MCT Oil (ไขมันสายกลาง) คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?

MCT หรือ ไขมันสายกลาง จัดเป็นประเภทหนึ่งของไขมันไตรกลีเซอไรด์อิ่มตัว (ไขมันที่ประกอบด้วยกรดไขมันพันธะเดี่ยวทั้งหมด) โดยภายในพันธะของไตรกลีเซอไรด์จะต้องประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวทั้งหมด มีจุดเดือดและจุดหลอมเหลวต่ำ จึงมักพบ MCT ในรูปแบบของน้ำมัน

ที่มาของภาพ Freepik

จุดเด่นที่ทำให้ MCT ได้รับความนิยมมากขึ้น และกลายเป็นหนึ่งของการบริโภคเพื่อสุขภาพ คือ ความสามารถในการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายที่เกิดขึ้นได้ง่าย ให้พลังงานไม่แตกต่างจากไขมันอิ่มตัวสายยาว (Long-chain Triglyceride: LCT) และสะสมในร่างกายน้อยกว่า ปัจจุบันจึงพบการบริโภคไขมันชนิดนี้มากขึ้น อีกทั้งยังมีการทำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อให้ง่ายต่อการรับประทานออกมาอีกด้วย

ไขมันอิ่มตัวสายกลาง และ ไขมันสายยาว แตกต่างกันอย่างไร?

ความยาวของพันธะ

ความแตกต่างที่สำคัญของ MCT และ LCT คือ ความยาวของพันธะคาร์บอนที่อยู่ในกรดไขมัน โดย MCT จะประกอบด้วยกรดไขมันที่มีความยาวพันธะคาร์บอนตั้งแต่ 6-12 พันธะ ในขณะที่ LCT จะมีความยาวของพันธะคาร์บอนในกรดไขมันมากกว่า 12 พันธะ

ความยาวพันธะที่มากขึ้น จะบ่งบอกถึงคุณสมบัติของไขมันดังกล่าวด้วย หากพันธะคาร์บอนน้อยก็อาจจะให้พลังงานได้น้อยกว่า แต่ในขณะเดียวกันจะถูกดูดซึมและย่อยสลายได้ง่ายกว่า

ที่มาของภาพ Hempure CBD

การดูดซึม

เนื่องจาก MCT มีพันธะคาร์บอนน้อย มีโมเลกุลขนาดเล็กกว่า ทำให้สามารถละลายน้ำได้ดีกว่าและถูกดูดซึมได้ง่ายกว่า โดยหลังจากที่ MCT ผ่านเข้ามาในระบบทางเดินอาหารแล้ว จะเกิดการทำปฏิกิริยากับน้ำดีให้รวมเข้ากับน้ำเกิดเป็นสารอิมัลชัน จากนั้นจึงจะถูกดูดซึมผ่านหลอดเลือดเลือดดำ Portal vein ไปยังตับได้ทันที

ส่วน LCT จะต้องผ่านกระบวนการย่อยให้พันธะของกรดไขมันในโมเลกุลแยกออกจากกลีเซอรอล เพื่อให้ได้องค์ประกอบที่มีขนาดเล็กเสียก่อน จากนั้นจึงจะถูกดูดซึมผ่านเข้าไปในระบบท่อน้ำเหลืองก่อนเดินทางไปยังตับอีกทีหนึ่ง จะเห็นได้ว่า MCT ไม่จำเป็นต้องถูกย่อยสลายพันธะก่อนก็สามารถถูกดูดซึมได้ทันที

การเผาผลาญ

การเผาผลาญหรือกระบวนการเมแทบอลิซึมของ MCT และ LCT จะมีความแตกต่างกันในส่วนของผลลัพธ์ที่ได้ แม้ไขมันทั้ง 2 ชนิดนี้จะผ่านกระบวนการเบตา ออกซิเดชัน (Beta oxidation) เหมือนกัน แต่สารที่ได้จากกระบวนการนี้ใน MCT จะได้สารกลุ่มคีโตน บอดี (Ketone body) ในขณะที่ LCT จะได้แอซิทิล โคเอนไซม์เอ (Acetyl CoA)

เซลล์ในร่างกายสามารถนำคีโตน บอดีไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที แต่แอซิทิล โคเอนไซม์เอจะต้องผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอนเพื่อให้ได้สารให้พลังงาน ATP ดังนั้น จะเห็นว่า MCT ย่อยสลายและให้พลังงานได้รวดเร็วกว่า LCT

การดูดซึมที่แตกต่างกันระหว่าง MCT และ LCT
ที่มาของภาพ Kanso

พลังงานที่ได้รับ

จริง ๆ แล้วไขมัน 2 ชนิดนี้ จะให้พลังงานใกล้เคียงกัน หากเทียบในปริมาณที่เท่ากันแล้ว น้ำมันมะพร้าว ซึ่งเป็นไขมันแบบ MCT จะให้พลังงาน 8.3 แคลอรีต่อกรัม ในขณะที่น้ำมันมะกอก ซึ่งเป็นไขมันแบบ LCT จะให้พลังงาน 9 แคลอรีต่อกรัม ความแตกต่างของพลังงานนี้ เป็นผลมาจากจำนวนพันธะคาร์บอนในโมเลกุล

กรดไขมันจำเป็น

แม้ MCT จะมีจุดเด่นหลายประการ แต่ข้อสังเกตที่สำคัญ คือ MCT จะไม่มีกรดไขมันจำเป็น ได้แก่ กรดไขมันโอเมกา 3 และโอเมกา 6 ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้น จึงไม่สามารถรับประทานเฉพาะไขมันจาก MCT ได้ จะต้องได้รับกรดไขมันจำเป็นเสริมอย่างเพียงพอด้วย

ประโยชน์ของ MCT Oil

  • ช่วยควบคุมน้ำหนัก: เนื่องจากพลังงานที่ได้รับจะต่ำกว่าไขมันสายยาว แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความอิ่มได้ไม่ต่างกัน การรับประทานไขมันแบบ MCT ร่างกายสามารถนำพลังงานไปใช้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว และช่วยลดการสะสมของไขมันในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ด้วย อีกทั้งยังช่วยปรับฮอร์โมนควบคุมความหิวให้เหมาะสมอีกด้วย
  • แหล่งพลังงานที่ใช้ได้ทันที: คีโตน บอดี สารที่เกิดจากการสลายไขมัน MCT สามารถนำไปใช้เป็นแหล่งงานแก่อวัยวะในร่างกายได้ทันที โดยเฉพาะในส่วนของสมองและกล้ามเนื้อ นักกีฬาจึงนิยมรับประทานไขมันชนิดนี้ก่อนการซ้อมหรือลงแข่งเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างเพียงพอในเวลาอันสั้น
  • ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด: ไขมันชนิดนี้จะสะสมในร่างกายได้น้อย จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาไขมันอุดตันในหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณของคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) เพิ่มปริมาณขอองคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ได้ด้วย
  • มีประโยชน์ต่อทางเดินอาหาร: มีการศึกษาพบว่า MCT ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ไม่มีประโยชน์และอาจก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร และช่วยเพิ่มปริมาณแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในทางเดินอาหารได้ นอกจากนี้ MCT ยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบ ทำให้รอยแผลที่เกิดขึ้นในกระบวนการย่อยอาหารนั้นสมานกันได้เร็วขึ้น
ที่มาของภาพ Freepik

แหล่งอาหารที่มี MCT Oil และปริมาณที่แนะนำ

แหล่งอาหารที่พบไขมันชนิด MCT ได้แก่ น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันปาล์ม, เนย, นม และผลิตภัณฑ์จากนม ถึงกระนั้น ปริมาณของไขมัน MCT ในอาหารเหล่านี้อาจมีไม่เยอะมาก ปัจจุบันจึงมีการสกัดแยกเฉพาะส่วนของไขมันออกจากส่วนประกอบอื่น พร้อมนำมาบรรจุแคปซูลเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ปริมาณ MCT ที่แนะนำให้รับประทานมิได้มีระบุไว้แน่ชัด การรับประทานเพียง 1-2 ช้อนโต๊ะ นับว่าเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการรับประทานเพื่อสุขภาพ ในกรณีที่ต้องการลดน้ำหนัก สามารถรับประทานได้วันละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ทั้งนี้ ไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากความเข้มข้นของน้ำมันในระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย หรือปวดบิดท้อง เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Healthline

Forbes Health

WebMD

Scroll to Top