คลอไรด์ (Chloride) คืออะไร มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร?

คลอไรด์ (Chloride) คือ สารอนินทรีย์ที่เป็นไอออนของคลอรีน (Chlorine) พบได้ในรูปของสารประกอบโซเดียมคลอไรด์ (เกลือแกง) และสามารถรวมกับสารประกอบอื่น ๆ ได้หลากหลายชนิด

คลอไรด์จัดเป็นหนึ่งในแร่ธาตุที่มีความสำคัญกับร่างกายมนุษย์ มีบทบาทในหลากหลายกระบวนการทางชีวเคมี การได้รับคลอไรด์ในปริมาณมากหรือน้อยเกินไป สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายจนอาจเสียชีวิตได้ และนอกจากความสำคัญต่อการดำรงชีวิตแล้ว คลอไรด์ยังถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอางและยาด้วย

Chloride
ที่มาของภาพ Freepik

หน้าที่และความสำคัญของคลอไรด์ในร่างกายมนุษย์

  • รักษาสมดุลของน้ำ และความเป็นกรด-ด่าง: คลอไรด์ช่วยควบคุมปริมาณและชนิดของสารหรือของเหลว ที่เข้า-ออกจากเซลล์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามความเข้มข้นของคลอไรด์ที่อยู่ในกระแสเลือด นอกจากนี้ เนื่องจากคลอไรด์มีค่าเป็นประจุลบและสามารถแตกตัวออกจากโมเลกุลต่าง ๆ ได้ จึงมีบทบาทในการช่วยรักษาค่าความเป็นกรด-ด่าง ลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเซลล์จากความไม่สมดุลของกรด-ด่างได้
  • ช่วยในกระบวนการส่งกระแสประสาท: คลอไรด์จะทำงานร่วมกับโซเดียมและโพแทสเซียม ในการเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสประสาท เดินทางจากเซลล์ประสาทต้นทางไปยังเซลล์ประสาทปลายทาง ชักนำให้เกิดการตอบสนองอย่างเป็นธรรมชาติของมนุษย์
  • ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อ: คลอไรด์จะช่วยควบคุมการเคลื่อนที่ของน้ำและอิเล็กโทรไลต์ ในเซลล์ของกล้ามเนื้อลายและกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้เกิดการหด-คลายตัวของกล้ามเนื้ออย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยย่อยอาหาร: กรดในกระเพาะอาหาร คือ กรดไฮโดรคลอริก ซึ่งมีสูตรทางเคมี HCl จึงจะเห็นได้ว่าคลอไรด์คือส่วนประกอบสำคัญในการสร้างกรดชนิดนี้ นอกจากจะช่วยย่อยอาหารแล้ว กรดแก่ความเข้มข้นสูงนี้ยังช่วยทำลายเชื้อโรคในอาหารได้อีกด้วย หากร่างกายได้รับคลอไรด์ไม่เพียงพอจะเกิดปัญหาในการสร้างกรดไฮโดรคลอริกได้
bloodstream
ที่มาของภาพ Euro Chlor

ปริมาณคลอไรด์ที่มากหรือน้อยเกินไป (Chloride Imbalance) ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร?

  • ภาวะคลอไรด์ในเลือดสูง (Hyperchloremia): ภาวะนี้พบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียรุนแรง, ผู้ที่บริโภคเกลือในปริมาณมาก, การได้รับยาเคมีบำบัด รวมถึงโรคแอดดิสัน (Addison’s disease) ซึ่งเกิดจากต่อมหมวกไตไม่ผลิตฮอร์โมนควบคุมเกลือแร่ในร่างกาย ภาวะคลอไรด์ในเลือดสูงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย, บวมน้ำ, ความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อเป็นตะคริว อาจรุนแรงจนมีอาการชักได้
  • ภาวะคลอไรด์ในเลือดต่ำ (Hypochloremia): ภาวะนี้พบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนรุนแรง, โรคหัวใจล้มเหลว, โรคปอดเรื้อรัง, ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดเป็นด่าง หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาขาดฮอร์โมนควบคุมน้ำในร่างกาย ซึ่งจะทำให้มีอาการขาดน้ำแต่ปัสสาวะออกมาก, อ่อนเพลีย หรือหายใจลำบาก และมักมาพร้อมกับภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia)
sick
ที่มาของภาพ Freepik

แหล่งอาหารที่อุดมด้วยคลอไรด์ และปริมาณที่แนะนำให้บริโภค

ปริมาณของคลอไรด์ที่แนะนำให้บริโภคต่อวันอาจแตกต่างกันไปตามอายุและเพศของผู้บริโภค ทั้งนี้จากข้อมูลหน่วยบริโภคอ้างอิง (The dietary reference value – DRV) แนะนำให้ผู้บริโภครับประทานคลอไรด์เฉลี่ย 3 กรัมต่อวัน และไม่ควรเกิน 5 กรัมต่อวัน

อาหารที่อุดมด้วยคลอไรด์ ได้แก่

  • เกลือแกง
  • เครื่องปรุงรส เช่น ซอสถั่วเหลือง
  • มะกอก
  • ผลิตภัณฑ์จากนมและชีส
  • ของหมักดอง
  • อาหารทะเล
  • ไข่
  • มะเขือเทศ
  • ผักกาดหอม

เนื่องจากคลอไรด์เป็นแร่ธาตุที่พบได้ในง่ายในอาหารและเครื่องปรุงที่รับประทานประจำวัน ส่วนมากจึงไม่ค่อยพบปัญหาการขาดคลอไรด์ในเลือด เว้นเสียแต่จะเกิดโรคบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับไตและต่อมไร้ท่อ ที่ทำให้ร่างกายขับเกลือในร่างกายออกมากผิดปกติ จนทำให้เกิดภาวะคลอไรด์ในเลือดต่ำ (Hyperchloremia)

Seafood source of Chloride
ที่มาของภาพ Freepik

ประโยชน์ของคลอไรด์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

คลอไรด์เป็นแร่ธาตุที่หาได้ง่าย และพบได้ในโมเลกุลของสารประกอบหลายชนิด แร่ธาตุชนิดนี้จึงถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอาง, เวชสำอาง และยาอย่างกว้างขวาง ซึ่งประโยชน์ของคลอไรด์ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ได้แก่

  • ยึดโมเลกุลส่วนผสม: เนื่องจากคอลไรด์เป็นแร่ธาตุที่มีประจุลบ และมีความชอบอิเล็กตรอนสูงมาก (High electronegativity) จึงสามารถดึงดูดให้ธาตุชนิดอื่นเข้ามาทำปฏิกิริยาให้กลายเป็นโมเลกุลเสถียร ดังนั้น คลอไรด์จึงเหมาะที่จะใช้เป็นอนุภาคยึดโมเลกุลของส่วนผสมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
  •  ช่วยผลัดเซลล์ผิว: คลอไรด์สามารถทำลายพันธะของเยื่อหุ้มเซลล์บนผิวหนังที่หยาบกร้าน ให้กระบวนการผลัดเซลล์เกิดได้เร็วขึ้นเช่นเดียวกับสารกลุ่ม AHA และ BHA อีกทั้งยังช่วยเพิ่มกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้ผิวหนังสุขภาพดีขึ้นด้วย ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้สครับผิวจึงมีคลอไรด์เป็นหนึ่งในส่วนผสมสำคัญ
  • เพิ่มเนื้อสัมผัส: คลอไรด์ช่วยเพิ่มความข้นเหนียวของผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เกิดเป็นเนื้อครีม, โลชั่น หรือเซรัมได้ตามต้องการ
  • เป็นสารกันเสียตามธรรมชาติ: คลอไรด์มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย อีกทั้งยังลดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ จึงกล่าวได้ว่าคลอไรด์มีคุณสมบัติเป็นสารการเสียหรือสารกันบูดตามธรรมชาติ
  • ออกฤทธิ์ฝาดสมาน: กรณีที่คลอไรด์เกิดเป็นไอออนเดี่ยว จะมีรสชาติฝาดขม ซึ่งคุณสมบัติของความฝาดนี้ ทำให้คลอไรด์มีฤทธิ์สมานรอยปริแตกขนาดเล็กบนผิวหนังได้ การผสมคลอไรด์ลงในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจะช่วยลดเลือนริ้วรอยต่าง ๆ และช่วยกักเก็บน้ำไม่ให้ระเหยออกตามรอยปริแตกของผิวหนังได้อีกด้วย
Chloride cream
ที่มาของภาพ Freepik

ขอขอบคุณที่มาจาก

Eufic

Cleveland Clinic.org

Healthline.com

Hypochloremia: Levels, Symptoms, Treatment, and More (healthline.com)

Hyperchloremia (high chloride): Symptoms, causes, and treatments (medicalnewstoday.com)

Scroll to Top