Moisturizer (มอยส์เจอไรเซอร์) คือ สารบำรุงผิวที่ทำหน้าที่ปกป้อง, ให้ความชุ่มชื้น และฟื้นฟูผิว ซึ่งกลไกการทำงานของมอยส์เจอไรเซอร์เป็นการเลียนแบบหน้าที่ของต่อมไขมันใต้ผิวหนัง ที่จะหลั่งไขมันออกมาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำ ซึ่งในบางครั้งร่างกายอาจผลิตออกมาไม่เพียงพอ มอยส์เจอไรเซอร์จึงเข้าไปทำหน้าที่ส่วนนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การนำมอยส์เจอไรเซอร์มาใช้บำรุงผิว มีประวัติศาสตร์ย้อนไปตั้งแต่ในสมัยโบราณกาล ด้วยการนำน้ำมัน, ไขมัน และขี้ผึ้งจากธรรมชาติมาใช้บำรุงและปกป้องผิวจากแสงแดด จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาในศตวรรษที่ 19 จึงเริ่มมีการผลิตมอยส์เจอไรเซอร์รูปแบบสังเคราะห์ขึ้นมาแทน
หลังจากนั้นในช่วงศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเริ่มผสมสารบำรุงต่าง ๆ ลงไปในมอยส์เจอไรเซอร์กันมากขึ้น โดยอยู่ในรูปของสารอิมัลชันที่อุดมด้วยสารอาหารแก่ผิว เช่น วิตามิน, สารกันแดด, สารต้านอนุมูลอิสระ หรือสารฟื้นบำรุงเซลล์ เป็นต้น และเพิ่มคุณสมบัติให้มอยส์เจอไรเซอร์จับกับน้ำได้ดีขึ้น เพื่อให้มอยส์เจอไรเซอร์ถูกดูดซึมผ่านชั้นผิวหนังกำพร้าได้ดีขึ้นนั่นเอง
มอยส์เจอไรเซอร์สารนำมาใช้ได้ทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งนอกจากจะใช้เพื่อความสวยงามแล้ว ยังมีผลในการรักษาโรคบางประเภท เช่น ผิวหนังอักเสบ หรือผิวหนังแห้งเรื้อรัง เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่านี่เป็นอีกหนึ่งเครื่องสำอางที่ขาดไม่ได้เลยในทุกครัวเรือน
มอยส์เจอไรเซอร์มีกี่ประเภท แต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร?
ประเภทของมอยส์เจอไรเซอร์ถูกแบ่งออกตามคุณสมบัติในการปกป้องผิว ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท ดังนี้
Occlusives
สารในกลุ่มนี้จะทำหน้าที่สร้างพื้นผิวคล้ายฟิล์มปกคลุมผิวหนัง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำใต้ผิวหนังระเหยออกมา ส่วนมากจะใช้สารในกลุ่มน้ำมันและขี้ผึ้ง เพราะถูกชะล้างออกได้ยากด้วยน้ำและมีคุณสมบัติเป็นฉนวน สารกลุ่ม Occlusive จะให้ประสิทธิภาพดีในผิวแห้งมาก แต่อาจก่อให้เกิดรูขุมขนอุดตัน, สิว หรืออาการแพ้ได้
ตัวอย่างสาร Occlusives ได้แก่ Petrolatum, Lanolin, Mineral oil หรือสารอนุพันธ์ของซิลิโคน เป็นต้น
Humectants
สารในกลุ่มนี้ทำหน้าที่อุ้มน้ำ ด้วยการดูดซับน้ำจากชั้นผิวที่อยู่ลึกลงไปและน้ำจากสิ่งแวดล้อม เข้ามายังชั้นผิวหนังกำพร้า เพื่อช่วยบำรุงให้ผิวชุ่มน้ำลดความแห้ง สารในกลุ่มนี้จะเหมาะกับผิวแห้ง แต่ในกลุ่มที่ผิวแห้งมากอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองหรือคันได้
ตัวอย่างของสาร Humectants ได้แก่ Glycerin, Hyaluronic acid, Urea หรือ Propylene glycol เป็นต้น
Emollients
สารกลุ่มนี้ทำหน้าที่ปกปิดช่องว่างระหว่างเซลล์และพื้นผิวใกล้เคียง ช่วยทำให้ผิวที่หยาบกร้านดูเรียบเนียนขึ้น คุณสมบัติจะคล้ายคลึงกับสารในกลุ่ม Occlusives แต่ผิวสัมผัสจะมีความเบาบางกว่า
ตัวอย่างของสาร Emollients ได้แก่ Ceramides, Cholesterol, Fatty acids หรือ Squalene เป็นต้น
Protein rejuvenators
สารในกลุ่มนี้เป็นมอยส์เจอไรเซอร์กลุ่มใหม่ ที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและเส้นใยอิลาสติน (Elastin) ช่วยเสริมความแข็งแรง, เพิ่มความยืดหยุ่น, เพิ่มความชุ่มชื้น และลดเลือนริ้วรอยให้แก่ผิว อาจเป็นสารที่ได้จากธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์ อย่างไรก็ตาม สารในกลุ่มนี้จะมีกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อนและอาจมีราคาแพงกว่ามอยส์เจอไรเซอร์ชนิดอื่น ๆ
ตัวอย่างของสาร Protein rejuvenators ได้แก่ Argireline, Matrixyl 3000, Epidermal growth factor (EGF) หรือ Retinol (วิตามิน A) เป็นต้น
ประโยชน์ของมอยส์เจอไรเซอร์
หน้าที่หลักของมอยส์เจอไรเซอร์ คือ การให้ความชุ่มชื้นและปกป้องผิวจากมลภาวะต่าง ๆ ถึงกระนั้น เนื่องจากมอยส์เจอไรเซอร์มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท จึงมีผลต่อสภาพผิวที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนี้
- สำหรับผิวทั่วไป: มอยส์เจอไรเซอร์ช่วยบำรุงผิวให้ความชุ่มชื้นมีความสมดุล คงความสวยงามและความอ่อนเยาว์ไว้
- สำหรับผิวแห้ง: มอยส์เจอไรเซอร์ช่วยเติมอาหารให้แก่ผิว เพิ่มความชุ่มชื้นพร้อมรักษาน้ำให้อยู่ในชั้นผิวหนัง ลดความแห้งตึง เพิ่มความอ่อนนุ่มให้แก่ผิว
- สำหรับผิวแพ้ง่ายไวต่อสิ่งแวดล้อม: มอยส์เจอไรเซอร์ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกัน เพิ่มความแข็งแรงให้แก่ผิว ลดความรุนแรงจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยบรรเทาอาการคันหรือแดงได้
- สำหรับผิวหนังผู้สูงอายุหรือแลดูชราก่อนวัย: มอยส์เจอไรเซอร์บางประเภท มีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและเส้นใยอิลาสตินใต้ชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวมีความยืดหยุ่นและเต่งตึงมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยชะลอไม่ให้ผิวชราก่อนวัยอันควร
สิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกซื้อมอยส์เจอไรเซอร์
- ปราศจากน้ำหอมหรือสีย้อม: เนื่องจากน้ำหอมเป็นสารกลุ่มแอลกอฮอล์ที่อาจทำให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองได้ การใช้มอยส์เจอไรเซอร์ที่มีน้ำหอมหรือสีย้อมอาจเป็นผลเสียต่อผิวมากกว่าผลดี โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย
- ปลอดภัย ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อย: ควรเลือกใช้มอยส์เจอไรเซอร์ที่ผ่านการทดสอบแล้วว่า ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่การนำมาใช้ และลดอาการแพ้โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย
- ไม่อุดตันรูขุมขน: ควรเลือกซื้อมอยส์เจอไรเซอร์ที่เลือกใช้สารที่อุดตันรูขุมขนได้น้อย หรือสามารถสลายตัวได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวมันหรือผิวผสม อาจหลีกเลี่ยงการใช้มอยส์เจอไรเซอร์ประเภท Occlusives เพราะอาจทำให้เกิดรูขุมขนอุดตันได้ง่ายจนทำให้เกิดสิว
- ผสมสารกันแดด: กรณีที่ต้องออกทำงานนอกบ้านบ่อย ๆ มอยส์เจอไรเซอร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถปกป้องผิวจากมลภาวะได้ทั้งหมด โดยเฉพาะแสงแดดที่ต้องปกป้องด้วยสารกันแดด ดังนั้น ควรเลือกมอยส์เจอไรเซอร์ที่ผสมสารกันแดดสำหรับใช้งานในเวลากลางวันด้วย
คำแนะนำในการใช้มอยส์เจอไรเซอร์
สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอไรเซอร์มากกว่า 1 ชนิด อาจพิจารณาใช้งาน ดังนี้
1. เริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อบางเบาที่สุดเสียก่อน (ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบของซีรัม) เพราะสามารถดูดซึมได้เร็ว และเป็นการ “เตรียมผิว” ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นในลำดับถัดไป
2. ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อข้นเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยความเข้มข้นของเนื้อสัมผัสจะมีลำดับ คือ ซีรัม > โลชั่น > ครีม ทั้งนี้ มอยส์เจอไรเซอร์ที่มีสารกันแดดควรใช้เป็นตัวสุดท้าย เพื่อสามารถปกป้องผิวจากแสงแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
3. ระวังการใช้มอยส์เจอไรเซอร์ที่มีส่วนผสมที่อาจเสริมฤทธิ์กัน เช่น การใช้มอยส์เจอไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของวิตามิน C ร่วมกับมอยส์เจอไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของวิตามิน A เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้ หากต้องการใช้อาจพิจารณาใช้คนละช่วงเวลา
4. ปริมาณของมอยส์เจอไรเซอร์อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละสภาพผิว หากผิวมันง่ายอาจเลือกใช้มอยส์เจอไรเซอร์เพียงชนิดเดียวที่มีเนื้อสัมผัสบางเบา แต่ถ้าผิวแห้งมากอาจต้องใช้มอยส์เจอไรเซอร์มากกว่า 1 ชนิดเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการให้ความชุ่มชื้นและปกป้องผิว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- Cosmetics | Free Full-Text | A Review of Moisturizers; History, Preparation, Characterization and Applications (mdpi.com)
- The science behind skin care: Moisturizers – PubMed (nih.gov)
- Moisturizers: Do they work? – Harvard Health