ยาบำรุงเลือด กินตอนไหน มีผลข้างเคียงหรือไม่ เหมาะกับใคร เจาะลึกข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับวิตามินบำรุงเลือด บำรุงโลหิต เลือกรับประทานอย่างไรให้ถูกวิธี
เลือด คือ สารเหลวสีแดงที่ประกอบด้วยเม็ดเลือดแดงปริมาณมาก ซึ่งร่างกายผลิตขึ้นเพื่อทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปหล่อเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อของทุกอวัยวะในร่างกาย รวมถึงแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเซลล์เนื้อเยื่อ เพื่อมาขจัดของเสียที่ปอด เลือดยังเป็นสารเหลวที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และเป็นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย ดังนั้นการที่ระบบการทำงานของเลือดผิดปกติ จึงมักนำไปสู่ความผิดปกติของระบบต่างๆ ในร่างกายเช่นกัน
ยาบำรุงเลือด หรือ Antianemia Drugs เป็นยาที่ออกฤทธิ์ในการเสริมสร้างเม็ดเลือดแดงให้มีความสมบรูณ์ จนไปถึงส่งเสริมให้ระบบการไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น มักใช้ในกรณีต้องการบำรุงร่างกายหรือป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจาง
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาบำรุงเลือด ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์และศึกษารายละเอียดของตัวยาก่อนเสมอ เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้ยาผิดวิธีหรือแพ้ยา
ชนิดของยาบำรุงเลือด บำรุงโลหิต แต่ละประเภท
ปัจจุบันยาบำรุงเลือดมีหลากหลายประเภท แตกต่างไปตามการใช้งานของแต่ละบุคคล มีทั้งในรูปแบบอาหารเสริมและสั่งจ่ายจากแพทย์เพื่อรักษาโรค โดยแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้
- ยากลุ่มที่เป็นสารประกอบของธาตุเหล็ก (Ferrous Compound) รูปแบบยา คือ ยาน้ำ และ ยาเม็ด มีทั้งชนิดยาเดี่ยวและในรูปแบบอาหารเสริม เพื่อเสริมธาตุเหล็กให้เพียงพอแก่ร่างกาย ยากลุ่มนี้เหมาะกับ ผู้ที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก จากปัจจัยต่างๆ อาทิ มีประจำเดือนมามาก เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือ โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีปัญหาในการดูดซึมธาตุเหล็ก
- วิตามินบี 12 (Vitamin B12) หรือ ไซยาโนโคบาลามีน (Cyanocobalamine) รูปแบบยา คือ ยาเม็ด มีทั้งชนิดยาเดี่ยวและในรูปแบบอาหารเสริม เพื่อเสริมวิตามินบี 12 ซึ่งมีส่วนในการสร้างเม็ดเลือดแดง ให้เพียงพอแก่ร่างกาย ยากลุ่มนี้เหมาะกับ ผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินบี 12 ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของลำไส้เล็ก
- วิตามินบี 9 (Vitamin B9) หรือ กรดโฟลิก (Folic acid) หรือ โฟเลต (Folate) รูปแบบยา คือ ยาเม็ด มีทั้งชนิดยาเดี่ยวและในรูปแบบอาหารเสริม เพื่อเสริมวิตามินบี 9 ซึ่งมีส่วนในการสร้างเม็ดเลือดแดง ให้เพียงพอแก่ร่างกาย ยากลุ่มนี้เหมาะกับ ภาวะโลหิตจางชนิดขนาดเม็ดเลือดแดงใหญ่ผิดปกติ การดูดซึมสารอาหารของลำไส้เล็กผิดปกติ ผู้มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- ยากระตุ้นการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดแดง (Erythropoiesis-Stimulating Agent : ESAs) รูปแบบยา คือ ยาฉีด และ ยาเม็ด เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ ที่ช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดง เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างเพียงพอ ยากลุ่มนี้เหมาะกับ ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากหลายปัจจัย ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มโรคมีความผิดปกติของไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือด ผู้ป่วยจากโรคไวรัส
- ยากระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์ (Granulocyte Colony-Stimulating Factor : G-CSF) รูปแบบยา คือ ยาเม็ด และ ยาฉีด เป็นสารชีวะโมเลกุลที่ช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้เร่งสร้างเม็ดเลือดขาว เพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอม ยับยั้งการสร้างสารก่อภูมิแพ้ และ ป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัว มีข้อบ่งใช้ในผู้ป่วยมะเร็งหลังจากการทำเคมีบำบัด ยากลุ่มนี้เหมาะกับ ผู้ป่วยมะเร็งหลังจากการทำเคมีบำบัดหรือปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อช่วยพัฒนาการสร้างเม็ดเลือดขาวหลังการปลูกถ่ายไขกระดูก และใช้กับผู้ป่วยในช่วงก่อนและหลังการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด
- ยากระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์และเซลล์มาโครฟาจ (Granulocyte-Macrophage Colony-Stimulating factor : GM-CSF) รูปแบบยา คือ ยาเม็ด และ ยาฉีด เป็นสารชีวะโมเลกุลที่ช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้เร่งสร้างเม็ดเลือดขาว เพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอม ยับยั้งการสร้างสารก่อภูมิแพ้ และป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัว ยากลุ่มนี้เหมาะกับ ผู้ป่วยมะเร็งหลังจากการทำเคมีบำบัดหรือปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อช่วยพัฒนาการสร้างเม็ดเลือดขาวหลังการปลูกถ่ายไขกระดูก และใช้กับผู้ป่วยในช่วงก่อนและหลังการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด
ประโยชน์ของยาบำรุงเลือด
การทานยาบำรุงโลหิตมีประโยชน์ในการการบำรุงร่างกายหรือป้องกันและรักษาภาวะโลหิตจาง รวมถึงประโยชน์ทางอ้อมอีกหลายปัจจัย ดังนี้
- การใช้ชีวิตง่ายขึ้น จากการที่ระบบต่างๆ ในร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง และมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
- ร่างกายแข็งแรง ไม่เกิดอาการอ่อนเพลียได้ง่าย
- ช่วยในการรักษาผู้มีภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบางชนิด หรือ จากธาตุเหล็ก
วิธีทานยาบำรุงเลือดที่ถูกต้อง
การรับประทานยาบำรุงเลือดที่ถูกต้อง ควรอ่านสลากกำกับตัวยาทุกครั้ง ให้ดูที่วันหมดอายุและปริมาณการทาน หรือยึดตามที่แพทย์สั่งจ่ายมา ซึ่งช่วงเวลาที่ทานแล้วได้ผลลัพธ์ดีที่สุด คือรับประทานตอนท้องว่าง เพื่อให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีที่สุด แต่เนื่องจากผลข้างเคียงของยา อาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง คลื่นไส้อาเจียน แพทย์ หรือ เภสัชกรจึงมักแนะนำให้รับประทานหลังอาหารทันที หรือ ไม่เกิน 15 นาที เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์
ข้อควรระวัง คำเตือนในการทานยาบำรุงเลือด
การรับประทานยาทุกชนิด ต้องยึดวิธีการทานให้ถูกต้อง เนื่องจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง จะทำให้ไม่สามารถรักษาหรือป้องกันโรคได้ และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายส่วนอื่นแทน ดังนั้นควรทราบ 7 ข้อควรระวังในการใช้ยา ดังนี้
- ไม่ควรรับประทานยา พร้อมเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เนื่องจากจะส่งผลให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง
- ไม่ควรประทานยาที่มีส่วนประกอบของ อลูมิเนียม แคลเซียม และ แมกนีเซียม ในเวลาไล่เลี่ยกับยาบำรุงเลือด เนื่องจากอาจส่งผลให้การดูดซึมของธาตุเหล็กลดลง
- ไม่ควรใช้ยาบำรุงเลือดในผู้ป่วยโรคฮีมาโครมาโทซิส (Hemachromatosis) เพราะร่างกายอาจเป็นพิษจากภาวะธาตุเหล็กเยอะเกินไป
- ไม่ควรใช้ยาบำรุงเลือดในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี หรือถ้าใช้ต้องมาจากการสั่งยาของแพทย์เท่านั้น
- แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร ทุกครั้ง เมื่อมีการใช้ยาอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว
- ไม่ควรซื้อยาบำรุงเลือดรับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อน
- หยุดยาทันทีเมื่อเกิดอาการแพ้ยา หรือ ร่างกายเกิดความผิดปกติ อาทิ หายใจลําบาก หายใจมีเสียงหวีด ผื่นขึ้น แน่นหน้าอก คัน บวมบริเวณใบหน้าและริมฝีปาก ผิวหนังซีด ชัก อาเจียนรุนแรง มีไข้ หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ และเข้าพบแพทย์ทันที
สรุปแล้ว
เลือด หนึ่งในสารเหลวที่ร่างกายมนุษย์ผลิตขึ้นมาเอง เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงสารอาหารไปยังอวัยวะต่างๆ ช่วยแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้นหากระบบการหมุนเวียนเลือดผิดปกติ ก็จะส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายผิดปกติเช่นกัน ยาบำรุงเลือดมีทั้งแบบอาหารเสริม เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์ในร่างกาย และ ยาเดี่ยวเพื่อรักษาโรค โดยยาบำรุงเลือดบางชนิด แพทย์ต้องเป็นผู้สั่งยาให้เท่านั้น ดังนั้นเมื่อต้องการใช้ยาควรศึกษาให้ดีและสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยจากการใช้รับประทานยาดังกล่าว
ที่มา