อุจจาระเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด ลักษณะอาการของผู้ป่วยที่มีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากทวารหนัก หรือถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดหรือลิ่มเลือดปะปนอยู่ รวมไปถึงผู้ป่วยที่อุจจาระมีสีแดงเข้ม คือ สัญญาณเตือนโรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม
โดยสาเหตุอาการเหล่านี้มักมาจากการบาดเจ็บที่อวัยวะในระบบย่อยอาหาร อย่าง ลำไส้ตรง, ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ซึ่งความรุนแรงของอาการ ระยะเวลาของการถ่ายเป็นเลือด และปริมาณของเลือด คือ สิ่งที่บ่งบอกอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพียงการเจ็บป่วยเล็กน้อยไปจนขั้นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากมีอาการถ่ายเป็นเลือดไม่ว่าจะเพียงเล็กน้อยหรือมีอาการรุนแรง ก็ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด
อุจจาระเป็นเลือดปน สังเกตได้จาก?
โดยปกติอุจจาระจะมีสีน้ำตาล เป็นผลจากน้ำดีในตับที่เข้าไปมีส่วนช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร ซึ่งในบางครั้งสีของอุจจาระอาจมีสีที่ต่างออกไปจากปกติ เช่น อุจจาระมีสีเขียว, อุจจาระมีสีซีด, อุจจาระมีสีเหลือง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีภายในร่างกายภายในระบบย่อยอาหาร หรืออาจเกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาของแบคทีเรียและเอนไซม์ในลำไส้ รวมไปถึงการรับประทานอาหารบางชนิดก็ล้วนส่งผลทำให้อุจจาระมีสีที่ต่างออกไปได้เช่นเดียวกัน หากพบว่าสีของอุจจาระเปลี่ยนไปเป็นระยะเวลานานอาจต้องสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสังเกตอุจจาระมีการเปลี่ยนเป็นสีดำเข้ม, สีแดงอ่อน, มีเลือดปน, มีลิ่มเลือด หรือมีอาการถ่ายเป็นเลือด ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาโดยด่วน อาการถ่ายเป็นเลือดอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายดังต่อไปนี้
อุจจาระเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด สัญญาณของ โรคริดสีดวงทวาร
อาการถ่ายเป็นเลือดเป็นอาการหลักของโรคริดสีดวงทวาร เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นและพบได้ในทุกเพศและทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มักเป็นช่วงวัยที่พบได้บ่อย รวมไปถึงผู้ที่มีการขับถ่ายไม่ดี อย่างเช่น ผู้ที่มีอาการท้องผูก ส่งผลให้อุจจาระที่มีลักษณะแข็งมีการเสียดสีกับทวารหนักจนเกิดเป็นริดสีดวงทวารได้ และอาจส่งผลให้มีอาการคัน มีอาการเจ็บปวด หรือมีเลือดออกในยามขับถ่าย โดยโรคริดสีดวงทวารมีการแบ่งออกไปด้วยกันทั้งหมด 3 ประเภท
- ริดสีดวงทวารภายนอก คือ ลักษณะอาการที่เส้นเลือดก่อตัวขึ้นใต้ผิวหนังบริเวณทวารหนัก ซึ่งเป็นลักษณะอาการที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อาจทำให้เกิดอาการปวดรวมไปถึงมีความบวม และในบางครั้งเมื่อมีการถ่ายหนัก หรือในการถ่ายอุจจาระอาจมีเลือดออกทางทวารหนักได้
- ริดสีดวงทวารภายใน คือ ลักษณะอาการที่เส้นเลือดก่อตัวขึ้นภายในไส้ตรง ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีการเชื่อมต่อกับลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อาจทำให้มี อุจจาระเป็นเลือด แต่ไม่เจ็บ
- ริดสีดวงทวารอุดตัน คือ ลักษณะอาการของริดสีดวงภายนอกที่มีอาการลิ่มเลือดก่อตัวเป็นก้อน โดยก้อนนี้อาจมีการห้อยหรือย้อยออกมาภายนอกทวารหนัก ซึ่งส่งผลให้มีอาการปวดอีกทั้งมีเลือดออกได้ง่าย
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิด โรคริดสีดวง
- เมื่อมีการตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือผู้ที่เป็นโรคอ้วน
- รับประทานอาหารที่มีกากใยต่ำ
- มีอาการท้องผูกหรือมีอาการท้องเสียเรื้อรัง
- มีความเครียดในขณะขับถ่าย
- ยกของหนักเป็นประจำ
อุจจาระเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด สัญญาณของ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ
ลำไส้ใหญ่อักเสบ คือ อาการอักเสบของเยื่อบุภายในลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับอาการท้องเสีย อาการปวดท้อง อาการท้องอืด และอาจมีอาการเลือดปนในอุจจาระ โดยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบนั้น สามารถที่จะพบได้กับทุกเพศและทุกวัยเช่นเดียวกัน และอาการอักเสบนี้ มีสาเหตุที่เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยการวินิจฉัยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบจะได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์จากการสอบถามอาการ ความรุนแรงของอาการ และระยะอาการที่เกิดขึ้น และทำการวินิจฉัยตามแนวทางการรักษาต่อไป
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิด โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ
- อาจเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อไวรัสหรือปรสิต
- โรคโครห์น (Crohn’s Disease)
- อาหารเป็นพิษ
- ภาวะลำไส้ใหญ่ขาดเลือด
- ภาวะลำไส้เน่าอักเสบในเด็กแรกเกิด
- ผ่านการฉายแสงรังสีที่บริเวณลำไส้ใหญ่
- การติดเชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile)
อุจจาระเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด สัญญาณของ ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ เป็นการเจริญเติบโตของก้อนเนื้อ ที่เกิดขึ้นที่บริเวณผนังลำไส้ใหญ่ โดยมีลักษณะเป็นก้อนเล็กๆ ที่ยื่นออกมาจากผนังของลำไส้ และในบางครั้งอาจมีลักษณะเหมือนดอกเห็ด โดยขนาดของติ่งเนื้อจะแตกต่างกันออกไป สามารถเกิดขึ้นได้หลายจุดตลอดทางเดินอาหาร และจุดที่พบบ่อยมากที่สุด คือ บริเวณลำไส้ใหญ่ และในทั่วไปแล้วติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ มักที่จะไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แต่ในกรณีที่ติ่งเนื้องอกมีขนาดที่ใหญ่ในบางครั้งอาจทำให้มีเลือดปนในอุจจาระหรือมีการถ่ายเป็นเลือดได้ และติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่สามารถที่จะพัฒนากลายเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้เช่นเดียวกัน
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิด ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- สมาชิกภายในครอบครัวมีประวัติเป็นติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ หรือป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นติ่งเนื้องอกหรือเป็นมะเร็งมาก่อน
สัญญาณความเสี่ยง ถ่ายเป็นเลือด มะเร็ง ลำไส้ใหญ่
อุจจาระเป็นเลือดหนึ่งในลักษณะอาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรคที่สามารถพบได้ในทุกเพศและทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบเจอได้มากในกลุ่มของผู้สูงอายุ โดยองค์กรอนามัยโลกได้มีการเผยว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากเนื้องอกในปอด มีอาการทั่วไปที่สังเกตได้ เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น, มีอาการท้องร่วง, มีอาการท้องผูก, ถ่ายมีเลือดปนในอุจจาระ, รู้สึกปวดที่ช่องท้อง, มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ, รู้สึกแน่นท้องแม้ว่าจะไม่ได้รับประทานอะไรเข้าไปเลย, อาเจียน, เหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย, น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ และสูญเสีย ธาตุเหล็ก อย่างอธิบายไม่ได้
โดยมะเร็งชนิดนี้ เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นที่บริเวณลำไส้ใหญ่หรือบริเวณส่วนปลายสุดของลำไส้ หรือที่เรียกว่าลำไส้ตรง โดยสาเหตุในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ในปัจจุบันยังไม่มีสาเหตุในการเกิดที่แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตามการเกิดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นเหมือนกับการเกิดเซลล์มะเร็งในอวัยวะอื่น กล่าวคือ เซลล์ลำไส้ใหญ่ผิดปกติ จึงเจริญเติบโตและแบ่งตัวรวดเร็ว จึงอาจทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อหรือเนื้องอก และหากเกิดเป็นเนื้องอกร้ายจึงเรียกว่า “มะเร็ง”
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิด โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- อายุที่มากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- รับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูง, อาหารที่มีเส้นใยต่ำ, อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง และอาการที่อุดมไปด้วยโปรตีนจากเนื้อสัตว์
- การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มาก
- เคยผ่านการเป็นมะเร็งเต้านม, มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งมดลูกมาก่อน
- สมาชิกภายในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ลำไส้ใหญ่อักเสบ
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือผู้ที่เป็นโรคอ้วน
- สูบบุหรี่
- พฤติกรรมการไม่ออกกำลังกาย
- มีติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรง และไม่ได้มีการรักษา
- โรคโครห์น (Crohn’s Disease)
สรุป
อาการ อุจจาระเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด เป็นอาการที่สามารถบ่งบอกปัญหาสุขภาพได้ โดยการถ่ายเป็นเลือดอาจมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร ไปจนถึงเป็นสัญญาณเตือนโรคต่างๆ การสังเกตความเสี่ยงอันตรายสังเกตได้จากปริมาณของเลือด ความรุนแรง และสังเกตจากระยะเวลาในการถ่ายที่มีเลือดปน หากมีอาการรุนแรงหรือมีอาการอุจจาระเป็นเลือดในระยะเวลาที่นาน หรือรู้สึกไม่มั่นใจในอาการที่กำลังเกิดขึ้น สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยค้นหาภาวะเลือดออก โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยและทำการรักษาตามความเหมาะสม และยิ่งเข้าพบแพทย์ไวมากเท่าไหร่ในกรณีที่มีอาการเลือดปนอุจจาระหรือมีอาการถ่ายเป็นเลือด เป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแพทย์จะสามารถทำการรักษาได้เร็วอย่างทันท่วงที
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hemorrhoids/symptoms-causes/syc-20360268
- https://www.medicinenet.com/colitis/article.htm
- https://www.medicinenet.com/colorectal_cancer_pictures_slideshow/article.htm
- https://www.cancer.org/cancer/colon-rectal-cancer/about/what-is-colorectal-cancer.html
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/colon-cancer/symptoms-causes/syc-20353669