[ความสำคัญ] พัฒนาการเด็ก แต่ละเดือน คืออะไร? พ่อแม่สามารถส่งเสริมได้อย่างไร

พัฒนาการเด็ก แต่ละเดือน คือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งทางร่ายกาย ทางสติปัญญา ทางอารมณ์ และทางสังคม โดยพัฒนาการนั้นจะเริ่มตั้งแต่ช่วงแรกเกิดไปจนถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ และการส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัยคือสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตในทุกๆ ด้าน อนึ่งเป็นการช่วยให้เด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ สามาระที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม การเข้าใจพัฒนาการเด็กจะทำให้สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกได้อย่างเหมาะสม

รูปภาพประกอบจาก Freepik

เลือกอ่านหัวข้อที่คุณสนใจ

พัฒนาการเด็ก แต่ละเดือน ตั้งแต่ช่วงวัยแรกเกิด ถึง 12 เดือน

พัฒนาการเด็ก แต่ละเดือน ตั้งแต่ช่วงวัยแรกเกิด ถึง 12 เดือน เป็นการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ทางภาษา ทางความคิด และทางอารมณ์ของเด็ก จะเริ่มตั้งแต่ช่วงวัยแรกเกิดไปจนถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ โดยที่กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น จำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมทักษะในด้านต่างๆ จากพ่อแม่ ผู้ดูแล บุคคลรอบข้าง รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อเป็นการช่วยให้เด็กได้มีการเรียนรู้และเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงตามวัยอย่างเหมาะสม โดยพัฒนาการของเด็กแต่ละเดือน มีดังต่อไปนี้

พัฒนาการเด็ก การเปลี่ยนแปลงของเด็กในช่วงวัยแรกเกิด ไปจนถึง 1 เดือน

  • เริ่มมองหน้า สบตาได้
  • ตอบสนองเสียงพูดได้ โดยอาจทำเสียงในลำคอ
  • พลิกคอซ้ายขวา เคลื่อนไหวแขน

พ่อแม่ ผู้ดูแล สามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กวัยนี้ได้ด้วยการอุ้มเด็กหันหน้าเข้าหาตัว พูดคุย ยิ้มแย้ม สบตา และสัมผัสตัวเด็กบ่อยๆ เขย่าของเล่นให้เด็กเงยหน้ามองตามช้าๆ

พัฒนาการเด็ก การเปลี่ยนแปลงของเด็กในช่วงวัย 3-4 เดือน

  • สามารถส่งเสียง หรือยิ้มทักทายคนคุ้นเคยได้
  • หันหาเสียงหัวเราะ อาจโต้ตอบด้วยการส่งเสียงอ้อแอ้
  • เอามือจับกันและมองตามจากด้านหนึ่งไปจนสุดอีกด้านหนึ่ง
  • สามารถชันคอในลักษณะท่าคว่ำ โดยใช้แขนยัน 90 องศา

พ่อแม่ ผู้ดูแล สามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กวัยนี้ได้ด้วยการทักทายหรือเรียกชื่อเด็ก เมื่อมีการพบกัน สัมผัส พูดคุย และเล่นกับเด็กบ่อยๆ ทำการพูดคุยโต้ตอบและหยุดฟังเพื่อรอจังหวะเมื่อลูกส่งเสียงตอบโต้ เขย่าของเล่นและขยับของเล่นไปอีกข้างช้าๆ เพื่อให้เด็กหันมองตาม และนำเอาของเล่นไปแตะที่หลังมือของเด็กให้เด็กใช้มือในการจับ

พัฒนาการเด็ก แต่ละเดือน การเปลี่ยนแปลงของเด็กในช่วงวัย 5-6 เดือน

  • เด็กสามารถแสดงอารมณ์ดีใจ ขัดใจ ได้ด้วยการแสดงออกทางท่าทาง
  • เด็กสามารถที่จะจำหน้าตาของพ่อแม่ ผู้ดูแล หรือผู้ที่ใกล้ชิดได้
  • หันตามเสียงเรียกชื่อ
  • คว้าของด้วยมือข้างเดียว
  • สลับมือในการถือของได้
  • เริ่มที่จะพลิกคว่ำพลิกง่าย คืบคลานไปบนพื้นโดยการเอาส่วนท้องติดกับพื้น

พ่อแม่ ผู้ดูแล สามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กวัยนี้ได้ด้วยการพูดคุยโต้ตอบกับเด็ก ด้วยท่าทีที่ยิ้มแย้ม เรียกชื่อเด็กในทิศทางต่างๆ เพื่อให้เด็กตอบสนองหันตามทิศทางที่เรียก พูดบอกถึงสิ่งที่ตนเองกำลังทำกับเด็ก เช่น กินนม อาบน้ำ เป็นต้น

พัฒนาการเด็ก แต่ละเดือน การเปลี่ยนแปลงของเด็กในช่วงวัย 7-8 เดือน

  • รู้สึกผูกพันกับคนที่เลี้ยงดู พ่อแม่ ผู้ดูแล คนใกล้ชิด
  • กลัวคนแปลกหน้า
  • ให้อุ้มโดยการชูสองมือ
  • ส่งเสียงพยางค์เดียว
  • หันหาเสียงเรียกตามทิศทางได้อย่างถูกต้อง
  • มองตามสิ่งของที่ตกพื้นได้
  • ถือของมือละชิ้น
  • ทรงตัวเองได้ นั่งหลังตรงได้ โดยที่ไม่ต้องใช้มือยัน

พ่อแม่ ผู้ดูแล สามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กวัยนี้ได้ด้วยการอุ้มเด็ก ให้เด็กรู้สึกอุ่นใจเมื่อยามเจอคนแปลกหน้า ให้เวลาเด็กในการทำความคุ้นเคย ทำท่าทางการอุ้มเพื่อให้เด็กสามารถเข้าใจได้ทุกครั้ง อ่านหนังสือให้เด็กฟังและชี้ภาพประกอบไปด้วยเพื่อเป็นการอธิบายในสิ่งที่กำลังพูดหรืออ่าน ดึงดูดความสนใจเด็กด้วยการถือของเล่นที่มีสีสันสดใส ปล่อยของเล่นตกและเปิดโอกาสให้เด็กในการหยิบของเล่นที่มีขนาดพอดีมือ ปล่อยให้เด็กได้หัดนั่งบนพื้นเองโดยที่พ่อแม่ ผู้ดูแล คอยดูแลอยู่ใกล้ๆ

พัฒนาการเด็ก การเปลี่ยนแปลงของเด็กในช่วงวัย 9-10 เดือน

  • เล่นปิดตาจ๊ะเอ๋ ปรบมือ มองหาของที่ซ่อน
  • บอกความต้องการของตัวเอง โดยอาจใช้ท่าทางในการบอก
  • หยิบอาหารทางเองได้ด้วยมือ
  • เข้าใจในสิ่งที่บอก เข้าใจสีหน้า เข้าใจท่าทาง และตอบสนอง
  • สามารถส่งเสียงได้หลายพยางค์
  • ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือในการหยิบสิ่งของ
  • มองหาของ
  • คลาน เกาะยืน ลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง

พ่อแม่ ผู้ดูแล สามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กวัยนี้ได้ด้วยการร้อง เล่น ทำท่าทางต่างๆ และปรบมือเป็นจังหวะเล่นกับเด็กบ่อยๆ สอนเด็กให้แสดงท่าทางอย่างเช่นการชี้ เพื่อแสดงออกถึงสิ่งที่ต้องการ ให้เด็กได้ใช้มือหยิบจับอาหารที่มีลักษณะอ่อนนุ่มเข้าปาก ทานอาหารด้วยตัวเอง

พัฒนาการเด็ก การเปลี่ยนแปลงของเด็กในช่วงวัย 11-12 เดือน

  • สามารถเลียนแบบท่าทางต่างๆ ได้ เช่น การโยกตามเพลง การไหว้
  • ดื่มน้ำจากถ้วยแต่ยังคงต้องได้รับการช่วยเหลือ
  • พูดเป็นคำๆ ที่มีความหมายได้
  • เข้าใจเสียงห้าม และหยุดกระทำต่อสิ่งนั้น
  • ยืนเองได้เป็นเวลาชั่วครู่ หรือทำการตั้งไข่
  • หยิบของเข้า-ออก จากกล่อง
  • ถือสิ่งของที่มีขนาดพอดีมือ 2 อัน เคาะกัน

พ่อแม่ ผู้ดูแล สามารถส่งเสริมพัฒนาการของเด็กวัยนี้ได้ด้วยการทำท่าทางต่างๆ ให้เด็กสามารถเลียนแบบได้ อาทิเช่น การไหว้, โบกมือลา, หอมแก้ม, การเต้น เป็นต้น และชมเชยเด็กเมื่อเด็กสามารถทำได้ และบอกกล่าวถึงในสิ่งที่ไม่ควรทำทุกครั้ง

รูปภาพประกอบจาก Freepik

การส่งเสริม พัฒนาการเด็ก แต่ละเดือน สำคัญอย่างไร?

พ่อแม่ ผู้ดูแล รวมไปถึงผู้ใกล้ชิด จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน เพื่อที่เด็กจะได้มีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมในทุกช่วงวัย โดยพัฒนาการด้านต่างๆ ที่ควรส่งเสริมให้แก่เด็ก คือ พัฒนาการเหล่านี้

  • พัฒนาการในด้านของความรู้ความเข้าใจ เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ในการแก้ปัญหา
  • พัฒนาการในด้านของคำพูดและภาษา เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ภาษา การอ่าน และการสื่อสาร
  • พัฒนาการในด้านของทักษะทางกายภาพ เพื่อเป็นการส่งเสริมทักษะทั้งทางร่างกาย ทางกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมักใหญ่ เช่น การหยิบจับสิ่งของ, การเดิน, การวิ่ง
  • พัฒนาการในด้านของการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการควบคุมอารมณ์ เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมไปถึงการควบคุมอารมณ์ของตนเอง
  • พัฒนาการในด้านของการรับรู้ทางประสาทสัมผัส เพื่อส่งเสริมประสาทสัมผัส การรับรู้สิ่งต่างๆ การแยกแยะของนิ่มและของแข็ง

โดยการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในแต่ละด้าน พ่อแม่ ผู้ดูแล ผู้ใกล้ชิด สามารถที่จะทำการส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

การเล่น

เป็นวิธีที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านของการเรียนรู้ การพูด การใช้ภาษา การเข้าสังคม การควบคุมอารมณ์ รวมไปถึงทักษะทางกาย การฝึกประสาทสัมผัส โดยพ่อแม่ ผู้ดูแล ผู้ใกล้ชิดควรเลือกของเล่นให้เหมาะสมตามช่วงวัย หรือเลือกของเล่นที่อาจช่วยในการฝึกทักษะในด้านนั้นๆ และพ่อแม่ ผู้ดูแล ผู้ใกล้ชิด สามารถร่วมเล่นกับเด็กไปด้วยได้ เพื่อทำการฝึกทักษะในด้านต่างๆ ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ศัพท์ใหม่ ฝึกการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมได้

การอ่าน

เป็นวิธีที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมองให้ของเด็ก โดยพ่อแม่ ผู้ดูแล ผู้ใกล้ชิด สามารถทำได้โดยการเริ่มอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง เพื่อช่วยส่งเสริมในการเรียนรู้และจดจำภาษา คำศัพท์ใหม่ๆ จากการอ่านหนังสือ หรือการฟังนิทานเรื่องเดิมซ้ำๆ เมื่อเด็กสามารถที่จะเริ่มอ่านหนังสือได้อาจเลือกหนังสือที่มีจำนวนคำความยาวมากขึ้น ช่วยให้เด็กได้คำศัพท์เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความรักความผูกพันภายในครอบครัวได้ด้วย และการอ่านเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางสมองให้แก่เด็ก ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภาษาใดภาษาหนึ่ง พ่อแม่ ผู้ดูแล ผู้ใกล้ชิด สามารถอ่านนิทานสั้นภาษาอื่นๆ นอกเหนือไปจากภาษาไทยได้

การให้ความรัก ความอบอุ่น และการให้ความสบายใจ

ถึงแม้จะเป็นเด็ก แต่เด็กเองก็อาจมีความวิตกกังวล กดดัน มีความเครียด หรือเกิดความรู้สึกเศร้าได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การให้ความรัก ให้ความอบอุ่น และเป็นที่พึ่งให้ความสบายใจแก่เด็ก อาจช่วยผ่อนคลายความรู้สึกเครียด วิตกกังวลในจิตใจของเด็กได้ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อพัฒนาการในด้านของทักษะอารมณ์ และการจัดการความรู้สึกของเด็กได้เช่นเดียวกัน

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม จากแหล่งที่มา

Scroll to Top