Thiamine (ไทอามีน) คืออะไร เหตุใดเป็นวิตามินที่สำคัญต่อร่างกาย?

Thiamine (ไทอามีน) หรือรู้จักกันในชื่อ วิตามิน B1 คือ วิตามินที่สามารถละลายในน้ำได้ และมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะมีความเกี่ยวข้องกับระบบเมแทบอลิซึมต่าง ๆ ในกระบวนการทางชีวเคมีระดับเซลล์ โดยเฉพาะการย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นพลังงาน ซึ่งคาร์โบไฮเดรตจัดเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย หากปราศจากไทอามีนอาจส่งผลกระทบต่อเซลล์ทั่วทั้งร่างกายได้เลยทีเดียว

ไทอามีน
ที่มาของภาพ Wiki Commons

ไทอามีน เป็นสารประกอบที่ละลายน้ำดี และสลายตัวได้เมื่อได้รับความร้อน ถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักวิทยศาสตร์ชาวญี่ปุ่นนาว่า ยูเมะทาโร ซูซิกิ (Umetaro Suzuki) เมื่อปี ค.ศ. 1910 ในช่วงเวลานั้นเขาทดลองนำรำข้าวมาให้ผู้ป่วยโรคเบอริเบอริ (Beri-beri) จนหายขาด และเขาได้ตั้งชื่อให้สารที่อยู่ในรำข้าวนี้ว่า กรดอะเบอริก (Aberic acid)

จนกระทั่งในเวลาต่อเมื่อ เมื่อมีการใช้คำว่าวิตามิน กรดอะเบอริกจึงถูกเรียกว่า วิตามินบี 1 และหากเรียงตามช่วงเวลาแล้ว วิตามินบี 1 จะเป็นวิตามินชนิดแรกที่ถูกบันทึกว่ามีผลในการรักษาโรค

ทำไมไทอามีนจึงสำคัญต่อร่างกาย?

หน้าที่หลักและสำคัญที่สุดของไทอามีน คือ การทำปฏิกิริยาในกระบวนการสลายกลูโคสระดับเซลล์ ซึ่งเป็นกระบวนการพื้นฐานในการสร้างพลังงานของร่างกายจากสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โดยไทอามีนที่ใช้ในกระบวนการดังกล่าว จะอยู่ในรูปของไทอามีน ไพโรฟอสเฟต (Thiamine Pyrophosphate – TPP) มีบทบาทในการสร้างพลังงานทั้งในช่วงไกลโคไลซิสและวัฏจักรเครบส์ ของกระบวนการสลายกลูโคสระดับเซลล์

ไทอามีน
ที่มาของภาพ Journal of Thoracic Disease

ในกระบวนการไกลโคไลซิส TPP จะทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ในการเปลี่ยนไพรูเวตให้กลายเป็นแอซิทิล โคเอนไซม์ เอ (Acetyl Coenzyme A – Acetyl CoA) เพื่อนำเข้าวัฏจักรเครบส์ หากปราศจาก TPP จะไม่สามารถดำเนินการเข้าสู่วัฏจักรเครบส์ได้และเกิดการคั่งค้างของแลกเตต (Lactate) ซึ่งมีผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว

ในขณะเดียวกัน TPP ก็มีบทบาทในวัฏจักรเครบส์ ซึ่ง TPP ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ ในการเปลี่ยนอัลฟาคีโตกลูทาเรต (Alpha-ketoglutarate) เป็นซักซินิล โคเอนไซม์ เอ (Succinyl Coenzyme A – Succinyl CoA) หากปราศจาก TPP วัฏจักรเครบส์จะไม่สามารถดำเนินการต่อได้จนครบ ผลสุดท้าย คือ จะไม่เกิดการสร้างสารให้พลังงาน ATP

ประโยชน์ของไทอามีนที่ควรทราบ

นอกเหนือจากประโยชน์ในการสลายกลูโคสในระดับเซลล์แล้ว ไทอามีนยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนี้

  • ช่วยในการทำงานของระบบประสาท: ไทอามีนมีบทบาทในการรักษาสภาพของเยื่อไมอีลิน (Myelin sheath) หรือปลอกหุ้นเส้นประสาท ซึ่งนอกจากจะเป็นเกราะป้องกันแก่เส้นประสาทแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการส่งกระแสประสาทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย หากขาดไทอามีนในระยะแรกอาจเริ่มพบอาการเหน็บชาบ่อย ๆ ได้
  • บำรุงหัวใจ: ไทอามีน คือ หนึ่งในสารชีวเคมีที่สำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เพราะช่วยในกระบวนการสร้างพลังงานที่สำหรับมัดกล้ามเนื้อหัวใจที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง หากปราศจากไทอามีนจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
  • ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร: โดยไทอามีนจะช่วยกระตุ้นการสร้างกรดไฮโดรคลอริกในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน: ไทอามีนมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะกระบวนการเข้าต่อสู้กับเชื้อโรคที่เน้นการเข้าทำลายด้วยอนุมูลอิสระ ไทอามีนจะช่วยเพิ่มปริมาณสารดังกล่าวให้แก่เม็ดเลือดขาวจนเพียงพอต่อการกำจัดเชื้อโรค
  • คุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ: ย้อนกลับไปในกระบวนการสลายกลูโคสในระดับเซลล์ สาร TPP จากกระบวนการนี้ เมื่อถูกไปใช้ไปแล้วจะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยเข้าร่วมกับการเปลี่ยนสารกลูตาไธโอนให้อยู่ในรูปรีดักชัน ซึ่งสารกลูตาไธโอนนี้เองที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและกำจัดสารพิษในร่างกาย หากปราศจากไทอามีน ร่างกายจะไม่สามารถนำกลูตาไธโอนมาใช้งานได้
  • คุณสมบัติชะลอวัย: คุณสมบัตินี้สืบต่อมาจากคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ โดยปกติแล้วเซลล์ในร่างกายมนุษย์สามารถสร้างสารพิษและโมเลกุลที่เป็นอนุมูลอิสระขึ้นได้ตลอดเวลา สารเหล่านี้จะเร่งกระบวนการแก่ชราของเซลล์รอบข้าง ทำให้เซลล์ในร่างกายเข้าสู่ภาวะแก่ชราก่อนวัยอันควร ดังนั้น การได้รับไทอามีนที่เพียงพอจะมีส่วนช่วยชะลอความแก่ชราให้แก่เซลล์ในร่างกายได้
Thiamine
ที่มาของภาพ Freepik

อาหารที่อุดมด้วยไทอามีน และปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน

ไทอามีนสามารถพบได้ในอาหารหลากหลายประเภท สำหรับอาหารที่เรานิยมมักบริโภคบ่อยและอุดมด้วยไทอามีน ได้แก่

  • ธัญพืช: ข้าวสาลี, ข้าวสวย, ข้าวโอ๊ต
  • ถั่วเมล็ดแห้ง: ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, ถั่วดำ, ถั่วเลนทิล
  • ถั่วเปลือกแข็ง: ถั่วลิสง, อัลมอนด์, พิตาชิโอ,ถั่วพีแคน
  • เนื้อสัตว์: เนื้อหมู, เนื้อวัว, เนื้อไก่
  • ปลา: แซลมอน, เทราต์, ทูน่า
Thiamine
ที่มาของภาพ Freepik

ปริมาณไทอามีนที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ จะอยู่ที่ประมาณ 1.1-1.2 มิลลิกรัม ส่วนในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรจะต้องการไทอามีนในปริมาณมากขึ้นอยู่ที่ราว 1.5 มิลลิกรัมต่อวัน

เนื่องจากไทอามีนเป็นวิตามินที่สามารถละลายน้ำได้ จึงขับออกจากร่างกายได้ง่ายผ่านทางปัสสาวะ ไม่เกิดความเสี่ยงจากการสะสมของวิตามินในร่างกาย ทั้งนี้ การรับประทานไทอามีนในปริมาณสูงเกินไปอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้, อาเจียน, ท้องเสีย และปวดมวนท้องได้

ข้อมูลจาก

Scroll to Top