ผื่นกุหลาบ (Pityriasis rosea : PR) หรือ โรคผื่นร้อยวัน, โรคผื่นกลีบกุหลาบ, ผื่นขุยกุหลาบ คือ โรคทางผิวหนังที่สามารถพบได้บ่อยอย่างมากในช่วงวัย อายุ 10-35 ปี เป็นภาวะที่ทำให้เกิดผื่นแดงชั่วคราวตามร่างกาย สามารถเกิดได้ในบริเวณหน้าอก, หลัง, ต้นแขน, ต้นขา, ลำคอ และหน้าท้อง มีลักษณะคล้ายกลากหรือผื่นแพ้ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสับสนได้เมื่อพบเจอ และเป็นโรคทางผิวหนังที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงฤดูฝน
ถึงแม้ว่าการเกิดผื่นกุหลาบนั้นจะเป็นอาการทางผิวหนังที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และสามารถที่จะหายได้เองในช่วงระยะเวลา 1-3 เดือน แต่การเกิดผื่นกุหลาบ โรคผื่นร้อยวัน โรคผื่นกลีบกุหลาบหรือผื่นขุยกุหลาบ ไม่ว่าจะเป็นชื่อเรียกอะไรก็ตาม นอกเหนือไปจากการมีผื่นขึ้นตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายแล้ว ผู้ที่เป็นผื่นแพ้กุหลาบอาจพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย
ผื่นกุหลาบ สาเหตุ เกิดจากอะไร?
ผื่นกุหลาบหรือ PR คือ อาการของโรคผิวหนังที่ไม่รุนแรง ที่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสแบคทีเรีย เป็นโรคผิวหนังที่ไม่มีสาเหตุการเกิดแน่ชัด โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกชนชาติ และพบเจอได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย ช่วงวัยที่มักพบ่อยคือ 10-35 ปี และพบเจอได้ในเพศหญิงบ่อยกว่าในเพศชาย อีกทั้งยังพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนอีกด้วย
แต่การเกิดผื่นกุหลาบนั้นเป็นโรคผิวหนังที่สามารถหายได้เองในระยะเวลา 1-3 เดือน และไม่สามารถแพร่กระจายติดต่อไปยังผู้อื่นได้ จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคผื่นกุหลาบนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลมาก แต่ถ้าหากอาการผื่นลามเป็นวงกว้าง รู้สึกได้ถึงความรุนแรง ผื่นใช้เวลานานในการหาย หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรที่จะเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีการตั้งครรภ์ร่วมด้วยอาจมีความเสี่ยงในการแท้งบุตรได้
ผื่นกุหลาบมีลักษณะอาการอย่างไร?
ลักษณะของอาการแรกเริ่มในการเกิดผื่นกุหลาบ ผู้ป่วยจะสามารถสังเกตเห็นผื่นที่มีลักษณะวงรีได้ตามส่วนต่างๆ โดยผื่นที่เกิดขึ้นนั้นอาจมีสีชมพูหรือสีแดงและมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 2-5 เซนติเมตร หากมีการสังเกตใกล้ๆ ในบริเวณที่เกิดอาการผื่นกุหลาบนั้นจะสังเกตเห็นขอบล้อมรอบ มีลักษณะเป็นดวงๆ ที่คล้ายการตกสะเก็ด มีชื่อเรียกว่า “herald patch”
โดยอาการเหล่านี้มักที่จะปรากฏขึ้นมาก่อน อย่างน้อยเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งการเกิดผื่นกุหลาบสามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น หน้าอก, หลัง, ต้นแขน, ต้นขา, ลำคอ, หน้าท้อง และอาจพบได้ในบริเวณใกล้อวัยวะเพศด้วยเช่นเดียวกัน และเมื่อเกิดอาการ herald patch เรียบร้อยแล้ว ไม่เกิน 2 สัปดาห์ ผื่นจะมีลักษณะกว้างมากขึ้นกว่าเดิม สามารถที่จะลุกลามและมีวงกว้างต่อไปได้ 2-6 สัปดาห์ ต่อจากระยะเวลาที่เริ่มมีอาการ
โดยผื่นที่เกิดขึ้นนี้มักมีขนาดเล็ก นูน และมักที่จะอยู่รวมกันเป็นหย่อมๆ โดยการเกิดผื่นกุหลาบนั้นจะไม่สร้างความเจ็บปวดแต่อย่างใดให้กับผู้ที่มีอาการ แต่อาจทำให้เกิดอาการคันร่วมได้ และอาการคันจะแย่ลงหากมีการเกา ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดรอยขีดข่วน ในผู้ป่วยบางรายที่เป็นผื่นกุหลาบอาจมีการพบอาการอื่นๆ เพิ่มเติม อย่างเช่น รู้สึกปวดเมื่อย รู้สึกปวดตามข้อ มีไข้ เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโต แต่อย่างใดก็ตามอาการเหล่านี้เป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยอาการผื่นกุหลาบจะปรากฏอยู่ได้นาน 2-12 สัปดาห์ และในผู้ป่วยบางรายพบว่าอาจมีอาการอยู่ได้นานถึง 5 เดือน หากมีอาการรุนแรงหรือผื่นใช้เวลานานในการหายควรเข้ารับการวินิจฉัยแยกโรค
การวินิจฉัยแยกโรค สำหรับผื่นกุหลาบ (Pityriasis rosea)
แพทย์จะทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม เมื่อผื่นมีความผิดปกติ เนื่องจากมีโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดลักษณะผื่นที่คล้ายกับโรคผื่นกุหลาบ การวินิจฉัยแยกโรคโดยแพทย์จึงทำขึ้นเพื่อการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมในขั้นตอนต่อไป โดยเราได้ยกตัวอย่างการวินิจฉัยแยกโรคบางส่วน ที่อาจสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเกิดผื่นมาเป็นข้อมูลเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
- ไลเคน พลานัส (Lichen Planus) ภาวะอักเสบเรื้อรังที่ส่งผลต่อผิวหนังและเนื้อเยื่อ
- โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เนื่องจาก ผื่นกุหลาบ กับ สะเก็ดเงิน มีลักษณะผื่นที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน
- ซิฟิลิสทุติยภูมิ (Syphilis) รวมถึงโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) ที่ลักษณะของ ผื่นกุหลาบ เอดส์ ลักษณะของผื่นอาจมีความคล้ายกันได้
- ผื่นกลากน้ำนม (Pityriasis Alba) ที่พบได้บ่อยในเด็ก
- เกลื้อน (Pityriasis versicolor) โรคเชื้อราของผิวหนังชั้นตื้น
- อีริทิมามัลติฟอร์เม (Erythema Multiforme: EM) โรคที่เกิดจากการอักเสบเฉียบพลัน
ยาที่อาจทำให้เกิดผื่น ที่มีลักษณะคล้ายผื่นกุหลาบ
- สารประกอบอาร์เซนิก (Arsenic)
- กลุ่มยาบาร์บิทูเรตส์ (Barbiturates)
- วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (Recombivax-HB)
- โคลนิดีน (Catapres, Catapres-TTS)
- อิมาทินิบ เมสิเลท (Imatinib mesilate)
ผื่นกุหลาบ รักษา ได้อย่างไร?
ถึงแม้ว่าโรคผื่นกุหลาบ จะเป็นโรคผิวหนังที่ไม่มีความอันตราย เป็นโรคผิวหนังที่ไม่มีความรุนแรง ไม่สามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ และเป็นโรคผิวหนังที่สามารถหายได้เอง แต่การรักษาโรคผื่นกุหลาบจะทำให้สามารถควบคุมอาการคัน ที่อาจเกิดขึ้นจากการเกิดผื่นกุหลาบได้ และเป็นการรักษาเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจรุนแรงขึ้นจากการเกา ผู้ที่มีอาการโรคผื่นกุหลาบสามารถทำการรักษาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับผิวพรรณ อย่าง มอยเจอร์ไรเซอร์
- การเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีความอ่อนโยน หรือการเลือกอาบน้ำเปล่า
- หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด เพื่อป้องกันความแสบร้อน
นอกจากการดูแลรักษาด้วยตนเองแล้ว โรคผื่นกุหลาบยังมีวิธีแนวทางการรักษาโดยแพทย์เพื่อบรรเทาอาการให้ทุเลาหรือหายเร็วขึ้นกว่าเดิมได้ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยและรักษาตามอาการและความเหมาะสม
วิธีรักษา ผื่นกุหลาบ สถาบันโรคผิวหนัง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
การรักษาผื่นกุหลาบโดยแพทย์ผิวหนัง หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นการรักษาตามอาการและสามารถที่จะทำให้อาการบรรเทาลงได้เร็วมากขึ้นกว่าเดิม โดยการเลือกใช้ยาเพื่อรักษา ไม่ว่าจะเป็นยาทานที่ต้องใช้รักษาภายในหรือยาทารักษาภายนอก ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรโดยเฉพาะเพื่อความถูกต้อง และความปลอดภัยของผู้ใช้
- การรับประทานยาฮีสตามีน (Antihistamines) เพื่อลดอาการคันที่บริเวณผิวหนัง
- การรับประทานยาแก้แพ้ไฮดรอกซีไซน์ (Hydroxyzine) หรือคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ในกรณีที่มีปัญหาในการนอน
- การใช้ยาเฉพาะ เช่น คาลาไมน์ (Calamine) และซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide)
- การใช้ครีมหรือขี้ผึ้งสเตียรอยด์ในกลุ่มของคอร์ติโคสเตียรอยด์ อาทิเช่น เบตาเมทาโซน (Betamethasone) เพื่อลดอาการคัน, บวม, อักเสบ
- การใช้แสง UVB เพื่อบำบัด ในกรณีที่การรักษาอื่นๆ ไม่ได้ผล
ในการรักษาและวินิจฉัยโดยแพทย์ ผู้ป่วยจำเป็นต้องบอกอาการและลักษณะของผื่นที่เกิดขึ้นให้แพทย์ได้ทราบโดยละเอียด ทำการแจ้งข้อมูลยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและยาที่แพ้ เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
สรุป
โรคผื่นกุหลาบ คือ หนึ่งในโรคผิวหนังที่ไม่เป็นอันตราย ที่สามารถพบได้ในทุกชนชาติ และผื่นกุหลาบสามารถที่จะหายไปได้เองในระยะเวลาไม่นาน ไม่มีความรุนแรงและไม่ใช่โรคติดต่อ และยังเป็นโรคทางผิวหนังที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุการเกิดขึ้นได้อย่างแน่ชัด แต่เมื่อไหร่ก็ตามหากมีผื่นลักษณะเดียวกันกับผื่นกุหลาบเกิดขึ้นในบริเวณร่างกาย และมีอาการที่รุนแรงหรือลุกลาม มีอาการคันหรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรเข้ารับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และทำการรักษาอย่างถูกต้อง
เนื่องจากลักษณะของผื่นกุหลาบนั้นมีลักษณะที่ค่อนข้างคล้ายกับผื่นโรคอื่นๆ และอาจสร้างความสับสน สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการ และอาจทำให้ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและป้องกันการลุกลาม ไม่ว่าจะเป็นอาการผื่น หรืออาการอื่นๆ ควรรีบเข้าพบแพทย์และทำการรักษาโดยด่วนที่สุด
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pityriasis-rosea/symptoms-causes/syc-20376405
- https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/whats-pityriasis-rosea#1
- https://www.nhs.uk/conditions/pityriasis-rosea/