Lecithin (เลซิติน) คืออะไร ข้อดี-ข้อเสีย และผลข้างเคียงที่ควรทราบ!

เลซิติน (Lecithin) คือ สารประกอบของไขมันที่พบได้ในเนื้อเยื่อพืชและสัตว์ตามธรรมชาติ โดยองค์ประกอบทางเคมีของเลซิตินจะประกอบด้วยโมเลกุลไขมันกลุ่มฟอสโฟลิปิด (Phospholipid) หลายชนิด ได้แก่ Phosphatidylcholine, Phosphatidylethanolamine, Phosphatidylinositol, Phosphatidylserine และ Phosphatidic acid

Phosphatidylcholine หนึ่งในองค์ประกอบของเลซิติน
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติ Amphiphilic
ที่มาของภาพ Wikimedia Commons

ด้วยองค์ประกอบที่อุดมด้วยไขมันกลุ่มฟอสโฟลิปิด ทำให้เลซิตินแสดงคุณสมบัติทางเคมีแบบ Amphiphilic หมายถึง ความสามารถในละลายน้ำ (Hydrophilic) และละลายในไขมัน (Lipophilic) เนื่องจากไขมันกลุ่มฟอสโฟลิปิดจะมีอยู่ 2 ขั้ว คือ ขั้วกรดไขมัน ซึ่งจะละลายในไขมันแต่ไม่ละลายในน้ำ และขั้วสารประกอบฟอสเฟต ซึ่งจะละลายในน้ำแต่ไม่ละลายในไขมัน โดยทั้ง 2 ชั้วจะเชื่อมต่อกันด้วยกลีเซอริน (Glycerin)

ประโยชน์ของเลซิตินต่อร่างกาย

เป็นส่วนประกอบของร่างกาย

ไขมันกลุ่มฟอสโฟลิปิด เป็นองค์ประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ในสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ ดังนั้น เราสามารถพบเลซิตินได้เกือบทั่วทั้งร่างกาย เรียกได้ว่าร่างกายของมนุษย์นั้นหากปราศจากเลซิติน อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์ทุกระบบอวัยวะได้

ช่วยย่อยสลายไขมัน

นอกจากนี้ เลซิตินยังมีบทบาทในกระบวนการย่อยสลายไขมันในระบบทางเดินอาหาร เพราะปกติแล้วไขมันและน้ำมันเป็นสารที่ไม่ละลายในน้ำ ทว่า ในร่างกายของมนุษย์แม้กระทั่งเลือด จะมีส่วนประกอบของน้ำเป็นสำคัญ ดังนั้น การลำเลียงไขมันเพื่อนำเข้าสู่เซลล์จึงต้องอาศัยโมเลกุลที่สามารถทำให้ไขมัน “ละลายน้ำได้”

ที่มาของภาพ McGraw Hill: Anatomy and Physiology

และด้วยคุณสมบัติของเลซิตินที่สามารถละลายได้ทั้งในน้ำและไขมัน เลซิตินจึงทำหน้าที่ในกระบวนการย่อยสลายไขมันโดยรวมเข้ากับเกลือน้ำดี แล้วใช้ขั้วกรดไขมันยึดเกาะเข้ากับหยดน้ำมันจากอาหารและห่อหุ้มเอาไว้ ส่วนเปลือกนอกซึ่งเป็นส่วนที่สามารถละลายในน้ำได้ จะสามารถละลายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังเซลล์เป้าหมาย เพื่อให้เซลล์นำไขมันไปย่อยสลายได้ง่ายขึ้น หรือนำไปใช้ในการสร้างพลังงานในลำดับถัดไป

กระบวนการดังกล่าว เรียกว่า Emulsification คือ การรวมของเหลวที่แยกชั้นเข้าด้วยกัน โดยมีเลซิตินทำหน้าที่เป็นตัวผสาน หรือ Emulsifier เช่นเดียวกับการใช้สบู่เพื่อชะล้างคราบไขมันออกจากผิวหนัง

ควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอล

เลซิติน คือ หนึ่งในองค์ประกอบของเอนไซม์ LCAT (Lecithin-Cholesterol Acyltransferase) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา Esterification ของคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ให้กลายเป็น HDL (High-density lipoprotein) หรือรู้จักกันในชื่อ คอเลสเตอรอลชนิดดี เนื่องจาก HDL จะนำพาคอเลสเตอรอลกลับไปยังตับเพื่อสร้างเป็นน้ำดี และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดด้วย

ที่มาของภาพ AHA Journal

ในขณะที่ LDL (Low-density lipoprotein) หรือรู้จักกันในชื่อ คอเลสเตอรอลชนิดเลว แท้จริงทำหน้าที่นำพาคอเลสเตอรอลไปยังเซลล์เป้าหมาย แต่หากร่างกายมี LDL มากเกินไป อาจทำให้เกิดไขมันอุดตันหลอดเลือด เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและความดันโลหิตสูง

ดังนั้น เลซิตินที่มีบทบาทในการเร่งกระบวนการสร้าง HDL จึงมีประโยชน์ในการควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลชนิด HDL ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และป้องกันไม่ให้มี LDL ในเลือดสูงจนเกินไป อีกนัยหนึ่งจึงเป็นการช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจได้อีกด้วย

คุณสมบัติของเลซิตินในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

สำหรับคุณสมบัติของเลซิตินหากนำมาใช้ภายนอกร่างกาย ประการแรก ด้วยคุณสมบัติของสาร Emulsifier เลซิตินจึงเป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการผลิตเครื่องสำอางหลากหลายประเภท โดยเฉพาะในรูปแบบของโลชั่นและครีม เนื่องจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้มักผสมน้ำมันสกัดเพื่อบำรุงผิวลงไปด้วย จึงต้องใช้เลซิตินเป็นตัวผสานระหว่างน้ำมันและน้ำจนเกิดเป็นโลชั่นเนื้อเดียวกัน

ประการถัดมา คือ คุณสมบัติในการบำรุงผิว กรณีนี้จะคล้ายกับการจับกับไขมันในร่างกาย ซึ่งเลซิตินจะใช้ขั้วกรดไขมันจับเข้ากับน้ำมันหรือสารบำรุงผิวที่ละลายได้ดีในไขมัน แล้วนำพาเข้าสู่เซลล์ของชั้นผิวหนังโดยหันขั้วสารเฟตที่ละลายในน้ำออกด้านนอก (เพราะเยื่อหุ้มเซลล์ของมนุษย์จะหันขั้วที่ละลายน้ำออกข้างนอกเช่นกัน เมื่อเจอกันจึงทำให้เลซิตินขนส่งสารต่าง ๆ เข้าสู่เซลล์ได้โดยง่าย)

ที่มาของภาพ Double Base

ประการสุดท้าย คือ คุณสมบัติในการปกป้องผิวหนัง เนื่องจากโมเลกุลของเลซิตินมีไขมันอยู่ในตัว ดังนั้น เมื่อทาส่วนผสมของเลซิตินลงบนผิวหนัง ขั้วฟอสเฟตจะผ่านเข้าสู่เซลล์ผิวหนัง ในขณะเดียวกันขั้วกรดไขมันจะไม่ถูกดูดซึมลงไปด้วย กลายเป็นเป็นชั้นไขมันเคลือบผิวหนังที่ช่วยปกป้องไม่ให้ความชื้นจากผิวหนังระเหยออกสู่สิ่งแวดล้อม ทำให้ผิวคงความชุ่มชื้นไว้ได้ตลอดเวลา ซึ่งคุณสมบัตินี้เราสามารถเรียกว่าเป็นสารกลุ่ม Emollient หรือสารคงความชุ่มชื้นแก่ผิว และเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของมอยส์เจอร์เซอร์อีกด้วย

เลซิตินอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง?

เลซิติน มีรากศัพท์มาจากคำในภาษากรีกว่า เลคิโตส (Lekithos) ซึ่งแปลว่า ไข่แดง ดังนั้น เลซิตินจึงพบได้ในไข่แดง รวมถึงอาหารประเภทอื่น ๆ อีกมากมาย ได้แก่

  • เนื้อสัตว์
  • เครื่องในสัตว์
  • นมและผลิตภัณฑ์จากนม
  • อาหารทะเล
  • ธัญพืช โดยเฉพาะถั่วเหลือง รวมถึงน้ำมันจากธัญพืชทุกชนิด
  • ผักใบเขียวปรุงสุก จะได้เลซิตินออกมามาก
ที่มาของภาพ PxHere

ปริมาณแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับเลซินตินไม่ได้มีข้อกำหนดปริมาณแนะนำต่อวันที่ชัดเจน โดยเฉลี่ยร่างกายของมนุษย์จะได้รับเลซิตินประมาณ 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่ควรเกิน 5,000 มิลลิกรัมต่อวัน

เลซิตินไม่มีข้อควรระวังในการรับประทานที่บ่งชี้ได้ชัดเจน เนื่องจากตามธรรมชาติร่างกายของมนุษย์มีเลซิตินเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว ทั้งนี้ ข้อควรระวังดังกล่าวอาจหมายถึงการเลือกรับประทานเลซิตินจากแหล่งอาหารต่าง ๆ เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้จากอาหารที่รับประทานได้ เช่น แพ้ผลิตภัณฑ์จากนม หรือแพ้ถั่วเหลือง เป็นต้น ซึ่งผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงไปรับประทานเลซิตินจากแหล่งอาหารอื่น ๆ แทน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก AHA Journal, The HDL Handbook (Second Edition), Drugs Affecting Lipid Metabolism, Healthline

Scroll to Top