Tranexamic acid (กรดทราเน็กซามิก) คืออะไร ช่วยผิวขาวขึ้นจริงหรือไม่?

Tranexamic acid (กรดทราเน็กซามิก) คืออะไร?

กรดทราเน็กซามิก (Tranexamic acid) คือ อนุพันธ์สังเคราะห์จากกรดอะมิโนไลซีน เป็นสารที่เกิดขึ้นจากการสังเคราะห์ภายในห้องปฏิบัติการ ไม่สามารถพบได้ตามธรรมชาติ ถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1962 โดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่น โชสุเกะ โอกาโมโตะ และ อุทาโกะ โอกาโมโตะ

ที่มาของภาพ Wiki Commons

ในทางการแพทย์สารชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มสารต้านการสลายตัวของลิ่มเลือด (Antifibrinolytic agent) จึงถูกนำมาใช้ในการห้ามเลือดในระหว่างการผ่าตัดหรือลดภาวะสูญเสียเลือดจากการตกเลือดหลังคลอด

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่ากรดทราเน็กซามิกไม่ได้ออกฤทธิ์ต้านการสลายตัวของลิ่มเลือดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีผลลดการสร้างเม็ดสีในผิวหนัง ทำให้สีผิวกระจ่างใสอย่างสม่ำเสมอดูเรียบเนียนมากขึ้น ปัจจุบันผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เน้นเพิ่มความกระจ่างใสจึงนิยมผสมทรานซามินลงไปเป็นส่วนประกอบสำคัญด้วย

กรดทราเน็กซามิก ออกฤทธิ์ต้านการสลายตัวของลิ่มเลือดได้อย่างไร?

กระบวนการสลายตัวของลิ่มเลือดจะอาศัยปัจจัยหลายชนิด โดยกระบวนการหนึ่ง คือ การสร้างไฟบริน (Fibrin) ให้เกิดการจับตัวเป็นลิ่มเลือดอุดบริเวณจุดเลือดออก หลังจากที่กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างเพียงพอแล้ว เอนไซม์พลาสมิโนเจน (Plasminogen) ซึ่งสร้างขึ้นภายในตับ จะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นพลาสมิน (Plasmin) เพื่อสลายและหยุดกระบวนการทำงานของไฟบรินไปนั่นเอง

และพลาสมินนี้เองที่เป็นเป้าหมายของกรดทราเน็กซามิก โดยกรดทราเน็กซามิกจะเข้าจับกับพลาสมินในตำแหน่งเกาะของกรดอะมิโนไลซีน (เนื่องจากกรดทราเน็กซามิกมีโครงสร้างคล้ายไลซีน จึงสามารถจับเข้ากับตำแหน่งดังกล่าวได้) ส่งผลให้พลาสมินอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถทำงานได้ กระบวนการสลายไฟบรินจึงไม่เกิดขึ้น ทำให้การสร้างลิ่มเลือดยังคงดำเนินต่อไป และนานพอที่จะช่วยให้เลือดหยุดไหลในจุดที่มีเลือดออกมาก

กระบวนการต้านการสลายตัวของลิ่มเลือด
ที่มาของภาพ Science Direct

กรดทราเน็กซามิก ช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสได้อย่างไร?

คุณสมบัติช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใสมากขึ้นของกรดทราเน็กซามิก เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการต้านการสลายตัวของลิ่มเลือด เนื่องจากพลาสมินที่ถูกสร้างขึ้นจะกระตุ้นการทำงานของ Protease-activated receptor 2 (PAR-2) ตามมาด้วยการกระตุ้นการสร้าง Prostaglandin E2 (PGE2) และ Interleukin-8 (IL-8) ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนี้ทำให้การผลิตเม็ดสีเมลานินเพิ่มมากขึ้น และเม็ดสีเมลานินนี้มีผลให้สีผิวเข้มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากกรดทราเน็กซามิกสามารถยับยั้งการทำงานของพลาสมินได้ กระบวนการทั้งหมดที่จะกระตุ้นการสร้างเม็ดสีเมลานินจึงหยุดลง และการที่พลาสมินไม่สามารถทำงานได้ การสร้างไฟบรินที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยยับยั้งการปล่อยเม็ดสีเมลานินออกจากเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocyte) ได้อีกด้วย

กลไกช่วยทำให้ผิวขาวกระจ่างใส
ที่มาของภาพ Wiley online library

นอกจากนี้ กรดทราเน็กซามิกยังสามารถยับยั้งการสร้างเอนซ์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ซึ่งมีบทบาทในการกระตุ้นกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินในเซลล์สร้างเม็ดสี เม็ดสีจึงถูกผลิตน้อยลง จะเห็นได้ว่ากรดทราเน็กซามิกสามารถยับยั้งได้ลึกถึงกระบวนการสร้างเม็ดเลยทีเดียว ผลลัพธ์ที่ได้ คือ สีผิวในบริเวณที่ได้รับกรดทราเน็กซามิกอย่างสม่ำเสมอจะค่อย ๆ ขาวกระจ่างใสขึ้นตามลำดับ

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการใช้กรดทราเน็กซามิก

  • หลอดเลือดอุดตัน: ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย และเป็นผลมาจากการออกฤทธิ์ของกรดทราเน็กซามิกโดยตรง นั่นคือ ภาวะหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด เนื่องจากตามธรรมชาติแล้วร่างกายมนุษย์สามารถเกิดรอยฉีกขาดและมีเลือดออกอยู่ภายนได้ตลอดเวลา ร่างกายจึงมีกระบวนการสร้างและสลายลิ่มเลือดอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน แต่เมื่อได้รับกรดทราเน็กซามิกชนิดรับประทานหรือยาฉีด ตัวยาจะยับยั้งกระบวนการสลายลิ่มเลือด ทำให้การสร้างลิ่มเลือดเกิดได้นานขึ้น แม้จะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ แต่ก็สามารถรวมกันจนเกิดเป็นลิ่มเลือดขนาดใหญ่อุดตันหลอดเลือดเลี้ยงอวัยวะสำคัญ เช่น หลอดเลือดปอด ทำให้เกิดภาวะ Pulmonary Embolism (PE), หรือหลอดเลือดดำที่ขา ทำให้เกิดภาวะ Deep vein thrombosis (DVT) ซึ่งภาวะเหล่านี้อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร: กรณีที่ใช้กรดทราเน็กซามิกชนิดรับประทาน อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ตามมาด้วยอาการคลื่นไส้, อาเจียน และถ่ายเหลว ทั้งนี้ อาการเหล่านี้จะไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองเมื่อหยุดใช้
  •  วิงเวียนศีรษะ: ในผู้ป่วยบางราย อาจรู้สึกวิงเวียนศีรษะหรือปวดศีรษะได้ ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในรูปแบบของยารับประทานและยาฉีด โดยส่วนมากแล้วอาการจะไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองเมื่อตัวยาหมดฤทธิ์
  • อาการแพ้: เนื่องจากกรดทราเน็กซามิก เป็นสารอนุพันธ์ของกรดอะมิโนไลซีน ผู้ใช้บางรายอาจมีอาการแพ้ ตั้งแต่มีผื่นคัน, ผิวหนังแดง, ปวดแสบร้อน, ผิวลอก, ปากบวม, หายใจลำบาก จนอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงแบบ Anaphylaxis ได้ แม้พบได้น้อยแต่การแพ้รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากใช้แล้วเกิดอาการผิดปกติ ควรหยุดใช้ทันที
  • พิษต่อไต: พบในกรณีการใช้ยาชนิดรับประทานและยาฉีด การสะสมของกรดทราเน็กซามิกในร่างกายเป็นเวลานาน อาจทำให้ผู้ใช้บางรายเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน และเมื่อเวลาผ่านไปอาจพัฒนาสู่การเป็นไตวายเรื้อรังได้
  • ตาพร่ามัว: กรดทราเน็กซามิกอาจกระตุ้นให้เกิดอาการตาพร่ามัว, สีสันเปลี่ยนแปลง หรืออาการตาบอดกลางคืนได้ ซึ่งอาการเหล่านี้พบได้น้อย, มีอาการไม่มาก และหายได้เอง
ที่มาของภาพ Freepik

กรดทราเน็กซามิกรูปแบบทาเฉพาะที่ (Topical Tranexamic acid) ปลอดภัยต่อการนำใช้หรือไม่?

ด้วยคุณสมบัติในการปรับสีผิวให้ขาวกระจ่างใส ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้นำกรดทราเน็กซามิกมาผลิตในรูปแบบทาเฉพาะที่หรือผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกันมากขึ้น โดยมีความเข้มข้นของกรดทราเน็กซามิกอยู่ที่ 2-5% ซึ่งเพียงพอที่จะช่วยปรับสีผิวให้ขาวกระจางใสอย่างเป็นธรรมชาติ

โดยทั่วไปแล้วสามารถใช้กรดทราเน็กซามิกรูปแบบทาเฉพาะที่ได้อย่างปลอดภัย พบรายงานการแพ้สารชนิดนี้ต่ำ ถึงกระนั้น ด้วยโครงสร้างที่เป็นอนุพันธ์กรดอะมิโนจึงสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ ดังนั้น จึงควรเริ่มใช้ที่ความเข้มข้นต่ำเสียก่อน และคอยสังเกตอาการแพ้ต่าง ๆ หลังใช้ในช่วง 24-72 ชั่วโมง หากเกิดความผิดปกติควรหยุดใช้และรีบเภสัชกรหรือแพทย์ทันที

หลังการทากรดทราเน็กซามิกบนผิวหนังแล้ว ควรทาครีมกันแดเพื่อปกป้องผิวจากรังสีอัลตราไวโอเลตด้วย มิเช่นกันจะเกิดการกระตุ้นในผิวหนังสร้างเม็ดสีเมลานินขึ้นดังเดิม นอกจากนี้ ไม่ควรใช้กรดทราเน็กซามิกร่วมกับสารที่มีคุณสมบัติผลัดเซลล์ผิว เช่น AHA หรือ BHA

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

PubMed (nih.gov)

NCBI Bookshelf (nih.gov)

Medicalnewstoday.com

Nature Reviews Disease Primers

Scroll to Top