[เจาะลึก] สิวฮอร์โมน วัยรุ่น สาเหตุการเกิดสิว และวิธีการรักษา

สิวฮอร์โมน (Hormonal Acne) คือ “สิว” ที่มักเกิดขึ้นในช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เป็นสิวที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้ง สิวอักเสบ และสิวอุดตัน และมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิมๆ อย่างเช่น ช่วงที่มีประจำเดือน, ช่วงที่หมดประจำเดือน, ช่วงการตั้งครรภ์ และช่วงที่เกิดภาวะความเครียด เป็นต้น โดยการเกิดสิวฮอร์โมนเป็นสิวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ และมักที่จะพบบ่อยในกลุ่มวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ ถือเป็นปัญหากวนใจที่นอกจากจะสร้างความรำคาญแล้ว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลระยะยาวและสามารถที่จะทิ้งร่องรอยไว้ได้ และอาจต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

สิวฮอร์โมนเกิดจากอะไร?

“สิวฮอร์โมน” คือ สิว ที่เกิดมาจากความผันผวนของฮอร์โมน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน อย่าง ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen), ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone), ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเหล่านี้ภายในร่างกาย

เมื่อฮอร์โมนเหล่านี้สูงมากขึ้น หรือเกิดความไม่ปกติ จะไปกระตุ้นต่อมผลิตน้ำมันใต้ผิวหนังให้ผลิตน้ำมัน ที่เรียกว่า “ซีบัม” (Sebum) ออกมามากกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ผิวหน้า, ผิวกาย และหนังศีรษะ เกิดความมันมากขึ้น และหากน้ำมันส่วนเกินที่ร่างกายได้มีการผลิตออกมามากจนเกินไป ผสมรวมกับสิ่งสกปรกหรือเซลล์ผิวหนังที่ตายไปแล้ว จะกลายเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดสิวในบริเวณต่างๆ ได้

โดยการเกิดสิวฮอร์โมนส่วนใหญ่นั้น มักจะเกิดขึ้นบ่อยในบริเวณทีโซน (T-zone) ซึ่งได้แก่ สิวขึ้นหน้าผาก , จมูก และ สิวที่คาง แต่สำหรับในบางรายอาจมีสิวฮอร์โมนเกิดขึ้นเป็นลักษณะผดเม็ดเล็ก หรืออาจเกิดสิวหัวดำและสิวหัวขาว ขึ้นบริเวณกราม, บริเวณช่วงล่างแก้ม หรือบริเวณหน้าผากได้ อีกทั้งสิวฮอร์โมนยังเป็นสิวที่ส่วนมากมักเกิดขึ้นได้บ่อยในเพศหญิง โดยเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายไม่คงที่นั่นเอง

รูปภาพประกอบจาก Freepik

ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ส่งผลต่อการเกิด สิวฮอร์โมนที่หลัง คาง หน้า อย่างไร?

ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) หรือที่มักเรียกกันว่า “ฮอร์โมนเพศชาย” คือ ฮอร์โมนที่ทำให้วัยรุ่นชายมีรูปร่างและสรีระที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันทำให้มีการผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมามากยิ่งขึ้น และอาจก่อให้เกิด สิวฮอร์โมน ชาย ได้

ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ส่งผลต่อการเกิด สิวฮอร์โมนที่หลัง คาง หน้า อย่างไร?

ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่มีทั้งในเพศชายและเพศหญิง เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ร่างกายจะทำการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนออกมากมากกว่าปกติ

  • ในเพศชายฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน คือ ฮอร์โมนที่มีผลต่อระบบอวัยวะเจริญพันธุ์
  • ในเพศหญิงฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน คือ ฮอร์โมนที่จะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แก่ร่างกาย

แต่ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนนั้น เป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดสิวเช่นเดียวกัน เนื่องจากฮอร์โมนชนิดนี้ได้กระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ใบหน้า, ผิวกาย และหนังศีรษะมีความมันมาก และทำให้เกิดสิวฮอร์โมนขึ้นได้

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ส่งผลต่อการเกิด สิวฮอร์โมนที่หลัง คาง หน้า อย่างไร?

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนเพศหญิงที่จะมีมากขึ้นในช่วงประจำเดือน และจะลดลงเมื่อถึงช่วงวัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมีความสัมพันธ์กับความเครียด โดยอาจส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารฮอร์โมนอื่นๆ ตามมา และจะไปเป็นตัวกระตุ้นให้ต่อมไขมันทำงานหนักมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความมันและก่อให้เกิดปัญหา สิวฮอร์โมน หญิง

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ส่งผลต่อการเกิด สิวฮอร์โมนที่หลัง คาง หน้า อย่างไร?

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นหนึ่งในฮอร์โมนเพศหญิงที่มักมีการเปลี่ยนแปลง และมีปริมาณสูงมากขึ้นในช่วงที่มีประจำเดือน โดยจะทำให้เกิดการกระตุ้นต่อมไขมันให้ผลิตน้ำมันออกมามากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกันกับฮอร์โมนชนิดอื่นๆ และส่งผลให้ช่วงก่อนมีประจำเดือนและในช่วงระหว่างที่มีประจำเดือนมักเกิดสิวฮอร์โมนขึ้น

ความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นบ่อย เกี่ยวกับสิวฮอร์โมน

สิวฮอร์โมนไม่ใช่สิวที่เกิดขึ้นเพียงเฉพาะกับวัยรุ่นเพียงวัยเดียวเท่านั้น ถึงแม้วัยรุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงอายุ 14-15 จะเป็นช่วงวัยที่เกิดความผันผวนของฮอร์โมนมากที่สุด เป็นช่วงวัยที่ระดับฮอร์โมนในร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงเยอะมากที่สุด แต่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ไปจนถึง 40 ปี หากระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) หรือระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เกิดความผันผวน ก็สามารถส่งผลให้เกิดสิวฮอร์โมนได้ และสำหรับผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งครรภ์หรือผู้ที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน ล้วนอยู่ในช่วงที่ฮอร์โมนภายในร่างกายขาดสมดุล ย่อมส่งผลให้เกิดสิวฮอร์โมนได้ไม่ต่างกัน

รูปภาพประกอบจาก Freepik

วิธีรักษา สิวฮอร์โมน วัยรุ่น สามารถรักษาได้อย่างไร?

การรักษาสิวฮอร์โมนที่ดีที่สุด คือ การเข้าพบแพทย์ผิวหนัง หรือแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาสิวโดยตรง เพื่อทำการวินิจฉัยและเพื่อทำการตรวจหาสาเหตุร่วม ซึ่งการรักษาสิวฮอร์โมนไม่ว่าจะขั้นรุนแรง หรือไม่รุนแรง การรักษาที่ถูกวิธีและอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์โดยตรง ย่อมส่งผลให้ปัญหาสิวที่เกิดขึ้นบรรเทาและหายได้ไวมากยิ่งขึ้น และอาจหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหารอยสิวที่เกิดขึ้น หลังจากการเกิดสิวในบริเวณต่างๆ ได้

  1. รักษาสิวฮอร์โมนได้ด้วยการใช้ยาทา เป็นการรักษาด้วยการใช้ยาทาภายนอก อาทิเช่น ยากลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (Retinoids), เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide), ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ (Antibiotics) และ กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) เป็นต้น ซึ่งยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่อันตรายร้ายแรง ดังนั้นควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรโดยตรง
  2. รักษาสิวฮอร์โมนได้ด้วยการรับประทานยา เป็นการรักษาสิวที่มีความรุนแรง อาทิเช่น ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน (Antibiotics), ยาคุมกำเนิดแบบรับประทาน (Oral Contraceptives), ยากลุ่ม Gonadotropin-Releasing Hormone Agonists และ ยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เป็นต้น โดยการรับประทานยาเพื่อรักษาสิว ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์เท่านั้นเพื่อความปลอดภัย
  3. รักษาสิวฮอร์โมนได้ด้วยการทำหัตถการ อาทิเช่น การใช้สารเคมีลอกผิว (Chemical Peel), การทำเลเซอร์และการบำบัดด้วยแสง (Phototherapy and Laser) และ การฉีดสิว (Cortisone Injections) การทำหัตถการเพื่อรักษาสิว สามารถทำการรักษาร่วมกับการรักษาด้วยยาได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

เมื่อเกิด สิวฮอร์โมน ควรทำอย่างไร?

นอกจากการรักษาสิวฮอร์โมนด้วยการใช้ยาทาภายนอก การรักษาสิวฮอร์โมนด้วยการรับประทานยาเพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมน และการทำหัตถการเพื่อรักษาสิวฮอร์โมน การดูแลรักษาความสะอาดผิวหน้าอย่างเหมาะสมและถูกวิธี เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดการเกิดสิวและบรรเทาอาการสิวที่เกิดขึ้นได้ เป็นวิธีที่สามารถทำได้เองโดยไม่ต้องเข้าพบแพทย์

  • ล้างหน้าให้สะอาดและควรล้างหน้าอย่างเบามืออย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือหลังการทำกิจกรรมที่เหงื่อออกมาก อาทิเช่น การออกกำลังกาย แต่ไม่ควรที่จะล้างหน้าบ่อยจนเกินไป
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่มีความอ่อนโยนต่อผิว และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดอาการระคายเคือง
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อนในการล้างหน้า
  • หลีกเลี่ยงการขัดผิวหน้าหรือการสครับผิวอย่างรุนแรง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคือง และอาจทำให้เกิดการอักเสบได้
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าหรือใช้เครื่องสำอางที่ก่อให้เกิดการอุดตัน หรือเกิดการอักเสบ
  • หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีความร้อนและชื้น ที่อาจทำให้เกิดเหงื่อมากขึ้น

สรุป

“สิวฮอร์โมน” คือ สิวที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ความผันผวนของฮอร์โมน และความไม่สมดุลของฮอร์โมน ซึ่งเป็นสาเหตุปัจจัยการเกิดสิวที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ยาก และเป็นปัญหาสิวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่น แต่เมื่อคุณทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิวชนิดนี้อย่างเจาะลึกถึงสาเหตุการเกิด และแนวทางวิธีการรักษาอย่างถูกวิธีแล้ว สิวฮอร์โมนนั้นสามารถที่จะบรรเทาและรักษาให้หายไวมากยิ่งขึ้นโดยที่ไม่ทิ้งร่องรอยหรือลุกลามเป็นวงกว้างได้ หากในขณะนี้คุณกำลังประสบปัญหาสิวฮอร์โมน หรือกำลังมีสิวที่มีช่วงเวลาการเกิดเหล่านี้อยู่ สามารถเข้ารับคำแนะนำและหาแนวทางการรักษาร่วมกับแพทย์ได้ทันที ถึงแม้ว่าสิวฮอร์โมนจะหลีกเลี่ยงได้ยากแต่สามารถรักษาให้หายได้อย่างแน่นอน หากได้รับการดูแลและการรักษาอย่างถูกวิธี

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม จากแหล่งที่มา

Scroll to Top