ยาแก้ปวดท้อง (Antispasmodic drugs) บรรเทาอาการปวดท้อง เลือกแบบไหนให้เหมาะกับเรา ?

ยาแก้ปวดท้อง หรือ Antispasmodic drugs เป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดอาการบิดเกร็งหรือปวดบีบอันเนื่องมาจากโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะ โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น ซึ่งอาการปวดท้องทางการแพทย์ได้นิยามความหมายไว้ว่า “อาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณกลางลำตัวตั้งแต่ใต้กระดูกซี่โครงลงมาจนถึงกระดูกสะโพก” สาเหตุของอาการปวดท้องเกิดได้หลายปัจจัย ส่วนใหญ่เกี่ยวกับโรคแทรกซ้อน ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดท้องควรรีบพบแพทย์ตรวจหาสาเหตุ เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยซื้อยาแก้ปวดท้องทานเอง เนื่องจากยาแก้ปวดท้องมีหลายประเภท แต่ละประเภทออกฤทธิ์แตกต่างกัน ควรรับประทานยาแก้ปวดท้องตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น 

ยาแก้ปวดท้อง มีกี่ประเภท อะไรบ้าง 

ยาแก้ปวดท้อง (Antispasmodic drugs) ทางการแพทย์แบ่งยาแก้ปวดท้องเป็น 2 ประเภท ตามลักษณะการออกฤทธิ์ ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้ 

  1. Antmuscarinic หรือ ยาต้านฤทธิ์มัสคารินิก เป็นยาแก้ปวดท้องออกฤทธิ์กระตุ้นให้ระบบประสาทชะลอการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบในระบบทางเดินอาหารทำให้กล้ามเนื้อเรียบบีบเกร็งลดลง ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้ ซึ่งยาแก้ปวดท้องประเภทยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกที่แพทย์นิยมใช้รักษาผู้ป่วย มีดังนี้ 
  • Atropine หรือ ยาอะโทรปีน
  • Dicyclomine หรือ ไดไซโคลมีน
  • Oxyphencyclimine หรือ ออกซีเฟนไซคลิมีน เป็นต้น
  1. Other antispasmodic หรือ ยาแก้ปวดเกร็ง เป็นยาแก้ปวดท้องออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบภายในลำไส้โดยตรง เมื่อกล้ามเนื้อเรียบคลายตัวอาการปวดท้องจึงบรรเทาลงได้ ซึ่งยาแก้ปวดท้องประเภทยาแก้ปวดเกร็ง ที่แพทย์นิยมใช้รักษาผู้ป่วย มีดังนี้ 
  • Mebeverine หรือ ยามีบีเวอรีน
  • Fenoverine หรือ ฟีโนเวอรีน
  • Pitofenone หรือ ไพโตฟีโนน เป็นต้น

ยาแก้ปวดท้อง มีกี่รูปแบบ อะไรบ้าง 

ยาแก้ปวดท้อง (Antispasmodic drugs) มีรูปแบบของยาแก้ปวดท้อง 3 ชนิดที่แพทย์นิยมสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยเพื่อบรรเทาอาการปวดท้อง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

  1. ยาเม็ด (Tablets) เป็นยาชนิดแข็ง เกิดจากการนำอนุภาคยาแก้ปวดท้องอัดเป็นเม็ดรูปทรงที่มีขนาดแตกต่างกัน ปัจจุบันเป็นรูปแบบยาที่มีปริมาณการใช้สูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับยาแก้ปวดท้องรูปแบบอื่น ๆ วิธีใช้ยา ผู้ป่วยทานเป็นเม็ดให้ปริมาณตามแพทย์หรือเภสัชกรแนะนำเท่านั้น
  2. ยาน้ำเชื่อม (Syrups) เป็นยาชนิดเหลวหนืด รสชาติหวาน เกิดจากการผสมน้ำตาลซูโครสในยาแก้ปวดท้อง วิธีใช้ยา ผู้ป่วยเทยาลงในช้อนตวงให้ได้ปริมาณตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำเท่านั้น 
  3. ยาฉีด (Sterile solutions for injection) เป็นยาปราศจากเชื้อ แพทย์ทำการฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือเส้นเลือดดำ เพื่อบรรเทาอาการปวดท้อง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเฉียบพลันหรือรุนแรงเท่านั้น

บุคคลใดบ้าง ห้ามใช้ยาแก้ปวดท้องทุกประเภท 

การใช้ยาแก้ปวดท้องแต่ละประเภทจะเห็นผลชัดเจนและโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่ำ ต้องใช้ยาแก้ปวดท้องให้เหมาะสมกับสาเหตุของอาการปวดท้อง ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องทุกคน ไม่สามารถทานยาแกป้วดท้องชนิดเดียวกันได้ทุกคน เนื่องจากมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ต้องรับการรักษาวิธีเฉพาะและแพทย์กำกับดูแลตลอดการรักษา ซึ่งผู้ป่วยที่ไม่สามารถทานยาแก้ปวดท้องได้มีรายละเอียดต่อไปนี้ 

  1. ผู้ป่วยที่แพ้ยาแก้ปวดท้องทุกประเภท 
  2. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ต่อไปนี้
  • โรคต้อหินมุมปิด
  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • โรคลำไส้อุดตัน
  • โรคทางเดินปัสสาวะอุดตัน
  • โรคหลอดอาหารอักเสบจากโรคกรดไหลย้อน
  • โรคลำไส้อืดเป็นอัมพาต
  • โรคกระเพาะอาหารส่วนปลายตีบ
  • โรคหืด
  • โรคภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  • โรคตับ 
  • โรคไต
  • อื่น ๆ ที่มีอาการปวดท้อง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ ห้ามใช้ยาประเภทที่ 1 ยาต้านฤทธิ์มัสคารินิก
  1. ผู้ป่วยโรคลำไส้อืดที่เป็นอัมพาตห้ามใช้ยาประเภทที่ 2 ยาแก้ปวดเกร็ง

วิธีใช้ยาแก้ปวดท้อง สำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรที่ถูกวิธี 

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเป็นหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ห้ามซื้อยาแก้ปวดท้องทานเองเด็ดขาด เนื่องจากยาแก้ปวดท้องบางชนิดมีผลกระทบถึงทารกในครรภ์ ดังนั้นแพทย์จะสั่งจ่ายยาแก้ปวดท้องประเภทต้านฤทธิ์มัสคารินิกที่มีชื่อทางการค้าว่า “ยาเม็ดไฮออสซีน” ให้ผู้ป่วยทานเท่านั้น เพราะการวิจัยพบว่ายาเม็ดไฮออสซีนร่างกายดูดซึมได้น้อย จึงไม่มีผลกระทบต่อทารก ส่วนยาแก้ปวดท้องประเภทที่ 2 ยาแก้ปวดเกร็ง ปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยรองรับว่าสามารถใช้ยาดังกล่าวในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรได้ แพทย์จึงไม่นิยมใช้ยาประเภทดังกล่าวในการรักษาผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

วิธีใช้ยาแก้ปวดท้อง สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปีที่ถูกวิธี 

หากผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องอายุไม่เกิน 6 ปี การใช้ยาแก้ปวดท้องต้องระมัดระวังมากที่สุด เนื่องจากผลข้างเคียงของการใช้ยาแก้ปวดท้องที่ไม่เหมาะสมกับเด็กช่วงวัยดังกล่าวมีผลข้างเคียงรุนแรงต่อสุขภาพเด็ก ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้ 

  1. ผู้ปกครองห้ามซื้อยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปีทานเอง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับยาที่ตรงกับสาเหตุมากที่สุด โดยแพทย์จะสั่งจ่ายต้านฤทธิ์มัสคารินิกให้เด็กวัยดังกล่าวเท่าที่จำเป็นเท่านั้น 
  2. ผู้ปกครองห้ามซื้อยาไดไซโคลมีนให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนทานเด็ดขาด เนื่องจากผลข้างเคียงของยารุนแรงมาก  เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ชัก หมดสติ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีมีอาการปวดท้อง ควรพบแพทย์เท่านั้น 

วิธีใช้ยาแก้ปวดท้อง สำหรับผู้สูงวัยที่ถูกวิธี 

เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องในกลุ่มผู้สูงวัยส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ซึ่งข้อห้ามของการใช้ยาแก้ปวดท้องประเภทยาต้านฤทธิ์มัสคารินิกไม่สามารถใช้บรรเทาอาการปวดท้องผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทุกคนได้ เนื่องจากยาแก้ปวดท้องชนิดดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มสูงวัยหากมีอาการปวดท้อง ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธี 

ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ปวดท้องทุกประเภท 

  1. อ่านเอกสารกำกับยาที่แนบมาทุกครั้ง หากไม่เข้าใจควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้าน
  2. ทานยาแก้ปวดท้องตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรแนะนำเท่านั้น
  3. หญิงตั้งครรภ์/เด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี/ผู้สูงวัย ควรเข้ารับการรักษาอาการปวดท้องกับแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยาบรรเทาอาการปวดท้องทานเอง 
  4. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทานยาบรรเทาอาการปวดท้องก่อนทุกครั้ง
  5. ไม่ทานอาหารที่ขัดขวางการออกฤทธิ์ของยา เช่น การดื่มนมหลังทานยาแก้ปวดท้องทันที เพราะนมมีปริมาณแคลเซียมสูง ซึ่งแคลเซียมจะไปยับยั้งการดูดซึมของยา หากผู้ป่วยต้องการดื่มนม ควรดื่มหลังทานยา 1-2 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อเว้นระยะเวลาให้ร่างกายได้ดูดซึมยาก่อน 

ผลข้างเคียงของยา

  1. ผลเสียต่อระบบประสาท เช่น เกิดภาพหลอน กระสับกระส่าย วิตกกังวล เนื่องจากยาแก้ปวดท้องประเภทต้านฤทธิ์มัสคารินิกออกฤทธิ์ส่งผลกระทบต่อระบบประสาทโดยตรง หากผู้ป่วยทานยาแก้ปวดท้องชนิดดังกล่าวเกินขนาด ไม่ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงรุนแรง 
  2. ความดันโลหิตสูง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ม่านตาขยาย อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ 
  3. ร่างกายขาดน้ำ มีอาการคอแห้ง ปากแห้ง 
  4. ท้องผูก ระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติ 
  5. ปัสสาวะผิดปกติ 

สรุป

อาการปวดท้องตามนิยามทางการแพทย์ระบุว่าเป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณกลางลำตัวตั้งแต่ใต้กระดูกซี่โครงลงมาจนถึงกระดูกสะโพก สาเหตุเกิดจากระบบทางเดินอาหารผิดปกติหรือมีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง วิธีการรักษาต้องใช้ยาแก้ปวดท้องเพื่อบรรเทาอาการ 

ยาแก้ปวดท้องแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ยาต้านฤทธิ์มัสคารินิก และ ยาแก้ปวดเกร็ง ผู้ป่วยไม่สามารถซื้อยาแก้ปวดท้องทานเองได้ เนื่องจากผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวดท้องผิดวิธีกระทบต่อระบบประสาทโดยตรง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาแก้ปวดท้องทุกครั้ง เพื่อการรักษาที่ถูกวิธี

ที่มา

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top