ยาช่วยย่อยอาหาร (Digestive Drug) คืออะไร ทำงานอย่างไร

ยาช่วยย่อย หรือ ยาช่วยย่อยอาหาร (Digestive drug) คือยาที่ออกฤทธิ์ช่วยให้กระบวนการย่อยอาหารของร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งยากลุ่มนี้ประกอบด้วยเอนไซม์ (enzyme) ที่เป็นน้ำย่อยอาหารที่ใช้ในการย่อยอาหาร โดยปกติแล้วร่างกายคนเราจะผลิตเอนไซม์ได้หลากหลายชนิดจากอวัยวะต่างๆ ดังนี้

ต่อมน้ำลาย

  • ต่อมน้ำลายในช่องปาก สร้างน้ำลาย และเมือกเพื่อการหล่อลื่น รวมถึงผลิตเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ใช้ย่อยอาหารประเภทแป้งเพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำตาล ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซ์พันธะในโมเลกุลของสตาร์ช (Starch)

ลำไส้เล็ก

  • เอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ใช้ย่อยอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรต
  • เอนไซม์ไลเปส (Lypase) ใช้ย่อยอาหารประเภทไขมัน ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซ์โมเลกุลของไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เพื่อเปลี่ยนแปลงชนิด หรือตำแหน่งของกรดไขมัน (Fatty acid) ในโมเลกุลของ ไตรกลีเซอไรด์ (Trigleceride) จนกลายเป็นเป็นกรดไขมันอิสระ (Free fatty acid)
  • เเอนไซม์ทริปซิน (Trypsin) และเอนไซม์ไคโมทริบซิน (Chymotrypsin) ใช้ย่อยอาหารประเภทโปรตีนให้เป็นกรดอะมิโน

ตับอ่อน 

  • เอนไซม์แพนคริเอไลเปส (Pancrealipase) ใช้ย่อยอาหารประเภทไขมัน ด้วยปฏิกิริยาไฮโดรไลซ์โมเลกุลของไขมันและน้ำมัน จนกลายเป็นเป็นกรดไขมันอิสระ (Free fatty acid) และกลีเซอรอล (Glycerol)
  • เอนไซม์โปรติเอส (Protease) ที่ย่อยอาหารประเภทโปรตีน และเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ที่ใช้ย่อยคาร์โบไฮเดรต

หมายเหตุ* กลุ่มเอนไซม์จากตับอ่อนซึ่งใช้ในการย่อยอาหาร มักถูกเรียกว่า แพนคริเอส (Pan crease) หรือ แพนคริเอติน (Pancreatin)

อาการอาหารไม่ย่อย

อาการอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) หรือ อาการรู้สึกอึดอัดไม่สบายบริเวณหน้าอกหรือลิ้นปี่ คลื่นไส้ เรอ อาเจียน แสบร้อนกลางอก มักมีอาการในระหว่างหรือหลังรับประทานอาหาร โดย อาการอาหารไม่ย่อย สามารถเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว หรือเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ทุกวัน มักจะมีอาการปวดหรือไม่สบายท้อง ตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ร่วมกับจุกเสียด แสบท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง ซึ่งพบได้ค่อนข้างบ่อยในวัยผู้ใหญ่ และวัยชรา เนื่องจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้ หรือสาเหตุที่เป็นไปได้หลายประการ เช่น 

  • รับประทานอาหารไขมันสูง หรือมีรสเผ็ดจัด
  • รับประทานอาหารมากเกินไป หรือเร็วเกินไป
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม หรือแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • มีพฤติกรรมสูบบุหรี่
  • มีความเครียด วิตกกังวล
  • ใช้ยาปฏิชีวนะ ยาบรรเทาปวด หรือผลิตภัณฑ์เสริมธาตุเหล็กบางชนิด

นอกจากนี้ อาการอาหารไม่ย่อยอาจมีอาการจากลักษณะโรคต่างๆ ซึ่งแบ่งได้พอสังเขป ดังนี้

  • อาหารไม่ย่อยจากกรดไหลย้อน : มักมีอาการ เรอเปรี้ยว หรือแสบลิ้นปี่ขึ้นมาถึงคอ เป็นมากเวลานอนราบหรือก้มตัว
  • อาหารไม่ย่อยจากสาเหตุแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ : มักมีอาการแสบท้องเวลาหิว หรือปวดท้องเวลากลางคืน
  • อาหารไม่ย่อยจากสาเหตุโรคตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน มะเร็งในช่องท้อง : มักมีอาการ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง ฝ่ามือแดง หรือถ่ายดำ
  • อาหารไม่ย่อยจากสาเหตุโรคหัวใจขาดเลือด : มักมีอาการจุกแน่นยอดอก ปวดร้าวขึ้นไปถึงคอ ขากรรไกร หัวไหล่ พบมากในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ดี หากมีอาการอาหารไม่ย่อยจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต อาทิ การเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด เลิกดิ่มเครื่องดื่มประเภทที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม หรือแอลกอฮอลล์ และดินเล่นพอประมาณหลังกินอาหารเพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหวเร็วขึ้น หรือใช้ยาช่วยย่อยอาหารร่วมในการรักษา 

ชนิดของยาช่วยย่อยอาหาร ที่แพร่หลาย

ยาช่วยย่อยอาหาร เป็นยาที่ช่วยให้กระบวนการย่อยอาหารมีประสิทธิภาพขึ้น ส่วนมากจะมีประโยชน์เฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยขาดเอนไซม์สำหรับย่อยอาหารเท่านั้น โดยยาช่วยย่อยอาหารที่ใช้อย่างแพร่หลาย แบ่งได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้

  • ยาช่วยย่อย Magesto-F®

ยาช่วยย่อย Magesto-F® ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดเนื่องจากอาหารไม่ย่อย ลักษณะเป็นเม็ดยา (tablets) รูปสามเหลี่ยม 3 ชั้น เหมาะกับผู้ที่มีความบกพร่องในการย่อยอาหารกลุ่มแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต มีอาการจุกเสียดแน่นท้อง ปวดเกร็งช่องท้อง ร่วมกับมีภาวะกรดเกิน

ส่วนประกอบ : 

  • ชั้นในของเม็ดยา ประกอบด้วย เอนไซม์ Mamylase และDiastase มีฤทธิ์ในการช่วยย่อยสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต และสารสกัด Scopolia มีฤทธิ์ในการช่วยลดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง รวมถึงส่วนประกอบที่มีฤทธิ์ในการช่วยขับลมแก้จุกเสียด คือ Cinnamon oil, Clove oil, Fennel oil, Ginger oil และ Menthol
  • ชั้นนอกของเม็ดยา ประกอบด้วย Sodium Bicarbonate, Calcium Carbonate และ Aluminium Hydroxide มีฤทธิ์ในการช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร

ขนาดรับประทาน : 

  • เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหารและห้ามเคี้ยว
  • ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหารและห้ามเคี้ยว

ผลข้างเคียง : 

  • อาจทำให้ท้องผูก คลื่นไส้อาเจียน ระคายเคืองคอ และกระเพาะอาหาร
  • ยาช่วยย่อย Combizym® 

ยาช่วยย่อย Combizym® ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เนื่องจากอาหารไม่ย่อย และออกฤทธิ์ช่วยย่อยในจุดที่แตกต่างกันด้วยเอนไซม์ 3 ชนิด สำหรับช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน มีลักษณะเป็นยาเม็ดเคลือบ (coated tablets)

ส่วนประกอบ : 

  • Pancreatin เป็นกลุ่มเอนไซม์สกัดจากตับอ่อนของหมู ประกอบด้วยเอนไซม์ lipase 7,400 IU protease 420 IU และ amylase 7,000 IU ช่วยในการย่อยไขมัน โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตตามลำดับ
  • กลุ่มเอนไซม์สกัดจากรา Aspergillus oryzae ประกอบด้วยเอนไซม์ cellulase 70 IU protease 10 IU และ amylase 170 IU ช่วยในการย่อยเซลลูโลส โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตตามลำดับ

หมายเหตุ* ยาช่วยย่อย Combizym® จัดเป็นยาในบัญชี หรือก็คือ ยาที่มีความจำเป็นต้องมีการระบุข้อบ่งใช้และเงื่อนไขการสั่งใช้ยาเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับอ่อนบกพร่อง (pancreatic insufficiency) และก่อให้เกิดภาวะการดูดซึมสารอาหารผิดปกติ (malabsorption syndrome) โดยเฉพาะสารอาหารกลุ่มไขมันที่ทำให้มีภาวะอุจจาระมีไขมันมาก (steatorrhea)

ขนาดรับประทาน : 

  • เด็กและผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด พร้อมอาหารหลักและ 1 เม็ดพร้อมอาหารว่างระหว่างมื้ออาหารหลัก โดยต้องกลืนยาทั้งเม็ดห้ามบดหรือเคี้ยวเม็ดยา

ผลข้างเคียง : 

  • หากอมยาไว้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังรอบปากและเยื่อเมือกในกระพุ้งแก้ม และการรับประทานยาอาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการไม่สบายท้อง

ข้อควรระวัง :

  • ห้ามใช้ยาในขนาดสูงมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดเกิน และเกิดการระคายเคืองบริเวณรอบทวารหนัก
  • ห้ามใช้ยาในผู้ที่แพ้โปรตีนจากหมู ผู้ที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน หรือผู้ที่มีอาการกำเริบของตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง เนื่องจากยาไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ตามสรรพคุณ
  • ห้ามใช้ยาในขนาดสูงมากเกินไปในเด็กอาจทำให้เกิดภาวะลำไส้ตีบจากการเกิดพังผืด
  • ยาช่วยย่อย Gaszym®

ยาช่วยย่อย Gaszym® บรรเทาอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ จากการย่อยอาหารผิดปกติ และมีแก๊สมากเกินไป ลักษณะเป็นยาเม็ดเคลือบสองชั้น (coated tablets) สีส้ม

  • ชั้นในมีตัวยาเคลือบด้วยฟิล์มชนิดที่ไม่ละลาย ประกอบด้วย Simethicone และ Pancretin ออกฤทธิ์ช่วยขับลมและแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • ชั้นนอกมีตัวยา Simethicone มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิวของฟองแก๊สที่รวมตัวกันในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ ทำให้ฟองแก๊สในกระเพาะอาหารที่รวมตัวกันอยู่ถูกทำลายหรือแตกออกโดยการบีบตัวของกระเพาะ ทำให้รู้สึกเรอและสบายท้อง 

ขนาดรับประทาน : 

รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันทีหรือในเวลาที่ต้องการ

ข้อควรระวัง/คำเตือนในการทานยา

การรับประทานยาทุกชนิด ต้องยึดวิธีการทานให้ถูกต้อง เนื่องจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง จะทำให้ไม่สามารถรักษาหรือป้องกันโรคได้ และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายส่วนอื่นแทน

สรุปแล้ว 

ยาช่วยย่อยอาหาร (Digestive drug) คือยาที่ออกฤทธิ์ช่วยให้กระบวนการย่อยอาหารของร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่ประกอบด้วยเอนไซม์ (enzyme) ชนิดต่างๆ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ จากการย่อยอาหารผิดปกติ หรือมีแก๊สมากเกินไป จากพฤติกรรมการกินและใช้ชีวิต ที่เสี่ยงก่อให้เกิดอาการ อาทิ รับประทานอาหารไขมันสูง หรือมีรสเผ็ดจัด, รับประทานอาหารมากเกินไป หรือเร็วเกินไป, ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม หรือแอลกอฮอล์มากเกินไป, สูบบุหรี่, มีความเครียด วิตกกังวล หรือการใช้ยาบางชนิด โดยยาช่วยย่อยอาหารที่ใช้อย่างแพร่หลาย แบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ ยาช่วยย่อย Magesto-F®, ยาช่วยย่อย Combizym® และ ยาช่วยย่อย Gaszym® ที่ใช้ในกรณีแตกต่างกันไป

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top