Placenta (รก) คืออะไร มีประโยชน์-ข้อควรระวังอย่างไรบ้าง?

Placenta หรือ รก คือ อวัยวะชั่วคราวที่ถูกสร้างขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ เพื่อนำพาสารอาหารและแก๊สออกซิเจนจากร่างกายของมารดามาให้ทารก อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในการป้องกันทารกจากสารเคมีต่าง ๆ จากร่างกายมารดาที่อาจเป็นอันตรายแก่ทารก รวมถึงมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันและการเจริญเติบโตของทารกอีกด้วย

placenta
ที่มาของภาพ Freepik

ในอดีตมีบันทึกการใช้รกเพื่อผลลัพธ์ด้านความสวยงาม ย้อนกลับไปในยุคอียิปต์โบราณ พระนางคลีโอพัตรานำน้ำนมจากลามาผสมกับรก เพื่อรักษาผิวพรรณให้สวยงามและแลดูอ่อนเยาว์อยู่เสมอ รวมถึงในจีน, กรีก และโรมัน ก็มีการนำรกมาใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยา

จะเห็นว่ารกนับเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างมากต่อทารก จึงเต็มไปด้วยโมเลกุลต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ทางด้านการซ่อมแซมและฟื้นฟู จนได้รับความนิยมสกัดสารจากรกไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

รกที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีกี่ประเภท

  • รกจากมนุษย์: รกประเภทนี้จะได้มาจากหญิงตั้งครรภ์ที่บริจาครก ซึ่งต้องได้รับการยินยอมและมีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อการบริจาคเสียก่อน เชื่อกันว่าสารสกัดจากรกมนุษย์จะเข้ากันได้กับโครงสร้างทางชีวเคมีของเซลล์มนุษย์ได้ดีกว่าสารสกัดจากรกประเภทอื่น ถึงกระนั้น การนำรกจากมนุษย์มาใช้ยังมีข้อถกเถียงเชิงจริยธรรม รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อจากโรคติดต่อบางประเภทอีกด้วย
  • รกจากสัตว์: ปัจจุบันนิยมใช้รกจากแกะ, หมู, ม้า หรือวัว เนื่องจากรกที่ได้จากสัตว์สามารถหาได้ง่าย และมีราคาถูกกว่าจึงนิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางมากกว่า อย่างไรก็ตาม สารสกัดบางชนิดจากรกของสัตว์อาจทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใช้บางรายได้
  • รกสังเคราะห์หรือรกจากพืช: รกประเภทนี้มิได้สกัดมาจากรกของพืชจริง ๆ (เนื่องจากพืชไม่มีรก) แต่จะอยู่ในรูปของสารสกัดที่ผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการ หรือสารสกัดจากพืชที่มีโครงสร้างโมเลกุลและคุณสมบัติเหมือนสารสกัดจากรกมนุษย์หรือรกสัตว์ จุดเด่นคือสารสกัดที่ได้จะมีความเสถียร, ปลอดภัย และมีปัญหาด้านจริยธรรมน้อยกว่า แต่ประสิทธิภาพอาจด้อยกว่าสารสกัดจากรกของสิ่งมีชีวิต เพราะโครงสร้างโดยรวมอาจเข้ากับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตได้ไม่ดีเท่ากับรกของจริงนั่นเอง
placenta
ที่มาของภาพ Freepik

กระบวนการนำรกมาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง มีวิธีการอย่างไร?

  • เก็บรวบรวมรก: ผู้ผลิตจะนำรกมนุษย์ที่ได้จากการบริจาค หรือรกจากสัตว์มาใช้ในการผลิต ในระหว่างรอการผลิตรกจะถูกจัดเก็บไว้ในตู้แช่แข็งควบคุมความเย็นและปลอดเชื้อ
  • สกัดสารจากรก: เมื่อต้องการนำรกมาใช้ในการผลิต รกจะถูกนำมาไว้ในอุณหภูมิห้องเพื่อละลายความเย็นโดยไม่ผ่านความร้อนจากแหล่งอื่น (ป้องกันมิให้สารอาหารที่จำเป็นต่าง ๆ สลายไป) จากนั้นรกจะถูกทำความสะอาดและตัดแบ่งแยกชิ้นส่วนออกมา ก่อนจะนำไปแช่ในตัวทำละลาย เช่น แอซิโทน, เอทานอล หรือน้ำสะอาด ซึ่งเป็นขั้นตอนสกัดโมเลกุลสำคัญออกมาจากเนื้อเยื่อรก สารสกัดที่ได้จะถูกแยกออกจากตัวทำละลายด้วยการระเหยหรือการกรอง จนได้สารสกัดที่อยู่ในรูปแบบผงแห้ง
  • ทำให้บริสุทธิ์และประเมินคุณสมบัติ: สารสกัดจากรกในรูปแบบผงแห้งจะผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งมีอยู่หลายขั้นตอนแต่มีจุดประสงค์หลักร่วมกัน คือ ทำให้ได้สารสกัดที่ต้องการเพียงอย่างเดียว ปราศจากสารชนิดอื่นเจือปน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการตรวจวัดความเหมาะสมของคุณสมบัติของสารสกัด (Standardization) ซึ่งจะต้องประเมินทั้งความเข้มข้น, ค่าความเป็นกรด-ด่าง, ค่าความชื้น, ค่าการเจือปนของเชื้อโรค และอื่น ๆ ตามผู้ผลิตแต่ละราย

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด ผู้ผลิตจะนำสารสกัดจากรกที่ได้ไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่าง ๆ ได้หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มบำรุงผิวที่ต้องการคุณสมบัติด้านการฟื้นฟูและชะลอการแก่ชราของผิว

รก
ที่มาของภาพ Freepik

ประโยชน์ของสารสกัดจากรก

  • ต้านอนุมูลอิสระ: สารสกัดจากรกอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสารพื้นฐานที่ทำหน้าที่ปกป้องทารกหรือตัวอ่อนในครรภ์ให้ปลอดภัยจากโมเลกุลของเสียอันตรายจากเซลล์ โดยอนุมูลอิสระมีผลทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติหรือถูกทำลาย นำไปสู่การแก่ชราก่อนวัยอันควรของร่างกายโดยรวม
  • ชะลอวัย: สืบเนื่องต่อจากคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดจากรกจะช่วยชะลอการแก่ชราของเซลล์ได้ ช่วยลดเลือนริ้วรอยในบริเวณต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างสารจำพวก Growth factor ที่ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์คอลลาเจน เพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผิว บำรุงให้ผิวแข็งแรงมากขึ้น
  • สมานแผล: สารสกัดจากรกมีฤทธิ์สมานแผล โดยปรับสมดุลของกระบวนการอักเสบให้เหมาะสมและลดการติดเชื้อของผิวหนัง ช่วยให้แผลสมานได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มการทำงานของ Fibroblast growth factor 7 (FGF-7) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการสมานแผล
  • เพิ่มความชุ่มชื้นและฟื้นฟูผิว: สารสกัดจากรกอุดมด้วยสารอาหารที่จำเป็นแก่ผิว ทำให้ผิวสดชื่นมาชีวิตชีวา รวมถึงยังแสดงคุณสมบัติการเป็นเกราะป้องกันแก่ผิว ลดการสูญเสียน้ำระหว่างเซลล์ผิวหนัง ผิวหนังของผู้ใช้จะรู้ดูชุ่มชื้นและเรียบเนียนกว่าที่เคย
  • ปรับสมดุลฮอร์โมน: รกเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สามารถสังเคราะห์ฮอร์โมนได้ ดังนั้น สารสกัดจากรกจึงมีส่วนประกอบของฮอร์โมนรวมอยู่ ซึ่งฮอรโมนเหล่านี้จะช่วยปรับปรุงสภาพผิวให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีปัญหาความไม่สมดุลของฮอร์โมน จนทำให้เกิดผิวแห้งหยาบกร้านได้ ฮอร์โมนจากรกจะเข้ามาเติมเต็มให้ผิวพรรณดูดีมีชีวิตชีวามากขึ้น
รก
ที่มาของภาพ Freepik

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้สารสกัดจากรก

  • ระคายเคืองผิวหนังหรือแพ้: ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากรก อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง, แสบร้อน, แดง, ลอก หรือคันได้ และมีโอกาสเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น ปวดบวม, ผิวหนังพุพอง อาจลุกลามจนรบกวนระบบอวัยวะอื่น หากใช้แล้วเกิดความผิดปกติควรหยุดใช้และไปพบแพทย์ทันที
  • ติดเชื้อ: เนื่องจากเป็นอวัยวะที่มีเลือดมาเลี้ยงในปริมาณมาก การใช้สารสกัดจากรกอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ หากกระบวนการผลิตไม่มีประสิทธิภาพและไม่ปลอดเชื้อ หรืออาจมีเชื้อโรคแฝงที่อาจตรวจได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น ไวรัสตับ, ไวรัส HIV จนถึงพริออนของโรควัวบ้า กรณีที่ใช้รกจากวัว (Bovine spongiform encephalopathy – BSE)

ข้อมูลจาก

Scroll to Top