กรดซาลิซิลิก (Salicylic acid) คือ กรดอินทรีย์ที่ได้จากสารสกัดเปลือกของต้นวิลโลว์หรือต้นหลิว ซึ่งสารชนิดนี้มีชื่อว่า ซาลิซิน (Salicin) มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว โดยสารซาลิซินจะถูกนำมาต้มร่วมกับกรด และเติมสารประเภทออกซิเดชันลงไปผสม ก่อนที่จะทำการระเหยของเหลวทั้งหมดจนได้เป็นผงของกรดซาลิซิลิก
มนุษย์มีการใช้เปลือกของต้นหลิวเป็นยาบรรเทาอาการปวดและลดไข้มาตั้งแต่อดีตกาล ย้อนกลับไปได้ไกลถึงยุคอียิปต์โบราณ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1828 จึงได้มีการค้นพบว่าสารซาลิซินในเปลือกของต้นหลิว คือ สารสำคัญที่ออกฤทธิ์บรรเทาปวดและลดไข้
ในเวลาต่อมานักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า การเติมหมู่อะซิทิล (Acetyl) ให้แก่กรดซาลิซิลิก จะช่วยให้โมเลกุลมีความเสถียรมากขึ้น ซึ่งกรดซาลิซิลิกที่เติมหมู่อะซิทิลนี้รู้จักกันในชื่อ “แอสไพริน” (Aspirin) ยาบรรเทาอาการปวดที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ถึงกระนั้น กรดซาลิซิลิกมิได้มีเพียงคุณสมบัติในการบรรเทาอาการปวด, ลดไข้ หรือแก้อักเสบเพียงเท่านั้น เพราะยังมีคุณสมบัติในอุตสาหกรรมความงามด้วย เพราะกรดซาลิซิลิกจัดเป็นกรดเบต้า ไฮดรอกซี (Beta-hydroxy acid) หรือกรด BHA ซึ่งมีส่วนช่วยในการผลัดเซลล์ผิวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ด้านผิวหนังหลากหลายชนิด
ประโยชน์ของกรดซาลิซิลิกต่อร่างกายมนุษย์
บรรเทาปวด, ลดอักเสบ และลดไข้
กรดซาลิซิลิก ช่วยบรรเทาอาการปวด, ลดไข้ และลดการอักเสบ โดยอาศัยคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างเอนไซม์ Cyclooxygenase (COX) ซึ่งสามารถเปลี่ยนกรดไขมันอะแรคิโดนิก (Arachidonic acid) ให้กลายเป็นพรอสทาแกลนดิน (Prostaglandin)
สารพรอสทาแกลนดินทำหน้าที่กระตุ้นปลายประสาทให้เกิดอาการปวด รวมถึงกระตุ้นการอักเสบ และการอักเสบนี้จะตามมาด้วยการเกิดไข้ กรดซาลิซิลิกจะเข้าไปยับยั้งการผลิตสารนี้ทำให้อาการปวด, อักเสบ และไข้ลดลงได้
ป้องกันภาวะหลอดเลือดอุดตัน
เนื่องจากเอนไซม์ Cyclooxygenase (COX) เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด เอนไซม์นี้สามารถกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวของเกล็ดเลือดเพื่อเริ่มกระบวนการแข็งตัวของเลือด ดังนั้น กรดซาลิซิลิกจะเข้ามายับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ช่วยลดการเกิดก้อนเลือดอุดตัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด
ทั้งนี้ ตัวยาที่นำมาใช้จะอยู่ในรูปแบบแอสไพริน เพราะมีประสิทธิภาพในการต้านการแข็งตัวของเลือด (Anti-platelet aggregation) ดีกว่าและออกฤทธิ์ได้นานกว่ากรดซาลิซิลิก
ประโยชน์ของกรดซาลิซิลิกในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และการรักษาโรคผิวหนัง
- ผลัดเซลล์ผิว ด้วยคุณสมบัติในการเป็นกรด BHA จึงใช้ในการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ให้ผิวกระจ่างใส ลดความหยาบกร้าน และลดเลือนริ้วรอย-จุดด่างดำได้
- ลดการเกิดสิว กรด BHA สามารถละลายได้ดีในไขมัน ทำให้กรดซาลิซิลิกสามารถซึบซาบลงในรูขุมขนได้ดีกว่า พร้อมทั้งช่วยขจัดเซลล์ผิวที่อุดตัน และขจัดไขมันส่วนเกินในรูขุมขนได้ดี ซึ่งทำให้กรดซาลิซิลิกช่วยลดการเกิดสิวอุดตันได้
- ลดการเกิดรังแค โดยอาศัยคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิวที่เกิดหนาและหยาบแห้ง อีกทั้งยังช่วยลดไขมันส่วนเกินในรูขุมขนบนหนังศีรษะ ลดการเกิดรังแคและผม/หนังศีรษะมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ลดความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) โดยกรดซาลิซิลิกร่วมกับสารกลุ่มมอยส์เจอร์ไรเซอร์ จะช่วยผลัดเซลล์ผิวที่แข็งขึ้นจากโรคสะเก็ดเงิน พร้อมทั้งช่วยให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวมีความอ่อนนุ่มมากขึ้น
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้กรดซาลิซิลิก
แม้ว่ากรดซาลิซิลิกทำให้เกิดอาการแพ้ได้น้อยและสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ มันยังมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ที่ควรทราบ ได้แก่
- ระคายเคืองผิวหนัง: เนื่องจากคุณสมบัติการเป็นกรด ผู้ใช้บางรายอาจมีผิวหนังที่ไวต่อการออกฤทธิ์ของกรดซาลิซิลิกได้มากกว่าคนอื่น ๆ เป็นเหตุให้เกิดอาการระคายเคืองผิวได้ โดยอาจมีอาการแสบคันบริเวณผิวหนัง, ผิวหนังแดง หรือบางรายอาจเกิดรอยไหม้ได้ ดังนั้น ควรเริ่มใช้ในปริมาณน้อยและความเข้มข้นต่ำก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคืองในช่วงแรก
- ผิวแห้ง: เป็นผลข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นได้จากคุณสมบัติความเป็นกรด เพราะการผลัดเซลล์ส่วนหนึ่งจะทำให้ผิวชั้นล่างถูกเผยสู่สิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น น้ำและแร่ธาตุใต้ชั้นผิวหนังจะระเหยออกได้มากกว่าปกติ ดังนั้น หลังการใช้กรดซาลิซิลิกทาผิวหนัง ควรตามด้วยการทามอยส์เจอไรเซอร์ และไม่ควรใช้กรดซาลิซิลิกบ่อยครั้งจนเกินไป
- ผิวไวต่อแดด: ในกรณีที่มีการผลัดเซลล์ผิวเกิดขึ้น ผิวหนังที่มีอายุอ่อนกว่าจะไวต่อรังสีอัลตราไวโอเลตและความร้อนจากแสงแดด ร่วมกับผิวหนังที่แห้งมากขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดอาการแสบร้อนตามมา ดังนั้น หลังทากรดซาลิซิลิกแล้ว ควรทาครีมกันแดดป้องกันด้วยเสมอ
- แผลในกระเพาะอาหาร: สำหรับผู้ที่ใช้ยาแอสไพรินชนิดรับประทาน ควรทานยาหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามเยอะ ๆ เพื่อช่วยลดความระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เนื่องจากคุณสมบัติในการยับยั้งเอนไซม์ Cyclooxygenase จะลดการหลั่งเมือกเคลือบกระเพาะอาหาร ทำให้กรดในกระเพาะอาหารทำลายเยื่อบุผิวได้มากกว่าปกติ
- เลือดหยุดช้าและเลือดออกง่าย: จากคุณสมบัติต้านการเกล็ดเลือด ทำให้ผู้ใช้มีภาวะเลือดแข็งตัวช้าเมื่อเกิดแผล ในกรณีที่มีแผลเล็ก ๆ อาจไม่เกิดปัญหามากนัก แต่หากเกิดแผลขนาดใหญ่อาจทำให้เลือดออกมาผิดปกติได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- Salicylic Acid | HOC6H4COOH – PubChem (nih.gov)
- Salicin – an overview | ScienceDirect Topics
- BHA Exfoliants: How They Work | Paula’s Choice (paulaschoice.com)
- 10 things you should know about common pain relievers – Harvard Health