ท้องนอกมดลูก เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร อันตรายไหม?

ท้องนอกมดลูก คือ ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ที่เกิดขึ้นจากการที่ตัวอ่อนฝังตัวในเยื่อนอกมดลูกที่บริเวณท่อนำไข่ หรือฝังตัวอยู่ที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อาทิเช่น ช่องท้อง, รังไข่ หรือบริเวณปากมดลูก ที่ซึ่งเชื่อมต่อกันกับช่องคลอด ทำให้ตัวอ่อนนั้นไม่สามารถที่จะพัฒนาเป็นทารกได้ โดยผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีการตั้งครรภ์และมีภาวะท้องนอกมดลูก มักจะมีอาการปวดท้องน้อย หรืออาจมีเลือดออกทางช่องคลอด ในระหว่างช่วงสัปดาห์ที่ 4-12 ของการตั้งครรภ์

ท้องนอกมดลูก ตรวจ เจอ กี่ สัปดาห์ ?

การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือ ภาวะท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) คือ การที่ตัวอ่อนเข้าไปฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อนอกมดลูก รวมไปถึงการเจริญเติบโตนอกมดลูกของตัวอ่อน โดยส่วนใหญ่แล้วมักพบได้ที่ท่อนำไข่ ซึ่งเรียกกันว่า การตั้งครรภ์ที่ท่อนำไข่ และการท้องนอกมดลูกนอกจากบริเวณท่อนำไข่แล้ว ยังสามารถเกิดภาวะท้องนอกมดลูกที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วย เช่น ช่องท้อง, รังไข่ หรือปากมดลูกที่อยู่เชื่อมต่อกับบริเวณช่องคลอด การท้องนอกมดลูกส่งผลให้ตัวอ่อนไม่สามารถพัฒนาเป็นทารกได้ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมที่จะรองรับตัวอ่อน ที่จะมีการเจริญเติบโตได้

โดยภาวะท้องนอกมดลูกนั้น อาจไม่แสดงอาการใดๆ ที่จะทำให้สามารถสังเกตได้ในระยะเริ่มต้น แต่ในผู้หญิงบางรายที่มีการตั้งครรภ์อาจมีอาการปวดท้อง มีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาการเหล่านี้มักที่จะเกิดขึ้นในระหว่างช่วงสัปดาห์ที่ 4 ถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ และโดยปกติแล้วหากมีการตรวจพบว่ามีภาวะท้องนอกมดลูกหรือมีการตั้งครรภ์นอกมดลูก อาจต้องมีการนำเอาตัวอ่อนออกในทันทีด้วยวิธีการใช้ยาหรือวิธีการผ่าตัด เนื่องจากหากมีการปล่อยไว้อาจส่งผลให้มีเลือดมากจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และหลังจากการรักษาโอกาสในการตั้งครรภ์อาจมีลดลง ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก และอาจขึ้นอยู่กับประวัติของสุขภาพด้วยเช่นเดียวกัน

รูปภาพประกอบการตั้งครรภ์นอกมดลูก จาก clevelandclinic

ท้องนอกมดลูกอาการเริ่มแรก สังเกตได้อย่างไร?

ผู้หญิงที่มีการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือมีภาวะท้องนอกมดลูก อาจไม่สามารถสังเกตอาการได้ภายในช่วงแรก บางรายอาจมีอาการตั้งครรภ์ในระยะแรกหรือในระยะเริ่มต้นที่เหมือนกับการตั้งครรภ์ตามปกติ อาทิเช่น ประจำเดือนขาด, คลื่นไส้ รวมไปถึงมีอาการเจ็บเต้านม เมื่อมีการทดสอบการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลและพบว่ามีภาวะท้องนอกมดลูก การตั้งครรภ์อาจต้องยุติลงในทันที

สัญญาณเตือน ท้องนอกมดลูกมีอาการอย่างไร

  • อาจมีเลือดออกที่บริเวณช่องคลอดเล็กน้อย โดยเลือดอาจมีลักษณะสีแดงเข้มหรือสีแดงสดคล้ายประจำเดือน
  • รู้สึกปวดท้องน้อยข้างเดียว หรืออาจมีความรู้สึกปวดท้องน้อยทั้งสองข้าง แต่อาจปวดมากที่ข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งลักษณะการปวดจะเป็นอาการที่มีการปวดตลอดและหากมีความรุนแรงมากขึ้นจะปวดร้าวไปที่บริเวณทวารหนัก หรือบริเวณไหล่ได้
  • มีอาการท้องเสีย หรืออาจอาเจียนได้ในกรณีที่มีเลือดออกภายในช่องท้อง

โดยอาการที่เกิดขึ้นนั้นอาจขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีเลือดสะสม เป็นผลให้อาการของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันออกไป

ท้องนอกมดลูก อาการฉุกเฉินที่เป็นอันตราย

ในกรณีที่ไข่ยังเจริญเติบโตต่อที่บริเวณท่อนำไข่อาจส่งผลให้ท่อนำไข่แตก และทำให้มีเลือดออกมากที่ในบริเวณช่องท้อง อาจเกิดอาการหน้ามืด, เป็นลม, ช็อก หรืออาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ท้องนอกมดลูกเกิดจากอะไร ?

ภาวะท้องนอกมดลูกสามารถเกิดขึ้นได้หลายส่วนของร่างกาย แต่บริเวณที่พบบ่อยที่สุดมักพบที่บริเวณท่อนำไข่ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ท่อนำไข่มีปัญหา อาทิเช่น ท่อนำไข่แคบ, ท่อนำไข่อุดตัน, ท่อนำไข่ผิดรูป, ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ซึ่งอาจทำให้มีพังผืดที่บริเวณท่อน้ำไข่, มีแผลหรือพังผืดจากการผ่าตัด, การใช้ยาและฮอร์โมน หรืออาจเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนในกระบวนการตั้งครรภ์ และการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของตัวอ่อน และอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดภาวะ ท้องนอกมดลูก

  • การสูบบุหรี่ อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะท้องนอกมดลูกได้
  • อายุเยอะ ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกอาจเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงที่มีการตั้งครรภ์ ที่มีช่วงอายุ 35-40 ปี
  • เคยผ่านการผ่าตัดท่อนำไข่ อาทิเช่น การผ่าตัดทำหมันหญิงไม่สำเร็จ
  • เคยผ่านการท้องนอกมดลูกมาก่อน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์นอกมดลูกซ้ำได้ประมาณ 10%
  • มีการตั้งครรภ์ในขณะที่ใช้ห่วงคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัยเพื่อคุมกำเนิด มีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก รวมไปถึงการคุมกำเนิดถาวรก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงได้เช่นเดียวกัน หากมีการตั้งครรภ์หลังการผูกท่อ
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • การรักษาภาวะมีบุตรยาก อาทิเช่น การทำเด็กหลอดแก้ว, ใช้ยากระตุ้นการตกไข่

การวินิจฉัยโดยแพทย์ ท้องนอกมดลูกตรวจเจอไหม ?

  • ตรวจภายใน เพื่อประเมินอาการและเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค หาจุดกดเจ็บหรือก้อนเนื้อในช่องท้อง
  • วัดระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์ หรือ HCG (Human Chorionic Gonadotropin) จากการเจาะเลือดสองรอบ โดยมีระยะห่างกัน 48 ชั่วโมง หากฮอร์โมนตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นต่ำกว่า 66% อาจเกิดภาวะท้องนอกมดลูกหรือภาวะตั้งครรภ์ผิดปกติได้
  • ทำการอัลตราซาวด์ เพื่อตรวจภายในโพรงมดลูกว่ามีถุงการตั้งครรภ์หรือตรวจการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
  • การทำ Culdocentesis หรือการเจาะตรวจเลือดที่ออกบริเวณภายในช่องท้องทางช่องคลอด ถ้าปรากฏเลือดอาจเป็นการบ่งชี้ได้ว่ามีเลือดออกจากท่อนำไข่ที่แตก
รูปภาพประกอบจาก Freepik

วิธีการรักษา ท้องนอกมดลูกรักษายังไง ?

ตามที่กล่าวมาในข้างต้น เนื่องจากตัวอ่อนไม่สามารถที่จะเจริญเติบโตนอกมดลูกได้ แพทย์จึงต้องนำเอาตัวอ่อนออกเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่อาจส่งผลเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยแพทย์อาจเลือกใช้วิธีการรักษาดังนี้

การใช้ยาเพื่อรักษา

ท้องนอกมดลูกระยะแรกที่ซึ่งยังไม่มีเลือดออก แพทย์อาจทำการรักาาด้วยการฉีดยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ซึ่งการรักษาด้วยการใช้ยาเมโธเทรกเซทจะต้องมีการวินิจฉัยโดยแพทย์อย่างชัดเจนแล้วว่ามีภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกจริง และหลังจากการฉีดยาเมโธเทรกเซทแพทย์จะทำการวัดระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์ หรือ HCG อีกครั้ง เพื่อพิจารณาผลลัพธ์การรักษา ในบางกรณีแพทย์อาจให้ยา 2 ครั้ง และอาจต้องมีการผ่าตัดในกรณีที่การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้ผล

โดยการรักษาด้วยการฉีดยาเมโธเทรกเซท อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ท่อนำไข่แตกหลังการรักษา แพทย์อาจมีการแนะนำให้คุมกำเนิดอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทันทีหลังจากมีการฉีดยาเมโธเทรกเซทอาจทำลายตับ อีกทั้งยาเมโธเทรกเซทยังอาจมีผลข้างเคียงอื่นๆ อาทิเช่น

  • รู้สึกไม่สบาย
  • ท้องเสีย
  • วิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการปวดท้อง แต่ไม่รุนแรงและอาจหายได้ในระยะเวลา 1-2 วัน

การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษาภาวะ ท้องนอกมดลูก

ในกรณีที่เกิดภาวะท้องนอกมดลูกขึ้นที่ท่อนำไข่ แพทย์อาจทำการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อดูบริเวณท่อน้ำไข่ และทำการผ่าตัดเอาตัวอ่อนที่อยู่นอกมดลูกออก โดยการผ่าตัดผ่านกล้องเป็นวิธีการรักษาที่พบได้บ่อยมากที่สุด และการผ่าตัดท่อนำไข่หากแพทย์พบว่าท่อนำไข่บริเวณอื่นยังแข็งแรง แพทย์อาจเอาเพียงเฉพาะตัวอ่อนที่ฝังอยู่ออก แต่ในกรณีที่ท่อนำไข่ไม่ปกติ แพทย์จะทำการผ่าตัดท่อนำไข่ด้านที่มีการฝังตัวอ่อนออก โดยการผ่าตัดเอานำไข่ข้างที่มีการฝังตัวอ่อนออกเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

ซึ่งก่อนทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเอาท่อนำไข่ออกทั้งหมด แพทย์จะทำการปรึกษากับผู้ป่วยรวมไปถึงอธิบายขั้นตอนการรักษา ถามความยินยอมในการรักษากับผู้ป่วยเสียก่อน โดยการรักษาด้วยวิธีการนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาพักฝื้น 4-6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับปริมาณของเลือดที่ออกและความเสียหายของท่อนำไข่

การผ่าตัดฉุกเฉิน

หากการ ท้องนอกมดลูก ทำให้มีเลือดออกมากหรือเกิดภาวะท่อนำไข่แตก แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉิน โดยแพทย์จะทำการกรีดหน้าท้องเพื่อทำการหยุดเลือดที่ไหล และเพื่อซ่อมแซมท่อนำไข่ ในบางกรณีอาจรักษาท่อนำไข่ที่แตกได้ แต่โดยส่วนให้แล้วอาจต้องผ่าตัดเพื่อนำเอาท่อนำไข่ที่แตกออก

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา

Scroll to Top