ประจําเดือนไม่มา 1 เดือน แต่มีตกขาว คือ หนึ่งในสัญญาณสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่างๆ เช่น เกิดจากการตั้งครรภ์, เกิดจากความเครียดสะสม, ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ และการใช้ยาคุมกำเนิด เป็นต้น ซึ่งโดยปกติแล้วการมีประจำเดือนเป็นภาวะที่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์และเกิดขึ้นเป็นประจำเดือนในทุกๆ เดือน หรือในทุกๆ 28-30 วัน ขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล หากพบว่าประจำเดือนไม่มา 1 เดือนขึ้นไป การตรวจครรภ์และการเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุแน่ชัดถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย
ประจําเดือนไม่มา 1 เดือน จะท้องไหม ?
ประจำเดือน คือ เลือดและเยื่อบุโพรงมดลูกที่จะไหลออกทางช่องคลอดเป็นประจำทุกเดือนหากไม่มีการตั้งครรภ์ ปกติร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพื่อกระตุ้นให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมา รวมไปถึงทำให้เบื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น เพื่อพร้อมในการรองรับการฝังของตัวอ่อน กล่าวคือ “การตั้งครรภ์” แต่เมื่อไม่มีการตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนจะลดลง และส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกจนไหลออกมาเป็นประจำเดือน
สัญญาณเตือนการมีประจำเดือน
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
- มีอาการปวดท้องเกร็ง
- อาจมีอาการปวดหัว
- อาจมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก
- รู้สึกเจ็บเต้านมและคัดเต้านม
- ปวดเมื่อยตัว
- นอนหลับยาก
- เหนื่อยล้าและอ่อนเพลียได้ง่าย
- อาจมีความรู้สึกเบื่ออาหารหรือมีความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น
ประจําเดือนไม่มา 1 เดือน แต่มีตกขาว เกิดขึ้นได้จากสาเหตุใด?
โดยปกติแล้วประจำเดือนมักที่จะมาอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน โดยอาจใช้เวลา 28-30 วัน อาจมาช้าหรืออาจมาเร็วขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล แต่หากพบว่าประจำเดือนไม่มา 1 เดือน ขึ้นไปอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุเหล่านี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากประจำเดือนไม่มาการเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุเป็นวิธีการที่จะได้คำตอบอย่างชัดเจนและแม่นยำ
- การตั้งครรภ์ เมื่อได้มีการตั้งครรภ์ร่างกายจะทำการหยุดกระบวนการตกไข่ และตัวอ่อนเข้าไปฝังตัวอยู่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกหรือถูกขับออกจากร่างกายในรูปแบบของประจำเดือน โดยการตั้งครรภ์เป็นสาเหตุของประจำเดือนไม่มาที่มักพบบ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีเพศสัมพันธ์
- วัยหมดประจำเดือน หรือ “วัยทอง” ภาวะสุขภาพของเพศหญิงที่ก้าวเข้าสู่ช่วงอายุ 45-55 ปี เป็นช่วงวัยที่ฮอร์โมนเพศลดลงเป็นศูนย์ ส่งผลให้ร่างกายไม่มีการตกไข่อย่างถาวร และอาจทำให้มีอาการอื่นๆ ตามมา เช่น อารมณ์แปรปรวนและประจำเดือนไม่มา เป็นต้น ซึ่งก่อนถึงช่วงวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ประจำเดือนอาจเลื่อน อาจมาช้าหรืออาจมาเร็วกว่าปกติได้
- ความผิดปกติของโครงสร้างภายในระบบสืบพันธุ์ เช่น มีแผ่นเนื้อเยื่อปิดบริเวณเยื่อพรหมจรรย์ โดยอาจเป็นการขัดขวางไม่ให้เลือดประจำเดือนสามารถไหลออกจากช่องคลอดได้ตามปกติ
- ปัญหาด้านสุขภาพ อาทิเช่น ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ, ต่อมไทรอยด์ ทำงานผิดปกติ และโรคเบาหวาน ที่อาจส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถตกไข่ได้อย่างสม่ำเสมอ
- ความเครียด เมื่อเกิดปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ต่อมหมวกไตจะทำการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมา โดยฮอร์โมนชนิดนี้อาจไปรบกวนการทำงานของต่อมใต้สมองส่วนหน้า (Anterior Pituitary Gland) ที่ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการตกไข่ โดยอาจทำให้ประจำเดือนเลื่อน หรือจำเดือนไม่มา หรือประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติได้
- ยาคุมกำเนิด ในการรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ผนังมดลูกที่ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประจำเดือนนั้นบางลง โดยอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยจนรู้สึกว่าประจำเดือนไม่มาได้
- ยารักษาโรคบางชนิด การรักษาโรคด้วยยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทำให้ประจำเดือนไม่มาได้ เช่น ยาต้านอาการทางจิต
- น้ำหนักตัว ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ BMI อาจทำให้การสั่งงานระหว่างสมองและรังไข่ ที่มีส่วนจำเป็นต่อการตกไข่ขัดข้อง และทำให้ประจำเดือนไม่มาได้
- การออกกำลังกาย ในการออกกำลังกายที่มากจนเกินไปอาจมีผลทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา จนอาจส่งผลให้การทำงานของระบบสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ และอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มาเป็นระยะเวลาที่นานกว่าปกติ
ตรวจแล้วไม่ท้อง มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?
ประจําเดือนไม่มา 1 เดือน ตรวจแล้วไม่ท้อง อาจไม่ได้มีผลข้างเคียงที่น่ากังวลเสียเท่าไหร่ เนื่องจากประจำเดือนอาจมาช้าหรือเร็วได้ขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล แต่สำหรับผู้ที่ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่นานอาจส่งผลเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้
- โรคกระดูกพรุน เนื่องด้วยระดับฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ต่ำกว่าปกติ อาจส่งผลให้ร่างกายไม่ตกไข่และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจน คือ ฮอร์โมนที่มีคุณสมบัติรักษาความแข็งแรงของกระดูกไว้จนกว่าจะเข้าวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง นอกจากประจำเดือนไม่มาจะเป็นสัญญาณสู่การเข้าวัยทองแล้วยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนได้ด้วยเช่นเดียวกัน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด ฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) นอกจากความเกี่ยวข้องที่กล่าวมาในข้างต้น ยังมีความเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเลือด รวมไปถึงมีความเกี่ยวข้องกับระดับไขมันในเลือดด้วย ดังนั้น หากฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
อนึ่งการที่ประจำเดือนไม่มา เป็นระยะเวลา 1 เดือน อาจส่งผลให้เกิดภาวะความเครียดและความวิตกกังวลได้อีกด้วย ดังนั้น หากประจำเดือนไม่มาเป็นระยะเวลานาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงโอกาสในการเกิดโรคและลดความกังวลการเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
ประจําเดือนไม่มา 1 เดือน แต่มีตกขาว ควรทำอย่างไร?
สำหรับผู้ที่ประจำเดือนไม่มา 1 เดือน หรือนานกว่านั้น สามารถปฏิบัติได้ตามวิธีดังนี้
- ทำการตรวจครรภ์ หากเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับประจำเดือนไม่มาว่าอาจเกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ ควรตรวจครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจครรภ์โดยแพทย์
- ควบคุมน้ำหนัก ในกรณีที่มั่นใจว่าประจำเดือนไม่มาไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์ การควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป หรืออยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน BMI ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายที่พอเหมาะไม่หักโหมจนเกินไป อาจทำให้ประจำเดือนมาปกติได้
- หยุดรับประทานยาคุมกำเนิด ในผู้ที่มีการรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลาานาน หากต้องการให้ประจำเดือนกลับมาปกติ การหยุดรับประทานยาคุมกำเนิดอาจทำให้ประจำเดือนกลับมาปกติได้ แต่ควรรับประทานยาคุมกำเนิดให้หมดแผงเดิมก่อนที่จะหยุดรับประทานยา
- ผ่อนคลายความเครียด เพื่อไม่ให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมามากจนเกินไป การหากิจกรรมผ่อนคลายหรือกิจกรรมคลายเครียด อาจช่วยให้ประจำเดือนกลับมาปกติได้ โดยสามารถเลือกกิจกรรมที่ชื่นชอบ เพื่อเสริมสร้างความสุขและความสมดุลให้แก่สุขภาพกายและใจ อาทิเช่น การออกไปเที่ยว, การพบปะเพื่อนฝูง, การดูหนัง เป็นต้น
- เข้าพบแพทย์ หากประจำเดือนไม่มาเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป หรือประจำเดือนไม่มาเป็นระยะเวลานานเกิน 3 เดือน ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุและเข้ารักษาตามแนวทาง ยกตัวอย่างเช่น หากสาเหตุที่ประจำเดือนไม่มาเป็นระยะเวลาที่นานเกิดจากความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย แพทย์อาจให้รับประทานฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย
สรุป
ประจําเดือนไม่มา 1 เดือน อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพ ความผิดปกติของโครงสร้างภายในระบบสืบพันธุ์ การตั้งครรภ์ การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล น้ำหนักตัว หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยปกติทั่วไปแล้วหากประจำเดือนไม่มา 1 เดือน อาจไม่ได้ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงหรือต่อสุขภาพ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ปัญหาประจำเดือนไม่มานั้นมีระยะเวลาที่ยาวนานติดต่อกัน หรือมีปัญหาประจำเดือนไม่มาอยู่บ่อยครั้ง การเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเป็นแนวทางการแก้ปัญหาและเป็นวิธีการรักษาอาการประจำเดือนไม่มาที่ดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/amenorrhea/symptoms-causes/syc-20369299#:~:text=If%20you%20don’t%20ovulate,Psychological%20stress
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/premenstrual-syndrome/symptoms-causes/syc-20376780
- https://www.nhs.uk/conditions/menopause/#:~:text=Menopause%20and%20perimenopause%20can%20cause,life%2C%20including%20relationships%20and%20work
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3398381/#:~:text=Estrogen%20has%20many%20important%20effects,reducing%20the%20development%20of%20atherosclerosis
- https://www.nhs.uk/conditions/stopped-or-missed-periods/