ส้นเท้าแตก ทำไงดี สาเหตุและวิธีการแก้ไขส้นเท้าแตก (ฉบับเห็นผลจริง!!)

ส้นเท้าแตก ส้นเท้าแตกเป็นแผล เท้าแห้ง หยาบ แข็ง คือหนึ่งในปัญหาที่ทำให้หลายคนเกิดความกังวลใจ โดยเฉพาะหากปัญหาส้นเท้าแตกถึงผิวหนังด้านใน อาจส่งผลให้มีเลือดออกหรืออาจสร้างความเจ็บปวดตามมาได้ ปัญหาส้นเท้าแตกเป็นปัญหาที่มักจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงในช่วงฤดูหนาว ช่วงที่อากาศแห้งและหนาวเย็น แต่ในบางรายอาจพบเจอปัญหาส้นเท้าแตกนั้น เป็นปัญหาที่อยู่ตลอดถึงแม้จะไม่ใช่ช่วงของฤดูหนาวก็ตาม สำหรับผู้ที่มักเกิดปัญหาส้นเท้าแตก ส้นเท้าแตกเป็นแผล เท้าแห้ง หยาบ หรือแข็ง สามารถทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดอาการและวิธีการรักษาแก้ไขปัญหา เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาส้นเท้าแตกให้ไม่เกิดซ้ำใหม่ได้

ส้นเท้าแตกเกิดจาก สาเหตุใด?

ส้นเท้าแตก (Cracked heels) คือ ลักษณะอาการของผิวหนังกำพร้าบริเวณส้นเท้าที่มีการแตกเป็นร่องลึก อาจมีสาเหตุการเกิดมาจากผิวที่แห้งเนื่องจากขาดความชุ่มชื้น ร่วมกับสาเหตุที่ผิวหนังมีการผลิตเคราตินมากจนเกินไป ส่งผลให้มีผิวหนังที่บริเวณส้นเท้าหยาบกร้าน แข็งด้าน หรือบางรายอาจมีลักษณะเป็นขุย และอาการส้นเท้าแตกสามารถที่จะเกิดขึ้นกับเท้าเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือเกิดขึ้นกับเท้าทั้งสองข้างได้เช่นเดียวกัน

อาการส้นเท้าแตกโดยทั่วไปแล้วไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่สำหรับบางรายที่มีอาการส้นเท้าแตกลึกอาจส่งผลให้มีอาการเจ็บหรืออาจทำให้มีเลือดออกได้ และอาจนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่เท้า รวมไปถึงเมื่อมีการลงน้ำหนักที่เท้า มีแรงกดซ้ำๆ อาจส่งผลให้เกิดตาปลาที่ส้นเท้าได้ โดยจะมีลักษณะเป็นสีเหลืองหรือมีสีน้ำตาลเข้ม และหากตาปลามีขนาดใหญ่ขึ้น มีความลึกที่มากขึ้น อาจทำให้เกิดความเจ็บขึ้นได้เมื่อมีการยืนหรือมีการทิ้งน้ำหนักตัวลงบนส้นเท้า

รูปภาพประกอบจาก Freepik

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิด ส้นเท้าแตกเป็นแผล

  • อายุ อายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้สุขภาพผิวเสื่อมตาม และร่างกายอาจผลิตน้ำมันออกมาเคลือบผิวได้น้อยลง ปริมาณของ คอลลาเจนในชั้นผิว ที่มีส่วนช่วยให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่นลดน้อยลง รวมไปถึงผิวหนังที่บางลง อาจส่งผลให้ผิวแห้งกร้าน ทำให้เกิดอาการส้นเท้าแตกได้
  • ภาวะสุขภาพ อาจส่งผลให้เกิดส้นเท้าแตก อาทิเช่น โรคอ้วน, โรคเบาหวาน, โรคผิวหนังอักเสบและโรคน้ำกัดเท้า เป็นต้น
  • การบาดเจ็บ ปัจจัยการบาดเจ็บอย่างการเสียดสีกับพื้นผิวที่มีความหยาบอยู่บ่อยครั้ง หรือการสัมผัสกับสภาพอากาศ สภาพแวดล้อม ที่มีลักษณะอากาศแห้งเป็นเวลานานหลายปี อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บที่ส้นเท้า และทำให้ส้นเท้ามีอาการแห้งแตก
  • พฤติกรรมการละเลยไม่ดูแลส้นเท้า อาทิเช่น การไม่สวมถุงเท้า, การไม่ทาครีมบำรุงที่บริเวณส้นเท้า, การเดินเท้าเปล่าบนพื้นที่มีความแข็ง อาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดส้นเท้าแตกและแห้งกร้าน
  • พฤติกรรมการไม่ดื่มน้ำ หากร่างกายขาดน้ำนอกจากจะส่งผลให้มีอาการคอแห้งหรือปากแห้งแล้ว อาจส่งผลให้บริเวณฝ่าเท้าและส้นเท้าเกิดความแห้งกร้าน และเกิดส้นเท้าแตกได้

วิธีแก้ปัญหา ส้นเท้าแตก ใช้อะไรดี ?

สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาส้นเท้าแตก สามารถแก้ไขบรรเทาอาการส้นเท้าแตกได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ใช้ครีมบำรุงเท้า ครีมทาเท้า ที่ประกอบไปด้วย ยูเรีย (Urea), กรดซาลิซิลิก (Salicylic acid), กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha-hydroxy acid) และ แซคคาไรด์ ไอโซเมอเรท (Saccharide isomerate) ที่จะช่วยให้ผิวหนังมีความอ่อนนุ่ม มีส่วนช่วยในการขจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายหรือเสื่อมสภาพ เพื่อลดความหนาของส้นเท้าและเพิ่มความเรียบเนียน อีกทั้งยังสามารถช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผิวได้อย่างดี
  • ใช้ปิโตรเลียม เจลลี่ (Petroleum jelly) ทาบริเวณส้นเท้าแตกก่อนนอน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและเพื่อฟื้นฟูรอยแตกที่ส้นเท้า โดยสามารถใส่ถุงเท้าเพื่อป้องกันคราบมันหรือป้องกันไม่ให้เลอะบริเวณที่นอนได้
  • ใช้พลาสเตอร์เจลฟิล์มใสหรือฟิล์มใสกันน้ำ (Liquid bandage) ทาที่รอยแตกของส้นเท้าเมื่อต้องเดินเยอะ เป็นการช่วยสร้างเกราะป้องกันให้กับส้นเท้า เพื่อลดอาการเจ็บ และเร่งการสมานตัวของผิวหนัง รวมไปถึงเพื่อยับยั้งเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ผิว

ในการใช้ครีมทาเท้าอาจมีอาการระคายเคืองที่เกิดจากสารประกอบได้ ควรมีการทดสอบอาการแพ้ระคายเคืองก่อนใช้ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการส้นเท้าแตกรุนแรง มีอาการเจ็บรุนแรงหรือมีอาการเลือดออกที่ส้นเท้า สามารถเข้ารับคำแนะนำและคำปรึกษากับแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมได้ทันที

ส้นเท้าแตกเป็นแผล ควรหาหมอเมื่อไหร่?

ถึงแม้ส้นเท้าแตกจะเป็นอาการที่ไม่ได้มีความอันตรายแต่อย่างใด หรือเป็นอาการที่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยตนเอง แต่หากอาการส้นเท้าแตกมีความรุนแรง มีอาการบวมแดง มีความรู้สึกเจ็บหรือปวด หรือหากมีเลือดหรือหนองออกที่บริเวณส้นเท้า ควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์เพื่อวินิจฉัยและตรวจหาการติดเชื้อในทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้โดยเด็ดขาด และการรักษาโดยแพทย์ แพทย์จะทำการรักษาตามความเหมาะสมกับอาการ โดยวิธีการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์โดยตรง อาจรักษาด้วยการจ่ายยา, การพันปิดบาดแผล หรือรักษาด้วยการผ่าตัดเนื้อตาย เป็นต้น

รูปภาพประกอบจาก Freepik

ส้นเท้าแตก วิธีแก้ วิธีป้องกันปัญหาส้นเท้าแตก ทำได้อย่างไร?

หากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาส้นเท้าแตก หรือไม่อยากรอให้เกิดปัญหาที่อาจจะแก้ไขยากในอนาคต การป้องกันดูแลส้นเท้าด้วยวิธีการเหล่านี้ สามารถที่จะป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหาส้นเท้าแตกได้

  • ใช้ครีมทาเท้าหรือใช้ครีมบำรุงผิว มอยเจอร์ไรเซอร์ เข้มข้น ทาเท้าเป็นประจำ วันละ 1-2 ครั้ง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว และเพื่อป้องกันการเกิดผิวแห้งแตกจนทำให้ส้นเท้าแตก ในการทาครีมควรทาทันทีหลังการอาบน้ำ ควรทาในขณะที่ผิวหนังมีความอ่อนนุ่ม เพื่อช่วยให้ครีมบำรุงสามารถที่จะซึมซาบสู่ผิวได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ
  • หากผิวหนังบริเวณส้นเท้ามีความหนามากกว่าปกติ สามารถทำการแช่เท้าในน้ำ 10-15 นาที และทำการตะไบผิวหนังบริเวณส้นเท้าด้วยหินภูเขาไฟ เพื่อขจัดเซลล์ผิวที่ตายหรือเสื่อมสภาพ รวมไปถึงขจัดผิวหนังที่มีลักษณะแห้งเป็นขุย เพื่อช่วยให้ครีมทาเท้าหรือครีมบำรุงผิวสามารถดูดซึมได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยวิธีการนี้ควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • ควรรักษาความสะอาดของเท้าเสมอ และควรเช็ดเท้าให้แห้งทันทีทุกครั้งหลังจากที่เท้ามีการสัมผัสกับน้ำ
  • หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีความเย็นหรือแห้งจัด เนื่องจากเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการส้นเท้าแตกได้
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่นหรือการอาบน้ำเย็น เพื่อป้องกันการสูญเสียความชุ่มชื้นในชั้นผิว ควรเลือกอาบน้ำที่มีอุณหภูมิปกติ
  • หลีกเลี่ยงการให้ส้นเท้าสัมผัสเสียดสีกับพื้นโดยตรง โดยการสวมถุงเท้าหรือรองเท้าแตะเดินภายในบ้าน
  • เลือกสวมรองเท้าที่รองรับแรงกระแทกจากการเดินหรือการวิ่งได้ดี และเลือกรองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า เพื่อลดการกระแทกของส้นเท้ากับพื้นผิวแข็งๆ
  • ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะร่างกายขาดน้ำที่อาจส่งผลให้ผิวแห้งแตก และเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว

โดยวิธีการข้างต้นนี้ ถึงแม้จะเป็นวิธีการป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาส้นเท้าแตก แต่สำหรับผู้ที่กำลังประสบกับปัญหาส้นเท้าแตกอยู่ในขณะนี้ สามารถที่จะนำเอาวิธีการเหล่านี้ไปใช้ในระหว่างการรักษาส้นเท้าแตกได้เช่นเดียวกัน

สรุป

อาการส้นเท้าแตกเป็นอาการที่เกิดจากผิวแห้งขาดความชุ่มชื้น และส่งผลให้เกิดรอยแตกเป็นร่องลึก และยังมีอีกหลากหลายปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดส้นเท้าแตก สำหรับผู้ที่มีปัญหาส้นเท้าแตกหรือกำลังเผชิญกับปัญหาส้นเท้าแตก หากไม่มีอาการที่รุนแรงไม่ต้องรู้สึกกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากอาการส้นเท้าแตกนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสามารถที่จะแก้ไขและรักษาอาการส้นเท้าแตกได้ด้วยตนเอง โดยการใช้วิธีการรักษาข้างต้นรวมไปถึงวิธีการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยง ที่อาจนำไปสู่การเกิดส้นเท้าแตก แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาส้นเท้าแตกและมีอาการรุนแรง อาทิเช่น เลือดออก หรือมีความเจ็บที่รุนแรง สามารถเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเพื่อรักษาอาการตามแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ และอาการส้นเท้าแตกหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องส้นเท้าก็สามารถที่จะกลับมาเรียบเนียนได้อีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา

Scroll to Top