ค่า BMI สูงเสี่ยงต่อโรค อะไรบ้าง แก้ไขได้อย่างไร (ฉบับผู้เชี่ยวชาญ)?

ค่า BMI สูงเสี่ยงต่อโรค ดัชนีมวลกาย หรือ BMI ที่ประเมินวิเคราะห์โดยใช้น้ำหนักและส่วนสูง เพื่อหาตัวเลขชี้วัดเกณฑ์น้ำหนักกายว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่? การวัดค่าดัชนีมวลกาย สามารถที่จะประเมินสุขภาพเบื้องต้นได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีหรือไม่ เนื่องจากผู้ที่มีเกณฑ์น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และผู้ที่มีเกณฑ์น้ำหนักสูงกว่าเกณฑ์ ล้วนมีแนวโน้มความเสี่ยงที่มีอันตรายต่อสุขภาพ และปัญหาน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน อาจเกิดโรคร้ายที่แตกต่างกันตามความเสี่ยงของเกณฑ์น้ำหนักตัว

ความสำคัญ ค่า bmi สูตร ดัชนีมวลกาย หรือ BMI

การคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) คือ หนึ่งในวิธีการประเมินสุขภาพเบื้องต้น ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง จากการนำเอา น้ำหนักกายมาคำนวณร่วมกันกับส่วนสูง โดยการประเมินสุขภาพเบื้องต้น สามารถที่จะทำให้ทราบถึงแนวโน้มความเสี่ยง ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพก่อนที่จะมาถึงในอนาคต และทำให้สามารถรับรู้ถึงความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะต่างๆ เกี่ยวกับสุขภาพและร่างกาย โดยการคำนวณ BMI เป็นวิธีการคำนวณที่เหมาะสมกับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เจริญเติบโตอย่างเต็มที่แล้ว แต่สำหรับการประเมิน BMI ในเด็ก จะเป็นการประเมินเพื่อเน้นดูการเจริญเติบโตเป็นหลัก โดยวิธีการวัดค่าดัชนีมวลกายในผู้ใหญ่ สามารถที่จะประเมินวิเคราะห์ได้ จากสูตรดังต่อไปนี้

สูตรวิธีประเมินดัชนีมวลกาย: น้ำหนักกาย (กก.) ÷ ส่วนสูง (เมตร)2 หรือสามารถใช้เครื่องคำนวณหาดัชนีมวลกาย โดยการกรอกเพศ, อายุ, น้ำหนัก และส่วนสูง เมื่อได้ผลลัพธ์ตัวเลขค่า BMI แล้ว สามารถเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานได้จากด้านล่าง

เกณฑ์มาตรฐาน ค่า bmi สูตรที่บ่งบอกความเสี่ยง

ในการประเมินค่า BMI ผลลัพธ์ที่ได้ สามารถบ่งบอกได้ถึง ค่า BMI สูงเสี่ยงต่อโรค , ค่า BMI มาตรฐานสุขภาพดี และค่า BMI ต่ำเสี่ยงต่อโรค ได้ แต่หากเป็นการประเมินดัชนีมวลกายในเด็ก จำเป็นที่จะต้องเทียบแผนภูมิของเด็ก และวัยรุ่นควบคู่กัน เนื่องจากมีการอ่านผลแปรค่าที่แตกต่างไปจากค่า BMI ในผู้ใหญ่

  • ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
  • ค่า BMI 18.5-22.90 น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ค่า BMI 23-24.90 มีน้ำหนักสูงเกินกว่าเกณฑ์
  • ค่า BMI 25-29.90 อยู่ในความเสี่ยงโรคอ้วนระดับ 1
  • ค่า BMI 30 ขึ้นไป อยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยงโรคอ้วนระดับ 2
รูปภาพประกอบจาก Freepik

ค่า BMI สูงเสี่ยงต่อโรค และภาวะสุขภาพอะไรบ้าง?

สำหรับผู้ที่ทำการประเมินค่าดัชนีมวลกาย และได้ค่า BMI สูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ถือว่ามีความเสี่ยงในด้านของสุขภาพ และอาจเกิดโรคร้ายตามมา จากปัจจัยของการที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ได้หลากหลายโรค อาทิเช่น

  1. โรคอ้วน
  2. โรคเบาหวาน
  3. โรคข้ออักเสบ
  4. โรคมะเร็งบางชนิด
  5. ระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตสูง
  6. ภาวะหยุดหายใจในขณะหลับ

โดยเราได้รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วนของโรคร้าย และภาวะสุขภาพที่เกิดจากปัญหาน้ำหนักสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ที่พบได้บ่อย อย่างโรคอ้วนและโรคเบาหวาน เอามาไว้ให้ที่ด้านล่างนี้แล้ว เมื่อทำการประเมิน BMI เรียบร้อยแล้ว มีค่าดัชนีมวลกายสูงเกินเกณฑ์ สามารถสังเกตตัวเองได้ว่ากำลังเสี่ยงในการเกิดโรคและภาวะสุขภาพเหล่านี้หรือไม่?

โรคอ้วน (Obesity)

โรคอ้วน คือ โรคที่เกิดขึ้นได้จากการที่ร่างกายมีปริมาณไขมันสะสมอยู่มากในส่วนต่างๆ และร่างกายไม่สามารถที่จะเผาผลาญไขมันได้หมด จึงทำให้ไขมันนั้นเกิดการสะสมภายในร่างกาย ตามอวัยวะต่างๆ และการเกิดโรคอ้วนอาจมีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การรับประทานอาหาร ที่มีแคลอรี่สูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน โดยเฉพาะการเลือกรับประทานแป้ง อาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง และอาจไม่ได้มีการขยับร่างกาย ออกกำลังกาย เพื่อเผาผลาญพลังงานและไขมัน การเกิดโรคอ้วนยังมีสาเหตุจากปัจจัยอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการรับประทานอีกด้วย โดยอาจมีปัจจัยมาจาก

  • กระบวนการเมแทบอลิซึม (Metabolism) หรือกระบวนการเผาผลาญอาหารให้กลายเป็นพลังงานให้กับเซลล์ในร่างกาย ผู้ที่ร่างกายสามารถเผาผลาญพลังงานได้น้อย มีความเสี่ยงไขมันสะสมในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้มากกว่า
  • อายุที่มากขึ้น จะส่งผลให้กระบวนการเมแทบอลิซึมทำงานได้ช้าลงกว่าเดิม เผาผลาญแคลอรีได้น้อยลง และอายุยังมีผลต่อการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อได้ง่าย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนได้ง่ายมากขึ้น
  • เมื่อร่างกายเกิดความเครียด จะมีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมาในปริมาณที่มาก เพื่อเป็นการรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นความอยากอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง รวมไปถึงอาหารที่มีโซเดียมสูง และอาจทำให้เกิดไขมันสะสม และการไขมันพอกในส่วนต่างๆของร่างกายได้
  • พันธุกรรมเกี่ยวข้องกับการกำหนดปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกาย และเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพการเผาผลาญ รวมไปถึงวิธีการเลี้ยงดู อาหารการกินตั้งแต่วัยเด็ก ก็อาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วนได้เช่นเดียวกัน
รูปภาพประกอบจาก Freepik

โรคเบาหวาน (Diabetes)

โรคเบาหวาน คือ โรคที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) โดยปัจจัยที่อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานนั้นมีด้วยกันหลายสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น ภาวะอ้วน, พฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการรับประทานอาหาร หรือการไม่ออกกำลังกาย รวมไปถึงปัจจัยการเกิดโรคเบาหวานที่มีผลมาจากพันธุกรรม และหากปล่อยให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลอย่างมากต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกาย อย่าง

  • ระบบไหลเวียนโลหิต ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ มักจะมีความดันโลหิตสูง อาจทำให้หัวใจทำงานหนัก การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเปราะหรือแตกได้ง่าย เมื่อหลอดเลือดเกิดแผลจะทำให้มีไขมันสะสมในหลอดเลือดมากยิ่งขึ้น ทำให้หลอดเลือดตีบและแคบลง จนส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง
  • หลอดเลือด เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจส่งผลให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นน้อยลง เมื่อระบบไหลเวียนเลือดไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะส่งผลให้ร่างกายได้รับเลือดและออกซิเจนในปริมาณที่ลดลง เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ความดันโลหิตสูง และอาจทำให้ทั้งเส้นเลือดขนาดใหญ่และเส้นเลือดขนาดเล็ก เกิดความเสียหายตามมา และโรคความดันโลหิตสูงเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้ร่างกายเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้
  • ระบบไต เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่าปกติ อาจส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือด ที่ถูกส่งไปยังไตเกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้เกิดโปรตีนปริมาณสูงในปัสสาวะ ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติและอาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้
  • ระบบประสาท หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่พบเจอบ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน คือ ระบบประสาทถูกทำลาย อาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทได้หลายส่วนในร่างกาย ตั้งแต่ การเคลื่อนไหว, การย่อยอาหาร ไปจนถึงระบบสืบพันธุ์ โดยส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักมีอาการชาในบริเวณเท้าและมือ อาจเสี่ยงต่อการเกิดบาดแผลและการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ มีเหงื่อออกมามากกว่าปกติ และอาจส่งผลให้ไม่มีอารมณ์ทางเพศ

แนวทางการแก้ไข ค่า BMI สูงเสี่ยงต่อโรค ให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ผู้ที่ทำการประเมินค่าดัชนีมวลกาย และได้ค่า BMI สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และต้องการที่จะควบคุมน้ำหนัก ให้ค่า BMI กลับมาปกติ สามารถเลือกปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้ และเริ่มต้นควบคุมน้ำหนักกายได้ด้วยตนเอง แต่สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักมากหรือมีรูปร่างที่อ้วนจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์โดยตรงเพื่อความปลอดภัย

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่มีการแปรรูป อย่างการเลือกรับประทาน น้ำตาลขาว, ข้าวสวย, ขนมปังขาว ควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเพื่อหลีกเลี่ยงปริมาณน้ำตาล
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว อย่างการเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ติดมัน เป็นต้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และขยับร่างกายเป็นประจำ เพื่อการเผาผลาญแคลอรี่ที่ไม่จำเป็น และไขมันส่วนเกินในร่างกาย
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงความเครียดสะสม
  • ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประเมินสุขภาพและหาแนวทางรักษา

สรุป

การวัดค่าดัชนีมวลกาย ประเมินสุขภาพเบื้องต้นด้วยค่า BMI เป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้น โดยการใช้น้ำหนักและส่วนสูงหาแนวโน้มความเสี่ยงในการเกิดโรค ที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยเกณฑ์น้ำหนัก สำหรับผู้ที่มีค่า BMI ต่ำกว่าเกณฑ์ และสูงกว่าเกณฑ์ การวัดค่าดัชนีมวลกายจะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ช่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพที่ดีได้ แต่อย่างไรก็ตาม ค่า BMI เป็นเพียงการประเมินวิเคราะห์เบื้องต้น ที่ไม่ได้เจาะลึกลงไปถึงมวลไขมันในร่างกาย และอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ในบางกรณี อย่างเช่น ผู้ที่มีการออกกำลังกายจนมีมวลกล้ามเนื้อสูง หากต้องการมีร่างกายที่แข็งแรง และมีสุขภาพที่ดีห่างไกลจากโรคร้าย และได้การตรวจที่สามารถประเมินความเสี่ยงได้อย่างเจาะลึก ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีกับแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยตรง

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา

Scroll to Top