ยูเรีย (Urea) คืออะไร ทำหน้าที่อะไร ช่วยเรื่องผิวได้อย่างไรบ้าง ?

ยูเรีย (Urea) คือ สารที่ใช้เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง (Moisturizing effect) รักษาสภาวะผิวแห้ง หยาบกร้าน และกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายให้หลุดออก รวมถึงช่วยกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายในแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น

โดยยูเรียสามารถใช้ในการรักษาโรคผิวหนังบางชนิดและอาการคันได้ อาทิ โรคผิวหนังอักเสบผื่นแพ้ (Eczema) โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ตาปลา (Corns) หรือแคลลัส (Callus) โรคหนังแข็ง (Scleroderma) หรือ เล็บขบ (Ingrown nails) นอกจากนี้ ยูเรีย ยังเป็นที่รู้จักโดยทั่วกันในอีกชื่อคือ ยาลอกผิวหนัง (Keratolytic) เพราะกระบวนการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุด หรือชั้นผิวหนังกำพร้า (Epidermis) ที่ตายแล้วให้หลุดลอก ทำให้ผิวบริเวณนั้นนุ่มขึ้น กักเก็บน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวได้มากกว่าเดิม

อีกข้อเท็จจริงของยูเรียที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง คือ ยูเรียเป็นส่วนประกอบหนึ่งของกลุ่มสารที่ให้ความชุ่มชื้น หรือที่เรียกว่า Natural Moisturizing Factor เรียกโดยย่อว่า NMF ซึ่งพบได้ในผิวหนังชั้นนอกสุด หาก NMF ไม่สมบูรณ์ จะส่งผลให้ผิวสูญเสียน้ำ ความยืดหยุ่น แห้งกร้าน จนหลุดลอกลอกได้ โดยปริมาณของยูเรียใน NMF จะลดลงไปตามอายุที่มากขึ้นเช่นกัน 

ยูเรียในผลิตภัณฑ์บํารุงผิว (Skincare Products)

ปัจจุบันสารยูเรียถูกนำมาผสมเป็นสารประกอบในผลิตภัณฑ์บํารุงผิวหลากหลายรูปแบบ โดยมีสัดส่วนในปริมาณ 5-20% อาทิ ครีม (Cream) โลชั่น (Lotion) อิมัลชั่น (Emulsion)

ซึ่งความเข้มข้นของยูเรียที่ต่างกัน ก็ออกฤทธิ์และให้ผลลัพธ์แตกต่างกัน คือ

  • ยูเรียความเข้มข้น ต่ำกว่า 10% : ยูเรียจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น จึงมีการนำไปใช้ในกลุ่มโรคผิวหนังที่มีภาวะแห้ง อาทิ
  • ภาวะผิวแห้ง (Dry skin หรือ Xerosis) เกิดขึ้นจากภาวะที่น้ำมันเคลือบผิวลดลง จากการที่ต่อมไขมันผลิตน้ำมันลดลง สูญเสียน้ำในผิวหนัง ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น ผิวแห้งเป็นขุยไม่เรียบเนียน และมีอาการคัน
  • โรคผิวหนังเกล็ดปลา (Ichthyosis) คือลักษณะอาการที่ผิวหนังหนา แห้ง แตกเป็นเกล็ดคล้ายเกล็ดปลา เป็นกลุ่มของโรคผิวหนังทางพันธุกรรมอย่างหนึ่ง มีความรุนแรงหลากหลายระดับ
  • โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) คือลักษณะอาการผิวหนังแห้งอักเสบ มีอาการคัน โดยเฉพาะเวลากลางคืน มักมีอาการเรื้อรัง และหากติดเชื้ออาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ มีน้ำเหลืองไหล เกิดเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง
  • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน และไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถดูแลไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นได้ คือลักษณะอาการอักเสบของผิวหนัง เป็นขุยสีขาว เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดพลาด
  • ยูเรียความเข้มข้น เกิน 10% ขึ้นไป : นอกจากจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแล้ว ยูเรียจะออกฤทธิ์ช่วยผลัดเซลล์ผิวด้วย (Keratolytic effect) จึงมีการนำไปใช้ในกลุ่มโรคผิวหนังที่หนา อาทิ
  • ตาปลา (Corns) อาการผิวหนังที่แข็งตัวจนเกิดเป็นชั้นตุ่มหนา มักเกิดบริเวณบนฝ่าเท้า หรือด้านบน-ด้านข้างของนิ้วเท้า และโรคตาปลามักก่อให้เกิดความรำคาญ หากอักเสบรุนแรงจะเจ็บปวดมาก 
  • หูด (Warts) คือโรคติดต่อทางผิวหนังชนิดหนึ่ง เป็นกลุ่มโรคที่ถูกกระตุ้นจากเชื้อไวรัสตระกูล HPV (Human Papilloma Virus) ที่มีเชื้อสายถึง 40 สายพันธุ์ โดยหูดมีอยู่หลากหลายชนิดเช่นกัน เช่น

*หูดธรรมดา (Common Warts) ลักษณะเป็นตุ่มนูนแข็งที่มีผิวขรุขระ สีเหมือนผิวหนังหรือออกสีดำ มักพบรอยโรคบริเวณแขน เข่า หรือบริเวณอื่นๆ หูดสามารถขึ้นทีละเม็ด หรือหลายเม็ดพร้อมกันก็ได้

*หูดฝ่ามือฝ่าเท้า (Palmoplantar Warts) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก มักพบรอยโรคที่ผิวหนังชั้นนอกสุด บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า

*หูดหงอนไก่ (Genital Warts หรือ Condyloma Acuminatum) มีลักษณะเป็นตุ่ม ผิวขรุขระคล้ายหงอนไก่ มักพบรอยโรคได้บ่อยที่บริเวณอวัยวะเพศ หรือที่อับชื้น และเกิดได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง จากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) สายพันธุ์ 6 และ 11

นอกจากนี้ ยูเรียครีมยังใช้ทาร่วมกับยาตัวอื่น เพื่อเสริมการรักษาโรคอื่นได้ด้วย เช่น

  • ครีมยูเรียความเข้มข้น 10% ใช้ร่วมกับยาสเตียรอยด์ Hydrocortisone หรือ Betamethasone 17-valerate เพื่อรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มีลักษณะการอักเสบของผิวหนังเรื้อรัง 
  • ครีมยูเรียความเข้มข้น ใช้ร่วมกับ ยาสเตียรอยด์ hydrocortisone 1% , เซรั่มผลัดเซลล์ผิว Salicylic acid 2% ที่มีกรดซาลิไซลิก เพื่อรักษาโรคผิวหนังแห้งแต่กำเนิด (Ichthyosis vulgaris) ซึ่งพบอยู่ในกลุ่มโรคผิวหนังเกล็ดปลา
  • ครีมยูเรียความเข้มข้น 10 – 40% ใช้ร่วมกับ dithranol เพื่อรักษาอาการโรคสะเก็ดเงิน ฤทธิ์ของตัวยานี้ คือกดการแบ่งเซลล์ของผิวหนังบริเวณที่เกิดโรค เพื่อชะลอการลุกลามของโรค โดยตัวยานี้ต้องใช้เวลาในการรักษาหลายสัปดาห์
  • ครีมยูเรียความเข้มข้น 40% ใช้ร่วมกับ Fluconazole 1% เป็นตัวยาที่ใช้ในการป้องกันและรักษาอาการติดเชื้อราและยีสต์ต่าง ๆ บนผิวหนังภายนอก

อย่างไรก็ตาม ควรเลือกครีมที่มีความเข้มข้นของยูเรียให้เหมาะสมกับโรค เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีที่สุด

ปริมาณการใช้ยา Urea Cream

ยายูเรีย ควรใช้ในปริมาณที่แพทย์กำหนด ซึ่งแต่ละชนิดมีปริมาณแตกต่างกันไป โดยส่วนมากแพทย์จะให้ทายายูเรียบาง ๆ นวดจนกว่ายาจะซึมสู่บริเวณผิวหนังที่ต้องการรักษา วันละ 1-3 ครั้ง

การใช้ยา Urea Cream

  • ควรใช้ยายูเรียให้ถูกวิธีและอยู่ในปริมาณที่กำหนดตามที่ระบุในฉลาก หรือตามแพทย์สั่ง
  • ใช้ยายูเรียเพียงในระยะเวลาที่แพทย์กำหนด ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • ห้ามใช้ยายูเรียร่วมกับผู้อื่น
  • ล้างมือให้สะอาดก่อน-หลังทายาเสมอ
  • ทำความสะอาดผิวหนังและซับผิวให้แห้งก่อนทายา
  • หากลืมทายายูเรีย และยังไม่ใกล้กับเวลาที่ต้องทายาครั้งถัดไป ให้ทายาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ และห้ามทายาในปริมาณที่มากขึ้น
  • หากจำเป็นต้องมีการใช้ผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ปิดแผลบริเวณผิวหนังที่ต้องทายา ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มการรักษา
  • หากใช้ยายูเรีย แล้วเกิดอาการผิดปกติ หรือรอยโรคไม่ดีขขึ้น ให้ไปพบแพทย์ทันที

ข้อควรระวังในการใช้ยายูเรีย

  • ใช้ยาตามที่แพทย์กำหนด เช่นใช้ยาตามใบสั่งและข้อบ่งใช้บนบรรจุภัณฑ์ รวมถึงใช้ยาตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ที่ดีจากตัวยา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบริเวณที่อ่อนไหวและแพทย์ไม่ได้สั่งให้ใช้ อาทิ รอบดวงตา ริมฝีปาก เยื่อบุปากหรือจมูก บริเวณช่องคลอดหรือขาหนีบ
  • หญิงตั้งครรภ์ ควรเลี่ยงการทาบริเวณหน้าอก เพื่อป้องกันเวลาให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการทายาในบริเวณแผลเปิด 
  • หากใช้ยาแล้วมีอาการแพ้ หรือไม่พึงประสงค์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

ผลข้างเคียงที่ผิดปกติจากการใช้ยา Urea Cream

อาการผิวหนังแดง ระคายเคือง แสบร้อน คัน เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ และจะดีขึ้นเมื่อหยุดใช้ยายูเรีย แต่ยังมีอาการผิดปกติอื่น ๆ และอาการแพ้ยาที่ควรไปพบแพทย์ ดังนี้

  • เวียนศีรษะอย่างรุนแรง
  • มีอาการบวมตามใบหน้า ลิ้น หรือลำคอ
  • หายใจหรือพูดลำบาก เสียงแหบ
  • แน่นหน้าอกหรือลำคอ
  • ผิวหนังแดง เป็นผื่น ลอก บวม ระคายเคืองผิวอย่างรุนแรง
  • มีอาการผิวหนังติดเชื้อ คือ เป็นผื่นแดง บวม ร้อน เกิดการลุกลามขอบเขตไม่ชัดและมีอาการปวดร่วมกับเป็นไข้

การเก็บรักษายายูเรีย

ยายูเรียควรเก็บในอุณหภูมิห้อง ปราศจากแสงแดดและความชื้น คือไม่ควรเก็บในตู้เย็น หรือห้องน้ำ เพราะจะทำให้ตัวยาเสียหาย รวมถึงควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กเล็ก หรือสัตว์เลี้ยง

สรุปแล้ว

ยูเรีย (Urea) คือ ตัวยาที่มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว (Moisturizing effect) อีกทั้งช่วยให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหลุดลอกออก เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาสภาวะผิวแห้ง และรักษาแผลหรือโรคกลุ่มผิวหนังอักเสบให้หายดี ปัจจุบันสารยูเรียถูกนำมาผสมเป็นสารประกอบในผลิตภัณฑ์บํารุงผิวหลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบ ครีม (Cream) โลชั่น (Lotion) อิมัลชั่น (Emulsion) ในสัดส่วนปริมาณ 5-20%

นอกจากนี้ ยูเรียครีมยังใช้ทาร่วมกับยาตัวอื่น เพื่อเสริมการรักษาโรคอื่นได้ด้วย อาทิ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) โรคผิวหนังแห้งแต่กำเนิด (Ichthyosis vulgaris) หรือ โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) อย่างไรก็ตาม การใช้ยูเรียครีม อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ อาทิ ผิวหนังบริเวณที่ทายาเกิดการระคายเคือง หรือแสบคัน หากหยุดยาแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว ทั้งนี้ ไม่ควรทายูเรีย ครีมบริเวณรอบดวงตา ริมฝีปาก ช่องคลอด หรือขาหนีบ และตามผิวหนังที่มีรอยไหม้ รอยแตก หรือรอยถลอก เพราะอาจยิ่งทำให้ผิวหนังเกิดปัญหาหรือแพ้รุนแรงได้ ยายูเรีย ควรใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำหนด เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา และความปลอดภัยของผู้ใช้ยา

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top