ฮอร์โมนเพศหญิง คือ ฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเจริญพันธุ์, การสืบพันธุ์ และสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งหายร่างกายมีฮอร์โมนเพศหญิงที่ไม่สมดุล อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ อาทิเช่น อารมณ์ที่แปรปรวน, ประจำเดือนมาไม่ปกติ, ภาวะช่องคลอดแห้ง, การสูญเสียมวลและความแข็งแรงของกระดูก เป็นต้น
ฮอร์โมนเพศหญิงคืออะไร ?
ฮอร์โมนเพศหญิง สารเคมีที่รังไข่และ ระบบต่อมไร้ท่อ ผลิตขึ้น โดยจะปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมกระบวนการทำงานต่างๆ ของร่างกาย อาทิเช่น การเจริญเติบโต, การสืบพันธุ์, ความต้องการทางเพศ และการหลับนอน เป็นต้น ซึ่งระดับฮอร์โมนเพศหญิงอาจมีสูงสุดเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงวัยแรกรุ่น โดยอาจสูงสุดอยู่ที่ระหว่างช่วงอายุ 8-13 ปี และฮอร์โมนเพศหญิงจะลดลงเมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 50 ปี
ฮอร์โมนเพศหญิง มีอะไรบ้าง ?
ฮอร์โมนเพศหญิงได้แก่ 2 ชนิด ดังต่อไปนี้
- ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) คือ ฮอร์โมนเพศหญิงที่รังไข่ผลิตขึ้น และมีบทบาทสำคัญในการเจริญพันธุ์และระบบสืบพันธุ์ต่างๆ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ และการเจริญเติบโตของร่างกาย อาทิเช่น มีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง, การขยายหน้าอก, กระตุ้นการสร้างเส้นผม ขนบริเวณรักแร้และขนบริเวณอวัยวะเพศ
- ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) คือ ฮอร์โมนเพศหญิงที่รังไข่และ ต่อมไร้ท่อ ต่อมหมวกไตผลิตขึ้น และมีบทบาทสำคัญในการช่วยควบคุมการตกไข่ ซึ่งมีผลต่อการมีประจำเดือนและการตั้งครรภ์
นอกจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนแล้ว เพศหญิงยังอาจมี ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ที่ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่รังไข่ได้มีการผลิตขึ้นร่วมด้วย แต่มีเพียงในปริมาณที่เล็กน้อย ในเพศหญิงที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนหรือฮอร์โมนเพศชายมากจนเกินไป อาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อาทิเช่น มีโทนเสียงทุ้ม, มีหนวด ขน ขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเยอะกว่าปกติ และ สิวฮอร์โมน
การวัดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
ฮอร์โมนเพศหญิง หน้าที่ ของฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนหลักของผู้หญิงมีหน้าที่ในการควบคุมการมีประจำเดือนและการหมดประจำเดือน รับผิดชอบต่อความหนาของผิว การไหลเวียนเลือด คอลลาเจน ช่วยเพิ่มระของคอเลสเตอรอลที่ดีและลดระดับของคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี และยังมีความสำคัญต่อเพศหญิงที่มีการตั้งครรภ์ อาทิเช่น ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน ควบคุมการทำงานของมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ โดยการวัดค่าระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละกลุ่มบุคคล
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือน จะอยู่ที่ 26-149 pg/ml
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จะอยู่ที่ 0-34 pg/ml
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงที่อยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ จะอยู่ที่ 2-30 pg/ml
- ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ จะอยู่ที่ 3-10 pg/ml
การวัดระดับ ฮอร์โมนเพศหญิง โปรเจสเตอโรน (Progesterone)
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน คือ ฮอร์โมนเพศหญิงที่มีความสำคัญต่อการควบคุมภาวะไข่ตกและการมีประจำเดือน อักทั้งยังคอยควบคุมการทำงานพื้นฐานของร่างกาย ความรู้สึกต่างๆ และการสร้างฮอร์โมนหลายชนิดอีกทั้งยังควบคุมการหลั่งฮอร์โมนด้วย มีหน้าที่ในการกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเยื่อบุมดลูกเพิ่มช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนา ยับยั้งมดลูกไม่ให้บีบตัวในขณะที่มีการตั้งครรภ์ ช่วยปรับการทำงานของร่างกายให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน โดยทั่วไปการวัดค่าระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จะแตกต่างกันตามวันไข่ตก
- ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในวันแรกที่มีประจำเดือนจนถึงวันก่อนไข่ตก จะอยู่ที่ 0.2-1.5 pg/ml
- ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในวันไข่ตก จะอยู่ที่ 0.8-3.0 pg/ml
- ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในหลังวันไข่ตกจนถึงวันก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไป จะอยู่ที่ 1.7-27 pg/ml
ฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุล มีผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย?
ปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อ ฮอร์โมนเพศหญิงเปลี่ยน หรือ ฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุล
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนไม่มา
- ภาวะช่องคลอดแห้ง
- มวลกระดูกและความแข็งแรงของกระดูกลดลง เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
- เสี่ยงต่อการมีบุตรยาก, แท้งบุตร, ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS), โรคหัวใจ, เนื้องอกในรังไข่และมะเร็งรังไข่
- ความต้องการทางเพศต่ำ
- อารมณ์แปรปรวน, วิตกกังวล, หงุดหงิดง่าย, เหนื่อยล้าง่าย, นอนไม่หลับ และเสี่ยงต่อการเกิด ภาวะซึมเศร้า
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
- น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น
- สิวขึ้น
- มีขนขึ้นทั่วทั้งร่างกายมากกว่าปกติ
- ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เจ็บเต้านม
อาการที่เกิดขึ้นจาก ฮอร์โมนเพศหญิง ไม่สมดุล ที่ควรเข้าพบแพทย์
หากร่างกายมี ฮอร์โมนเพศหญิงไม่สมดุล อาจส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้นมากมายตามที่กล่าวมาในข้างต้น แต่เมื่อไหร่ก็ตามหากสังเกตเห็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ควรเข้าพบแพทย์ในทันทีเพื่อทำการรักษาตามแนวทางอย่างทันท่วงที
- มีภาวะช่องคลอดแห้ง เลือดออกที่ช่องคลอด และรู้สึกเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนไม่มา
- ความต้องการทางเพศลดลงหรือความต้องการทางเพศต่ำ
- มีอาการผมร่วงหรือมีขนขึ้นทั่วร่างกายมากจนเกินไป
- มีบุตรยาก
- ภาวะซึมเศร้า โดยสามารถทำการทดสอบ ตรวจซึมเศร้า ได้ที่นี่
ฮอร์โมนเพศหญิงเปลี่ยน ไม่สมดุล แก้ไขได้อย่างไร?
เมื่อฮอร์โมนมีความไม่สมดุล แพทย์อาจให้การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน ตามระดับของฮอร์โมนที่ลดลง โดยการบำบัดดังด้านล่าง และการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนหรือฮอร์โมนสังเคราะห์ อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดลิ่มเลือด มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งเต้านมได้ ในการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบำบัด เพื่อความปลอดภัย
บำบัดฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)
- ยาฮอร์โมนในรูปแบบเม็ด เป็นแนวทางการรักษาสำหรับผู้ที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ โดยแพทย์อาจให้รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจนรูปแบบเม็ด วันละ 1 ครั้ง หรือตามที่แพทย์กำหนด โดยการบำบัดด้วยยาฮอร์โมนในรูปแบบเม็ดเหมาะสำหรับช่วงวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง
- ยาฮอร์โมนในรูปแบบแผ่นแปะ เป็นยาฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มาในรูปแบบของการแปะที่ผิวหนัง เพื่อให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างต่อเนื่อง ควรเปลี่ยนอย่างน้อยทุก 2-3 วัน หรือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตามคำแนะนำของแพทย์ โดยการแปะฮอร์โมนในรูปแบบแผ่นมักใช้แปะบริเวณหน้าท้อง
- ยาฮอร์โมนแบบใช้เฉพาะที่ ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบใช้เฉพาะที่มีให้เลือกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะในรูปแบบครีม, เจล หรือสเปรย์พ่น โดยการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบเฉพาะที่จะถูกซึมผ่านผิวหนังและเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง อีกทั้งยังมีในรูปแบบของยาสอดเหน็บช่องคลอด ที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาวะช่องคลอดแห้ง ผู้ที่มีอาการแสบร้อน เจ็บปวดช่องคลอดในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ โดยควรใช้เป็นประจำทุกวันช่วงแรกหรือ 2 สัปดาห์แรก และปรับไปใช้เพียง 2 วัน ต่อสัปดาห์ หรือใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ และยาฮอร์โมนแบบใช้เฉพาะที่ที่มาในรูปแบบวงแหวนช่องคลอดที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
บำบัดฮอร์โมนแบบผสมผสาน
แนวทางการรักษาด้วยการบำบัดฮอร์โมนแบบผสมผสาน ใช้ยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสติน หรือซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในรูปแบบสังเคราะห์ ที่มีทั้งในรูปแบบของยาเม็ดสำหรับรับประทานและรูปแบบของห่วงอนามัยสำหรับสอดช่องคลอด เพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิงที่อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และภาวะช่องคลอดแห้ง
สรุป
ฮอร์โมนเพศหญิง เป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายในหลายด้านตามที่ได้มีการกล่าวมาในข้างต้น กลไกหน้าที่การทำงานของฮอร์โมนมีรายละเอียดและการทำงานร่วมกันหลายส่วน หากร่างกายมีฮอร์โมนไม่สมดุลอาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ และส่งผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรมการแสดงออกได้ ไม่ว่าฮอร์โมนเพศหญิงจะมีระดับที่สูงหรือต่ำเกินไปย่อมส่งผลเสียและส่งผลกระทบต่อร่างกายด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น การดูแลสุขภาพกายและสภาพจิตใจโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ อย่าง การพักผ่อนที่เพียงพอ, การหลีกเลี่ยงความเครียด, การรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย สามารถช่วยให้ฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างสมดุลมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน จากแหล่งที่มา
- https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?ContentTypeID=85&ContentID=P00559
- https://www.health.harvard.edu/medications/testosterone–what-it-does-and-doesnt-do
- https://www.webmd.com/menopause/guide/menopause-hormone-therapy
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a604017.html