สิวที่คาง เยอะมาก มีสาเหตุ เกิดจากอะไร วิธีรักษาอย่างไรให้เห็นผล?

สิวที่คาง สิวขึ้นคาง คือ หนึ่งในบริเวณที่มีการเกิดสิวขึ้นได้บ่อย ซึ่งการเกิดสิวที่คางนั้นเป็นปัญหาที่สามารถพบเจอได้กับทุกเพศและทุกวัย และมีสาเหตุในการเกิดสิวได้หลากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและในเพศหญิง จะพบเจอได้บ่อยกว่าวัยอื่นๆ หรือเพศชาย โดยสาเหตุของสิวขึ้นคางมักเกิดจากฮอร์โมนเป็นหลัก ระดับของฮอร์โมน และความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมีส่วนในการเกิดสิวบริเวณคาง และอาจทำให้มีการเห่อขยายต่อเป็นวงกว้างได้

ซึ่งปัญหาสิวอาจก่อให้เกิดความรำคาญใจ และส่งผลกระทบต่อจิตใจ ทำให้รู้สึกสูญเสียความมั่นใจไปได้มากเลยทีเดียว แต่ฮอร์โมนเองก็ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดในการเกิดสิว แต่ยังคงมีปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมที่อาจก่อให้เกิดสิวบริเวณคาง สำหรับผู้ที่กำลังประสบกับปัญหาสิวในบริเวณคางอยู่ สามารถที่จะทำความเข้าใจถึงสาเหตุหลักของการเกิดสิวในบริเวณนี้ รวมไปถึงแนวทางวิธีการรักษาสิวให้หายขาด สามารถรักษาได้อย่างไร?

สิวขึ้นคาง กรอบหน้า คืออะไร?

สิว เป็นสิวที่คาง คือ หนึ่งในอาการทางผิวหนัง (Acne Vulgaris) เป็นภาวะความผิดปกติของบริเวณรูขุมขนและต่อมไขมันในรูขุมขน (Pilosebaceous unit) เมื่อต่อมไขมันในรูขุมขนเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการอุดตันอาจจะทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นติดเชื้อ กลายเป็นสิวอักเสบได้ ซึ่งการเกิดสิวบริเวณคาง จะรวมไปถึงการเกิดสิวใต้คาง การเกิดสิวขึ้นกรอบหน้า และการเกิดสิวในบริเวณของสันกรามด้วย การเกิดสิวในบริเวณคางนั้นมีปัจจัยในการเกิดได้หลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสะอาด ความไม่สมดุลหรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย การระคายเคืองของผิวหนัง รวมไปถึงพันธุกรรมเอง ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดสิวในบริเวณคางด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อเกิดการอุดตันภายในรูขุมขน จากไขมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายไปแล้ว สามารถทำให้เกิดสิวบริเวณคางได้หลายลักษณะ ยกตัวอย่างเช่น การเกิดสิวหัวดำ, สิวหัวขาว หรือสิวซีสต์

เป็นสิวที่คาง สิวขึ้นคาง เกิดจากอะไร?

  1. การเพิ่มจำนวนของเซลล์ในรูขุมขนที่มากเกินไป (Follicular epidermal hyperproliferation) คือ การที่เซลล์ชั้นหนังกำพร้าหนาตัวขึ้นผิดปกติที่บริเวณท่อรูขุมขน โดยปกติแล้วผิวหนังของเราจะมีการผลัดเซลล์ออกตามปกติ แต่หากมีการผลัดออกมามากกว่าปกติ และมีการอุดตันอยู่ที่รูขุมขนรวมกับเคราติน (Keratin), แบคทีเรีย และน้ำมันจากต่อมไขมัน (Sebum) อาจก่อให้เกิดปัญหาสิวอุดตัน (Comedones) ได้
  2. ต่อมไขมันมีการผลิตน้ำมันที่มากจนเกินไป (Sebum production) เมื่อน้ำมันจากต่อมไขมัน (Sebum) มีจำนวนที่มากจนเกินไป จะทำให้แบคทีเรีย C.acnes (Cutibacterium acnes) ที่เป็นตัวกระตุ้นในการเกิดสิว มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะทำให้กรดลิโนเลอิก (Linoleic Acid) ลดลง ทำให้มีการผลัดเซลล์ผิวมากขึ้นกว่าเดิม
  3. การทำงานของแบคทีเรีย C.acnes (Cutibacterium acnes) ที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ และทำให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวหนังมากขึ้นกว่าปกติ
  4. การตอบสนองของภูมิคุ้มกัน (Inflammation and immune response) เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ชั้นผิวหนัง การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันอาจทำให้เกิดการอักเสบ และอาจทำให้เกิดการอุดตันได้
รูปภาพประกอบจาก Freepik

สิวขึ้นคางเยอะมาก เกิดจาก ปัจจัยกระตุ้นอะไรได้บ้าง?

การเกิดสิวที่คาง นอกจากสาเหตุการเกิดข้างต้น มักมีสิ่งกระตุ้นการเกิดสิว มีปัจจัยต้นเหตุหลัก 3 สาเหตุใหญ่ดังต่อไปนี้

  1. ความไม่สมดุลและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เมื่อในร่างกายมีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) มากขึ้น จะส่งผลให้เซลล์ในต่อมไขมัน (Sebocyte) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการผลิตน้ำมันที่มากขึ้นด้วย ทำให้เซลล์ผิวหนังในรูขุมขน (Keratinocyte) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเกิดการอุดตันได้และเกิดสิวได้ง่ายมากกว่าปกติ
  2. พันธุกรรม มีการพบว่าพันธุกรรม หรือ กรรมพันธุ์ญาติสายตรง ที่มี พ่อ, แม่, พี่, น้อง มีปัญหาการเกิดสิวบริเวณต่างๆ จะทำให้พบปัญหาแนวโน้มการเกิดสิวในบริเวณเดียวกันได้ง่ายเช่นเดียวกัน และยังพบความสัมพันธ์ในเรื่องของความมันของผิว และลักษณะของสิวที่เกิดขึ้นคล้ายกัน
  3. การสะสมของสิ่งแปลกปลอม หากมีการสัมผัสบริเวณคางอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะจากการจับโดยไม่รู้ตัว หรือการนั่งเท้าคาง จะทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียบริเวณคางได้ง่าย รวมไปถึงการเสียดสีของหน้ากากอนามัย หรือการสะสมเชื้อแบคทีเรียของหน้ากากอนามัยเอง ก็ส่งผลต่อการอุดตันและทำให้ผิวบริเวณคางอักเสบ เกิดสิวในบริเวณนี้ได้เช่นเดียวกัน

ปัจจัยการเพิ่มระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) มีอะไรบ้าง?

ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) หรือ เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนเพศชาย เป็นฮอร์โมนที่จะทำการกระตุ้นต่อมน้ำมัน และทำให้เกิดสิวได้ง่าย ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้มีอยู่ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ในผู้หญิงที่มีความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ในช่วงก่อนมีประจำเดือน จะส่งผลให้เกิดสิวบริเวณคางได้ง่ายมากกว่าปกติ เนื่องจากฮอร์โมน LH หรือ Luteinizing hormone จะมีการกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) จากรังไข่และต่อมหมวกไตนั่นเอง แต่นอกเหนือไปจากปัจจัยกระตุ้นการเพิ่มระดับฮอร์โมนตามธรรมชาติของเพศหญิงแล้ว ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ยังมีปัจจัยการกระตุ้นอื่นๆ อาทิเช่น

  • ความเครียด หรือการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
  • การสูบบุหรี่
  • การรับประทานอาหารที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด
  • ต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ
  • การใช้ยาบางชนิด

วิธีการรักษา สิวที่คาง สิวขึ้นคาง รักษาได้อย่างไร?

การรักษาสิวปัจจุบันมีตัวเลือก แนวทางการรักษาให้เลือกมากมาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพผิวแต่ละบุคคล และความรุนแรงของปัญหาสิวที่เกิด ก่อนทำการรักษาสามารถเข้ารับการวินิจฉัยความรุนแรงจากแพทย์ผิวหนังโดยเฉพาะ เพื่อรับคำปรึกษาและรักษาตามแนวทางที่เหมาะสม

  • ยาคุมกำเนิด มักถูกนำเอามาใช้เพื่อควบคุมฮอร์โมน ช่วยให้ฮอร์โมนกลับสู่สภาวะปกติ
  • ยาปฏิชีวนะ สามารถช่วยฆ่าเชื้อลดแบคทีเรีย ที่ก่อให้เกิดสิวได้
  • ยารักษาสิวประเภทไอโซเทรติโนอิน (Isotretinoin) ยารับประทานเพื่อรักษาสิว
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ เจลแต้มสิว เพื่อบรรเทาลดอาการอักเสบ
  • การกดสิว เพื่อกดนำเอาสิ่งอุดตันภายในออก
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ เพื่อลดการก่อตัวของแบคทีเรียบนใบหน้า
รูปภาพประกอบจาก Freepik

วิธีการป้องกันไม่ให้เป็นสิวที่คางซ้ำๆ?

ถึงแม้การเกิดสิวบริเวณคาง อาจมีปัจจัยในการเกิดสิวที่หลีกเลี่ยงได้ยาก อย่างเช่น ฮอร์โมน และกรรมพันธุ์ แต่การเกิดสิวที่บริเวณคางเองยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดสิวเช่นเดียวกัน หากหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงเหล่านี้ สามารถที่จะลดโอกาสในการเกิดสิวบริเวณคางได้ด้วยเช่นเดียวกัน

  1. การทำความสะอาดผิวหน้าและผิวกาย ด้วยสบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่มีความอ่อนโยน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  2. หลีกเลี่ยงการเลือกรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง และนมพร่องมันเนยที่มี IGF-1
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าระหว่างวัน หรือการจับบริเวณต่างๆ ของใบหน้า
  4. หาวิธีขจัดหรือบรรเทาความเครียด ทำจิตใจให้ผ่อนคลายอยู่เสมอ
  5. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงที่ปราศจากน้ำมัน หลีกเลี่ยงการอุดตันของรูขุมขน
  6. เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ด้วยการเลือกใช้ มอยเจอร์ไรเซอร์ ที่เหมาะกับสภาพผิว
  7. ทำความสะอาดเครื่องนอนอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  8. สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด เพื่อลดสิ่งสกปรกและแบคทีเรีย
  9. พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาระดับฮอร์โมน
  10. ลด ละ เลิกบุหรี่

สรุป สิวขึ้นคาง สิวที่คาง

การเกิดสิวที่คาง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หลายปัจจัยที่ไปกระตุ้นการเกิดสิว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน กรรมพันธุ์ หรือการสะสมสิ่งสกปรกบนผิวหนัง หากเราทราบถึงสาเหตุปัจจัยเสี่ยง ที่อาจก่อให้เกิดสิวในบริเวณคาง และกำลังประสบกับปัญหาเหล่านี้อยู่ สามารถที่จะทำการรักษาอย่างถูกต้องได้ด้วยการปรึกษาและขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ และเหมาะสมกับลักษณะของสิวที่เกิดขึ้นในบริเวณคาง และในการรักษาสิวด้วยวิธีการรับประทานยาหรือการใช้ยารักษาภายนอก ควรได้รับการพิจารณาจากแพทย์อย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัย ไม่ควรเลือกซื้อยามาเพื่อใช้และรักษาด้วยตัวเอง เนื่องจากบาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้รักษาได้

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงบางส่วน จากแหล่งที่มา

Scroll to Top