โรคแพนิค (Panic disorder) คือภาวะตื่นตระหนกเป็นโรควิตกกังวลที่มีอาการตกใจกลัวอย่างกะทันหันและรุนแรงทั้งที่ไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์หรือ สถานการณ์ที่อันตราย สามารถพบได้ถึงร้อยละ 3 – 5 ในประชากรทั่วไป คนส่วนใหญ่จะเคยมีอาการแพนิคหนึ่งหรือสองครั้งในชีวิต ซึ่งความถี่ในการเกิดอาการแพนิคอาจแตกต่างกันออกไป
ผู้ป่วยโรคนี้จะมีความความวิตกกังวลตลอดเวลาและเกิดความทุกข์ใจอย่างมากส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขได้ดังเดิม แต่โรคแพนิคมีวิธีการรักษาให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและหายไปในที่สุดโดยการการรักษาด้วยจิตบำบัด การรักษาด้วยยา เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ การยอมรับอาการอย่างเข้าใจ และการฝึกปฏิบัติให้เผชิญกับอาการแพนิคได้อย่างเหมาะสมและมั่นใจ
สาเหตุ โรคแพนิค
มีปัจจัยหลายประการที่อาจประกอบกันทำให้เกิดอาการ แบ่งออกเป็น
- ปัจจัยทางร่างกายมีสาเหตุเกิดจากฮอร์โมนลดหรือเปลี่ยนแปลงกระทันหัน ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ เช่น
- กรรมพันธุ์ : ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรควิตกกังวล มีโอกาสเกิดอาการได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในเครือญาติ
- การใช้สารเสพติด : การดื่มอย่างหนัก หรือการเสพติดสาร เพื่อจัดการกับความวิตกกังวล หรือต้องการอยู่กับผู็คนจำนวนมาก เพราะรู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้ ซึ่งสารเสพติดจะไปทำให้สารสื่อประสาทในสมองเสียสมดุลไป
- ความผิดปกติของฮอร์โมน : ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง อาจทำให้สารเคมีในสมองเสียสมดุลการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติไป เกิดเป็นโรคแพนิคได้
- ปัจจัยทางจิตใจ เหตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เช่น
- ผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรง : การผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสียสมดุลของสารเคมีในสมองได้ โดยเฉพาะในวัยเด็กที่มีโอกาสเป็น โรคแพนิคได้มากกว่า เช่น ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน เป็นต้น
- ความเครียด ความวิตกกังวล : พฤติกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวัน เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้ เช่น การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทำงานกับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออยู่กับมือถือเป็นเวลานาน พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย หรือต้องเผชิญกับสภาวะกดดัน เป็นต้น
อาการ โรคแพนิค
ขณะมีอาการแพนิคร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ คือสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ที่เรียกว่า“อะมิกดาลา” ( Amygdala ) รับรู้ว่ามีอันตรายเกิดขึ้นจะส่งสัญญาณไปที่ระบบประสาทอัตโนมัติ ที่เรียกว่าซิมพาเทติก (Sympathetic) ซึ่งจะไปกระตุ้นต่อมหมวกไตให้มีการหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลิน (Adrenaline) ซึ่งเป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่มีหน้าที่ในการปกป้องเราจากอันตรายในลักษณะที่เรียกว่า“สู้หรือหนี” (fight or flight) ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดอาการต่างๆ ตามมา ดังนี้
- ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- หายใจไม่ออก หายใจติดขัดรู้สึกเหมือนขาดอากาศ
- หวาดกลัวอย่างรุนแรงจนทำให้ร่างกายขยับไม่ได้
- เวียนศีรษะหรือรู้สึกคลื่นไส้
- ปั่นป่วนในท้อง
- มือสั่น หรือตัวสั่น รวมทั้งมีเหงื่อออกตามร่างกาย
- ตัวชา ควบคุมตัวเองไม่ได้
- รู้สึกหอบและเจ็บหน้าอก
- รู้สึกร้อนวูบวาบ หรือหนาวขึ้นมาอย่างกะทันหั
- เกิดอาการเหน็บที่นิ้วมือหรือเท้า
- วิตกกังวลหรือหวาดกลัวว่าตนเองจะเสียชีวิต
- กังวลว่าจะมีเหตุการณ์อันตรายเกิดขึ้น
- หวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์อันตรายที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวในอดีต
- รู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆในชีวิตได้ รวมทั้งกลัวว่าตัวเองจะเป็นบ้าหรือเสียสติ
- กลัวว่าจะเสียชีวิต
ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นจะไม่สัมพันธ์กับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดๆ และไม่เกี่ยวข้องกับโรคทางกายหรือการใช้ยาหรือสารใดๆ โดยอาจจะเกิดขึ้นในขณะที่อยู่ในบ้าน หรืออยู่นอกบ้านตามลำพังหรืออยู่กับผู้อื่นก็ได้
อาการแพนิคนั้นจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเพิ่มความแรงถึงระดับสูงสุดได้ภายใน 10 นาที โดยในแต่ละครั้งผู้ป่วยมักจะมีอาการ 15-20 นาทีแล้วหายไป (ส่วนมากจะมีอาการแต่ละครั้งไม่เกิน 30 นาที ซึ่งน้อยรายมากที่จะมีอาการเกิดขึ้นนานเกิน 1 ชั่วโมง)
อะไรทำให้อาการแพนิคถึงแย่ลง
การหลีกเลี่ยงที่จะไปสถานที่ที่ทำให้เกิดอาการ การเก็บตัวอยู่คนเดียว หรือการอยู่กับคนตลอดเวลา การหายากล่อมประสาทเตรียมพร้อมไว้ และการพยายามหายใจในถุงกระดาษ การกระทำเหล่านี้จะทำให้อาการของโรคนี้แย่ลงเพราะสมองส่วนอารมณ์จะรับรู้ว่าอาการต่างๆของแพนิคเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายยิ่งพยายามทำสิ่งเหล่านี้มากเท่าไร อาการก็ยิ่งแปรปรวนมากขึ้นและใช้เวลานานขึ้นกว่าจะสงบซึ่งอาจนานเป็นชั่วโมง
สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ยิ่งคุณกลัวมากเท่าไร อาการแพนิคก็จะยิ่งเป็นมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเรากำจัดความกลัวออกไปได้ก็จะไม่มีปัจจัยที่จะไปสนับสนุนการเกิดอาการแพนิค เป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอาการแพนิคอย่างถาวร
ภาวะแทรกซ้อน โรคแพนิค
โรคแพนิคคือโรคที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก หากปล่อยไว้นาน ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงบางอย่างได้ เพราะกลัวจะเกิดอาการตกใจอย่างรุนแรง เช่น หากเคยมีเหตุการณ์รุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้ตกใจอย่างรุนแรงเมื่อได้ยินเสียงแตร๋รถยนต์ หรือเสียงที่ดังมาก จะทำให้ใช้ชีวิตในการเดินทางยากลำบาก
ส่งผลให้ไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว กลัวการเดินทางคนเดียว กลัวสถานที่บางแห่ง หรือกลัวสถานการณ์ที่หลีกหนีจากผู้คนได้ยาก ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นคนที่เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านหรืออยู่แต่ในอาคารตลอดเวลา ซึ่งโรคแพนิคนอกจากจะส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยแล้ว ยังอาจนำมาซึ่งภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่ส่งผลเสียโดยตรงต่อตัวผู้ป่วยเช่นกัน ได้แก่
- มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล และมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารายอื่นๆ
- มีอาการติดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติด
- เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยารักษาโรค
- มีปัญหาทางการเงิน เนื่องจากต้องจ่ายค่ารักษา
- ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก
- มีปัญหากับที่ทำงานหรือกับทางโรงเรียน หรือกับคนรอบข้าง
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคย้ำคิดย้ำทำร่วมด้วย
โรคแพนิค ไม่อันตรายแต่ควรรักษา
โรคแพนิคเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ ไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรง โดยการรักษาแต่ละวิธีนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย ประวัติการรักษา ความรุนแรงของโรค และความพร้อมในการเข้ารับการรักษา จะแบ่งการรักษาออกเป็น 2 วิธี ดังนี้
- การรักษาด้วยจิตบำบัด การรักษาแบบ Cognitive Behavioral Therapy จะช่วยลดอาการได้ดี รวมถึงการฝึกการผ่อนคลาย ฝึกการหายใจ สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ว่าอาการแพนิคที่เกิดขึ้นไม่ได้อันตรายแต่อย่างใด ซึ่งการบำบัดพฤติกรรมนอกจากจะช่วยผู้ป่วยรับมือกับอาการแพนิคได้แล้วยังช่วยรักษาพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสถานที่หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยคาดว่าทำให้เกิดอาการแพนิคได้อีกด้วย นอกจากนี้การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสามารถป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยโรคแพนิค
- การรักษาด้วยยา ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมและความบกพร่องเกี่ยวกับสารสื่อประสาทในสมอง ผู้ป่วยจึงต้องอาศัยการรักษาด้วยยาเพื่อปรับสมดุลการทำงานของสมองให้เป็นปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการกำเริบขึ้นมาได้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่
2.1 ยากลุ่มต้านเศร้า นิยมใช้เป็นกลุ่มยาหลัก ทำหน้าที่ในการปรับสารเคมีในสมอง ช่วยลดอาการและรักษาโรคในระยะยาว เนื่องจากยาอาศัยเวลาในการออกฤทธิ์ จึงควรกินยาให้เสม่ำเสมอและไม่ควรหยุดยาเอง
2.2 ยาคลายกังวล ไม่นิยมให้ในผู้ป่วยทุกราย จะนำไปใช้เมื่อกรณีที่มีอาการกำเริบกะทันหันและมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะต้องพึ่งยาหรือหยุดยายาก
หลักการสำคัญของการจัดการ อาการแพนิค
ดร. แคลร์ วีกส์ (Claire Weekes) แพทย์ทางเวชปฏิบัติทั่วไปชาวออสเตรเลีย ได้แนะนำหลักการสำคัญในการจัดการกับอาการแพนิคไว้ 4 ข้อ ดังนี้
- เผชิญกับอาการแพนิค อย่าพยายามหลีกเลี่ยงอาการแพนิคแต่ควรมีความเพียรพยายามในการเรียนรู้ที่จะรับมือกับอาการแพนิคอย่างกล้าหาญ ไม่ว่าที่ไหนหรือเมื่อไรก็ตาม โดยไม่ต้องพยายามที่จะ “อดทน” หรือ “ทำความคุ้นเคย” กับอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งในที่สุดอาการแพนิคก็จะหมดความสำคัญและไม่มีผลต่อชีวิตประจำวันของคุณอีกต่อไป
- การยอมรับอาการแพนิคอย่างสงบเยือกเย็น เป็นสิ่งที่ยากที่สุดแต่ก็เป็นหัวใจสำคัญ ของการหายจากอาการแพนิค โดยยอมรับอย่างแท้จริงว่าอาการที่เกิดขึ้น เช่น ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม วิงเวียน ปั่นป่วนในท้อง ฯลฯ เป็นผลจากการการทำงานของระบบประสาท ทำให้มีการหลั่งอะดรีนาลีนกระตุ้นการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำให้อาการดังกล่าวตามมา แต่การยอมรับอย่างแท้จริงและการกล้าเผชิญหน้ากับอาการแพนิค หรือแม้กระทั่งการพยามอย่างตั้งใจเพื่อทำให้อาการรุนแรงขึ้นแต่กลับทำให้อาการต่างๆ ดีขึ้นทั้งนี้ก็เพราะอาการแพนิคจะทวีความรุนแรงได้ก็ต่อเมื่อเกิดความกลัวเพิ่มมากขึ้น แต่ในทางกลับกันความผ่อนคลาย การกล้าเผชิญและการยอมรับอาการแพนิคกลับไม่ทำให้อาการต่าง ๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น
- การลอยตัวเหนืออาการแพนิค เป็นการไม่ต่อสู้หรือพยายามควบคุมอาการหรือความกลัวด้วยโดยวิธีต่างๆ เช่น การฝึกคลายกล้ามเนื้อ การพยายามความคุมการหายใจ การใช้ยากล่อมประสาท ฯลฯ เพราะยิ่งพยายามทำอะไรก็ยิ่งทำให้ฮอร์โมนอะดรีนาลีนหลั่งออกมามากขึ้น มีอาการมากขึ้นและเป็นนานขึ้น สิ่งที่ต้องทำก็คือการฝึกให้อยู่นิ่งๆ อย่างสบายๆ ไม่ต้องทำอะไรเลยแม้กระทั่งการพยายามบังคับทำให้ตัวเองผ่อนคลาย ทำเพียงแค่อยู่นิ่งๆ เฉยๆ หายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ ขณะที่จินตนาการว่าตัวเองกำลังลอยไปข้างหน้าโดยไม่มีแรงต้านใดๆ ราวกับว่ากำลังลอยอยู่บนก้อนเมฆหรือบนน้ำ คุณจะรู้สึกผ่อนคลายและกล้ามเนื้อต่างๆ ที่เกร็งอยู่ก็จะผ่อนคลาย
- การปล่อยให้เวลาที่ผ่านไปช่วยเยียวยาให้อาการดีขึ้น การฟื้นหายจากอาการแพนิคก็เช่นเดียวกับการรักษาโรคทั้งหลายที่ต้องอาศัยเวลา เป็นที่รู้กันอย่างทั่วไปว่าคนที่ป่วยเป็นโรคประสาทนั้นจะไม่อดทนกับการรอคอยและต้องการให้ความรู้สึกสงบผ่อนคลายเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด แต่การขาดความอดทนนั้นกลับทำให้เกิดความตึงเครียดซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการรักษาฟื้นฟู ผู้ป่วยจะสามารถขจัดอุปสรรคที่สำคัญต่อการฟื้นหายจากโรคได้ถ้าเพียงแต่เข้าใจว่าความรู้สึกไวต่อสิ่งเร้าเป็นกระบวนการทำงานของสารเคมีในสมอง ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับสมดุลของสารเคมีให้เข้าสู่ภาวะปกติ
สิ่งที่ควรทำ
- เข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
- กินยาตามแพทย์สั่ง หากอาการแพนิคกำเริบให้พยายามหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ
- หาวิธีผ่อนคลายความเครียดและความวิตกของตัวเอง เช่น หากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบทำ
- ฝึกมองในแง่บวกเพื่อเป็นกำลังใจให้ตัวเองอยู่เสมอ
- ฝึกการผ่อนคลาย ฝึกการหายใจ นั่งสมาธิ
- อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีคนรอบตัวที่ดีที่คอยเป็นกำลังใจให้และไม่ซ้ำเติม
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
สิ่งทีไม่ควรทำ
- หยุดยาหรือลดการใช้ยาด้วยตัวเอง
- ทำงานหนัก นอนน้อย
- ใช้สารเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์
- ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์นานจนเกินไป
- เลี่ยงอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ในอาหารบางประเภทก็ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคแพนิคเลย เพราะอาจจะไปกระตุ้นสารในสมองให้เกิดความวิตกกังวล และทำให้อาการของโรคแพนิคกำเริบได้ อาหารที่ผู้ป่วยโรคแพนิคไม่ควรทาน ได้แก่
- กาแฟ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทั้งหลาย การได้รับคาเฟอีนอาจทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย และอาจทำให้ผู้ป่วยโรคแพนิคมีอาการกำเริบขึ้นได้
- แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ ความวิตกกังวล กระสับกระส่าย และนอนไม่หลับมากกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้นไปอีก
- ลูกอมขนมหวาน อาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลียหลังจากรับประทานได้ เนื่องจากของหวานจะไปเพิ่มน้ำตาลในเลือด ร่างกายจึงต้องปล่อยอินซูลินออกมา เพื่อปรับระดับน้ำตาลให้ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นภาวะน้ำตาลต่ำจนทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและกระตุ้นให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงในที่สุด
- อาหารแปรรูป และครีมเทียม เช่น ไส้กรอก เค้ก อาหารทอด และอาหารมันๆ ทั้งหลาย ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวลได้เช่นกัน
สรุป
โรคแพนิคคืออาการป่วยทางจิตใจที่อาจจะไม่ได้สร้างอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็นับว่าส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ป่วยอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยอาจกลัวการเข้าสังคม รวมไปถึงอาการแพนิคจะไปลดความมั่นใจในการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ไม่กล้าออกไปไหน และถ้าอาการรุนแรงก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคทางจิตอื่นๆได้อีกเช่นกัน เราสามารเอาชนะโรคแพนิค โรควิตกกังวล หายขาดได้ ด้วยตัวเราเอง สามารถทำได้ทุกวันตามนี้เลย