กรดไหลย้อน (GERD) สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาโรคกรดไหลย้อน ง่ายๆ

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) หรือ อาการ กรดไหลย้อน คือ การที่น้ำกรด (Hydrochloric acid) น้ำดี (bile) แก๊สหรือน้ำย่อยภายในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาหลอดอาหาร ลำคอ กล่องเสียง หรือหลอดลมจนทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวในบริเวณนั้นๆ เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในชีวิตประจำวัน

อาการกรดไหลย้อน (GERD symptoms) อาการสำคัญที่พบบ่อย

  • แสบร้อน ไม่สบายลำคอ กลางปก ยอดอก ลิ้นปี่
  • เจ็บแน่นกลางหน้าอก หายใจไม่โล่ง
  • เรอลมบ่อยๆ
  • เจ็บแสบลำคอ คอแห้ง
  • อาหารย้อนขึ้นมาลำคอหรือในปาก
  • รู้สึกเปรี้ยวหรือขม ที่เกิดจากการสำรอกน้ำย่อย
  • เสียงแหบ เรื้อรัง เสียงเปลี่ยน
  • รู้สึกมีเสมหะในลำคอมาก

ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการไอเรื้อรังหรือมีความรู้สึกเหมือนมีก้อนติดค้างอยู่ที่ลำคอ เรียกอาการที่เกิดกับบริเวณกล่องเสียงและลำคอนี้ว่า Laryngopharyngeal Reflux (LPR) โดยอาการดังกล่าวมักเกิดหลังจากการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น อาหารรสเผ็ด เปรี้ยว รสมันจัด ช็อกโกแลต น้ำอัดลม และมักมีอาการในขณะเอนตัวลงนอนราบกับพื้น ขณะนอนหลับ หรือ ตื่นนอนใหม่ๆ

สาเหตุ กรดไหลย้อน รักษา ด้วยวิธีใดได้บ้าง?

อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นถึงสาเหตุหรือปัจจัยการเกิดกรดไหลย้อน ผู้ป่วยกรดไหลย้อนร้อยละ 70% จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยประเภทไม่รุนแรง หลักการรักษาโรคกรดไหลย้อนให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีนั้น ต้องประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ ด้วยกันคือ การรับประทานยาเพื่อรักษาอาการเบื้องต้นและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาระยะยาว

โดยในที่นี้จะอ้างอิงการรักษาจาก American College of Gastroenterology ปี พ.ศ. 2551-2556 และ Asia-Pacific Consensus ปี 2551 โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. รักษาด้วยยา (medications) ยาลดกรดไหลย้อนนั้นมีหลายชนิด ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

1.1 ยาควบคุมความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มย่อยคือ

  • กลุ่มแรก Proton-pump inhibitors (PPIs) เช่น ยา esomeprazole, lansoprazole, omeprazole, pantoprazole และ rabeprazole 
  • กลุ่มสอง Histamine-2 receptor antagonists (H2RA) เช่น ยา famotidine, nizatidine, ranitidine และ cimetidine

1.2 ยาช่วยปรับการทำงานหรือกระตุ้นการบีบตัวของหลอดอาหาร (Prokinetic agents)

1.3 ยาช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหูรูดหลอดอาหาร เช่น ยา GABA-B agonist

1.4 ยาบรรเทาอาการเฉพาะช่วงเมื่อมีอาการ เช่น alginate, antacid เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม: ยาลดกรด แก้กรดไหลย้อนในกระเพาะอาหาร (GERD) แต่ละประเภท

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (lifestyle modifications) เป็นการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงและการการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นจะช่วยให้อาการดีขึ้นแล้วยังลดการเกิดกรดไหลย้อนซ้ำได้อีกด้วย ซึ่งมีหลายวิธีการดังนี้
  • รับประทานอาหารแค่พออิ่ม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป
  • ลดอาหารที่มีรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตสูง
  • งดหรือเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • งดหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงการก้มตัวเป็นเวลานาน
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่รัดหน้าท้อง ควรใส่เสื้อผ้าหลวมๆ
  • หลังรับประทานอาหารไม่ควรนอนเอนตัวหรือเอนราบหลังมืออาการนั้นๆ ควรรอประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงเพื่อรอให้อาหารเคลื่อนตัวเข้าสู่ลำไส้เล็กก่อน
  • ก่อนนอนควรให้ท้องว่างประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานอาหารจุบจิบ
  • หลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณยาที่ทำให้กรดไหลย้อนมากขึ้น ได้แก่ ยากลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs), anticholinergics, alpha-adrenergic agonist,beta-agonist และ caffeine เป็นต้น

สรุปได้ว่า โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่พบบ่อย ทำให้เกิดอาการต่างๆที่กระทบต่อการใช้ชีวิตและยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ การทำความเข้าใจกับสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงของโรคนั้นช่วยให้เลือกวิธีในการรักษาได้อย่างถูกต้อง การรักษาโดยการใช้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top