คันตามตัว ผื่นคัน ผื่นแดง หนึ่งในอาการของโรคภูมิแพ้ ที่เกิดขึ้นจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นรอบตัว ที่ร่างกายได้มีการสัมผัสหรือบริโภค อาทิเช่น เกสรดอกไม้, ขนสัตว์, น้ำหอม, อาหาร เป็นต้น และรวมไปถึงสารเคมีที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเอง ก็ล้วนทำให้เกิดอาการแพ้คันระคายผิวได้เช่นเดียวกัน เมื่อร่างกายได้มีการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการ ผื่นแพ้ คันตามตัว เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยในการแพ้
โดยอาการ คันตามตัว ผื่นคัน ผื่นแดงขึ้นตามตัว นอกจากจะเป็นอาการที่กวนใจแล้ว ผื่นคันนี้ยังเป็นหนึ่งในสัญญาณของร่างกายที่บอกถึงอาการป่วยภายในที่ไม่อาจมองข้าม โดยอาการผื่นแพ้ ผื่นคัน สามารถแบ่งย่อยได้ตามลักษณะอาการ 6 รูปแบบ และมีวิธีการรักษาอาการที่เหมาะสมแตกต่างกันออกไป
รู้ถึงสาเหตุและ คันตามตัว อาการภูมิแพ้
ภูมิแพ้ คือ การตอบสนองอย่างผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารต่างๆ หากผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ได้มีการสัมผัสต่อสารก่อภูมิแพ้ ส่งผลให้มีอาการป่วยหรืออาการผิดปกติตามมา และในบางกรณีหากมีอาการที่รุนแรงหรือไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ตัวอย่าง สารก่อภูมิแพ้ที่มักพบว่าเป็นสาเหตุของภูมิแพ้
- อาหาร อาทิเช่น กุ้ง, หอย, ปู, ถั่ว, นม, ไข่
- วัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
- สารที่แพร่กระจายได้ในอากาศ อาทิเช่น เกสรดอกไม้, ไรฝุ่น, ขนสัตว์, เชื้อรา
- พิษของแมลง อาทิเช่น มด, ผึ้ง, ตัวต่อ
- ยางพาราซึ่งเป็นส่วนประกอบของวัตถุต่างๆ ที่อาจพบได้ในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น ถุงมือยาง, ถุงยางอนามัย
- ยาบางชนิด
อาการภูมิแพ้ ที่มักพบได้บ่อย
- มีผื่นขึ้นตามร่างกาย
- ผิวแห้ง ลอก แดง เป็นขุย
- มีอาการคันตามผิวหนัง
- จาม
- น้ำมูกไหล
- อาจมีอาการท้องร่วง ในกรณีที่เกิดจากการแพ้อาหาร
- ผิวหนังบวมผิดปกติ ในกรณีที่เกิดจากการถูกแมลงกัดหรือต่อย
- หายใจลำบาก
- หัวใจเต้นเร็ว
- ความดันโลหิตต่ำ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เวียนศีรษะ
- ปากบวมหรือคันรอบปาก
คันตามตัว รูปแบบที่ 1 ผื่นคัน ผื่นแดงขึ้นตามตัว
ผื่นคัน ผื่นแดงขึ้นตามตัว Exanthematous (Morbilliform) คือ ลักษณะอาการของผื่นแพ้ ผื่นคัน ที่สามารถพบได้ทั่วไป และเป็นลักษณะอาการที่สามารถพบได้บ่อย กล่าวคือ ผิวหนังบริเวณที่มีการแสดงอาการจะปรากฏผื่นที่มีลักษณะแดงหรือตุ่มใส มีอาการคัน และอาจมีการตกสะเก็ดร่วมด้วยในบางครั้ง โดยสาเหตุของการเกิดผื่นแพ้ลักษณะนี้มีด้วยกันหลายสาเหตุ อาทิเช่น
- เกิดขึ้นจากโรคผิวหนัง
- การติดเชื้อบางอย่าง
- แมลงสัตว์กัดต่อย
- การแพ้ฝุ่น
- การแพ้ยา
- การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง
- ภาวะความเครียด
คันตามตัว รูปแบบที่ 2 ผื่นคันชนิดตุ่มน้ำ
ผื่นแพ้ ผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic Eczema) คือ ลักษณะอาการของผื่นผิวหนังเรื้อรังที่เป็นๆ หายๆ โดยลักษณะอาการของผื่นแพ้ชนิดนี้ จะมีลักษณะเป็นตุ่มใสๆ แข็งๆ และมักจะพบได้บ่อยที่บริเวณฝ่ามือ, ฝ่าเท้า, ง่ามนิ้วมือ และง่ามนิ้วเท้า โดยผื่นลักษณะนี้เป็นผื่นแพ้ที่อาจมีความเกี่ยวข้องกับ โรคภูมิแพ้, ภาวะการระคายเคือง หรือการแพ้ต่อสารสัมผัส ส่วนใหญ่แล้วอาการของผื่นแพ้ชนิดนี้นอกจากมีตุ่มเกิดขึ้นแล้วมักที่จะพบอาการคันร่วมด้วย
ผื่นแพ้ รูปแบบที่ 3 ผื่นคัน ผื่นแดง ผื่นลมพิษ
ผื่นลมพิษ (Urticaria) เป็นลักษณะอาการแพ้ที่มีอาการคันร่วมด้วย โดยลักษณะอาการของผื่นชนิดนี้ จะมีลักษณะผื่นที่ขึ้นเป็นปื้นนูนแดง ไม่มีขุย โดยจะมีทั้งขนาดที่เล็กและขนาดที่ใหญ่ที่มีความกว้างอยู่ที่ราว 10 ซม. และเป็นผื่นชนิดที่สามารถลุกลามได้เร็ว แต่จะปรากฏอยู่ที่บริเวณผิวหนังเพียงชั่วขณะ โดยส่วนมากแล้วจะอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง และสามารถที่จะเกิดขึ้นซ้ำได้บ่อย ในกรณีของผู้ที่ป่วยมีโรคประจำตัว เมื่อพบว่ามีอาการ ผื่นคัน ผื่นแดง มีผื่นขึ้นในลักษณะของผื่นลมพิษ หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยทันที
- มีอาการปวดท้อง
- แน่นจมูก
- หอบเหนื่อย
- หายใจไม่สะดวก
ผื่นแพ้ รูปแบบที่ 4 ผื่นคัน ผื่นแดง ที่มีลักษณะเป็นเส้นใยเล็กๆ
ผื่นคัน ผื่นแดงที่มีลักษณะเป็นเส้นใยเล็กๆ (Livedo Reticularis) คือ ลักษณะอาการของผื่นที่พบได้ไม่บ่อย โดยมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดอักเสบ ที่ส่งผลให้ระบบไหลเวียนของเส้นเลือดทำงานผิดปกติ ลักษณะอาการของผื่นแดงที่มีลักษณะเป็นเส้นใยเล็กๆ อาจมีลักษะเป็นผื่นนูนเป็นจ้ำเลือด หรือมีลักษณะเป็นผื่นลายร่างแห ตลอดจนมีตุ่มที่กดแล้วให้ความรู้สึกเจ็บที่ผิวหนัง ซึ่งผื่นรูปแบบนี้อาจเกิดเป็นแผลเรื้อรังและอาจมีการตายของเนื้อเยื่อหากเกิดการขาดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย อาทิเช่น ปลายนิ้วมือ, ปลายนิ้วเท้า, ใบหู และ ปลายจมูก เป็นต้น
รูปผื่นคันต่างๆ รูปแบบที่ 5 ผื่นคันที่ขา มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง
ผื่นมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง (Vasculitis) โดยส่วนใหญ่ผื่นชนิดนี้มักพบที่บริเวณขา กล่าวคือ ลักษณะอาการที่เกิดจากเส้นเลือดฝอยอักเสบ โดยอาการของผื่นชนิดนี้มีด้วยกันหลายรูปแบบ อาทิเช่น เกิดตุ่มที่มีลักษณะนูนแดง กดแล้วสีแดงไม่จาง, ตุ่มพองมีเลือดออกภายในแตกเป็นแผล, เป็นผื่นลักษณะสีม่วงแดง, เป็นผื่นที่มีลักษณะเป็นร่างแหหรือมีลักษณะคล้ายตาข่ายเส้นเลือดอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งต้นตอของผื่นลักษณะนี้นั้นอาจเกิดขึ้นมาได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ในบางรายอาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัด หรืออาจเกิดขึ้นได้จากการที่ผู้ป่วยเป็นโรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease) เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) และโรคติดเชื้อ อาทิเช่น วัณโรค (Tuberculosis : TB) และ เชื้อไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis B virus) เป็นต้น
ผื่นแพ้ รูปแบบที่ 6 ผื่นคัน มีตุ่มใส พอง เหมือนมีน้ำอยู่ข้างใน
ผื่นตุ่มใส เหมือนมีน้ำอยู่ข้างใน (Vesiculobullous Eruption) คือ ลักษณะของผื่นที่มีตุ่มใส ที่มีน้ำอยู่ภายใน และสามารถสังเกตได้ชัดโดยที่ไม่ใช่แค่ผื่นที่มีลักษณะเล็กๆ โดยมักพบกระจายอยู่ตามตัว ผื่นตุ่มใสเหมือนมีน้ำอยู่ข้างในอาจมีการเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- โรคออโตอิมมูน (Autoimmune diseases) หรือ โรคภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อต้านตัวเอง
- การติดเชื้อบางชนิด อาทเช่น โรคเริม (Herpes) และโรคอีสุกอีใส (Chickenpox)
- เกิดจากกรรมพันธุ์
- การสัมผัสสารที่ก่อการระคายเคือง เช่น สารเคมีที่พบได้ในชีวิตประจำวัน
- ภาวะความผิดปกติอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน (Diabetes), โรคอะไมลอยด์โดสิส (Amyloidosis) และโรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria)
อาการภูมิแพ้ ผื่นคัน ผื่นแดง เมื่อไหร่ที่ควรเข้าพบแพทย์?
โดยทั่วไปแล้วอาการผื่นคัน ผื่นแดง ที่เกิดจากอาการภูมิแพ้นั้น สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยาแก้แพ้ แต่ในกรณีรับประทานยาแก้แพ้แล้วอาการต่างๆ ไม่ทุเลาลง หรือสังเกตอาการตนเองแล้วพบว่ามีอาการแพ้อื่นๆ ที่มีความรุนแรงร่วมด้วย อาทิเช่น อาเจียน, เวียนศีรษะ, หายใจลำบาก หรือลักษณะอาการของผื่นคันที่เกิดขึ้น มีลักษณะตรงกับรูปแบบที่ 4, 5 และ 6 ซึ่งเป็นลักษณะของผื่นที่มีความรุนแรง ไม่ควรชะล่าใจ ควรรีบเข้าพบแพทย์โดยด่วนเพื่อทำการวินิจฉัยและเพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
รวมถึงผู้ที่พบว่าตนเองเกิด อาการคันตามตัว หรือเกิด ผื่นแพ้ ขึ้นซ้ำบ่อยด้วยเช่นเดียวกัน โดยแพทย์อาจทำการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ โดยการซักประวัติสุขภาพ, การสัมผัสสาร และการบริโภคอาการ เพื่อหาต้นเหตุของอาการตามแนวทางต่อไป
- ตรวจเลือด แพทย์นำตัวอย่างเลือดไปทดสอบการตอบสนองแอนติบอดีในเลือดกับสารก่อภูมิแพ้
- ตรวจภูมิแพ้ด้วยวิธีการสะกิดผิวหนัง โดยแพทย์จะทำการหยดสารที่สกัดจากสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ลงบนแขนของผู้ป่วย และใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อจิ้มในบริเวณที่หยดสารสกัดเบาๆ โดยไม่ทำให้เลือดออก หากแขนของผู้ป่วยแดงหรือมีลักษณะเป็นตุ่มบวม ให้ผลปรากฏว่าแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นๆ
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา
- https://www.nhs.uk/conditions/allergies/#:~:text=An%20allergy%20is%20where%20your,they%20can%20be%20very%20serious
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/allergies/symptoms-causes/syc-20351497