มดลูกหย่อน เกิดจาก ภาวะที่มดลูกหย่อนคล้อยเคลื่อนลงมา อยู่ที่บริเวณช่องคลอดหรือเคลื่อนออกมาบริเวณปากช่องคลอด ซึ่งอาจเกิดจากความเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อ, เนื้อเยื่อ และเอ็นของอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้ไม่สามารถยึดและรองรับมดลูกได้ หากสังเกตพบปัญหาด้านการขับถ่าย หรือสังเกตพบว่ามีเนื้อเยื่อยื่นออกมาทางช่องคลอด มีเลือดออกผิดปกติ ไม่ควรละเลยอาการควรรีบเข้าพบแพทย์ในทันทีเพื่อทำการรักษา ลดความเสี่ยงที่อาจก่อภาวะแทรกซ้อนตามมา เนื่องจากการปล่อยทิ้งเอาไว้เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน
มดลูกหย่อน เกิดจาก อะไร?
มดลูกหย่อนอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรงและเสื่อมสภาพลง
- เมื่อก้าวเข้าสู่ ช่วงวัยหมดประจำเดือน อาจส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ลดลง ส่งผลให้เนื้อเยื่อในมดลูกมีการเสื่อมสภาพ
- ในครอบครัว มีประวัติภาวะเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอ่อนแอ
- อาการท้องผูกเรื้อรัง, อาการไอเรื้อรัง และเนื้องอกในอุ้งเชิงกราน อาจส่งผลให้มีความดันในช่องท้องเรื้อรัง
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมี โรคอ้วน อาจส่งผลให้มีอาการมดลูกหย่อน โดยสามารถวัดค่า BMI เพื่อประเมินมาตรฐานได้ด้วยตัวเอง
- การคลอดทารก อาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเสียหายในระหว่างการคลอดแบบธรรมชาติได้
- ผู้ที่ผ่านการตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง หรือคลอดบุตรที่มีขนาดตัวใหญ่กว่าปกติ
- ผู้ที่มีภาวะคลอดบุตรบาก หรือมีการบาดเจ็บขณะคลอดบุตร
- การผ่าตัดที่บริเวณอุ้งเชิงกราน อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานอ่อนแอลง และไม่สามารถรองรับมดลูกได้ และอาจนำไปสู่อาการมดลูกหย่อน
- ผู้ที่มีการยกของหนักอยู่เป็นประจำ
มดลูกหย่อน มีกี่ระยะ?
มดลูกหย่อนสามารถแบ่งออกได้ทั้งหมดเป็น 4 ระยะ ด้วยกัน
- อาการระยะที่ 1 มดลูกเริ่มหย่อนลงไปในบริเวณช่องคลอด แต่อยู่เพียงระดับครึ่งหนึ่งของช่องคลอดเท่านั้น
- อาการระยะที่ 2 มดลูกหย่อนลงไปในบริเวณช่องคลอด โดยมีระดับต่ำกว่าระยะแรก และต่ำลงใกล้ปากช่องคลอด ใกล้จะยื่นออกมา
- อาการระยะที่ 3 มดลูกหย่อนออกมาจากปากช่องคลอดบางส่วน
- อาการระยะที่ 4 มดลูกหย่อนออกมาจากปากช่องคลอดทั้งหมด
อาการมดลูกหย่อน มีสัญญาณเตือนอย่างไรบ้าง?
การสังเกตอาการมดลูกหย่อน อาจสามารถสังเกตได้จากสัญญาณอาการดังต่อไปนี้
- อาจรู้สึกมีแรงกด อยู่ภายในช่องคลอด
- มีความรู้สึกเหมือนมีบางอย่างถ่วงรั้ง ที่บริเวณช่องคลอดเอาไว้
- อาจมีความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนลูกบอลขนาดเล็ก
- มีอาการความรู้สึกปวดที่หลังส่วนล่าง
- เจ็บปวดที่ช่องคลอดในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์และในระหว่างการปัสสาวะ
- ปัสสาวะและอุจจาระลำบาก
- มีความรู้สึกไม่สบายตัวในขณะที่เดิน
- อาจสัมผัสได้ถึงก้อนหรือเนื้อเยื่อของมดลูกที่หย่อนคล้อยลงมาที่บริเวณช่องคลอด
- เมื่อมีการไอ, จาม หรือออกกำลังกาย มีปัสสาวะเล็ดออกมาเล็กน้อย
- เข้าห้องน้ำบ่อย เนื่องจากรู้สึกว่าปัสสาวะไม่สุด
- ติดเชื้อที่บริเวณทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ บ่อยครั้ง
เมื่อไหร่ที่ควรเข้าพบแพทย์
เมื่อมีความรู้สึกหรือสังเกตได้ว่าตนเอง มีอาการขับถ่ายและปัสสาวะลำบาก สัมผัสได้ถึงก้อนบริเวณปากช่องคลอด เมื่อสอดนิ้วเข้าไปในบริเวณช่องคลอดสามารถสัมผัสได้กับมดลูก และสังเกตเห็นความผิดปกติของร่างกายตามที่ได้มีการกล่าวไปในข้างต้น ควรรีบเข้าพบแพทย์ในทันที
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากอาการ มดลูกหย่อน
- กระเพาะปัสสาวะหย่อน (Cystocele) เนื่องจากมดลูกหย่อนเป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่บริเวณช่องคลอดอ่อนแอ ที่ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเนื้อเยื่อบริเวณกระเพาะปัสสาวะ อาจส่งผลให้มีภาวะกระเพาะปัสสาวะหย่อนร่วมกับอาการมดลูกหย่อนด้วย
- กระเปาะทวารหนัก (Rectocele) โรคที่เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่บริเวณไส้ตรงและช่องคลอดอ่อนแอ โดยอาจทำให้ไส้ตรงหย่อนและนูนเข้าไปในช่องคลอด และส่งผลให้มีปัญหาในการขับถ่าย อาทิเช่น อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดในขณะที่ขับถ่าย, ใช้ระยะเวลานานขึ้นในการเบ่ง รวมไปถึงอาจทำให้รู้สึกถ่ายไม่สุด
- แผลพุพอง อาการที่อาจเกิดขึ้นในบางราย ในผู้ที่มีอาการมดลูกหย่อนระดับที่รุนแรง โดยเกิดจากการที่มดลูกที่มีการหย่อนออกมาเสียดสีกับเสื้อผ้า จนทำให้เกิดเป็นแผลพุพอง อาจมีเลือดออก และอาจเกิดการติดเชื้อได้
วิธีการรักษา มดลูกหย่อนกินยาอะไรดี ?
การรักษาอาการมดลูกหย่อน สามารถทำการรักษาได้ด้วยวิธีการเหล่านี้
- ทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อทำการซ่อมแซมกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่มีการเสียหายที่บริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้สามารถกลับมาสามารถรองรับมดลูกได้ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการมดลูกหย่อนที่อยู่ในระดับรุนแรง อาจจำเป็นที่จะต้องทำการผ่าตัดเพื่อเอามาลูกออกทั้งหมด
- การบริหารอุ้งเชิงกรานด้วยการออกกำลังกาย หรือที่เข้าใจง่ายว่า การฝึกขมิบช่องคลอด เป็นการช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยในการรักษาอาการมดลูกหย่อน เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการมดลูกหย่อนอยู่ในระดับระยะที่ไม่รุนแรง โดยสามารถเริ่มได้จากการหายใจเข้าลึกๆ เป็นจังหวะ จากนั้นทำการขมิบช่องคลอดที่มีอาการคล้ายกับการกลั้นปัสสาวะหรือการผายลม โดยที่ห้ามเกร็งหน้าท้องและขาหนีบ เนื่องจากอาจทำให้อุ้งเชิงกรานไม่หดเกร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทำการขมิบค้างเอาไว้ 10 วินาที และควรทำการบริการซ้ำๆ กัน โดยอาจแบ่งออกเป็นวันละ 3 รอบ รอบละ 10 ครั้ง เป็นประจำทุกวัน
- ทำการรักษาด้วยการใช้อุปกรณ์พยุงมดลูก (Pessaries) ที่มีลักษณะเป็นวงแหวนพลาสติก และสามารถยืดหรือหดได้ โดยแพทย์จะทำการสอดอุปกรณ์พยุงมดลูกเข้าไปในช่องคลอด โดนจะทำการดันขึ้นเล็กน้อย เพื่อรองรับมดลูกที่หย่อนลงมา และเพื่อทำให้มดลูกกลับเข้าที่อีกครั้ง โดยอาจจำเป็นต้องทำการติดตามอาการหลังการสวมใส่อุปกรณ์ และทำการนัดหมายเพื่อถอดอุปกรณ์ออกมาทำความสะอาดหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่
- ทำการรักษาด้วยการใช้ยาปรับฮอร์โมน คือ การรักษาด้วยการใช้ครีมหรือวงแหวนสอดช่องคลอด ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมน และเพื่อช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแรงของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นวิธีการรักษาที่มักใช้กับเพศหญิงที่เข้าสู่ วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน
นอกจากวิธีการรักษาเหล่านี้แล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง สามารถช่วยป้องกันหรือหลีกเลี่ยงโอกาสในการเกิดมดลูกหย่อนได้
การดูแลตนเองและการป้องกันการเกิดอาการ มดลูกหย่อน อายุน้อย
- การดูแลตนเองสำหรับเพศหญิงที่มีการตั้งครรภ์ และผู้ที่คลอดโดยวิธีธรรมชาติ การออกกำลังกายเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับอุ้งเชิงกรานได้ โดยสามารถทำการออกกำลังกายได้ทั้งในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์และหลังคลอด โดยเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะมดลูกหย่อน
- การดูแลตนเองสำหรับเพศหญิงที่มีน้ำหนักเกินค่า BMI หรือผู้ที่เป็นโรคอ้วน สามารถทำได้โดยการออกกำลังกายและการปรับอาหาร เลือกอาหารที่มีประโยชน์ ผลไม้ลดน้ำหนัก เพื่อลดไขมันหน้าท้อง และเพื่อลดแรงกดทับที่บริเวณอุ้งเชิงกราน
- รักษาอาการไอเรื้อรังและอาการท้องผูกเรื้อรัง เพื่อลดแรงกดต่อเนื่องที่บริเวณอุ้งเชิงกราน ที่อาจทำให้เกิดอาการมดลูกหย่อน
- หลีกเลี่ยงและงดการยกของหนัก อาทิเช่น การอุ้มเด็ก การยกสิ่งของที่มีน้ำหนักเยอะ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะมดลูกหย่อนคล้อย
- การดูแลตนเองสำหรับเพศหญิงที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน อาจทำได้โดยการใช้ยาปรับฮอร์โมน เช่น การใช้ครีมเอสโตรเจนเพื่อปรับสมดุลของฮอร์โมน ร่วมกับการบริหารอุ้งเชิงกรานด้วยการออกกำลังกาย
สรุป
ภาวะมดลูกหย่อน เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและหลายปัจจัยด้วยกัน โดยอาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาสุขภาพหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่น การยกของหนัก ซึ่งอาการมดลูกหย่อนเป็นอาการที่สามารถทำการรักษาได้ หากสังเกตเห็นความผิดปกติของร่างกายตรงตามสัญญาณที่มีการกล่าวมาในข้างต้น ควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน เพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที หากต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดอาการภาวะมดลูกหย่อน สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ตามวิธีการดูแลตนเองและการป้องกัน โดยวิธีเหล่านี้สามารถทำได้ง่ายด้วยตนเอง เพียงเท่านี้ก็สามารถห่างไกลจากความเสี่ยงในการเกิดปัญหามดลูกหย่อนได้
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/uterine-prolapse/symptoms-causes/syc-20353458
- https://www.webmd.com/women/guide/prolapsed-uterus