ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) คืออะไร มีประโยชน์และโทษอย่างไร?

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) หรือในอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า ไตรเอซิลกลีเซอรอล (Triacylglycerol) คือ สารจำพวกลิปิด (Lipid หรือบางครั้งนิยมเรียกรวมกันว่า ไขมัน) ที่พบเจอได้บ่อยในชีวิตประจำวัน โดยโครงสร้างทางเคมีของไตรกลีเซอไรด์ จะประกอบด้วย กลีเซอรอล 1 โมเลกุล ทำปฏิกิริยา Esterification กับกรดไขมัน 3 โมเลกุล

ไตรกลีเซอไรด์จัดเป็นหนึ่งในสารอาหารให้พลังงานหลักของร่างกาย และสามารถจัดเก็บเป็นพลังงานสะสมภายในร่างกายได้ ซึ่งรายละเอียดจะขอกล่าวในลำดับถัดไป

ที่มาของภาพ Unsplash

คุณสมบัติทางเคมีของไตรกลีเซอไรด์

การทำปฏิกิริยาระหว่างกลีเซอรอลและกรดไขมัน จะได้โมเลกุลของกลีเซอไรด์ ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามจำนวนของกรดไขมันที่เข้ามาทำปฏิกิริยา โดยกลีเซอรอล 1 โมเลกุล สามารถทำปฏิริยากับกรดไขมันได้ทั้ง 1, 2 และ 3 พันธะ และถูกเรียกว่า โมโนกลีเซอไรด์, ไดกลีเซอไรด์ และไตรกลีเซอไรด์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ไตรกลีเซอไรด์จะเป็นรูปที่พบได้บ่อยสุด รวมถึงไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกายของมนุษย์ก็จะอยู่ในรูปไตรกลีเซอไรด์เสียส่วนใหญ่

Triglyceride vs. Licithin
โมเลกุลของไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เทียบกับโมเลกุลของเลซิติน (Lecithin)
ที่มาของภาพ Nutrition: Science and Everyday Application, V. 1.0

อนึ่ง แม้สารในกลุ่มลิปิดบางชนิด เช่น เลซิติน จะประกอบด้วยกลีเซอรอลและกรดไขมัน แต่จะไม่จัดเป็นกลุ่มย่อยของไตรกลีเซอไรด์ เนื่องจากมีอย่างน้อย 1 พันธะของกลีเซอรอลที่จับคู่กับสารประกอบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่กรดไขมัน อย่างในกรณีของเลซิตินจะมีการจับคู่พันธะกับหมู่ฟอสเฟตด้วย ดังนั้น เลซิตินจึงไม่จัดเป็นโมเลกุลของกลีเซอไรด์

ในทางเคมีอินทรีย์ ไตรกลีเซอไรด์จัดอยู่ในสารประกอบอินทรีย์ประเภทเอสเทอร์ (Ester) เพราะเกิดการทำปฏิกิริยาระหว่างหมู่แอลกอฮอล์ (กลีเซอรอล) และกรดอินทรีย์ (กรดไขมัน) จนได้เกิดพันธะของหมู่ฟังก์ชันที่เรียกว่า แอลคอกซีคาร์บอนิล (Alkoxy carbonyl) แม้กระทั่งน้ำหอม, พลาสติก หรือยาแอสไพริน ก็มีสารตั้งต้นเป็นสารประกอบประเภทเอสเทอร์ด้วยเช่นกัน

ร่างกายย่อยสลายไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างไร?

เมื่ออาหารจำพวกไขมันและน้ำมัน (ที่มีไตรกลีเซอไรด์เป็นส่วนประกอบ) ผ่านเข้ามาในทางเดินอาหาร น้ำดีภายในลำไส้เล็กจะตีให้ไขมันและน้ำมันกลายเป็นหยดน้ำมันขนาดเล็ก หลังจากนั้นน้ำย่อยจากตับอ่อนที่มีชื่อว่าไลเปส (Lipase) จะย่อยสลายพันธะเอสเทอร์ของไตรกลีเซอไรด์ ให้เหลือเพียงโมโนกลีเซอไรด์และกรดไขมัน

หากกรดไขมันเป็นชนิดสายพันธะสั้นหรือกลาง (Shot-chain fatty acid และ Medium-chain fatty acid) จะสามารถดูดซึมผ่านเซลล์ของผนังลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือดได้ทันที แต่สำหรับกรดไขมันชนิดสายพันธะยาว (Long-chain fatty acid) และโมโนกลีเซอไรด์จะมีขนาดใหญ่เกิดไป จึงถูกลำเลียงผ่านท่อน้ำเหลือง Lacteal แทน

การย่อยสลายไตรกลีเซอไรด์ในทางเดินอาหาร
ที่มาของภาพ Nutrition: Science and Everyday Application, V. 1.0

ก่อนที่กรดไขมันชนิดสายพันธะยาวและโมโนกลีเซอไรด์จะถูกส่งเข้าไปในท่อน้ำเหลือง จะเกิดการรวมกลุ่มกันให้กลายเป็นไตรกลีเซอไรด์อีกครั้งภายในเซลล์ผนังลำไส้เล็ก และรวมเข้ากับไลโปโปรตีน (Lipoprotein) และสารฟอสโฟลิปิด เช่น เลซิติน กลายเป็นก้อนกลมที่เรียกว่า ไคโลไมครอน (Chylomicron) ดังนั้น ภายในไคโลไมครอนจึงอัดแน่นไปด้วยไตรกลีเซอไรด์

ไคโลไมครอนที่ลำเลียงผ่านท่อน้ำเหลืองจะถูกส่งไปยังเซลล์ต่าง ๆ เมื่อถึงปลายทาง เซลล์เป้าหมายจะมีเอนไซม์ไลโปโปรตีน ไลเปส (Lipoprotein lipase) ที่สามารถย่อยผนังของไคโลไมครอน และสลายไตรกลีเซอไรด์ให้กลายเป็นกลีเซอรอลและกรดไขมัน เพื่อนำมาใช้สร้างพลังงานแก่เซลล์ในลำดับถัดไป

เซลล์นำไตรกลีเซอไรด์ไปใช้ได้อย่างไร?

หลังจากที่ไตรกลีเซอไรด์ในไคโลไมครอน ถูกเอนไซม์ไลโปโปรตีน ไลเปสย่อยสลายเป็นกรดไขมันแล้ว กรดไขมันจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการสลายพันธะคาร์บอนที่เรียกว่า เบตาออกซิเดชัน (Beta oxidation) เกิดในไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) องค์ประกอบหนึ่งที่ทำหน้าที่สร้างพลังงานหลักให้แก่เซลล์ และทำหน้าที่หลักในการสลายกรดไขมันให้แก่เซลล์ด้วย

กระบวนการย่อยสลายกรดไขมันในระดับเซลล์
ที่มาของภาพ LibreTexts Biology: Lipid metabolism

กระบวนการเบตาออกซิเดชัน ยังมีขั้นตอนย่อย ๆ อีก 4 ขั้นตอน ได้แก่ Dehydrogenation, Hydration, Oxidation และ Thyolisis ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการตัดพันธะคาร์บอนในโมเลกุลของกรดไขมันออกเป็นคู่ ใน 1 ครั้งของกระบวนการออกซิเดชันจะให้สารสร้างพลังงานที่เรียกว่า ATP ทั้งสิ้น 17 ATP และสารที่ได้หลังจากกระบวนการนี้ จะถูกนำเข้าไปย่อยสลายต่อในวัฏจักรเครบส์ (Krebs cycle) เหมือนกระบวนการย่อยสลายน้ำตาลกลูโคส ซึ่งจะให้พลังงานออกมาด้วยเช่นกัน

เพราะฉะนั้น ยิ่งกรดไขมันมีคาร์บอนมาก จะเกิดการหมุนวนของกระบวนการเบตา ออกซิเดชันหลายครั้ง และทำให้ได้พลังงานมากขึ้นไปด้วย

ร่างกายสะสมไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างไร?

ย้อนกลับไปในขั้นตอนที่ไคโลไมครอนที่บรรจุไตรกลีเซอไรด์อยู่ภายใน กำลังเดินทางไปยังเซลล์เป้าหมาย จะมีไคโลไมครอนบางส่วนที่เดินทางไปยังเซลล์ไขมันที่มีชื่อว่า Adipocyte โดยเซลล์เหล่านี้จะอาศัยพลังงานจากการย่อยสลายกรดไขมันเพื่อใช้ในการดำรงชีพ ทว่า กรดไขมันและกลีเซอรอลที่เหลือจะถูกนำมารวมกันให้กลายเป็นไตรกลีเซอไรด์อีกครั้ง และถูกเก็บเป็นไขมันสะสมในร่างกาย เพื่อไว้ใช้ในยามที่ร่างกายต้องการพลังงานชั่วคราวนั่นเอง

การสะสมของไตรกลีเซอไรด์หลังการย่อยสลายในทางเดินอาหาร
ที่มาของภาพ Journal of Food Science and Technology: Essential fatty acids as functional components of foods

ประโยชน์ของไตรกลีเซอไรด์ต่อร่างกายมนุษย์

แหล่งพลังงานที่สำคัญ

ไตรกลีเซอไรด์ หรือกล่าวง่าย ๆ คือ สารอาหารประเภทไขมัน เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานมากที่สุดในหน่วยบริโภคเท่ากัน เมื่อเทียบกับคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน โดยไขมัน 1 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 9 กิโลแคลอรี ในขณะที่คาร์โบไฮเดรตและโปรตีนอย่างละ 1 กรัม จะให้พลังงานประมาณ 4 กิโลแคลอรี

ที่มาของภาพ Unsplash

เมื่อพิจารณาจากกระบวนการย่อยสลายอาหารในระดับเซลล์ จะเห็นว่าการย่อยสลายกรดไขมันจากไตรกลีเซอไรด์ จะให้พลังงานมากกว่าคาร์โบไฮเดรตหรือสารอาหารประเภทน้ำตาล ยกตัวอย่างเช่น การย่อยสลายน้ำตาลกลูโคส 1 โมเลกุลจะได้ 36-38 ATP ในขณะที่การย่อยสลายกรดไขมันปาล์มิติก (Palmitic acid) 1 โมเลกุล กลับได้สารให้พลังงานสูงถึง 129 ATP และไตรกลีเซอไรด์ที่สะสมอยู่ในเซลล์ไขมันยังสามารถนำออกมาใช้ได้ เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะอดอาหาร (Fasting) ประมาณ 12-24 ชั่วโมงหลังจากการอดอาหาร

นอกจากนี้ ไขมันที่สะสมอยู่ในเซลล์ไขมัน ยังช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย เนื่องจากไขมันมีคุณสมบัติคล้ายฉนวน ช่วยทำให้อุณหภูมิในร่างกายคงที่ได้อย่างต่อเนื่อง เหมาะแก่การดำเนินการทางชีวเคมีต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยดูดซับแรงกระแทกจากการได้รับแรงกระทบกระเทือนจากภายนอกร่างกายด้วย

กรดไขมันจำเป็นต่อร่างกาย

ไตรกลีเซอไรด์มีอยู่หลากหลายชนิด ซึ่งความแตกต่างจะขึ้นอยู่กับชนิดของกรดไขมันที่อยู่ในโมเลกุล และกรดไขมันเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติทางเคมีของไตรกลีเซอไรด์ รวมถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับสามารถบ่งบอกได้ด้วยชนิดของกรดไขมันเหล่านี้

กรดไขมันจำเป็น (Essential fatty acid) คือ กรดไขมันที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ และจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะในร่างกาย ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มโอเมกา-3 ได้แก่ กรดอัลฟาไลโนเลนิก (ALA), กรดโดโคซาเฮกซาโนอิก (DHA) และกรดอิโคซาเพนทาโนอิก (EPA)
  • กลุ่มโอเมกา-6 ได้แก่ กรดไลโนเลอิก (LA)

ประโยชน์ของกรดไขมันจำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่

  • ใช้ในการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์
  • ใช้ในพัฒนาและการทำงานของสมองและระบบประสาท
  • ใช้ในการสังเคราะห์ฮอร์โมน
  • ใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ของต่อมไทรอยด์และต่อมหมวกไต
  • ควบคุมการทำงานของตับและระบบภูมิคุ้มกัน
  • ควบคุมระบบการแข็งตัวของเลือด โดยกรดไขมันโอเมกา 6 เร่งการแข็งตัวของเลือด และกรดไขมันโอเมกา 3 ลดการแข็งตัวของเลือด
  • มีความสำคัญต่อการลำเลียงและสลายคอเลสเตอรอล
  • บำรุงผิวและเส้นผม
ที่มาของภาพ Unsplash

กรดไขมันจำเป็นอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง?

กลุ่มโอเมกา-3

  • กรดอัลฟาไลโนเลนิก (ALA) เป็นกรดไขมันจำเป็นกลุ่มโอเมกา-3 ที่พบในพืชและน้ำมันจากพืชชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลืองและน้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันดอกคาโนลา, วอลนัทและน้ำมันวอลนัท เป็นต้น
  • กรดโดโคซาเฮกซาโนอิก (DHA) และกรดอิโคซาเพนทาโนอิก (EPA) เป็นกรดไขมันจำเป็นกลุ่มโอเมกา-3 ที่พบในสัตว์ ส่วนมากจะพบได้ในปลา เช่น น้ำมันปลา, ปลาแม็กเคอเรล, ปลาแซลมอน, ปลาทูน่า, ปลาซาร์ดีน, ปลาเฮอร์ริง หรือปลาเทราต์ เป็นต้น

กลุ่มโอเมกา-6

กรดไลโนเลอิก (LA) พบได้ในพืชและน้ำมันจากพืช ได้แก่ น้ำมันดอกคาโนลา, น้ำมันถั่วเหลือง, น้ำมันดอกทานตะวัน, น้ำมันข้าวโพด, วอลนัท, เฮเซลนัท และอัลมอนด์ เป็นต้น

ปริมาณที่เหมาะสมของกรดไขมันจำเป็นที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน จากหน่วยงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority – EFSA) คือ โอเมกา-3 แนะนำ 2 กรัมต่อวัน และโอเมกา-6 แนะนำ 10 กรัมต่อวัน

ประโยชน์ของไตรกลีเซอไรด์ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

ไตรกลีเซอไรด์ชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง คือ แคพริลิกไตรกลีเซอไรด์ (Caprylic triglyceride) หรือรู้จักกันในชื่อของ น้ำมันมะพร้าว ซึ่งมีคุณสมบัติหลากหลายประการในด้านการบำรุงผิวพรรณ อีกทั้งยังใช้ผสมร่วมกับสารประกอบอื่น ๆ ในเครื่องสำอางด้วย

ที่มาของภาพ Unsplash

สำหรับประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว มีดังนี้

  • เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว ด้วยคุณสมบัติของสารปกป้องความชื้น หรือ Emollient ป้องกันไม่ให้น้ำระเหยออกจากผิวหนัง
  • เป็นสารช่วยกระจายตัว หรือ Dispersing agent ทำให้สารประกอบอื่น ๆ ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเข้ากันได้ดี อีกทั้งน้ำมันมะพร้าวยังมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ นับว่าเป็นตัวชูเพิ่มกลิ่นของผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องใส่น้ำหอมเพิ่มเติม
  • เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเป็นพิษจากมลภาวะต่าง ๆ ของสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดความเหม็นหืนของผลิตภัณฑ์ที่เก็บไว้นาน ๆ ได้ด้วย

โทษของไตรกลีเซอไรด์มีอะไรบ้าง?

ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง

ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (Hypertriglyceridemia) หมายถึง ภาวะที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดหลังอดอาหาร ตั้งแต่ 150 mg/dL ขึ้นไป ซึ่งแบ่งสาเหตุของการเกิดได้ 2 ประการ คือ

  1. สาเหตุปฐมภูมิ (Primary hypertriglyceridemia) คือ ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของร่างกาย อาจมีจากการกลายพันธุ์ของยีน หรือเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งมักพบได้ในผู้ป่วยอายุน้อย
  2. สาเหตุทุติยภูมิ (Secondary hypertriglyceridemia) คือ ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงที่พบได้บ่อย และเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันโดยตรง เช่น การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง, ไม่ออกกำลังกาย, สูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบเผาผลาญในร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
ที่มาของภาพ Unsplash

ในกรณีที่ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเล็กน้อย โดยไม่เกิน 200 mg/dL อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเริ่มปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลดอาหารหวานมัน, ลดปริมาณข้าวในแต่ละมื้อ และเพิ่มสัดส่วนของโปรตีน ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างเพียงพอ แต่ในกรณีที่มีค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเกินจากนี้ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ จำเป็นต้องใช้ยาร่วมในการรักษา

โรคอ้วน

การบริโภคอาหารที่มีไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง เป็นเหตุให้เกิดการสะสมไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์ไขมันมากขึ้น ตามมาด้วยโรคอ้วน (Obesity) ซึ่งไตรกลีเซอไรด์ที่สะสมมากขึ้นและโรคอ้วน มีผลรบกวนกระบวนการเมแทบอลิซึม หรือกระบวนการสลายพลังงานของร่างกาย นำพาสู่การเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง

ที่มาของภาพ Unsplash

การประเมินโรคอ้วนสามารถพิจารณาจากดัชนีมวลกาย (Body mass index – BMI) ด้วยสูตร = น้ำหนักหน่วยกิโลกรัม / (ส่วนสูงหน่วยเมตร)2 และเทียบค่าตามดัชนีมวลกายของคนไทย ดังนี้

  • ค่า BMI < 18.5              แสดงถึง            อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
  • ค่า BMI 18.5 – 22.90     แสดงถึง            อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ค่า BMI 23 – 24.90        แสดงถึง            น้ำหนักเกิน
  • ค่า BMI 25 – 29.90        แสดงถึง            โรคอ้วนระดับที่ 1
  • ค่า BMI 30 ขึ้นไป            แสดงถึง            โรคอ้วนระดับที่ 2

ความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ

การบริโภคอาหารที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงอย่างต่อเนื่องจนเกิดการสะสมในร่างกาย มีการศึกษาพบว่า ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis) เมื่อหลอดเลือดแข็งตัวยืดหยุ่นได้น้อย หัวใจจะสูบฉีดเลือดได้ยากขึ้น นำไปสู่การเกิดภาวะความดันโลหิตสูง เมื่อนานวันเข้าหัวใจจะเริ่มทำงานหนักและกลายเป็นโรคหัวใจได้ในที่สุด

การเกิดการแข็งตัวของหลอดเลือดจากไตรกลีเซอไรด์ (Atherogenesis)
ที่มาของภาพ Journal of Food Science and Technology: Essential fatty acids as functional components of foods

ดังนั้นการบริโภคอาหารทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่ไตรกลีเซอไรด์ ครบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมตามช่วงอายุ และบริโภคให้หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนสำหรับการเจริญเติบโต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Scroll to Top