เกรปฟรุต (Grapefruit) คืออะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร?

เกรปฟรุต (Grapefruit) คือ ผลไม้ในสกุลซิตรัสและจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับส้ม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Citrus X. Paradisi โดยพบได้บริเวณพื้นที่กึ่งเขตร้อน (ถิ่นกำเนิดอยู่ในคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก) เกิดจากการเพาะพันธุ์ระหว่างส้มกับส้มโอ จึงทำให้มีลักษณะของต้นและผลคล้ายส้ม

เกรปฟรุต (Grapefruit)
ที่มาของภาพ Unsplash

ผลเกรปฟรุตอ่อนจะมีสีเขียวเข้ม มีรสชาติเปรี้ยวจัด เมื่อสุกแล้ว ผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม เนื้อจะออกไปโทนสีชมพูแดง มีรสเปรี้ยวอมหวาน หรือเปรี้ยวจัด และมีวิตามินซีสูง จึงนับว่าเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

Naringenin in grapefruit
โมเลกุลของนารินเจนิน
ที่มาของภาพ Wiki commons

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าเกรปฟรุต อุดมไปด้วยสารที่มีประโยชน์อีกมากมาย โดยเฉพาะสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า นารินเจนิน (Naringenin) ซึ่งในเวลาถัดมาถูกสกัดออกมาเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ต้านอนุมูลอิสระ, ลดการอักเสบ, เพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน หรือปรับปรุงสุขภาพโดยรวมของผู้บริโภค

นารินเจนิน มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร?

นารินเจนิน คือ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ พบได้ในพืชหลายชนิดโดยเฉพาะตระกูลซิตรัส เช่น เกรปฟรุต, ส้ม และเลมอน สารชนิดนี้จะให้รสชาติขมเล็กน้อย (หรือในบางโครงสร้างจะไร้รสชาติ) นิยมสกัดมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ เนื่องด้วยประโยชน์ต่อร่างกายที่หลากหลาย

คุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระของนารินเจนิน จะช่วยลดการทำลายในระดับเซลล์จากอนุมูลออกซิเจนอิสระ (Free radical oxygen) เนื่องจากอนุมูลเหล่านี้จะสามารถทำลายพันธะบนเยื่อหุ้มเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว และอาจลงลึกถึงระดับ DNA ส่งผลให้เซลล์ทำงานผิดปกติจนตายลงในที่สุด แม้ร่างกายจะมีกลไกทำลายอนุมูลเหล่านี้ตามธรรมชาติ แต่ในบางสภาวะ เช่น เจ็บป่วย, บาดเจ็บ หรือเครียด จะเกิดการสร้างอนุมูลออกซิเจนเหล่านี้มากขึ้น

grapefruit reduce oxidative stress
ที่มาของภาพ Greatist

ด้วยคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ นารินเจนินจึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

ลดการอักเสบ

การอักเสบ คือ กระบวนการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ ปกติแล้วจะสามารถควบคุมได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และจะสร้างสภาวะนี้ขึ้นเมื่อมีเหตุจำเป็น เช่น การเจ็บป่วย จะเกิดการอักเสบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในการกำจัดเชื้อโรค

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ร่างกายเกิดภาวะเครียด, พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเกิดความเจ็บป่วยเรื้อรัง จะเกิดการหลั่งฮอร์โมนและสารไซโตไคน์ต่าง ๆ ออกมาตอบสนองต่อภาวะดังกล่าว ซึ่งสารเหล่านี้จะเร่งให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกาย ระบบตามธรรมชาติจึงไม่สามารถกำจัดออกไปอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ดังนั้น การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่เหมาะสม อาจมีส่วนช่วยลดความเสียหายจากกระบวนการอักเสบเหล่านี้ ที่สำคัญยังช่วยลดความเร่งของกระบวนการ “แก่ชราของเซลล์” อันเนื่องมาจากการอักเสบได้ด้วย

grapefruit reduce cell apoptosis
ที่มาของภาพ Unsplash

ป้องกันการเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด

มีการศึกษาพบว่า นารินเจนิน ช่วยควบคุมกระบวนการเมแทบอลิซึมของไขมัน โดยเฉพาะการลดปริมาณของไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลชนิดเลว (Low-density lipoprotein – LDL) และช่วยเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดดี (High-density lipoprotein – HDL) ในกระแสเลือด

การควบคุมปริมาณไขมันและคอเลสเตอรอล จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจ รวมถึงโรคสมองขาดเลือดอีกด้วย

ช่วยในการทำงานของประสาทและสมอง

ด้วยคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระ นารินเจนินจึงมีส่วนช่วยลดผลกระทบจากความเครียดที่เกิดขึ้นต่อประสาทและสมอง อีกทั้งคุณสมบัติที่ช่วยลดกระบวนการอักเสบ ยังมีส่วนช่วยลดความรุนแรงและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความเสื่อมถอยของสมอง โดยเฉพาะอัลไซเมอร์และพาร์กินสัน

ถัดมาคือการช่วยเพิ่มสมาธิและความจำ เนื่องจากนารินเจนินมีคุณสมบัติช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของระบบประสาท และสนับสนุนการสร้างโปรตีน Brain-derived neurotrophic factor (BDNF) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของระบบประสาท ดังนั้น การได้รับนารินเจนินในปริมาณที่เหมาะสม อาจช่วยให้การทำงานของสมองมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

beneficial to brain function
ที่มาของภาพ Unsplash

คุณสมบัติในการต้านมะเร็ง

คุณสมบัตินี้สอดคล้องกับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ เพราะเป็นที่ทราบกันดีกว่าอนุมูลอิสระสามารถทำให้เกิดความเสียหายในระดับลึกถึง DNA และการเปลี่ยนแปลงของ DNA จะนำไปสู่การเกิดเซลล์มะเร็งได้

ดังนั้น นารินเจนินจึงอาจจะเป็นหนึ่งในสารที่มีคุณสมบัติต้านการเกิดมะเร็ง เริ่มต้นจากการลดความรุนแรงของเซลล์จากอนุมูลอิสระ จนมีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า นารินเจนินช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและการเพิ่มกระจายของเซลล์มะเร็ง ด้วยการควบคุมกระบวนการทางชีวเคมีที่เซลล์มะเร็งใช้ในการเจริญเติบโต

ถึงกระนั้น คุณสมบัตินี้เป็นการ “ลดความเสี่ยง” เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า แม้จะได้รับสารนารินเจนิน แต่ยังสามารถเกิดโรคมะเร็งได้เช่นกัน เพียงแต่นารินเจนินอาจช่วยลดโอกาสในการเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ (ซึ่งมิได้หมายถึงคุณสมบัติในการรักษาโรคมะเร็ง)

อาหารที่มีนารินเจนินและปริมาณที่แนะนำต่อวัน

แหล่งอาหารที่อุดมด้วยนารินเจนิน ประการแรกคงหนีไม่พ้นผลไม้กลุ่มซิตรัส โดยเฉพาะเกรปฟรุต, ส้ม และเลมอน ที่มีปริมาณนารินเจนินอยู่มาก ในขณะที่ผลไม้ชนิดอื่นอย่างตระกูลเบอร์รี่ก็มีนารินเจนินอยู่ด้วยเช่นกัน แต่พบในปริมาณที่น้อยกว่า

grapefruit and naringenin
ที่มาของภาพ Unsplash

แม้การศึกษาจะทดลองให้อาสาสมัครบริโภคนารินเจนินที่สกัดจากเกรปฟรุต ในปริมาณ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ทว่า มิได้มีข้อกำหนดแน่ชัดของปริมาณนารินเจนินที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน

ทั้งนี้ ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์สารสกัดจากเกรปฟรุต ต้องคำนึงถึงการทำปฏิกิริยาของนารินเจนินกับยาบางชนิด เช่น ยาลดไขมันในเลือด เนื่องจากนารินเจนินมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในเลือดด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนการรับประทานเกรปฟรุตและผลไม้อื่น ๆ ก็แนะนำให้บริโภคในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งส่วนมากจะได้รับนารินเจนินพอเหมาะอยู่แล้ว

Source:

Scroll to Top