์บอนที่สามารถเกิดปฏิกิริยาคาร์บอกซิเลชัน (Carboxylation) จึงทำให้ไบโอตินมีบทบาทเป็นโคเอนไซม์ช่วยในปฏิกิริยาทางชีวเคมีต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น การสลายและสร้างกรดอะมิโน, กรดไขมัน และน้ำตาลกลูโคส

ประโยชน์ของไบโอตินในร่างกายมนุษย์
- ระบบเผาผลาญ: ไบโอตินมีหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ในกระบวนการสลายกรดอะมิโน, กรดไขมัน และการสร้างน้ำตาลกลูโคส แน่นอนว่าหากขาดไบโอตินไปจะส่งผลให้กระบวนการเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ อีกทั้งอาจทำให้เกิดการคั่งค้างของสารพิษได้ เช่น การคั่งของกรดแลกติกจากกระบวนการสลายอาหารที่ไม่สมบุรณ์ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อจนถึงภาวะเลือดเป็นกรดได้
- สุขภาพผิวหนัง: ไบโอตินเป็นส่วนประกอบของเคราติน ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของผิวหนัง, เส้นผม, ขน และเล็บ หากร่างกายมีไบโอตินไม่เพียงพอ จะทำให้อวัยวะเหล่านี้เปราะบางและแห้ง จนเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น ผิวแห้ง, รังแค หรือผมแตกปลาย เป็นต้น
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด: เนื่องจากไบโอตินเกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึมของกลูโคสในร่างกาย จึงมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรได้รับไบโอตินให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
- ควบคุมระดับไขมันในเลือด: ไบโอตินเกี่ยวข้องกับกระบวนการสลายและสร้างกรดไขมันในร่างกาย จึงมีผลต่อสุขภาพของระบบหลอดเลือดและหัวใจ จากการศึกษาพบว่าหากร่างกายได้รับปริมาณไบโอตินอย่างเพียงพอ จะช่วยควบคุมระดับไขมันในเลือดให้เหมาะสม อีกทั้งยังช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดได้อีกด้วย
- ช่วยในการเจริญเติบโตของทารก: ไบโอตินมีความสำคัญต่อทารกทั้งในช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดา จนถึงช่วงที่คลอดออกมาก็ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง การขาดไบโอตินจะทำให้ทารกเกิดภาวะวิรูป หรือความผิดปกติทางกายได้
- ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท: ไบโอตินเกี่ยวข้องกับกระบวนสร้างสารสื่อประสาท ส่งเสริมให้เซลล์ประสาทสามารถส่งกระแสประสาทได้สื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน: จากการศึกษาพบว่า ไบโอตินช่วยควบคุมและส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะกระบวนการอักเสบ แม้ไบโอตินจะเป็นสารหนึ่งที่ช่วยลดการอักเสบได้ แต่ยังมีคุณสมบัติช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการอักเสบที่เหมาะ เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมให้เหมาะแก่การกำจัดเชื้อโรค
การนำไบโอตินมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
ด้วยคุณสมบัติของไบโอตินในการบำรุงผิวหนัง, เส้นผม, ขน และเล็บ ผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหลากหลายชนิดจึงนิยมผสมไบโอตินลงไปด้วย เพื่อเสริมความแข็งแรงแก่ผิวพรรณของผู้ใช้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่นิยมผสมไบโอตินลงไป ได้แก่
- มอยส์เจอร์ไรเซอร์: ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทั้งครีม, โลชัน และเซรัม จะผสมไบโอตินลงไปเพื่อลดความแห้งและผสานรอยแตกบนผิวหนัง ให้ผิวหนังคงความชุ่มชื้นได้ดีขึ้น
- ยาสระผม: ไบโอตินช่วยบำรุงเคราตินภายในเส้นผมและลดการขาดหลุดร่วงหรือผมแตกปลายได้
- ครีมบำรุงมือและเล็บ: นอกจากผิวหนังและเส้นผมแล้ว เล็บเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่มีเคราตินเป็นส่วนประกอบ ดังนั้น ไบโอตินที่ผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงมือจะช่วยให้เล็บแข็งแรงและเงางามมากขึ้น
- ผลิตภัณฑ์ด้าน Anti-aging: ไบโอตินมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ ซึ่งกระบวนการอักเสบนี้เองจะเป็นตัวเร่งให้เซลล์เกิดภาวะแก่ชราก่อนวัยอันควร การผสมไบโอตินเพื่อช่วยลดการอักเสบจะช่วยชะลอความแก่ชราได้
- ผลิตภัณฑ์รักษาสิว: เซรัมรักษาสิวบางประเภท อาจผสมไบโอตินลงไปเพื่อช่วยลดการอักเสบของสิว ซึ่งมักจะเน้นไปที่ลดความรุนแรงของสิวอักเสบ อีกทั้งยังเป็นการเสริมฤทธิ์ต้านอักเสบของกรดซาลิซิลิกในผลิตภัณฑ์รักษาสิวชนิดนั้นด้วย
- เครื่องสำอางอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกับผิวหนังหรือเส้นผม: อาจมีส่วนผสมของไบโอติน เพื่อช่วยลดความแห้งของผิวหนัง ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเกลี่ยเครื่องสำอางได้ง่ายขึ้น ลดความแห้งจากการใช้เครื่องสำอาง หรือในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ร่วมกับขนหรือเส้นผม เช่น มาสคาร่า มักผสมไบโอตินลงไปเพื่อช่วยบำรุงให้ขนตาคงความเงางามไว้
แหล่งอาหารที่ประกอบด้วยไบโอติน และปริมาณรับประทานที่แนะนำต่อวัน
ไบโอตินสามารถพบได้ในอาหารหลากหลายชนิด ตัวอย่างอาหารที่มีปริมาณไบโอตินเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ได้แก่
- ไข่แดง
- เครื่องในสัตว์
- ถัวเปลือกแข็งและถั่วเมล็ดแห้ง
- ผลิตภัณฑ์จากนม
- ธัญพืช
- ปลาแซลมอนและน้ำมันปลา
- กล้วย
- ดอกกะหล่ำ
ปริมาณของไบโอตินที่แนะนำให้รับประทานต่อวันอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละอายุ โดยปริมาณที่แนะนำในผู้ใหญ่จะอยู่ที่ราว 25-30 ไมโครกรัม จากปริมาณนี้จะเห็นว่า ส่วนมากอาหารที่รับประทานทุกวันมักจะมีปริมาณไบโอตินที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว จึงไม่ค่อยพบภาวะขาดไบโอติน
ถึงกระนั้น การขาดไบโอตินอาจสามารถพบเจอได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยขาดสารอาหารรุนแรงหรือมีปัญหาด้านการดูดซึม ซึ่งจะมีอาการเลือดเป็นกรด, กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเจริญเติบโตช้า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- BIOTIN: Overview, Uses, Side Effects, Precautions, Interactions, Dosing and Reviews (webmd.com)
- Health Benefits of Biotin: What Does the Science Say? (healthline.com)
- Biotin (Oral Route) Proper Use – Mayo Clinic