แพ้เหงื่อตัวเอง คัน อาการของโรคผิวหนัง โรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่ง ที่มีสาเหตุเกิดขึ้นจากความร้อน หรือเมื่อมีการทำกิจกรรมที่ส่งผลทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น อาทิเช่น การออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน เป็นต้น โดยเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นและมีเหงื่อไหลออกมา ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำการตอบสนองต่อส่วนประกอบของเหงื่อและมีการกระตุ้นให้เกิดตุ่มที่มีลักษณะนูนแดง, ตุ่มใส หรือมีลักษณะผื่นนูนแดงกระจายเป็นวง
โดยอาการลักษณะนี้สามารถที่จะเกิดขึ้นได้กับผิวหนังทุกส่วนที่มีรูขุมขน ซึ่งสามารถพบได้บ่อยอย่างมากที่บริเวณลำคอ, ต้นแขน และตามซอกพับผิวหนัง โดยทั่วไปอาการหรือภาวะแพ้เหงื่อตนเองนั้น สามารถที่จะหายได้เองภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ในกรณีที่พบว่าผื่นหรือตุ่มที่ขึ้นมีอาการที่รุนแรงขึ้น และอาจมีอาการอื่นร่วม อาทิเช่น หายใจไม่สะดวก, ปากบวม, ตาบวม หรือมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยด่วน
โรคภูมิแพ้เหงื่อถูกกำหนดให้เป็นภาวะภูมิไวเกินประเภทที่ 1 ต่อสิ่งที่อยู่ในเหงื่อ และพบได้เฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังภูมิแพ้ (AD) และลมพิษจากโคลิเนอร์จิค (CholU)
แพ้เหงื่อตัวเองเป็นแบบไหน แพ้เหงื่อตัวเอง อาการ ที่เกิดขึ้นมีลักษณะอย่างไร?
ภาวะแพ้เหงื่อตัวเอง คือ ภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อส่วนประกอบของเหงื่อ โดยสารประกอบในเหงื่ออาจเป็นตัวกระตุ้นให้ผิวหนังเกิดอาการระคายเคือง อีกทั้งเหงื่อยังอาจทำให้ผิวหนังมีความอับชื้น เกิดการเสียดสีกันมากยิ่งขึ้น และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ส่งผลให้เกิดผื่นคันที่บริเวณผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีเหงื่อออกมาก โดยผู้ที่มีอาการแพ้เหงื่อของตัวเองจะมีปฏิกิริยาที่ไวต่อเหงื่อ อาจทำให้เกิดอาการคันหรือเกิดผื่นผดซ้ำได้เมื่อมีเหงื่อออก โดยอาการที่พบได้ทั่วไปของโรคแพ้เหงื่อตัวเอง มีดังต่อไปนี้
ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นของ ภาวะแพ้เหงื่อตัวเอง
- มีอาการผื่นแดง ตุ่มใส ขึ้นที่บริเวณที่มีเหงื่อออก โดยเฉพาะที่บริเวณใบหน้า, ซอกคอ และซอกพับผิวหนัง
- มีอาการคันมากเมื่อมีเหงื่อออก
- บริเวณใบหน้า, ลิ้น, แขน หรือขา มีอาการบวมแดง
- ปวดศีรษะหรืออาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ
- รู้สึกหายใจลำบาก
- ปวดท้อง
การวินิจฉัย แพ้เหงื่อตัวเอง คัน โดยแพทย์
การวินิจฉัยโดยแพทย์เบื้องต้น แพทย์จะทำการสอบถามเกี่ยวกับประวัติโรคภูมิแพ้ต่างๆ อาทิเช่น โรคผิวหนังอักเสบ, โรคหอบหืด และ โรคภูมิแพ้อากาศ เป็นต้น เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นหนึ่งในอาการที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีประวัติการเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคแพ้เหงื่อตัวเองได้ง่ายกว่าปกติ และแพทย์อาจมีการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะอาการของผื่นคันและอาการร่วมอื่น โดยแพทย์จะทำการตรวจดูอาการด้วยตาเปล่า และแนะนำวิธีการรักษาดูแลตัวเองในเบื้องต้น เช่น การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดเหงื่อ แต่ในกรณีที่มีการเข้าพบแพทย์ในช่วงที่อาการไม่มีความรุนแรงมาก แพทย์อาจให้ทำการทดสอบอาการด้วยการปั่นจักรยานอยู่กับที่เป็นระยะเวลาประมาณ 15 นาที หรือฉีดยาเมธาโคลีน (Methacholine) เพื่อให้หลอดลมหด และดูอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการทดสอบ
แพ้เหงื่อตัวเอง ยาทา ยากิน วิธีการรักษา
วิธีการรักษาภาวะแพ้เหงื่อตัวเอง สามารถทำการรักษาได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- รักษาด้วยการใช้ ยาแก้แพ้ (Antihistamine) ยารักษาภูมิแพ้หรือยาต้านฮีสตามีน อาทิเช่น ยาไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine), ยาลอราทาดีน (Loratadine), ยาเซทิริซีน (Cetirizine), ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และ ยาเฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อยู่ในขั้นที่ไม่รุนแรงมาก การรับประทานยาแก้แพ้จะช่วยบรรเทาอาการคันและผื่นคันที่เกิดขึ้นตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายได้
- รักษาด้วยการ ฉีดยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) ยาที่ใช้รักษาในกรณีที่ฉุกเฉิน ยกตัวอย่างเช่น ยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) ใช้รักษาสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงที่อาจเสี่ยงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยยาจะช่วยในการขยายช่องทางเดินหายใจ, กระตุ้นความดันโลหิต และช่วยลดอาการบวมที่บริเวณใบหน้า
เมื่อมีภาวะ แพ้เหงื่อตัวเอง อาการ อย่างไรที่ควรเข้าพบแพทย์?
โดยทั่วไปแล้วอาการแพ้เหงื่อตัวเองมักเป็นอาการแพ้ที่ไม่รุนแรงมากนัก โดยอาการผื่นคันและผื่นแดงอาจมีการยุบและหายไปได้เองภายใน 30 นาที หรืออาจใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ในบางรายอาจใช้เวลานานถึง 24 ชั่วโมง แต่หากทำการดูแลตนเองเบื้องต้นแล้วพบว่าอาการแพ้ยังไม่ดีขึ้นหรืออาการแพ้มีลักษณะอาการที่แย่ลง จำเป็นต้องเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง โดยลักษณะอาการที่เกิดขึ้นหากมีอาการดังด้านล่าง ควรรีบเข้าพบแพทย์
- ผิวหนังในบริเวณที่อักเสบเกิดอาการบวมขึ้นจนรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวด หรือเมื่อมีการสัมผัสที่บริเวณผิวหนังแล้วมีความรู้สึกอุ่นร้อน ผิวหนังมีลักษณะแดง มีหนองไหลออกจากตุ่มหรือผื่น ควรเข้าพบแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อทำการวินิจฉัยและรับประทานยาหรือใช้ยาทาภายนอกเพื่อช่วยบรรเทาอาการ
- มีอาการอื่นร่วม อาทิเช่น ตาบวม, ปากบวม, รู้สึกแน่นหน้าอก, หายใจลำบาก และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย โดยลักษณะอาการเหล่านี้เป็นอาการของภาวะแพ้ที่รุนแรงและฉับพลัน (Anaphylaxis) ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาโดยด่วนที่สุด เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
แนวทางการป้องกันและวิธีการดูแลตนเอง เมื่อเกิดภาวะแพ้เหงื่อตัวเอง
ผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้เหงื่อตัวเอง สามารถที่จะป้องกันและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการได้ อีกทั้งเมื่อมีอาการสามารถดูแลตนเองตามแนวทางนี้เพื่อให้อาการทุเลาลงเร็วมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาโดยแพทย์หรือเภสัชกร
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจกระตุ้นให้เกิดเหงื่อและกระตุ้นให้เกิดอาการผื่นคัน
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักที่อาจเป็นสาเหตุการกระตุ้นให้เกิดเหงื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายความร้อนได้ดี อาทิเช่น ผ้าฝ้ายหรือผ้าลินิน และควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่พอดีตัวไม่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเสียดสีของผิวหนังที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาการที่มีรสเผ็ดร้อน ที่เป็นสาเหตุในการกระตุ้นให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
- อาบน้ำในอุณหภูมิปกติ หลีกเลี่ยงและงดการอาบน้ำอุ่นที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้น
- หลีกเลี่ยงการออกแดดหรือการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นระยะเวลานาน
- เมื่อมีเหงื่อออกตามร่างกายไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ในการทำกิจกรรมที่มีเหงื่อเมื่อทำกิจกรรมเสร็จควรอาบน้ำทันที และรีบซับตัวให้แห้งสนิท
- ปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในบ้านให้มีอากาศถ่ายเท สามารถระบายอากาศได้ดี
- รักษาความสะอาดเครื่องนอนและปลอกหมอนเป็นประจำ เนื่องจากคราบเหงื่อหรือคราบน้ำลายสะสมอาจทำให้เกิดผื่นคันได้
สรุป
สาเหตุหลักของภาวะแพ้เหงื่อตัวเอง คือ “ความร้อน” และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำการตอบสนองต่อส่วนประกอบของเหงื่อ โดยผู้ที่มีอาการแพ้เหงื่อของตัวเองจะมีปฏิกิริยาที่ไวต่อเหงื่อ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีการทำกิจกรรมที่อาจกระตุ้นให้เกิดเหงื่อ อยู่ในสถานที่ที่มีความร้อนชื้น หรือมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาจกระตุ้นให้เกิดเหงื่อ อาจทำให้เกิดอาการผื่นคัน ผื่นแดง เกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้
โดยทั่วไปแล้วอาการแพ้เหงื่อตัวเองนั้น เป็นลักษณะอาการของโรคผิวหนังที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ในกรณีที่มีอาการแพ้ขั้นรุนแรงที่สังเกตได้จากอาการผื่นคันที่รุนแรงขึ้น หรืออาการผื่นคันที่เกิดจากการแพ้นั้นมีอาการอื่นร่วมด้วยดังที่กล่าวในข้างต้น กล่าวคือ อาการแพ้อาจเป็นอันตรายร้ายแรงโดยอาจรุนแรงถึงชีวิตได้
ดังนั้นการรู้เท่าทันถึงสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษา จะสามารถช่วยให้ผู้ที่มีอาการแพ้เหงื่อตัวเอง หรือผู้ที่มีภาวะแพ้เหงื่อตัวเอง สามารถที่จะสังเกตอาการตนเองและเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอาการแพ้เหงื่อตัวเองไม่ต้องตกใจแต่อย่างใด เพียงหลีกเลี่ยงปัจจัยความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอาการ เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างไร้กังวลและมีสุขภาพที่ดีได้เช่นเดียวกัน
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา
- https://www.webmd.com/allergies/cholinergic-urticaria-facts
- https://chulalongkornhospital.go.th/
- https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/122985