โรคท้องร่วง (Diarrhea) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษาเบื้องต้น ก่อนนำไปสู่ภาวะช็อค

โรคท้องร่วง (ภาษาอังกฤษ Diarrhea) มีสาเหตุ อาการ อย่างไร สามารถรักษาเองเบื้องต้นได้หรือไม่ ป้องกันได้อย่างไร มาหาคำตอบได้ที่นี่

การขับถ่าย คือการนำกากอาหารที่เหลือจากการย่อยและดูดซึม ตลอดจนของเสียที่เกิดขึ้นจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ ออกจากร่างกาย

การขับถ่ายปกติ จะไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน แต่สำหรับคนท้องผูก อาจขับถ่าย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์มาตลอด แต่ถ้าอยู่ๆ ถ่ายบ่อยขึ้น ถึงวันละ 3 ครั้งขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณของลำไส้ที่ผิดปกติ

อาการท้องร่วงหรือท้องเสีย คือการถ่ายอุจจาระมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีมูก เลือด หรือหยดน้ำมันปน หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น เป็นไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนบางรายที่ถ่ายถี่ๆ ร่างกายจะสูญเสียน้ำมาก จนอาจหน้ามืดเป็นลม หรือหมดสติไปเลย

อาการโรคท้องร่วง

โรคท้องร่วง ท้องเสียเฉียบพลัน หมายถึง ท้องเสียไม่ถึง 7 วัน จะพบมากในคนส่วนใหญ่ เกิดขึ้นเร็ว แต่เป็นไม่นาน เช่น

การทานอาหารที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน

เชื้อไวรัส จะทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมน้ำและเกลือแร่ของลำไส้เล็กลดลง อุจจาระที่ออกมาจึงมีลักษณะเหลวคล้ายน้ำซาวข้าวปริมาณมาก ไม่มีมูกหรือเลือดปน ส่วนใหญ่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้เอง แนวทางการรักษาจึงเป็นการประคับประคอง ให้น้ำเกลือและสารอาหารชดเชยในปริมาณที่เพียงพอในช่วงที่ถ่ายมาก และให้ยารักษาตามอาการก็พอ

เชื้อแบคทีเรีย บางชนิดอาจทำลายเยื่อบุผิวลำไส้โดยตรง ทำให้ผนังลำไส้บวมและหลุดลอกออกมาเป็นมูกสีขาวๆ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดเบ่งคล้ายอยากถ่ายเป็นพักๆ แบคทีเรียบางชนิดยังสามารถปล่อยสารพิษที่กระตุ้นลำไส้เล็กให้ขับน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยถ่ายเหลวปริมาณมากคล้ายการติดเชื้อไวรัสได้

การทานอาหารที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือสารพิษปนเปื้อน

อาการ “อาหารเป็นพิษ” ส่วนใหญ่จะมีผลให้การดูดซึมเกลือแร่และน้ำในลำไส้เล็กลดลง ผู้ป่วยจึงมักถ่ายเหลวเป็นน้ำปริมาณมาก จนอ่อนเพลียหรือเกิดอาการขาดน้ำ แต่การขับถ่ายช่วยนำของเสียออกจากร่างกายอยู่แล้ว เมื่อสารพิษที่ปนเปื้อนค่อยๆ ถูกขับออก อาการท้องเสียจึงมักจะดีขึ้นเองใน 24 ชั่วโมง

ท้องเสียเรื้อรัง คือ ท้องเสียนานกว่า 2 สัปดาห์

การติดเชื้อในลำไส้จากเชื้อโรคที่เจริญเติบโตช้า เช่น วัณโรค จะทำให้ร่างกายค่อยๆ อ่อนแอลง อาจมีไข้ต่ำๆ หรือน้ำหนักตัวค่อยๆ ลดลงร่วมด้วย หมั่นเช็คดัชนีมวลกายเพื่อประเมินสุขภาพเบื้องต้นได้

โรคที่ทำให้การย่อยและดูดซึมอาหารผิดปกติ เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรือมะเร็งตับอ่อน โดยตับอ่อนจะมีหน้าที่สร้างน้ำย่อยเพื่อย่อยแป้งและไขมัน เมื่อเกิดการอักเสบ ความสามารถในการย่อยอาหารกลุ่มดังกล่าวจึงลดลง เหลืออาหารค้างในกระเพาะและลำไส้นานขึ้นทำให้ท้องอืด แน่นท้อง นอกจากนี้ เมื่อการย่อยและดูดซึมไขมันทำได้ไม่ดีลักษณะอุจจาระที่ออกมาจึงเหลวลง และเห็นไขมันลอยอยู่ด้านบน

เนื้องอกหรือมะเร็งบางชนิด สามารถสร้างฮอร์โมนไปกระตุ้นให้ลำไส้เพิ่มการหลั่งน้ำออกมามากขึ้น จึงทำให้อุจจาระมีลักษณะเหลวลงได้

ภาวะที่ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานได้ลดลง เช่น ผู้สูงอายุมากๆ ผู้ป่วยที่มีน้ำย่อยแลคเตสแต่กำเนิด หรือผู้ป่วยลำไส้แปรปรวน

รักษาอาการท้องเสียเบื้องต้น

1. การรักษาสาเหตุของโรค เช่น ทานยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมในกรณีท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

2. การรักษาแบบประคับประคอง เช่น

  • ทานน้ำเกลือแร่ (Oral Rehydration Solution หรือ ORS) ชดเชยในกรณีที่ถ่ายเหลวปริมาณมาก หากผู้ป่วยอาเจียนมากหรือไม่สามารถทานได้ อาจพิจารณาให้สารน้ำและเกลือแร่ชดเชยวิธีอื่น เช่น ให้น้ำเกลือหยดเข้าทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น
  • การดื่มน้ำอัดลมผสมเกลือก็ได้ผลเช่นเดียวกับการดื่มน้ำเกลือแร่ทั่วไปเพราะร่างกายจะได้รับทั้งน้ำ น้ำตาล และเกลือแร่ แต่ในปริมาณและอัตราส่วนที่ไม่คงที่ เพราะสูตรการผสมเกลือแร่แต่ละสูตรก็ยังแตกต่างกัน แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจชอบมากกว่าเพราะมีรสชาติที่ดีกว่าน้ำเกลือแร่แบบซอง

การทานยาหยุดถ่ายจะได้ประโยชน์ในกรณีถ่ายเหลวเป็นน้ำปริมาณมาก จนร่างกายเกิดอาการขาดน้ำ ซึ่งอาจเป็นผลจากการติดเชื้อไวรัสหรือสารพิษที่ปนเปื้อนมาในอาหาร ยากลุ่มนี้จะช่วยปรับให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง จึงขับถ่ายของเสียออกได้ช้าลง อย่างไรก็ตาม เมื่อลำไส้บีบตัวลดลงก็อาจทำให้ผู้ป่วยท้องอืดเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย การให้ยาหยุดถ่ายก็อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อออกให้หมด เชื้อบางส่วนจึงทำลายผิวลำไส้ได้นานและรุนแรงมากขึ้นได้

การเลือกทานอาหารที่เหมาะสม

  • ผู้ป่วยท้องเสียสมควรทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม ในปริมาณ 60-70 % ของอาหารที่เคยทานปกติ
  • หลีกเลี่ยงการทานผักและผลไม้ อาหารร้อนหรือเย็นจัด อาหารที่มันเกินไป เช่น ข้าวขาหมู ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัด ในช่วง 3-4 วันแรก
  • งดดื่มนมหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 5-7 วัน

ถ้าผ่านไป 3 วันแล้วอาการท้องเสียไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย ริมฝีปากแห้ง เวียนศีรษะ มีเลือดปนในอุจจาระ หรือ มีเลือดปนในอาเจียน ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้อาการท้องเสียนั้นหายไปเอง เพราะอาจมีแนวโน้มของโรคแทรกซ้อนอื่นเช่น โรคสำไส้อักเสบ มีอาการตอบสนองต่อยาบางประเภทที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย หรือติดเชื้อไวรัสโรต้า เป็นต้น

การป้องกันอาการท้องเสีย

  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ทุกครั้ง
  • ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังทำกิจกรรมต่าง ๆ ทุกครั้ง
  • เลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทหมัก ดอง ที่ไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพและความสะอาด เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top