โรคกระเพาะอาหาร อาการ สาเหตุ และแนวทางการป้องกัน ก่อนสายเกินแก้!

โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia) เกิดจากอะไร สาเหตุ อาการเป็นอย่างไร รวมไปถึงแนวทางการป้องกัน และการรักษา โรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นโรคประจำตัวของใครหลาย ๆ คน ที่ทำให้มีอาการปวดท้องทรมานเป็น ๆ หายๆ ซึ่งโรคแผลในกระเพาะอาหารนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าแผลของโรคหายแล้ว ก็มีโอกาสกลับมาเป็นแผลในกระเพาะซ้ำได้อีก และอาจจะทำให้มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร 3-5 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยเป็นโรคดังกล่าว 

สาเหตุของ โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหาร เกิดจากปัจจัย 2 ส่วนด้วยกัน คือ

  1. ปัจจัยเร่งการทำลายเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร
  2. ปัจจัยที่ช่วยปกป้องและซ่อมแซมเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารเกิดความบกพร่อง

ซึ่งปัจจัยเร่งการทำลายเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร เกิดจากการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ดังนี้

  1. เกิดจากการติดเชื้อโรคบางชนิดในกระเพาะอาหาร เช่น เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori หรือ H. pylori ซึ่งคนไทยจะได้รับเชื้อนี้ผ่านอาหารและน้ำดื่มที่ไม่สะอาด หรือจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อ เช่น ในน้ำลายหรือคราบอาเจียน เชื้อชนิดนี้จะส่งผลทำให้ผิวของกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบเรื้อรังจนเกิดเป็นแผล และในผู้ป่วยบางรายอาจรุนแรงจนเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric adenocarcinoma ) หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร (Gastric lymphoma)
  2. การใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบในกลุ่ม Non-steroidal anti-inflammatory หรือ NSAIDs ในขนาด หรือปริมาณที่สูง หรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งยากลุ่มนี้ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร 
  3. ได้รับยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน (aspirin), clopidogrel, ticlopidine, warfarin เป็นต้น เนื่องจากยากลุ่มนี้ทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร
  4. ได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ (steroid) โดยเฉพาะเมื่อได้ยานี้ร่วมกับ Aspirin หรือ NSAIDs ซึ่งยากลุ่มสเตียรอยด์ จะมีฤทธิ์ทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารบางลง ยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารขึ้นมาใหม่ และอาจส่งผลให้กระเพาะอาหารทะลุ หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อน
  5. ได้รับยาเคมีบำบัดบางชนิดหรือใช้สารเสพติดประเภทโคเคน (cocaine), methamphetamine
  6. การสูบบุหรี่จะเป็นการกระตุ้นให้หลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้กรดในกระเพาะอาหารรุนแรงมากขึ้น ส่วนแอลกอฮอล์จะเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ผิวกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบ เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง จะทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดไฮโดรคลอริก (HCL)

ส่วนปัจจัยของโรคกระเพาะอาหารอีกอย่าง คือ ความบกพร่องของปัจจัยที่ช่วยปกป้องและซ่อมแซมเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร เช่นกระเพาะอาหารขาดสาร Endogenous prostaglandins ซึ่งสาร endogenous prostaglandins จะช่วยในการควบคุม mucosal blood flow ทำให้มีงอกของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ และเมื่อมีการสร้าง prostaglandins ลดลง จะส่งผลทำให้ผิวกระเพาะอาหารสร้างเยื่อเมือก (gastic mucus) ลดลงด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดความบกพร่องในการสร้างเยื่อบุผิว และเมื่อมีปัจจัยเร่งการทำลายเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารเข้ามาเสริม จึงเกิดเป็นแผลในกระเพราะอาหารได้ง่ายขึ้น

อาการของโรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหารมีอาการแสดงหลายประการ ซึ่งอาการของโรคที่พบบ่อย ส่วนมากมักจะมีอาการปวดท้องบริเวณเหนือสะดือ ลิ้นปี่ หรือยอดอก เป็น ๆ หาย ๆ (epigastric pain) ในลักษณะแสบร้อนท้อง รู้สึกไม่สบายท้องส่วนบน เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกมีลมในท้องมาก จุกเสียดแน่นท้อง รับประทานแล้วไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เรอบ่อย ท้องเกร็งแข็ง หรือปวดบีบมวนท้องคล้ายอยากอุจจาระ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดในช่วงท้องว่าง ก่อนมื้ออาหาร ในตอนกลางคืน ขณะนอนหลับหรือหลังจากรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่ม NSAIDs 

ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร ประมาณร้อยละ 25-30 จะพบภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่

  1. ตกเลือดในทางเดินอาหาร (upper GI bleeding) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือดสดหรือสีดำคล้ายผงกาแฟ หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสีดำแดง หรือสีดำมีกลิ่นคาว หรือมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ทำให้หน้ามืด ซีดเพลีย ซึ่งเกิดจากผู้ป่วยเสียเลือดจากแผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหารทีละน้อยอย่างเรื้อรัง
  2. ผนังกระเพาะอาหารทะลุหรือฉีกขาด (gastric perforation) มีอาการปวดท้องส่วนบนเฉียบพลันและรุนแรง หน้าท้องเกร็งแข็ง กดเจ็บ ไข้ขึ้น หอบเหนื่อย ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ต้องเข้ารับการผ่าตัดช่วยชีวิตโดยเร่งด่วน
  3. เกิดภาวะตีบตันในทางออกของกระเพาะอาหาร (gastric outlet obstruction) หรือกระเพาะอาหารอุดตัน ซึ่งช่วงท้องส่วนบนจะพองโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารไม่ได้ หรือรับประทานจะอิ่มเร็ว และอาจจะอาเจียนบ่อย เบื่ออาหารส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง
  4. เกิดการกลายพันธุ์ของแผลในกระเพาะอาหารจนเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร (gastric cancer) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติเรื้อรังและทรุดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ตอบสนองต่อการรักษา เมื่อแพทย์ทำการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร จะพบว่าแผลใหญ่ขึ้น และตรวจพบเซลล์มะเร็ง โดยวิธีการตรวจพิสูจน์ชิ้นเนื้อจากแผล

การรักษาหรือการบรรเทาอาการ

ยารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารในปัจจุบันสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ยาควบคุมการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และยาปกป้องและถนอมผิวกระเพาะอาหาร

1. ยาควบคุมการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร (antisecretory agents) ได้แก่ 

  • ยากลุ่ม proton pump inhibitors (PPIs) เช่น Esomeprazole, Lansoprazole, Omeprazole หรือ Rabeprazole โดยยากลุ่มนี้จะทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้ดี ส่งเสริมให้กระบวนการซ่อมแซมแผลของร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งประสิทธิภาพในการรักษาจะสูงกว่ายากลุ่ม H2RA ซึ่งการรับประทานยากลุ่มนี้ ควรทานก่อนมื้ออาหารเช้า ติดต่อกันทุกวัน เป็นเวลา 8-12 สัปดาห์ สำหรับผลข้างเคียงของการใช้ยา จะพบในช่วงแรก ๆ เช่น ปวดศีรษะ และท้องเสีย
  • ยากลุ่ม H2-receptor antagonists (H2RA) เช่น Cimetidine, Ranitidine และ Famotidine ยากลุ่มนี้จะทำหน้าที่ลดการหลั่งกรด HCL โดยสามารถรับประทานวันละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 8-12 สัปดาห์ หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจจะส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอน มึนงง ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุกได้ และควรระวังการใช้ยาชนิดนี้กับผู้ป่วยโรคไตเสื่อมหรือไตวาย เนื่องจากยาถูกกำจัดออกจากร่างกาย ผ่านทางปัสสาวะเป็นหลัก 

2. ยาปกป้องและถนอมผิวกระเพาะอาหาร (mucosal protective agents) ได้แก่ 

  • Rebamipide ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการใช้ยาแอสไพริน และกลุ่มยา NSAIDs ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเร่งกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อทดแทน ซึ่งทำให้แผลในกระเพาะอาหารสามารถสมานตัวและหายได้เร็วขึ้น 
  • Sucralfate ทำหน้าที่ซ่อมแซมแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยเคลือบหลุมแผลเพื่อป้องกันการซึมผ่านของกรด HCL Pepsin และ Oxygen free radicals เข้าสู่แผล ซึ่งยาชนิดนี้ ในขนาด 1 กรัม จะรับประทานวันละ 4 ครั้ง หรือเลือกรับประทาน ขนาด 2 กรัม ในมื้อเช้า และก่อนนอน โดยจะต้องห่างจากการรับประทานยาโรคประจำตัวอื่น ๆ อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • Colloidal bismuth ทำหน้าที่ในการช่วยกระตุ้นกาสร้าง PGE2 ลด Peptic activity และจับกับ Mucus ช่วยลดการซึมผ่านของกรด HCL เข้าสู่แผล อีกทั้ง ยังมีฤทธิ์กำจัดเชื้อ H. pylori ได้อีกด้วย ซึ่งยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ในทางเดินอาหารเป็นหลัก และถูกแบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนให้เป็น Bismuth sulfide ทำให้เมื่อขับถ่ายออกมาอุจจาระจะเป็นสีดำ โดยสาร Bismuth จะถูกดูดซึมเข้าสู้กระแสเลือดได้เพียงเล็กน้อย แต่จะถูกขับออกทางไตเป็นหลัก และถ้าหากใช้ยาในขนาดที่สูงก็เสี่ยงเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ดังนั้น จึงควรระวังการใช้ยาชนิดนี้ในผู้ป่วยโรคไต 
  • Misoprostol ทำหน้าที่ช่วยยับยั้งการหลั่งกรด HCL ช่วยปกป้องผิวกระเพาะอาหาร ซึ่งยาชนิดนี้จะป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร จากการใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs เป็นหลัก ยาชนิดนี้ห้ามใช้ในผู้หญิงที่อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากยามีฤทธิ์ในการกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกอย่างรุนแรง อาจะส่งผลให้เกิดการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้

อาหารที่ควรรับประทาน และ อาหารที่ไม่ควรรับประทาน

สำหรับผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารสิ่งสำคัญที่ควรระมัดระวัง คือเรื่องของการรับประทานอาหาร ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้ควรที่จะรับประทานทานอาหารอ่อนและย่อยง่ายในช่วงแรก เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ซุป ก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ใส่น้ำส้มสายชูและพริก หลีกเลี่ยงผักสดปริมาณสูง ควรรับประทานผักที่ผ่านความร้อน เช่น การต้ม ลวก ผัด เพราะจะทำให้ย่อยง่าย ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารที่มีรสชาติจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารหมักดอง หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม กาแฟเข้มข้น เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจัดและย่อยยาก และไม่ควรรับประทานผลไม้ตอนท้องว่าง เนื่องจากผลไม้บางชนิดมียาง หรือเอนไซม์ ซึ่งเมื่อไปรวมกับกรดในกระเพาะอาหาร อาจทำให้คลื่นไส้ และระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ เช่น ลูกพลับ มะละกอ สับปะรด ส้ม มะนาว ทั้งนี้ ควรรับประทานอาหารให้ใกล้เคียงเวลาเดิม ๆ หากติดภารกิจควรรับประทานขนมหรือนมรองท้องไปก่อน

โดยสรุป

โรคกระเพาะอาหาร เป็นโรคที่พบบ่อยในประชากรไทยกลุ่มวัยทำงาน 20-70 ปี ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าโรคกระเพาะอาหารไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากผู้ป่วยจะรับประทานยาเพียงในระยะเวลาสั้น หรือหลังรับยา 3-7 วันอาการปวดก็จะหายไป แต่แผลยังไม่หาย จึงมีโอกาสกลับมามีอาการปวดท้องได้อีก จนเป็นอาการเรื้อรัง แต่ความจริงแล้วโรคกระเพาะอาหารที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 8-12 สัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา การได้รับยาที่มีประสิทธิภาพ การดูแลตนเองในขณะที่เป็นโรค เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นโรคซ้ำได้อีก

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top