Ascorbic Acid (วิตามินซี) คืออะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?

Ascorbic acid (แอสคอร์บิก แอซิด) หรือรู้จักกันในชื่อ วิตามินซี เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่สามารถละลายน้ำได้ และมีบทบาทหลากหลายในกระบวนการทางชีวเคมีของมนุษย์ วิตามินซีถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1912 ซึ่งหลังจากที่มีการยืนยันว่าสารนี้มีความสำคัญในชีวิตประจำวัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบได้รับรางวัลโนเบลอีกด้วย

วิตามินซีมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและซ่อมแซมเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน รวมถึงมีคุณสมบัติการต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงนิยมผสมลงในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอางหลายชนิด ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ จะขอกล่าวในลำดับถัดไป

vitamin c
ที่มาของภาพ Freepik

ประโยชน์ของวิตามินซีในมนุษย์

บทบาทของวิตามินซีในร่างกายของเรามีดังนี้

  • ช่วยสร้างคอลลาเจน: วิตามินซีทำหน้าที่เป็นโคแฟกเตอร์หรือสารร่วมทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ ในการสังเคราะห์คอลลาเจน เริ่มจากการช่วยเอนไซม์เติมหมู่คาร์บอกซิลให้กรดอะมิโนโพรลีนและไลซีน ซึ่งกรดอะมิโนเหล่านี้จะถูกนำไปสร้างคอลลาเจนและเพิ่มความแข็งแรงให้แก่คอลลาเจนในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน, กระดูก, ฟัน และหลอดเลือด
  • ช่วยในกระบวนการเผาผลาญไขมัน: วิตามินซีช่วยสังเคราะห์คาร์นิทีน (Carnitine) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญไขมันและไตรกลีเซอไรด์ในร่างกาย โดยแอลคาร์นิทีนจะนำพาไขมันเข้าสู่ไมโทคอนเดรียเพื่อเริ่มกระบวนการย่อยสลายที่เรียกว่า เบตา ออกซิเดชัน (Beta oxidation) ดังนั้น วิตามินซีจึงมีความสำคัญในกระบวนการนี้ หากขาดวิตามินซีและคาร์นิทีนจะทำให้การสลายไขมันในร่างกายเกิดไม่สมบูรณ์ และร่างกายจะขาดแคลนพลังงานสำรองได้ 
  • ช่วยสังเคราะห์สารสื่อประสาท: สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) มีความความสำคัญต่อการแสดงพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น Dopamine หรือ Norepinephrine เป็นต้น ซึ่งต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์สารเหล่านี้ด้วย
  • ต้านอนุมูลอิสระ: วิตามินซีมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะอนุมูลออกซิเจนที่เป็นของเสียจากกระบวนการทางชีวเคมีต่าง ๆ ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ทำความเสียหายแก่เซลล์อย่างรุนแรง ตามมาด้วยการแก่ชราของเซลล์ก่อนวัยอันควร วิตามินซีจะเข้ามาทำหน้าเป็นตัวมอบอิเล็กตรอนให้แก่อนุมูลออกซิเจนเพื่อให้เกิดความเสถียร นอกจากนี้ ยังสามารถใช้วิตามินซีเพื่อทำให้สารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ เช่น กลูตาไธโอน หรือวิตามินอี กลับมาทำงานใหม่ได้อีกครั้ง
  • เพิ่มประสิทธิภาพระบบภูมิคุ้มกัน: วิตามินซีช่วยให้เม็ดเลือดขาวสามารถทำงานกำจัดเชื้อโรคได้ดีขึ้น รวมถึงการสร้างสารแอนติบอดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นการส้รางสารจำพวกอินเตอร์เฟียรอน และไซโทไคน์ต่าง ๆ เพื่อกำจัดไวรัสได้ด้วย แต่ในขณะเดียวกันเมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว วิตามินซียังช่วยควบคุมสารอักเสบให้ลดลง เพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงานของเซลล์ตามปกติอีกครั้งหนึ่ง
  • ช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก: ธาตุเหล็กมีบทบาทในการสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในเม็ดเลือดแดงและทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ โดยวิตามินซีช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็กชนิด non-heme จากพืชได้ดีขึ้น ด้วยการเปลี่ยนธาตุเหล็กที่อยู่ในแบบ Ferric (Fe3+) ให้กลายเป็น Ferrous (2+) ซึ่ง Ferrous จะเป็นรูปแบบที่ดูดซึมได้ง่ายกว่า
ascorbic acid
ที่มาของภาพ Freepik

หากขาดวิตามินซีจะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้วหากรับประทานผักผลไม้อย่างเพียงพอ มักจะไม่เกิดภาวะพร่องวิตามินซี กระนั้นภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ที่หาผักและผลไม้ได้ยาก เช่น กะลาสีเรือที่ต้องออกทะเลเป็นเวลานาน, ผู้ที่มีความผิดปกติในการดูดซึมสารอาหาร หรือผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการอย่างรุนแรง จะสามารถเกิดภาวะพร่องวิตามินซีได้ ซึ่งอาจพบความผิดปกติดังต่อไปนี้

  • ลักปิดลักเปิด (Scurvy): ภาวะนี้จะพบได้ต่อเมื่อขาดวิตามินซีอย่างรุนแรง อาการที่พบได้และถูกกล่าวถึงบ่อย ๆ คือ เหงือกร่นและมีเลือดออกตาไรฟัน เนื่องจากวิตามินซีที่มีบทบาทในการสร้างคอลลาเจน จึงมีผลต่อความแข็งแรงของเหงือก-ฟัน, เส้นผมและขนขดเป็นเกลียวและแห้งกรอบ (Corkscrew hairs), เล็บไม่แข็งแรงเว้าเป็นรูปช้อน และผิวแห้งไม่มีชีวิตชีวา
  •  โลหิตจาง: ภาวะนี้สามารถพบได้ร่วมกับการเกิดลักปิดลักเปิด เพราะร่างกายต้องขาดวิตามินซีเรื้อรังจึงจะส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางได้จากการขาดธาตุเหล็ก
  • ภูมิคุ้มกันลดลง: แม้จะไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่วิตามินซีมีบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคของเม็ดเลือดขาว หากขาดวิตามินซีจะทำให้การกำจัดแบคทีเรีย (ด้วยการสร้างแอนติบอดี) และการกำจัดไวรัส (ด้วยการสร้างอินเตอร์เฟียรอนและไซโทไคน์) ลดลงได้
scurvy
การเกิดอาการลักปิดลักเปิดในช่องปาก
ที่มาของภาพ Wiki Commons

อาหารที่มีวิตามินซีและปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน

วิตามินซีสามารถพบได้ในอาหารหลากหลายชนิดโดยเฉพาะผักและผลไม้ ซึ่งตัวอย่างอาหารที่มีปริมาณวิตามินซีสูง มีดังนี้

  • ผลไม้รสเปรี้ยวกลุ่มซิตรัส เช่น ส้ม, เกรปฟรุต, เลมอน และมะนาว
  • เบอร์รี่ชนิดต่าง ๆ
  • พริก
  • ผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ เช่น บรอกโคลี, ดอกกะหล่ำ, ผักกาด และผักโขม
  • ฝรั่ง, มะละกอ, สัปปะรด และมะม่วง

ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน สำหรับผู้ใหญ่เพศชายจะอยู่ที่ราว 90 มิลลิกรัม และผู้ใหญ่เพศหญิงจะอยู่ที่ราว 75 มิลลิกรัม ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้บริโภคมีความจำเป็นต้องได้รับวิตามินซีเพิ่มขึ้น เช่น ภาวะพร่องวิตามินซีรุนแรงดังที่กล่าวไปข้างต้น อาจแนะนำให้รับประทานวันละ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

ascorbic acid
ที่มาของภาพ Freepik

ในการรับประทานวิตามินซี แนะนำให้รับประทานจากผักและผลไม้สดจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากผักและผลไม้จะมีผนังเซลล์ที่ทำหน้าที่คอยปกป้องไม่ให้วิตามินซีสลายไปจากสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่ต้องการบริโภคจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือการนำวิตามินซีจากผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถปกป้องแสงแดดได้ และเก็บวิตามินซีไว้ในที่แห้งและเย็น เพื่อป้องกันไม่ให้วิตามินซีสลายตัวจากรังสีอัลตราไวโอเลตและความร้อน

ข้อควรระวังในการบริโภควิตามินซี

ปกติแล้ววิตามินซีก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อยมาก แต่อาจพบอาการข้างเคียงได้จากการบริโภค เช่น หากรับประทานในช่วงท้องว่าง วิตามินซีอาจระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นกรดอยู่เดิม หรือในกรณีที่รับประทานวิตามินซีในปริมาณที่สูงเกิน 2,000 มิลลิกรัมและดื่มน้ำน้อยจนเกินไป จะทำให้วิตามินซีตกตะกอนจนเกิดเป็นนิ่วในไตได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vitamin C – Mayo Clinic

Ascorbic Acid | HC6H7O6 – PubChem (nih.gov)

VITAMIN C (ASCORBIC ACID): Overview, Uses, Side Effects, Precautions, Interactions, Dosing and Reviews (webmd.com)

Scroll to Top