โรคหูดหงอนไก่ อาการ สาเหตุ การป้องกัน วิธีการรักษาเบื้องต้น ก่อนสายเกินแก้

หูดหงอนไก่ โรคหูดหงอนไก่ หรือ Genital warts หรือ Condyloma acuminata คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง ที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) สายพันธุ์ 6 และ 11 ผ่านจากการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก โรคนี้พบได้บ่อยในวัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่อายุ 16 – 25 ปี เชื้อนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่ม ผิวขรุขระคล้ายหงอนไก่ มักพบรอยโรคได้บ่อยที่บริเวณอวัยวะเพศ หรือที่อับชื้น และเกิดได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

หูดหงอนไก่ไม่ทำให้เกิดมะเร็ง แต่หากติดเชื้อไวรัส HPV ชนิดความเสี่ยงสูงร่วมด้วย ก็มีโอกาสที่พัฒนาเกิดเป็นมะเร็ง ในกรณีตรวจพบเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสายพันธุ์เสี่ยงสูงในการเปลี่ยนเป็นมะเร็งทวารหนัก แม้ว่าเมื่อสิ้นสุดการรักษาหูดหงอนไก่แล้ว ก็ยังจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่องตามความเห็นของแพทย์ และสำหรับเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์อื่นก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน จึงต้องมีการป้องกันตัวเองอย่างดี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง และติดตามอาการต่อเนื่อง 6 เดือน

โรคหูดหงอนไก่ อาการ

การติดเชื้อหูดหงอนไก่ แสดงออกได้ตั้งแต่ไม่มีอาการใดๆ จนร่างกายกำจัดเชื้อออกหมด ไปจนถึงเกิดเป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ แม้ปกติติ่งเนื้อจะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บ หรือระคายเคือง แต่บางครั้งติ่งเนื้อขนาดใหญ่ก็สร้างความเจ็บปวดได้ นอกจากนั้นยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยได้ อาทิ มีอาการคัน มีเลือดออกจากหูด แสบร้อนที่อวัยวะเพศ หรือ ก้อนติ่งเนื้อขยายใหญ่จนไปอุดกั้นช่องคลอด ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก

ตำแหน่งที่พบ

หูดหงอนไก่มักขึ้นในบริเวณที่อับชื้น มีเนื้อเยื่อเมือก หากเกิดในผู้หญิงมักพบรอยโรคบริเวณ ปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ทวารหนัก ฝีเย็บ หากเกิดในผู้ชายมักพบรอยโรคบริเวณ ใต้หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เส้นสองสลึง รูเปิดท่อปัสสาวะ ทวารหนัก

การตรวจวินิจฉัยระยะเริ่มแรก

เบื้องต้นแพทย์จะตรวจบริเวณรอยโรคที่มองเห็นได้ชัดเจน แต่หากไม่พบรอยโรคหรือไม่แน่ชัด แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา หากผลลัพธ์ผู้ป่วยพบรอยโรคหูดหงอนไก่ แพทย์จะแนะนำให้ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นร่วมด้วย และ หาแนวทางการรักษาต่อไป 

ซึ่งลักษณะรอยโรคของหูดหงอนไก่ ที่พบได้ชัดเจน มักมี 4 ลักษณะ ดังนี้

  • เป็นติ่งเนื้อสีชมพู งอกบานออกทางด้านนอก คล้ายหงอนไก่ หรือคล้ายดอกกะหล่ำ
  • เป็นหูดลักษณะแบนราบพบ ซึ่งลักษณะแบบนี้ มักพบที่บริเวณปากมดลูก
  • เป็นหูดชนิดกลุ่ม ลักษณะเป็นตุ่มขนาด 3 – 4 มิลลิเมตร ผิวเรียบ หรือ ขรุขระเล็กน้อย มีสีน้ำตาลแดง ม่วง ดำ
  • เป็นหูดก้อนใหญ่ ที่มีประวัติมีก้อนหูดโตขึ้นเร็วมาก ในผู้ป่วยบางรายอาจโตจนกลายเป็นก้อนใหญ่ปกคลุมอวัยวะเพศทั้งหมด

ปัจจัยเสี่ยงในการติดต่อ

ผู้ป่วยโรคหูดหงอนไก่มักมีปัจจัยเสี่ยงจากทางตรง และทางอ้อม ซึ่งเกิดได้จาก 6 ปัจจัย ดังนี้

  • เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน HPV
  • เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนหลายคน
  • มีเพศสัมพันธ์ โดยไม่ได้ป้องกัน ด้วยถุงยางอนามัย
  • เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  • เกิดจากการคลอดทารกผ่านช่องคลอด

การรักษา  

แม้ว่าหูดหงอนไก่ ยังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ก็สามารถบรรเทาอาการเพื่อลดอาการเจ็บปวดได้ ซึ่งมีการรักษาหลากหลาย ขึ้นอยู่กับลักษณะรอยโรค อาการ และการวินิจฉัยของแพทย์ ในการรักษามีทั้งการทายา และ ผ่าตัด 

การรักษาด้วยยาทา

หากขนาดของติ่งเนื้อไม่ใหญ่มากนัก มีขนาดเล็กกว่า 1 ตร.ซม. แพทย์จะสั่งยาชนิดทาให้ผู้ป่วย โดยจะนัดทุก 1 สัปดาห์ มาเพื่อติดตามรอยโรค โดยยาชนิดนี้ แพทย์จะเป็นผู้สั่งยาได้เท่านั้น ปัจจุบันยาทาที่ใช้รักษาอย่างแพร่หลาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  1. อิมิควิโมด (5%Imiquimod/Aldara) ยานี้มีคุณสมบัติ กระตุ้นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ แต่อาจมีผลข้างเคียง ทำให้เกิดผื่นแดง
  2. โพโดฟิลอก (Podolox 0.5%) ยานี้มีคุณสมบัติยับยั้งการแบ่งเซลล์ แต่อาจมีผลข้างเคียง ทำให้เกิดอาการระคายเคืองเล็กน้อย

ซึ่งการใช้ยาทา จะช่วยบรรเทาอาการ และ ทำให้หูดหงอนไก่หลุดออกได้ แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้รู้สึก แสบคันเจ็บ ที่แผลได้ ดังนั้นควรใช้ปริมาณยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น

การรักษาด้วยการผ่าตัด

ในปัจจุบันการผ่าตัด เป็นการรักษาที่ดีและรวดเร็ว โรคหูดหงอนไก่ นิยมผ่าตัดด้วยวิธีการจี้ด้วยความเย็น การจี้ด้วยไฟฟ้า การผ่าตัดเพื่อตัดหูด และการรักษาด้วยเลเซอร์ ตามแต่ดุลยพินิจของแพทย์

การป้องกัน

การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคและลดความรุนแรงของโรค ในช่วงอายุ 12 – 24 ปี หรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จะสามารถช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ ดังนี้

  • ฉีดวัคซีน HPV วัคซีนชนิด 4 สายพันธ์ุ (6, 11, 16, 18) ซึ่งสามารถป้องกันโรคหูดหงอนไก่ และโรคมะเร็งปากมดลูกได้
  • ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนหลายคน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้เป็นโรคหูดหงอนไก่
  • รักษาความสะอาดบริเวณมุมอับชื้นต่างๆ ของร่างกาย อาทิ อวัยวะเพศ ทวารหนัก ฝีเย็บ
  • ตรวจเชื้อ HPV และ โรคติดต่อ สม่ำเสมอ
  • ออกกำลังกายสร้างภูมิคุ้มกันเป็นประจำ

สรุปแล้ว

หูดหงอนไก่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) เนื่องจากพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย และ ไม่ป้องกันด้วยการใส่ถุงยางอนามัย ขณะมีเพศสัมพันธุ์ ไม่รักษาความสะอาดจุดอับชื้นของร่างกาย และ มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่วิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่บรรเทาอาการได้หลายวิธี ทั้ง ใช้ยาทา หรือ ผ่าตัด ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และเมื่อรักษาหูดหงอนไก่จนรอยโรคหายแล้ว ยังต้องติดตามอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน เนื่องจากสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หรือ ติดตามการพัฒนาเป็นโรคมะเร็ง ในกรณีติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่เสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top