ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ระบบสำคัญบ่งบอกสุขภาพของ “ไต”

ระบบขับถ่ายปัสสาวะ (Urinary System) เป็นระบบที่มีความสำคัญต่อร่างกายมาก โดยเฉพาะ “ไต” ที่เป็นองค์ประกอบหลักในการกรองของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งร่างกายนำสิ่งที่ต้องการจากสารอาหารสำคัญและเปลี่ยนเป็นพลังงานกลับคืนสู่ร่างกาย ส่วนของเสียจะตกค้างในลำไส้และในเลือด ระบบทางเดินปัสสาวะจะรักษาสมดุลของทุกอย่างโดยการขจัดของเสีย เช่น ยูเรีย เกลือส่วนเกิน น้ำส่วนเกิน และสิ่งอื่นๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการ หากมีการดูแลสุขภาพไตและระบบขับถ่ายปัสสาวะที่เหมาะสม จะช่วยปกป้องไตให้แข็งแรง และลดอาการอักเสบในบริเวณกรวยไตได้อย่างดี

กลไกของระบบขับถ่ายปัสสาวะ

กลไกสำคัญที่ระบบขับถ่ายปัสสาวะมีก็คือ “ยูเรีย” เป็นของเสียที่ผลิตขึ้นจากโปรตีนที่มักพบในเนื้อสัตว์ และถูกย่อยสลายในร่างกาย โดยหน้าที่ของระบบปัสสาวะ เป็นการกรองเลือดและสร้างน้ำปัสสาวะออกมา ซึ่งจะช่วยกำจัดของเสียที่มากับอวัยวะของระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ไต กรวยไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ซึ่งร่างกายใช้สารอาหารจากอาหารและเปลี่ยนเป็นพลังงาน หลังจากที่ร่างกายได้รับสารอาหารที่ต้องการแล้ว ของเสียจะค้างอยู่ในลำไส้และในเลือด โดยกลไกการทำงานของไตและระบบทางเดินปัสสาวะ จะช่วยให้ร่างกายกำจัดของเสียที่เป็นของเหลวที่เรียกว่า “ยูเรีย” และรักษาสมดุลของสารเคมีในร่างกาย เช่น โพแทสเซียมและโซเดียม และน้ำให้สมดุล ยูเรียผลิตขึ้นเมื่ออาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก และผักบางชนิดถูกย่อยสลายในร่างกาย ยูเรียจะถูกส่งผ่านกระแสเลือดไปยังไต ซึ่งจะถูกกำจัดออกไปพร้อมกับน้ำและของเสียอื่นๆ ในรูปของปัสสาวะ

อวัยวะสำคัญของระบบขับถ่ายปัสสาวะ

ในร่างกายมนุษย์ตามหลักกายวิภาคศาสตร์ และสรีรวิทยามนุษย์ มีอวัยวะสำคัญเป็นส่วนประกอบและทำหน้าที่ในระบบขับถ่ายปัสสาวะ ซึ่งเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างมาก เนื่องจากการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ มีการดื่ม การรับประทานอาหาร การสืบพันธุ์ รวมถึงการขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็นการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ซึ่งจะมีอวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น

  1. ไต (Kidney) : กลไกของไตจะมีหน้าที่กำจัดของเสียออกจากเลือดผ่านหน่วยกรองเล็กๆ ที่เรียกว่า “nephrons” ซึ่งอยู่ตามไต แต่ละข้างประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กที่เรียกว่า “โกลเมอรูลัส” นอกจากนี้ยังมีท่อเล็ก ๆ ที่เรียกว่าท่อไตซึ่งระบายปัสสาวะและเชื่อมต่อกับท่ออื่นๆ ที่ขับปัสสาวะออกจากไตไปยังท่อไต จึงทำให้ไตเป็นอวัยวะสำคัญของกระบวนการนี้มากที่สุด ลักษณะของไต จะคล้ายๆ กับเม็ดถั่วคู่หนึ่งที่มีสีน้ำตาลอมม่วง และอยู่ใต้กระดูกซี่โครงตรงกลางหลัง ซึ่งหน้าที่หลักในทางสรีรวิทยาคือ:
    1. ช่วยขับของเสีย กรองสารออกจากเลือด โดยออกมาในรูปแบบของเหลว (ปัสสาวะ)
    2. ช่วยรักษาสมดุลของสารเคมีในเลือด
    3. สร้าง Erythropoietin ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง
    4. ทำให้กระตุ้นการออกฤทธิ์ของวิตามินดี
    5. ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในสภาวะปกติ
  2. ท่อไต (Two Ureters) : ไตแต่ละข้างมีท่อแคบๆ ที่เรียกว่า “ท่อไต” ซึ่งทำหน้าที่นำปัสสาวะจากไตไปยังกระเพาะปัสสาวะ กล้ามเนื้อในผนังท่อไตจะเกร็งและคลายตัวเพื่อบังคับให้ปัสสาวะไหลลงท่อไต หากปัสสาวะยังค้างในท่อไต หรือเกิดการอั้นปัสสาวะ อาจเกิดการติดเชื้อที่ไตได้ ทุกๆ 10 ถึง 15 วินาที น้ำปัสสาวะจะถูกระบายออกจากท่อไตเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
  3. กระเพาะปัสสาวะ (Bladder) : กระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะกลวงรูปสามเหลี่ยมอยู่ในช่องท้องส่วนล่าง ตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะจะถูกยึดไว้กับที่โดยเอ็นที่ติดกับกระดูกเชิงกราน ผนังของกระเพาะปัสสาวะจะคลายตัว และขยายตัวเพื่อกักเก็บปัสสาวะ และบีบตัวแผ่ออกจนภายในกระเพาะปัสสาวะว่างเปล่า โดยส่งผ่านทางท่อปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีเส้นประสาทในกระเพาะปัสสาวะ จะมีสัญญาณสื่อประสาทจะแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาปัสสาวะ
  4. กล้ามเนื้อหูรูดสองข้าง (Two Sphincter Muscles) : อวัยวะนี้มีส่วนสำคัญในการขมิบ หรือการอั้นปัสสาวะ โดยเป็นกล้ามเนื้อที่มีลักษณะเหมือนวงกลมที่ช่วยป้องกันไม่ให้ปัสสาวะรั่ว โดยกล้ามเนื้อจะหดเพื่อปิดให้แน่นเหมือนหนังยางรอบช่องเปิดของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งจะมีความแตกต่างของเพศชายและเพศหญิงตามลักษณะอวัยวะสืบพันธุ์ 
  5. ท่อปัสสาวะ (Urethra) : ลักษณะอวัยวะนี้จะเป็นท่อที่ให้ปัสสาวะออกนอกร่างกาย สมองจะส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะบีบรัดตัว เพื่อที่จะบีบปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะ ในขณะเดียวกัน สมองจะส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัวเพื่อให้ปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะ เมื่อสัญญาณทั้งหมดเกิดขึ้น การปัสสาวะจะเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกต้องการเข้าห้องน้ำ

โรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบปัสสาวะ

การขับถ่ายปัสสาวะสามารถบ่งบอกความผิดปกติของโรคได้ และเกี่ยวข้องกับสุขภาพของ “ไต” ร่วมด้วย ซึ่งส่งผลต่อโรคร้ายแรงต่างๆ ที่ไม่ควรมองข้าม และสามารถตรวจความผิดปกติก่อนที่จะดำเนินการรักษาได้ โดยกลุ่มโรคความผิดปกติของระบบปัสสาวะที่พบบ่อยมากในประเทศไทย จะยกตัวอย่างโรคได้ดังนี้

ภาวะไตล้มเหลว (Kidney Failure)

หากมีสุขภาพไตที่แข็งแรง จะมีกลไกในการกรองเลือดโดยการขจัดของเหลว แร่ธาตุ และของเสียส่วนเกิน และยังสร้างฮอร์โมนที่ทำให้กระดูก และเลือดแข็งแรง หากระบบการทำงานภายในไตเสียหาย ของเสียส่วนเกินจะสะสมในร่างกายจนเกิดพิษแก่ร่างกายได้ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ร่างกายเก็บของเหลวส่วนเกินไว้และสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอ มีโอกาสเกิดอาการ “ไตวาย” สูงขึ้น 

การรักษาจะต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไตสามารถทำงานตามปกติด้วยการล้างไตหรือการปลูกถ่ายไต การรักษาแต่ละครั้งมีข้อดีและข้อเสีย ไม่ว่าจะเลือกการรักษาแบบใด จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิต รวมถึงวิธีรับประทานอาหารและวางแผนกิจกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตามผู้ที่มีภาวะไตวายสามารถมีชีวิตที่สมบูรณ์และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Cancer)

โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคที่พบบ่อยมากในเพศชาย แต่สามารถพบในเพศหญิงได้ เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะที่มีลักษณะกลวง และอยู่ในตำแหน่งติดกับช่องท้องส่วนล่าง ทำหน้าที่เป็นที่กักเก็บปัสสาวะ และมีการคลายตัวเมื่อต้องการขับปัสสาวะออก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเกิดขึ้นในเยื่อบุของกระเพาะปัสสาวะ แม้ว่าจะไม่เป็นโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย แต่ก็ไม่ควรมองข้ามอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น

อาการที่แสดงออกของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ :

  • มีเลือดปนในปัสสาวะ อาจเกิดในกรณีขับปัสสาวะออกแล้วมีสีเลือดปน
  • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  • ปวดบริเวณท้องน้อยเมื่อปัสสาวะ
  • ปวดหลังในช่วงบริเวณหลังส่วนล่าง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใกล้กับระบบทางเดินปัสสาวะ

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่ การสูบบุหรี่และการสัมผัสสารเคมีบางชนิดในที่ทำงาน ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่อยู่ในกลุ่มผิวขาว หรือกลุ่มผู้ชายจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่าเพศหญิง การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี เคมีบำบัด และการบำบัดทางชีวภาพ การบำบัดทางชีวภาพช่วยเพิ่มความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับโรคมะเร็งได้มีประสิทธิภาพ

โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease หรือ CKD)

โรคไตเรื้อรังเกิดจากระบบการทำงานภายในไตเสียหายและไม่สามารถกรองเลือดได้เท่าที่ควร อาจทำให้มีของเสียสะสมในร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งความเสียหายของไตจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ เป็นเวลาหลายปีสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมที่สะสมมายาวนาน โดยหลายคนไม่มีอาการใดๆ จนกว่าโรคไตจะลุกลาม การตรวจเลือดและการตรวจปัสสาวะเป็นวิธีเดียวที่จะรู้ว่าเป็นโรคไตหรือไม่ โดยจะเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจผ่านห้องปฏิบัติการ

การรักษาโรคไตเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ลดความรุนแรงของโรคได้ แพทย์จะแนะนำให้ฟอกไตหรือปลูกถ่ายไต รวมถึงปรับการทานยาลดความดันโลหิต ควบคุมน้ำตาลในเลือด ลดปริมาณอาหารเค็ม และลดคอเลสเตอรอลในการรับประทานอาหาร ซึ่งการลดการทานอาหารกลุ่มนี้ทำให้ป้องกันไตเสื่อมสภาพได้

อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary Incontinence)

อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดจากความผิดปกติของประสาทส่วนการควบคุม ไม่ว่าจะเกิดจากระบบประสาทที่ส่งผลต่อการสูญเสียการควบคุมกระเพาะปัสสาวะ หรือไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ ซึ่งสามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย และวินิจฉัยจากแพทย์ได้โดยตรง บางรายอาจมีปัญหาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ตั้งแต่เด็ก ไปจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก ไม่ว่าในกรณีใด การรักษาที่เหมาะสม จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ และสามารถหายได้อย่างรวดเร็ว ยกเว้นในกรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จะต้องมีการสวนปัสสาวะ และเปลี่ยนผ้าอ้อมทำความสะอาด เนื่องจากมีความบกพร่องในการกลั้นปัสสาวะจากอาการป่วยหรือระบบประสาทส่วนของการควบคุมผิดปกติ

โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Stone)

การเกิดโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ จะเกิดใน 2 กรณี ในกรณีแรกจะเกิดจากตะกอนที่ก่อตัวเป็นก้อนนิ่วจากไตและท่อไต หลุดออกมาสะสมเพิ่มในกระเพาะปัสสาวะ และอีกกรณีเกิดจากการสะสมนิ่วในกระเพาะปัสสาวะเอง ทำให้เกิดอาการขับปัสสาวะออกไม่หมด กระเพาะปัสสาวะบีบรัดได้ไม่ดี รวมถึงท่อปัสสาวะตีบตัน ซึ่งจะต้องระมัดระวังการอุดตันของก้อนนิ่วเป็นพิเศษ บางรายอาจมีความผิดปกติของต่อมลูกหมากโตร่วมด้วย แต่การรักษาอาการสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการปรับพฤติกรรมและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

การรักษาอาการผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ

ความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะมักจะเกิดจากตะกอนสะสมจนเกิดก้อนนิ่วอุดตัน และการติดเชื้อจากระบบทางเดินปัสสาวะ การรักษาอาการผิดปกติขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยจากแพทย์เป็นหลัก และการตรวจพบความผิดปกติในตำแหน่งใดในอวัยวะของระบบทางเดินปัสสาวะนั้น จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน

  1. ใช้ยาปฏิชีวนะช่วยบรรเทาความผิดปกติ : การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะด้วยยาปฏิชีวนะ โดยจะให้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 3-5 วัน เพื่อลดอาการติดเชื้อที่รุนแรง ซึ่งขึ้นอยู่กับแพทย์ให้ยาปฏิชีวนะ และผลข้างเคียงอื่นๆ ของผู้ป่วย ในบางกรณีจะร่วมกับการรักษาอาการอื่นๆ เช่น ให้ยาคลายการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ ยาควบคุมความเป็นกรด-ด่างในปัสสาวะ และดื่มน้ำให้เป็นประจำ เพื่อให้ระบบทางเดินปัสสาวะทำงานดีขึ้น 

โดยยาปฏิชีวนะที่นิยมรักษา เนื่องด้วยระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นระบบการทำงานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย ยาที่ใช้กันทั่วไปสำหรับการบรรเทาอาการติดเชื้อ ได้แก่

  1. Trimethoprim (ไตรเมโธพริม)
  2. Fosfomycin (ฟอสโฟมัยซิน)
  3. Cephalexin (เซฟาเลซิน)
  4. Ceftriaxone (เซฟไตรอะโซน)
  1. การผ่าตัดเพื่อเอานิ่วออกจากตำแหน่งสำคัญ : การรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ จะมุ่งในการใช้เทคโนโลยีด้านหัตถการเข้ามาช่วย เช่น
    1. การสลายตะกอนนิ่วแบบ (ESWL) โดยจะใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อสลายก้อนนิ่วตามบริเวณอวัยวะนั้นออกอย่างรวดเร็ว แต่การใช้คลื่นความถี่สูงควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
    2. การใช้เทคนิค (URSL) โดยการส่องกล้องทางท่อปัสสาวะ เพื่อดูความผิดปกติและการติดเชื้อไปตามท่อไต และในระบบนี้สามารถเอานิ่วในท่อไตออกได้
    3. การส่องกล้องแบบ (PCNL) จะเน้นส่องกล้องผ่านผิวหนังเพื่อขจัดนิ่วในไต ซึ่งกรรมวิธีนี้จะต้องใช้ผลการเอกซเรย์ (X-Ray Result) ควบคู่กับการรักษา
    4. การทำผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery)จะเป็นเทคนิคสำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนนิ่วขนาดใหญ่ตามอวัยวะนั้นๆ แต่ไม่เหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยทางเดินปัสสาวะในกรณีติดเชื้อ หรือมีก้อนนิ่วขนาดเล็ก ที่ยากต่อการผ่าตัดออกไปได้
  2. การวิเคราะห์ผลจากห้องปฏิบัติการ : การรักษาความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ จะต้องควบคู่กับหลักอาชีวเวชศาสตร์ เช่น การเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์โอกาสการเกิดโรคที่เกี่ยวข้อง และสามารถวินิจฉัยเพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงที
    1. ตัวอย่างปัสสาวะ เพื่อดูปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ และวิเคราะห์การจำเพาะของเชื้อ
    2. ผลการเอกซเรย์ (X-Ray Result) จะตรวจดูความผิดปกติของอวัยวะที่เกี่ยวข้องในระบบทางเดินปัสสาวะ การหาตำแหน่งของก้อนนิ่ว และภาวะการติดเชื้อ

การดูแลตัวเอง และการป้องกันความเสี่ยงของระบบทางเดินปัสสาวะ

ระบบทางเดินปัสสาวะสามารถแก้ไข และปรับพฤติกรรมที่เหมาะสมได้ โดยมีวิธีในการดูแลเพื่อการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะให้มีประสิทธิภาพ และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จะช่วยยืดอายุการใช้งานของไตให้ยาวนานยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ และป้องกันการติดเชื้อร่วมด้วย เช่น

  1. อย่าอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน : ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนใหญ่ จะเกิดจากการอั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน ซึ่งเกิดได้ในกรณีการเดินทาง การทำงานบริเวณที่เสี่ยง หรือติดภารกิจสำคัญที่จำเป็นต้องอั้นปัสสาวะ ซึ่งปริมาณปัสสาวะจะค้างอยู่ และเป็นของเสียที่ต้องกำจัดออก ทำให้การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียสูงขึ้น หากรู้สึกปวดให้รีบเข้าห้องน้ำทันที
  2. ให้ความสำคัญในการรักษาสุขอนามัยทางเพศ : แม้ว่าจะมีความแตกต่างในการเจริญพันธุ์ของชายหญิง ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญในการรักษาความสะอาด เช่น ในเพศชายจะมีการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย (Circumcision) เพื่อป้องกันการติดเชื้อและป้องกันอาการปัสสาวะลำบาก และเพศหญิงจะต้องทำความสะอาดจากหน้าไปหลัง และซับให้แห้งด้วยกระดาษ เพื่อป้องกันการอับชื้น อีกทั้งไม่ควรสวนช่องคลอดด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  3. ระมัดระวังอาการที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ : หากเป็นผู้ป่วยโรค NCDs มักจะมีภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง เช่น โรคเบาหวาน จะต้องควบคุมความผิดปกติของโรคเบาหวาน และรักษาอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความผิดปกติและการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ในบางรายอาจมีการทานยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะยับยั้งภูมิคุ้มกันบางอย่างที่ส่งผลต่อการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะ จำเป็นต้องปรับยาในปริมาณที่เหมาะสมภายใต้คำสั่งแพทย์ เพื่อป้องกันอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  4. ใส่เสื้อผ้าสะอาดเสมอ : การป้องกันความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ เริ่มต้นที่การเลือกเสื้อผ้าที่สะอาด และทำความสะอาดสม่ำเสมอ “กางเกงใน” ที่เหมาะสมกับสรีรร่างกายทั้งชายและหญิง ไม่ควรใส่เสื้อผ้าซ้ำ และควรมีการทำความสะอาดเสื้อผ้า เพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณท่อปัสสาวะ และลดการติดเชื้อบริเวณทางเดินปัสสาวะได้ 
  5. ดื่มน้ำสม่ำเสมอ : ควรดื่มน้ำสม่ำเสมอด้วยการดื่มน้ำเปล่า ให้ดื่มในปริมาณอย่างน้อยวันละ 8–10 แก้ว หรือดื่มน้ำประมาณ 2 ลิตร ใช้วิธีการดื่มทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายขับสารพิษออกมาทางระบบทางเดินปัสสาวะ และลดตะกอนที่สะสมให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ในกลุ่มผู้สูงอายุจะต้องระมัดระวังโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากเคลื่อนไหวช้าลง และขาดการดื่มน้ำสม่ำเสมอ
  6. ก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ควรปัสสาวะทุกครั้ง : การขับปัสสาวะไม่ได้มีแค่ช่วยในเรื่องขับถ่ายของเสียออกไปเท่านั้น แต่การขับปัสสาวะยังสัมพันธ์กับกล้ามเนื้อช่วงอุ้งเชิงกราน (Pelvic Floor Muscles) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อสำคัญในการขมิบในช่วงมีเพศสัมพันธ์ การคลอดบุตรในสตรีมีครรภ์ รวมถึงการบริหารกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันอาการปัสสาวะเล็ด โดยจะต้องปัสสาวะออกก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
  7. งดทานอาหารที่มีรสเค็มจัด : การทานอาหารที่มีประโยชน์สามารถช่วยให้การขับถ่ายปัสสาวะได้ดีขึ้น ซึ่งยังรวมถึงการงดทานอาหารที่มีรสเค็มจัด โดยอาหารที่มีความเค็มสูง จะมีปริมาณของโซเดียมสูง โดยร่างกายจะทานโซเดียมได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หากทานมากเกินไปจะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น และมีโซเดียมเป็นส่วนเกิน มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรังมากกว่า

ระบบทางเดินปัสสาวะสามารถบ่งบอกถึงเรื่องสุขภาพของไต เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ชัดเจน และสามารถดูแลตัวเองได้จากการปรับพฤติกรรม ให้ความสำคัญในการดื่มน้ำ เนื่องจากปัสสาวะมีสถานะเป็นของเหลว แต่จัดเป็นของเสียที่ถูกร่างกายกำจัดออก จะต้องมีการขับปัสสาวะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงในระยะยาวได้ จึงต้องทำความเข้าใจเรื่องกลไกของระบบการขับถ่ายปัสสาวะ มีการเช็คอาการของตนเองอย่างสม่ำเสมอ รักษาความสะอาดเสื้อผ้าเครื่องใช้ สุขอนามัยของตนเอง และการรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะเป็นการป้องกันการทำงานหนักของไต ซึ่งเป็นอวัยวะที่ช่วยกรองของเสีย ต้องกำจัดออกจากร่างกาย หากสุขภาพไตไม่ดี จะส่งผลต่อการเกิดโรคที่รุนแรงได้

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top