โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) คืออะไร ลักษณะและวิธีรักษาโรคฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิง (Monkey) ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อแพร่กระจายอยู่ทั่วโลกถึง 76 ประเทศ และพบผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ร้อยละ 98 เป็นเพศชาย อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 20 ถึง 50 ปี และข้อมูล ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในประเทศไทยจำนวน 2 ราย และล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

โรคฝีดาษลิงเกิดจาก อะไร

โรคฝีดาษลิง (Monkey) คือ ไวรัสกลุ่ม Othopoxvirus เป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ที่เคยระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็วในสมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 6 และปัจจุบันไม่พบผู้ป่วยของโรคไข้ทรพิษแล้ว ซึ่งโรคฝีดาษลิงจะมีความรุนแรงน้อยกว่าไข้ทรพิษ โดยปกติเป็นโรคที่อยู่ในสัตว์ ซึ่งคนไปได้รับเชื้อมาโดยบังเอิญ เช่น ถูกสัตว์ที่มีเชื้อนั้นอยู่ในตัวกัดมา จะเป็นพวกกลุ่มสัตว์ฟันแทะ หนู กระรอก กระแต ที่อยู่แถบทวีปแอฟริกา สาเหตุที่เรียกโรคฝีดาษลิง เนื่องจากค้นพบเชื้อครั้งแรกในลิง เมื่อปี พ.ศ. 2501 ซึ่งไปได้รับเชื้อโดยบังเอิญเช่นเดียวกับคน และพบการติดเชื้อในคนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2513 ในประเทศคองโก โดยโรคฝีดาษลิงพบการระบาดในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในเด็ก 

โรคฝีดาษลิง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือ สายพันธุ์ Congo Basin หรือสายพันธุ์แอฟริกากลาง จะมีความรุนแรงมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิต โดยมีอัตราการเสียชีวิต ร้อยละ 10 และสายพันธุ์ West African หรือสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก พบอัตราการเสียชีวิต ร้อยละ 1 ซึ่งจะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก 

การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในปัจจุบัน เกิดขึ้นในประเทศในอเมริกาเหนือ และยุโรป ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นผู้ติดเชื้อที่ติดจากกันเองภายในแต่ละประเทศ โดยไม่มีประวัติการเดินทางไปแอฟริกาเหมือนการติดเชื้อในอดีต และจากการสอบสวนโรคจากผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง พบกรณีที่ผู้ป่วยมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่มีรสนิยมแบบชายรักชาย หรือไบเซ็กชวล โดยจากข้อมูลในหลาย ๆ ประเทศที่มีการระบาดในปัจจุบันนั้น พบว่าเกิดขึ้นในหมู่เพศชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกันเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้ง สายพันธุ์ของโรคฝีดาษลิงที่มีการระบาดในปัจจุบันนี้ จะเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก (West African Clade) เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงน้อย มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ

การติดต่อของโรค

โรคฝีดาษลิงติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ (Contact) โดยติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดต่อจากคนสู่คน

1. ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยสามารถติดได้จากสัตว์กัดแทะทุกชนิด ซึ่งอาจติดต่อจากการสัมผัสกับเลือดโดยตรง สารคัดหลั่ง น้ำหนอง ตุ่มหนองของสัตว์ ผื่นสัตว์ หรือการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดหรือข่วน หรือรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ติดเชื้อและปรุงไม่สุก

2. ติดต่อจากคนสู่คน โดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งอย่างไอ จาม ผื่น ตุ่มหนอง น้ำหนองโดยตรง หรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อของผู้ป่วย ซึ่งมักมาจากการใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วย หรือติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ และผ่านระบบทางเดินหายใจที่มีละอองฝอยขนาดใหญ่

อาการฝีดาษลิง

เมื่อไปสัมผัสกับผู้ป่วย หรือได้รับเชื้อของโรคฝีดาษลิง ระยะฟักตัวของโรค จะใช้เวลาประมาณ 7-21 วัน ซึ่งหลังจากระยะฟักแล้วนั้น จะเริ่มมีอาการแสดง โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

ระยะก่อนออกผื่น โดยในช่วงแรกผู้ติดเชื้อจะเริ่มมีอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดกระบอกตา ต่อมน้ำเหลืองบวม โตตามจุดต่าง ๆ ทั่วร่างกาย 

ระยะออกผื่น คือ ระยะหลังจากที่มีอาการเริ่มแรก ภายใน 1-5 วันก็จะเริ่มมีผื่น ตุ่มหนอง ขึ้นที่บริเวณใบหน้า และกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ เช่น แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท่า ขาหนีบ อวัยวะเพศ ซึ่งนอกจากนี้ยังอาจพบได้ในช่องปาก ลำคอ รอบทวารหนัก ที่ตา และบริเวณเยื่อเมือกอ่อน

ลักษณะฝีดาษลิง

เริ่มต้นที่เป็นตุ่มนูน แดง ๆ กลม ๆ หลังจากนั้น ตุ่มนูนแดงจะกลายเป็นตุ่มน้ำ จากตุ่มน้ำใสๆ จะกลายเป็นตุ่มหนอง หลังจากตุ่มหนองก็จะกลายเป็นสะเก็ด โดยเมื่อผื่นกลายเป็นสะเก็ด แล้วจะถือว่าสิ้นสุดระยะแพร่เชื้อ สะเก็ดทั้งหมดหลุดออก โรคฝีดาษลิง จะสามารถแพร่กระจายได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มมีอาการจนผื่นหาย โดยระยะที่แพร่เชื้อได้สูงสุด คือ ระยะของตุ่มน้ำ และตุ่มหนอง

ตุ่มของโรคฝีดาษลิง จะแตกต่างจากโรคอีสุกอีใส คือ ตุ่มของโรคอีสุกอีใสจะแปรสภาพ จากตุ่มแดง เป็นตุ่มใส เป็นตุ่มหนอง ในเวลาไม่เกิน 12 ชั่วโมง และในคนเดียวกันตุ่มที่ขึ้นจะมีหลายระยะในเวลาเดียวกัน แต่ตุ่มของโรคฝีดาษลิงจะใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงสภาพจากตุ่มนูน แดง เป็นตุ่มใส เป็นตุ่มหนอง เป็นตุ่มตกสะเก็ดและหลุดออก ไปพร้อมกันทั้งร่างกาย  ใช้ระยะเวลาให้การแปลงสภาพนานกว่าตุ่มของอีสุกอีใส ประมาณ 1-2 สัปดาป์ และจุดสังเกตุอีกอย่างคือ อีสุกอีใสมีไข้ แต่ไม่มีต่อมน้ำเหลืองบวม โต ส่วนโรคฝีดาษลิงจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองบวม โต

โดยทั่วไปแล้วอาการแสดงของโรคแต่ละคนจะรุนแรงไม่เท่ากัน ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะมีอาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่ตั้งครรภ์ เด็ก และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง 

ในกรณีที่มีการติดเชื้อโรคฝีดาษลิงอาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีดาษลิง ได้แก่ สมองอักเสบ ปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนบนแผล และถ้าหากเชื้อเข้าตาจะทำตาอักเสบจนถึงขั้นตาบอดได้ 

การตรวจทางห้องปฏิบัติการของโรคฝีดาษลิง โดยทำการตรวจหาสารพันธุกรรม Real-Time PCR ใช้ระยะเวลาในการตรวจ 24-48 ชั่วโมง และการตรวจลำดับนิวคลิโอไทด์ด้วยเทคนิค DNA Sequencing จะใช้ระยะเวลา 4-7 วัน สิ่งที่ใช้ในการส่งตรวจ คือ รอยโรคที่ผิวหนัง (บริเวณผิวของตุ่มหรือน้ำที่อยู่ภายในตุ่ม)

วิธีรักษาโรคฝีดาษลิง

เมื่อพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงนั้น สิ่งที่ต้องปฏิบัติ คือ การแยกตัวผู้ป่วยออกจากบุคคลอื่นทันที แยกห้องนอน แยกห้องน้ำ แยกของใช้ให้ชัดเจน ห้ามสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นโดยเด็ดขาด และสิ่งสำคัญคือ ห้ามแคะ แกะ เกาผื่นหรือตุ่ม เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็น

ส่วนใหญ่การรักษา จะรักษาตามอาการก็จะหายเอง ใช้เวลา 2-4 สัปดาห์จึงจะหายจากโรค กรณีที่มีอาการรุนแรงจะใช้ยาแบบเดียวกับโรคไข้ฝีดาษ smallpox โดยกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคฝีดาษลิง คือ Tecovirimat , Cidofovir , Brincidofovir

วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง

1. ออกห่างจากผู้ติดเชื้อ 

2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของผู้ที่ติดเชื้อ สัตว์ที่ติดเชื้อ หรือสัตว์ป่า   

3. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือผู้ที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า  

4. สวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากเชื้อแพร่กระจายได้ด้วยละอองฝอยขนาดใหญ่

5. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก  

6. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง หรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศ โดยไม่มีการคัดกรองโรค  

7. กรณีที่มีการเดินทางกลับจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ต้องทำการคัดกรอง และเฝ้าระวังอาการ กักตัวจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที และทำการแยกตัวกัก เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันยังสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ อีกทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ยังสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิง ได้ถึง 85% แต่ในปัจจุบันไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษแล้ว เนื่องจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคไข้ทรพิษหมดไปแล้วตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2523 ดังนั้น ผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 หรือมีอายุน้อยกว่า 40 ปี จะยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงอาจเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ ได้

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top